46ปท.เข้าไทยไม่กักตัว นายกฯลงนามมีผล1พ.ย. ความเสี่ยงที่ต้องยอมรับ

นายกฯ ประกาศเพิ่มรายชื่อประเทศความเสี่ยงต่ำกลุ่มแรกที่เข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัวเป็น 46 ประเทศ ระบุต้องฉีดวัคซีนครบโดสและเป็นผู้ปลอดเชื้อโควิด มีผล 1 พ.ย. รู้ดีว่าเป็นความเสี่ยงที่ต้องยอมรับ "สธ." เผยสถานการณ์แนวโน้มดีขึ้น ยอดหายป่วยมากกว่าติดเชื้อ อาการรุนแรงลดลง "กทม.-ปริมณฑล" สัญญาณดี ห่วง 4 จว.ชายแดนใต้ เร่งส่งวัคซีนเพิ่มให้ครบ 1 ล้านโดสป้องกันแพร่ระบาด "อนุกรรมการเสริมภูมิคุ้มกัน" เล็งประกาศฉีดวัคซีนไขว้แอสต​ร้า​ฯ-ไฟเซอร์ ฉีดซิโนฟาร์ม 2 เข็มรอกระตุ้นต้นเดือน ธ.ค.

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม มีความคืบหน้าการเตรียมเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ซึ่งที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ พิจารณาและเห็นชอบเรียบร้อยแล้วนั้น ต่อมาช่วงค่ำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า หลังจากที่ผมได้ประกาศแผนยกเลิกการกักตัวสำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย โดยจะต้องเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เดินทางเข้าประเทศโดยทางอากาศ และเดินทางมาจากประเทศที่เราจัดว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ เราจะเห็นได้ว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเราประกาศออกไป ประเทศอื่นๆ เช่น อเมริกาและประเทศในภูมิภาคของเรา ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย (บาหลี) ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และมาเลเซีย ต่างก็กำลังทำเช่นเดียวกัน รวมทั้งมีการผ่อนคลายมาตรการข้อบังคับต่างๆ และนอกจากนั้น หลายๆ ประเทศที่เป็นนักท่องเที่ยวของประเทศไทย ก็เพิ่งประกาศผ่อนคลายให้ประชาชนของประเทศเค้าเดินทางออกนอกประเทศได้ง่ายขึ้น

เมื่อเราเห็นว่าสถานการณ์เปลี่ยนเป็นแบบนี้แล้ว จากที่ในเบื้องต้นผมตัดสินใจว่าเราจะพิจารณาประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อจะให้เดินทางเข้าไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัวอยู่ที่ประมาณ 10 ประเทศ แล้วจึงจะค่อยๆ เพิ่มจำนวนประเทศให้มากขึ้น ตอนนี้ผมคิดว่าในสถานการณ์ใหม่ ถ้าเราต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยให้มาก เพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและภาคธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่เดือดร้อนกันอย่างมากมานาน เราจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าเร็วกว่านั้น และทำตั้งแต่ตอนนี้ เพราะการที่จะรอให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบก่อนนั้น จะทำให้เราช้าเกินไป อีกทั้งนักท่องเที่ยวอาจจะตัดสินใจเลือกเดินทางไปประเทศอื่นไปก่อน

ดังนั้นหลังจากได้ปรึกษาหารือกับหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ผมดีใจที่วันนี้ จะแจ้งให้ทุกท่านทราบว่า เราจะเพิ่มจำนวนรายชื่อประเทศความเสี่ยงต่ำกลุ่มแรก ที่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัวเป็น 46 ประเทศ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เดินทางเข้าประเทศไทยโดยทางอากาศ และมีหลักฐานปลอดเชื้อโควิด โดยมีการตรวจก่อนออกเดินทาง และตรวจเมื่อมาถึงประเทศไทย ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้ทุกประเทศดังกล่าวคงต้องพิจารณาความเสี่ยงของประเทศไทยด้วยเช่นกัน ก่อนที่จะอนุญาตให้คนของประเทศเขาเดินทางมาประเทศไทยได้ ผมขอขอบคุณกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันทำภารกิจที่เต็มไปด้วยความกดดันนี้ พยายามแก้ไขและจัดการกฎระเบียบ ขั้นตอน และกระบวนการต่างๆ มากมายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งผมรู้ว่า ทุกคนทุกฝ่ายพยายามกันอย่างเต็มที่เพื่อช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถกลับมาทำมาหากินกันได้อีกครั้ง โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เป็นความเสี่ยงที่ต้องยอมรับ

