'วิษณุ' แจงไทม์ไลน์กฎหมายลูกไม่ใช่ มิ.ย. ชี้สูตรปาร์ตี้ลิสต์รอฟัง กมธ.

‘วิษณุ’ แนะสูตรปาร์ตี้ลิสต์หาร 100 หรือ 500 ให้รอฟัง กมธ. ขี้นายกฯยุบสภาได้ทุกเมื่อ แต่ยุ่ง เหตุไม่มีกฎหมายเลือกตั้งใช้ ไม่ฟันธงประกาศใช้กม.ลูก ทัน มิ.ย. แจงมีอีกหลายขั้นตอน

2 พ.ค. 2565 – ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีข้อถกเถียงสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ควรหารด้วย 100 หรือ 500 ว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับสภา

ผู้สื่อข่าวถามว่า บางคนระบุว่าหากหาร 500 จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็แล้วแต่ จะพูดอย่างไร เห็นมีคนว่าขัดทั้งนั้น และคงต้องส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พรรคเล็กคงต้องการให้หาร 500 ซึ่งอย่างนั้นต้องไปศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลจะรับหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตาม อันดับแรกต้องให้คณะกรรมาธิการเป็นผู้ตัดสินเสียก่อน และเมื่อนำกลับเข้าไปในสภาแล้วต้องดูว่ารัฐสภาจะพิจารณาอย่างไร ตอนนี้อยู่ในชั้นกรรมาธิการเท่านั้น ดังนั้นให้กรรมาธิการได้ถกเถียงกันก่อน แล้วถึงส่งให้รัฐสภาให้สภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภาได้ถกเถียงกัน จากนั้น ได้ความอย่างไรค่อยไปว่ากันต่อ

“อย่าลืมว่าที่คนนั้นคนนี้พูดกันว่าเดือนมิ.ย.จะสามารถประกาศใช้กฎหมายลูกได้นั้นต้องไม่ลืมว่า ถ้ากฎหมายลูกเสร็จจากสภา ผ่านวาระ 3 เรียบร้อย ไม่ว่าจะออกมาอย่างไร ก็จะต้องส่งไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดูก่อน โดยจะต้องส่งภายใน 15 วัน จากนั้น กกต. ตอบกลับภายใน 10 วัน เบ็ดเสร็จ 25 วันก็เกือบเดือน ซึ่งปกติจะต้องตอบกลับว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในมาตราใด ซึ่งตอนนั้น กกต. อาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการหารที่กรรมาธิการทำออกมาก็ได้ ซึ่งหาก กกต. ไม่เห็นด้วย ก็เป็นหน้าที่ของสภาที่จะต้องแก้ไขตามนั้น หรือหากไม่แก้ตามนั้นก็ต้องมีการถกเถียงกันต่อไปอีก จนนำไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ กระทั่งผ่านศาลรัฐธรรมนูญจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ จากนั้นมีเวลา 90 วัน ดังนั้น จึงไม่ใช่เดือน มิ.ย. อย่างที่พูดกัน” รองนายกฯ ระบุ

เมื่อถามว่า ในช่วงระหว่างที่กฎหมายลูกยังไม่แล้วเสร็จ นายกรัฐมนตรีสามารถยุบสภาได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ได้ ยุบได้ตลอดเวลา ยกเว้นตอนยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วจนกระทั่งวันลงมติที่ยุบสภาไม่ได้ แต่ยุบแล้วก็จะยุ่งเพราะไม่มีกฎหมายใช้ ซึ่งพูดกันมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะมีปัญหา ทั้งนี้จะกลับไปใช้กฎหมายเดิมไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญถูกแก้แล้วเสร็จแล้ว ใช้แล้ว แต่ที่ยังใช้ไม่ได้คือกฎหมายลูกเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับเท่านั้น

เมื่อถามย้ำว่า อย่างนั้นแล้วจะมีทางออกหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็เห็นเขาพูดกันว่ามี แต่ตนคิดไม่ออก

ผู้สื่อข่าวถามว่า สามารถออกเป็นพระราชกำหนดได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ และบางคนก็ยังบอกว่าให้ กกต. ออกประกาศหรือระเบียบ บางคนให้ออกพระราชกำหนด หลายสำนักก็ว่ากันไป เมื่อปัญหายังไม่เกิดก็อย่าไปคิด แต่พอถึงเวลาเกิดก็ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าตัดสินใจอย่างไรก็ต้องเผชิญกับศาลรัฐธรรมนูญทั้งนั้น

เมื่อถามว่า สุดท้ายไม่ว่าจะอย่างไรประเด็นหาร 100 หรือ 500 ก็ต้องถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาใช่หรือไม่นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่แน่ เรื่องนี้ไม่ทราบ แต่มีโอกาสที่จะถูกส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าให้ตอบให้ชัด ตนพูดไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบว่ากรรมาธิการเห็นควรให้เอาอะไรหาร ดังนั้น โอกาสที่จะไปศาลรัฐธรรมนูญก็มี โอกาสที่จะไม่ไปก็มี ซึ่งถ้าไม่ไปก็ดีจะได้ทุ่นเวลา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'รัฐสภา' มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจรัฐสภา ปมจัดทำรธน.ฉบับใหม่

“รัฐสภา” มีมติส่งศาลรธน.ตีความอำนาจตัวเอง ปมแก้รธน.ฉบับใหม่ ด้าน“วันนอร์”แจงยิบ ยึดตาม”ชวน”เคยวินิจฉัยร่างของ”สมพงษ์”มาแล้ว ชี้เป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาวินิจฉัยเพื่อไปต่อแล้วไม่ล้ม ไม่เสียของ

'อดิศร' ซัดแรงมีรัฐสภาไปทำพระแสงอะไร จะแก้รัฐธรรมนูญ ยังให้ศาลวินิจฉัยอำนาจประชาชน

นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า อำนาจตุลาการ และอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร แยกกันและถ่วงดุลกัน ไม่ใช่คล่อมเลน มีบางครั้งจะยื่นญัตติได้ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ ถามว่าเกิดอะไรขึ้น นั่นฝ่ายตุลาการ แต่เราฝ่ายนิติบัญญัติ เราคิดของเราเองได้

'รัฐสภา' ถกบรรจุวาระจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ 'ก้าวไกล' หนักใจยื่นดาบให้ศาลรธน.อีกแล้ว

ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาญัตติ เรื่องขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ของนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ เป็นผู้เสนอ