พรรคเพื่อไทย ร่อนแถลงการณ์ วันรัฐธรรมนูญ

แฟ้มภาพ

10 ธ.ค.2565 - พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ในโอกาสวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2565 มีเนื้อหาว่า ต้องยอมรับว่าในประเทศเสรีประชาธิปไตยนั้น รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มีความสำคัญทั้งในเชิงการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจและสังคม หากบ้านเมืองมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยก็จะส่งเสริมให้ระบบการเมืองมีความเข้มแข็ง ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีความเจริญเติบโตและพัฒนาก้าวหน้าไปได้ ประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศก็ย่อมได้รับประโยชน์โดยทั่วถึง แต่หากได้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและขาดการยอมรับของประชาชน นอกจากจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ และผู้รับผลกระทบโดยตรง ก็คือประชาชนโดยรวม ดังนั้น รัฐธรรมนูญที่ดีจึงต้องมีความเป็นประชาธิปไตยสูง หลักนิติรัฐนิติธรรมต้องได้รับการเคารพและปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด บทบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนต้องได้รับการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม การจัดสรรอำนาจให้แก่องค์กรต่างๆ ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่มีองค์กรใดอยู่เหนือองค์กรอื่นจนขาดการตรวจสอบการใช้อำนาจ สถานการณ์ของประเทศในปัจจุบันต้องการและมีความจำเป็นที่ต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าที่ผ่านมารัฐธรรมนูญของประเทศไทยส่วนใหญ่จะมีผลพวงมาจากการรัฐประหารซึ่งเป็นตัวฉุดรั้งอันสำคัญต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาของประเทศ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีผลพวงมาจากการรัฐประหารของ คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของความต้องการสืบทอดอำนาจของ คสช. และความมีอคติทางการเมืองของผู้ร่างและคนที่อยู่เบื้องหลัง เนื้อหาก็ขาดความเป็นประชาธิปไตย ที่มาก็ขาดความชอบธรรม แต่ด้วยเกราะป้องกันหรือกำแพงที่ถูกสร้างขึ้นโดยกลไกในรัฐธรรมนูญของผู้ร่าง แม้สมาชิกรัฐสภาและประชาชนจะพยายามร่วมกันในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จเพิ่งสำเร็จครั้งแรกเรื่องการแก้ไขระบบเลือกตั้งเท่านั้น แต่กลไกอื่นๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคและปัญหาสำคัญยังคงไม่สามารถแก้ไขได้

สำหรับพรรคเพื่อไทยนั้น มีนโยบายชัดเจนในเรื่องการจัดทำหรือการให้ได้มา ซึ่งรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนเพื่อให้เป็น “รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง” โดยพรรคได้เสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งยังคงรูปแบบของรัฐและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยผ่านกระบวนการออกเสียงประชามติและให้มีสภา ร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมายกร่าง นอกจากนี้ เพื่อเป็นการตัดวงจรอุบาทก์ คือการรัฐประหาร พรรคมีข้อเสนอให้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าการรัฐประหารถือเป็นกบฏ คดีไม่มีอายุความ และจะนิรโทษกรรมไม่ได้ไม่ว่ากรณีใดๆ ห้ามมิให้องค์กรและหน่วยงานของรัฐยอมรับคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ โดยให้ถือว่าหลักการดังกล่าว เป็นประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เนื่องในโอกาสวันรัฐธรรมนูญ พรรคจึงขอให้พี่น้องประชาชนคนไทยทุกภาคส่วน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย และได้โปรดร่วมแรงร่วมใจกัน ผลักดันให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประสบความสำเร็จเพื่อสะท้อนถึงการมีส่วนร่วม และความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ในเบื้องต้นขอเชิญชวนพรรคการเมืองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ได้ร่วมกันแก้อุปสรรคสำคัญเร่งด่วนของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ในบทเฉพาะกาล เพื่อให้การเลือกนายกรัฐมนตรีกระทำในสภาผู้แทนราษฎรตามที่บทบัญญัติหลักกำหนดไว้ ด้วยการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควรมาด้วยกติกาที่เป็นธรรม เสมอภาค สะท้อนเจตนารมณ์ความต้องการของประชาชนที่แท้จริงผ่าน การเลือกตั้ง พร้อมกับสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ให้นายกรัฐมนตรีมีที่มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ อันเป็นการสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและความต้องการของประชาชนจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นไปตามหลักการสากลที่ประเทศเสรีประชาธิปไตยทั่วโลกได้ปฏิบัติกันมาตลอด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.ป้ายแดง ไม่กดดันพิจารณาคดีร้อนยุบพรรค

นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้ารับตำแหน่งกกต. ว่า ก่อนหน้านี้กกต.ทำงานได้ดีอยู่แล้ว แต่ถ้ามองจากข้างนอกก็มีอุปสรรคปัญหาที่สะท้อนกลับมาในบางเรื่อง ซึ่งเป็นภาพรวมที่ว่ากกต.ทำอะไรกันอยู่ กกต.ทำอะไรถึงไหนแล้ว พอตนเข้ามานั่งอยู่ในตำแหน่งกกต. สิ่งหนึ่งที่อยากพัฒนาก็คือความสามารถ

เดือด! โฆษกพรรคหญิงหน่อยจี้ 'สุภาพร' ลาออกหลังโผล่ไปรับทักษิณ

'ภัชริ' ซัด 'สุภาพร' ไม่มีความละอาย ไม่สำนึกถึงสิ่งที่ได้สัญญากับประชาชน โผล่ถ่ายรูป 'ทักษิณ' ทั้งที่ยังสังกัด ไทยสร้างไทย ลั่นพฤติกรรมเป็นงูเห่าชัดตั้งแต่ต้น จี้ลาออกหลังพรรคให้โอกาสแต่ไม่สำนึก

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 16: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า