เราต้องเร่งเครื่องเตรียมความพร้อม และผมได้ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งเครื่องเรื่องการฉีดวัคซีนให้เร็วมากยิ่งขึ้นไปอีก แม้ว่าเราจะติดอันดับอยู่ในกลุ่มประเทศที่ฉีดวัคซีนได้เร็วที่สุดในโลกอยู่แล้วก็ตาม

เรารู้ดีว่า การเร่งเดินหน้าอย่างรวดเร็วนี้ ย่อมมีความเสี่ยงที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่เราต้องยอมรับ ผมคิดว่าตอนนี้ประเทศไทยเอง รวมถึงประเทศอื่นๆ ในโลก ต่างก็มีความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงของโควิด-19 ได้ดีขึ้น และเราก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 ให้ได้

"เราทุกคนมีบทบาทสำคัญในการช่วยกันลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด ด้วยการการ์ดไม่ตก ผมขอให้ทุกคนยังคงรักษามาตรการทางสาธารณสุข มีวินัยในการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลอยู่เสมอ เพื่อที่เราจะได้เก็บเกี่ยวเรื่องดีๆ เล็กๆ น้อยๆ จากช่วงเทศกาลวันหยุดสิ้นปีนี้กันได้บ้าง" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

ขณะที่ นพ.โอภาส ​การ​ย์​กวิน​พงศ์​ อธิบดี​กรมควบคุม​โรค​ แถลง​สถานการ​ณ์​โค​วิด​-19 ว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,727 ราย ผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 10,075 ราย ซึ่งมีแนวโน้มมากกว่าการติดเชื้อใหม่ ขณะที่ผู้ป่วยปอดอักเสบ 2,687 ราย ซึ่งลดลงมากว่าครึ่งหนึ่งจากตอนที่มีสถานการณ์ระบาด ส่วนผู้ใส่ท่อช่วยหายใจจากเดิมเคยพบวันละ 1,300 ราย ลดเหลือ 603 ราย อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตใหม่ 73 ราย เราจะพยายามลดให้เหลือน้อยที่สุด ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกคงตัวอยู่ที่ 3-4 แสนรายใหม่ต่อวัน ส่วนไทยสถานการณ์เบาบางลง แต่ยังมีผู้ติดเชื้อค่อนข้างมากถ้าเทียบกับในอาเซียนที่มีการติดเชื้อมากคือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์

"แนวโน้มการระบาดของไทยลดลง ที่เห็นชัดเจนคือกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สถานการณ์ดีขึ้น สอดคล้องกับการระดมทุกภาคส่วนในการควบคุมและการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างดี แต่ที่ต้องจับตาคือการระบาดในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ 4 จังหวัดชายแดนใต้ โดย ศบค.ได้ตั้ง ศบค.ส่วนหน้าภาคใต้ ได้กระชับการดำเนินการบูรณาการภาครัฐ เอกชน ประชาชน และประชาสังคม ทาง สธ.โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข​ มีนโยบายส่งวัคซีนลงไปฉีด 4 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อควบคุมการระบาด กรมควบคุมโรคจึงส่งล็อตแรกประมาณ 5 แสนโดส และสัปดาห์นี้จะส่งอีก 5 แสนโดส ให้ครบ 1 ล้านโดส เพื่อควบคุมการระบาดไม่ให้ลุกลามไปพื้นที่อื่นของประเทศ" นพ.โอภาสกล่าว

นอกจากนี้ยังมีบางพื้นที่ที่มีแนวโน้มการระบาดเพิ่มเติม นอกจาก 4 จังหวัด​ชายแดนใต้แล้ว ยังมี จ.นครศรีธรรมราช​ ตาก ระยอง​ จันทบุรี​ เชียงใหม่​ และขอนแก่น ซึ่งต้องระดมสรรพกำลัง​หน่วยงานต่างๆ ร่วมมือกัน ทาง สธ.จะส่งวัคซีน และเวชภัณฑ์​ บุคลากร​ ไปสนับสนุน​เพิ่ม​เติม​

