เพื่อไทยเดือด! ออกแถลงการณ์ถล่มเกณฑ์ 180 วันลักลั่นไม่สอดคล้องสามัญสำนึก-หลักนิติธรรม

เพื่อไทยยก 5 ข้อ จวกระเบียบ กกต. เรื่องหาเสียง180วัน ซัดลักลั่น ขวางช่วยประชาชน หวั่นบังคับใช้ไม่เท่าเทียม

29 ก.ย.2565 - น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) อ่านแถลงการณ์พรรคเพื่อไทยกรณีระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง ข้อปฏิบัติในระยะเวลาหาเสียง 180 วันก่อนวันครบอายุสภาผู้แทนราษฎร มีเนื้อหาว่า

ตามที่ กกต.ได้ออกระเบียบตามมาตรา 64, 65 และ 68 กฎหมายเลือกตั้งว่า ภายในระยะเวลา 180 วันนับตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2565 ไปถึงการเลือกตั้งทั่วไป ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องรวมนับค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง และมีข้อห้ามอื่นๆ เรื่องการแจกสิ่งของและวิธีการหาเสียง นั้น

พรรคเพื่อไทยมีความเห็นว่า กฎหมายเลือกตั้งต้องทำให้การเลือกตั้งสุจริต เสรีและเป็นธรรม ใช้บังคับกับนักการเมือง พรรคการเมือง และว่าที่ผู้สมัครอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีตำแหน่งอยู่ในฝ่ายบริหารหรือไม่ก็ตาม โดยมีความเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวอาจมีปัญหาว่าขัดกับหลักสามัญสำนึก หลักนิติธรรมและหลักปฏิบัติที่ใช้กันมาดังนี้

1.บทบัญญัติในกฎหมายเลือกตั้งทำนองนี้ ไม่เคยมีมาก่อน แต่เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร และพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่สมาชิกไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับเป็นผู้พิจารณาเรื่องการเลือกตั้ง

2.ข้อจำกัด 180 วันนี้มีความลักลั่น เนื่องจากถ้าในการเลือกตั้งภายหลังการยุบสภา จะต้องใช้บทบัญญัติอื่นที่ระยะเวลาในการคำนวณค่าใช้จ่าย และห้ามกระทำบางเรื่องจะสั้นกว่า ตามปกติประมาณ 60 วัน สะท้อนว่าการห้ามเป็นระยะเวลา 180 วันนั้นไม่มีตรรกะที่ดีในการร่างกฎหมาย

3.เงื่อนไข 180 วันนั้น เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนนานเกินควรที่จะได้รับทราบนโยบายของนักการเมืองในบางสถานที่และเวทีที่มีข้อห้ามและประชาชนมาชุมนุมกันจำนวนมาก เช่น ในเวทีที่มีมหรสพ อีกทั้งยังทำให้นักการเมืองไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติประเพณีได้ในช่วงเวลานั้น เช่น การใส่ซองในงานประเพณีต่างๆ นอกจากนั้นข้อห้ามที่ค่อนข้างนานกระทบต่อการดูแลช่วยเหลือประชาชนถ้ามีกรณีภัยพิบัติต่างๆ เช่น น้ำท่วม เป็นต้น

4.เงื่อนไขในลักษณะนี้มีปัญหาเรื่องความชัดเจน ก่อให้เกิดความกังวลว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ซึ่ง แม้ กกต.จะได้ชี้แจง แต่ข้อกังวลยังคงอยู่ เพราะยังมีช่องในการตีความ และใช้ดุลพินิจ กฎหมายที่ดีควรชัดเจน และไม่ควรเปิดช่องให้ต้องตีความ

5.ข้อที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือ ความเป็นธรรมและความเท่าเทียม ถ้าบทบัญญัติและระเบียบห้ามนักการเมืองทั่วไปว่าทำไม่ได้ แต่ผู้มีตำแหน่งทางฝ่ายบริหารในรัฐบาลเช่นรัฐมนตรีทำได้ อาจรู้สึกว่าลักลั่นกัน มีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมเป็นธรรมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองก่อนเข้าสู่การเลือกตั้ง พรรคมีความเห็นว่าบทบัญญัติกฎหมายต้องไม่ทำให้ฝ่ายใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบ

พรรคเพื่อไทยเห็นว่า โจทย์สำคัญของการเลือกตั้งคือ ต้องสุจริต เสรีและเป็นธรรม ดังนั้นกฎหมายเลือกตั้งต้องตอบโจทย์นี้ให้ได้ ถ้าบทบัญญัติเรื่องค่าใช้จ่าย และการห้ามทำกิจกรรมในบางเรื่องในช่วงเวลา 180 วันก่อนสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ ไม่ตอบโจทย์ และไม่ได้ทำให้การเลือกตั้งสุจริต เสรีและเป็นธรรมมากขึ้น เราก็ต้องช่วยกันพิจารณาหาทางแก้ไข และพรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะพิจารณาเสนอแนวทางแก้ไขในเรื่องนี้ร่วมกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปรับปรุงกฎหมายให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากกฎหมายที่ดีต้องชัดเจน ปฏิบัติตามได้ สอดคล้องกับสามัญสำนึก และหลักนิติธรรม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อดิศร' ซัดแรงมีรัฐสภาไปทำพระแสงอะไร จะแก้รัฐธรรมนูญ ยังให้ศาลวินิจฉัยอำนาจประชาชน

นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า อำนาจตุลาการ และอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร แยกกันและถ่วงดุลกัน ไม่ใช่คล่อมเลน มีบางครั้งจะยื่นญัตติได้ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ ถามว่าเกิดอะไรขึ้น นั่นฝ่ายตุลาการ แต่เราฝ่ายนิติบัญญัติ เราคิดของเราเองได้

กกต.ป้ายแดง ไม่กดดันพิจารณาคดีร้อนยุบพรรค

นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้ารับตำแหน่งกกต. ว่า ก่อนหน้านี้กกต.ทำงานได้ดีอยู่แล้ว แต่ถ้ามองจากข้างนอกก็มีอุปสรรคปัญหาที่สะท้อนกลับมาในบางเรื่อง ซึ่งเป็นภาพรวมที่ว่ากกต.ทำอะไรกันอยู่ กกต.ทำอะไรถึงไหนแล้ว พอตนเข้ามานั่งอยู่ในตำแหน่งกกต. สิ่งหนึ่งที่อยากพัฒนาก็คือความสามารถ

เดือด! โฆษกพรรคหญิงหน่อยจี้ 'สุภาพร' ลาออกหลังโผล่ไปรับทักษิณ

'ภัชริ' ซัด 'สุภาพร' ไม่มีความละอาย ไม่สำนึกถึงสิ่งที่ได้สัญญากับประชาชน โผล่ถ่ายรูป 'ทักษิณ' ทั้งที่ยังสังกัด ไทยสร้างไทย ลั่นพฤติกรรมเป็นงูเห่าชัดตั้งแต่ต้น จี้ลาออกหลังพรรคให้โอกาสแต่ไม่สำนึก

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ นัดฟังคำสั่ง 'ก้าวไกล' ฟ้อง 'กกต.' 2 มาตรฐาน ปมยุบพรรค

ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำสั่งในคดีที่ เรือเอก ย. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณกรรมการการเลือกตั้งทั้ง6 เเละเลขาฯกกต.กับพวกรวม 7 คน คดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 58/2567 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157ประกอบมาตรา83