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนในวันนี้เพิ่มขึ้น 915,956 โดส สะสมแล้ว 68,503,058 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 39,039,849 ราย คิดเป็น 54.2%, เข็มสอง 27,405,800 ราย คิด​เป็น​ 38% และเข็มสาม 2,057,409 ราย คิด​เป็น​ 2.9% ทั้งนี้ ตามเป้าหมายแผนเดิมที่กำหนดไว้สิ้นปี 2564 เราจะฉีดวัคซีนได้ 70 ล้านโดส เชื่อว่าในสัปดาห์​น่าจะเกินเป้าหมาย ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่วางไว้ 2 เดือนกว่า

เล็งฉีดไขว้แอสต​ร้า​ฯ-ไฟเซอร์

"นโยบายของนายกฯ ที่กำหนดให้ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยให้ฉีดให้ได้ 100 ล้านโดส เราคาดว่าจะฉีดได้ถึงเป้าในช่วงเดือนพ.ย.หรือต้นเดือน ธ.ค. โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนมากที่สุดคือผู้สูงอายุ กลุ่มโรคประจำตัวเรื้อรัง อสม.และบุคลากร​สาธารณสุข​ ซึ่งมีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ ประเทศไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่​มขึ้นเป็นที่น่าพอใจติดอันดับต้นๆ ของโลก" อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

นพ.โอภาสกล่าว​ว่า​ เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้พิจารณาเรื่องการให้วัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กนักเรียน ซึ่งเราได้ดำเนินการไปตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. ขณะนี้ผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์ ก็ได้มีการฉีดให้กับนักเรียนแล้วจำนวน 2 ล้านโดส ซึ่งสิ่งที่เราจะต้องพิจารณา เนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์ได้รับความเห็นชอบจาก อย.ให้ฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งมีข้อกังวลในเรื่องความปลอดภัยกับประสิทธิภาพ ตัวจัดการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญพบว่าวัคซีนไฟเซอร์ที่นำมาฉีดให้กับเด็กนักเรียนอายุ 12 ปีขึ้นไป ถ้าฉีด 2 เข็มจะมีระดับภูมิคุ้มกันเพียงพอ ต่อต้านกับเชื้อไวรัสเดลตาได้เมื่อเทียบกับเข็มแรก

"ผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้ให้ข้อมูลกับอนุกรรมการฯ ว่า ขณะนี้มีคนที่ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 เข็มไปพอสมควร ส่วนใหญ่ครบ 2 เข็มในเดือน ก.ค.เป็นต้นไป เพราะฉะนั้นจะกำหนดครบวัคซีนเข็มกระตุ้นในปลาย พ.ย.ถึงต้น ธ.ค. ทั้งนี้ ทางอนุกรรมการฯ ได้ขอให้ทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ส่งข้อมูลเอกสารหลักฐานที่มีการศึกษาพบว่าจำเป็นที่ต้องฉีดเข็มกระตุ้น เพื่อให้คณะอนุกรรมการฯ ได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบ ก่อนที่จะได้มีการประกาศก่อนที่จะให้ประชาชนได้อีกต่อไป โดยเราจะรีบพิจารณา แล้วจะมีการประกาศฉีดวัคซีนต่อไป" อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

ถามว่าสูตรวัคซีนไขว้แอสต​ร้า​เซน​เน​ก้าและไฟเซอร์จะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการได้เมื่อไหร่ นพ.โอภาสกล่าวว่า สูตรนี้ทางอนุกรรมการฯ ได้อนุญาตให้ฉีดได้แล้วคงรอการประกาศอีกครั้ง เนื่องจากเราจะต้องดูปริมาณวัคซีนที่มี คงจะอนุญาตนำเรียนสูตรไขว้ที่อนุกรรมการฯ ได้ให้คำแนะนำทุกสูตรมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยใกล้เคียง ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าฉีดสูตรไหนก่อนหลัง เพราะขณะนี้สิ่งที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยและ สธ.ได้ดำเนินการพยายามจะหาสูตรวัคซีนที่จะฉีดให้กับประชาชน รวมถึงท่านที่ต้องการจะฉีดบูสเตอร์คงไม่ต้องกังวล เพราะขณะนี้ประเทศไทยได้จองวัคซีนสำหรับปี 2565 โดยที่นายกฯ ได้เห็นชอบในการจัดหาวัคซีนไว้ 120 ล้านไว้เรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นมีวัคซีนเพียงพอ ซึ่งจะมีการแจ้งให้กับประชาชนในการฉีดวัคซีนเป็นระยะ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง