'สว.สมชาย' ดึงสติ 'เศรษฐา' ใจเร็วด่วนได้ตั้ง 'ทักษิณ' แนะตามรอย 'บิ๊กตู่' ดีกว่า

‘สมชาย’ เบรก ‘เศรษฐา’ อย่าด่วนใจเร็ว ตั้ง ‘ทักษิณ’ นั่งปธ.ที่ปรึกษานายกฯ หลังพ้นโทษ หวั่นกระทบเชื่อมั่นรัฐบาล แนะเดินตามรอย ‘บิ๊กตู่’ ประสานทุกฝ่ายไม่เลือกข้าง

22 ก.ย. 2566 – ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงกรณีที่นายเศรษฐา​ ทวีสิน​ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบลูมเบริก์ทีวี โดยระบุหากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ้นโทษ จะให้มีบทบาทในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งอาจจะให้ดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ว่า ต้องดูในหลักนิติธรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะในการควบคุมนักโทษจะดำเนินการอย่างไร ให้เป็นกระบวนทางการกฎหมายมีความน่าเชื่อถือ แม้นายทักษิณจะเคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี มีคุณงามความดี แต่ก็มีคดีติดตัวถึง 3 คดี และเพื่อให้เกิดหลักนิติธรรม และเกิดการสร้างความปรองดองในประเทศ ควรพิจารณาเรื่องนิติธรรมควบคู่ไปกับความเหมาะสม

ส่วนตัวมองว่านายทักษิณควรเข้าสู่ระบบนิติธรรมอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงเปิดเผยการรักษาตัวที่ รพ.พยาบาลตำรวจ ที่ยังไม่ทราบเรื่องว่า ทำการรักษาอย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ ในวันจันทร์ที่ 25 ก.ย. คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำ และ ผอ.ราชทัณฑ์สถาน ที่ดูแลอาการเจ็บป่วยของนายทักษิณ และเชิญสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขั้นตอนการรักษามีมาตรฐานอย่างไร แต่คงไม่ถึงขั้นก้าวล่วง ถามถึงอาการเจ็บป่วยของนายทักษิณ

นายสมชาย กล่าวว่า การที่นายเศรษฐาพูดถึงนายทักษิณจะแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีนั้น จะต้องผ่านด่านที่ 1 ก่อน อยากให้นายทักษิณเข้าสู่กระบวนการรับโทษ ส่วนเกณฑ์การขอรับโทษเพิ่มเติม ตนคิดว่านายทักษิณได้มากพอสมควรแล้ว ในระยะเวลาที่เหลือจึงควรดำเนินการให้เป็นแบบอย่าง อีกทั้งตัวนายทักษิณเองก็เคยพูดเสมอว่า อยากเห็นประเทศไทยมีรัฐบุรุษในเรื่องคดีความแบบนี้ ประเทศในโลกซึ่งอดีตผู้นำหลายประเทศที่มีคดีทุจริตก็ต่างเข้าสู่กระบวนการด้วยกันทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น หลักนิติธรรมที่นายเศรษฐาพูด ประการแรกคือต้องทำให้นายทักษิณอยู่ในความน่าเชื่อถือ โดยไม่ได้คืบเอาศอก ไม่ได้ศอกเอาวา ประการต่อมาถ้านายทักษิณจะเป็นต้นแบบในการปรองดอง ตนเห็นว่ารัฐบาลน่าจะหยุดคดีความเรื่องของความขัดแย้งในอดีตหลังรัฐธรรมนูญปี 40 ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรในปี 47-48 จนนำไปสู่การรัฐประหารในปี 49 ในคดีการชุมนุมของกลุ่มนปก.และนปช. ที่มีการบาดเจ็บล้มตาย รวมถึงคดีปิดสนามบิน คดีเผาศาลากลาง และคดีอื่นๆ ถ้าเป็นเหตุเรื่องการเมืองที่ไม่ทำให้เกิดการเสียชีวิต เพียงแค่มีความเสียหายด้านทรัพย์สิน สิ่งเหล่านี้น่าได้รับการเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการปรองดอง ที่พิจารณาออก พ.ร.ก. นิรโทษกรรม ให้กับกลุ่มต่างๆ ที่มีความขัดแย้งทางการเมือง เว้นแต่คดีมาตรา 112 ซึ่งบุคคลที่จะได้รับอภัยโทษ อาจต้องได้รับพระมหากรุณาธิคุณเอง และต้องสำนึกผิดเอง

“คิดว่าเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีควรเร่งดำเนินการ ถ้าเป็นไปได้นายทักษิณอยู่ครบในเรือนจำ 1 ปี เรื่องของการปรองดอง อภัยซึ่งกันและกัน โดยให้ทุกฝ่ายยอมรับกับสังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม ยอมรับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน รวมถึงการอภัยซึ่งกันและกัน ต้นคิดว่าถ้าทำพร้อมกันก็เสร็จ หากปล่อยนายทักษิณออกมาก่อน ภายใน 1 ปี ก็จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ที่แท้จริง หากปล่อยนายทักษิณออกมาก่อนแล้วคนอื่นๆ ยังติดคดี คิดว่าสังคมอาจจะไม่สงบ อาจเกิดคลื่นใต้น้ำ ไปยังรัฐบาลเศรษฐาได้” นายสมชาย ระบุ

ส่วนการที่นายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งนายทักษิณเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีนั้น ส่วนตัวมองว่าไม่มีความจำเป็น เพราะมีอดีตนายกรัฐมนตรีหลายคนควรพบและขอคำปรึกษาได้ เช่น นายสมชายวงศ์สวัสดิ์ นายชวน หลีกภัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายอานันท์ ปันยารชุน แม้กระทั่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ให้อยู่นอกตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ดีกว่า อีกทั้งยังมองว่าเร็วเกินไปที่นายเศรษฐาจะมาตอบว่า จะให้นายทักษิณมาเป็นที่ปรึกษารัฐบาล เพราะเรื่องนี้จะกระทบความเชื่อมั่น กระทบเรื่องกระบวนการยุติธรรม ความศรัทธาต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เป็นไปได้ก็อย่าไปตั้งเลย ขอคำปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการดีแล้ว

นายสมชาย ยังกล่าวชื่นชมการทำงานของนายเศรษฐาไปประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 78 ที่สหรัฐอเมริกาด้วยว่า หลายเรื่องก็ดี ไปอธิบายให้เวทีสากลทราบ เช่น คำถามเกี่ยวกับความเป็นกลางระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่เป็นขั้วขัดแย้ง นายเศรษฐาก็ตอบดี แต่วันนี้รัฐบาลของนายเศรษฐาก็ต้องเดินตามแนวเดิมของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือการประสานงานทุกฝ่ายไม่เลือกข้างใดข้างหนึ่ง ส่วนการเดินทางไปแล้วให้สัมภาษณ์สื่อ เชื่อว่าก็คงเตรียมความพร้อมไปอยู่แล้ว ซึ่งนายเศรษฐาก็ตอบคำถามได้ดี

“บางเรื่องอย่าไปใจด่วน ใจเร็ว ขณะที่อาจจะเคยเป็นในฐานะที่อาจจะเคยเป็น CEO บริษัท ที่สั่งแล้วต้องได้ทุกอย่าง คิดว่าบางเรื่องฟังเสียงติติงก่อน แล้วค่อยพิจารณา อาจจะช้าไปนิดนึง แต่เพื่อให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืนกว่า วันนี้วิกฤต เศรษฐกิจมีอยู่ทั่วโลก ถ้าประเทศไทยประคองไปได้ถือว่าดีมาก คิดว่ารัฐบาลของนายเศรษฐา ได้ผลพวง 8 – 9 ปี จากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่วางโครงสร้างพื้นฐานไว้ ขอให้รีบต่อยอด เดินหน้าประเทศไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาได้ มีความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริตจะดีกว่า” สว. ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดร.รัชดา เชื่อถ้าใช้หลักตอบแทนนายใหญ่ ’นพดล’ เสียบเก้าอี้ ‘ปานปรีย์’ แน่

ดร.รัชดา อยากรู้รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของรัฐบาลนี้จะเป็นใคร คนที่จะต้องเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ สถานการณ์การเมืองในประเทศเพื่อนบ้านและการเมืองโลกตอนนี้

‘เด็กเศรษฐา’ ข้องใจ ‘ปานปรีย์’ ลาออกหลังมีพระบรมโองการ ชี้ไม่เคยมีใครทำ

ตกใจกับการตัดสินใจ ที่เกิดขึ้นหลังมีพระบรมราชโองการฯ ซึ่งไม่เคยมีใครกระทำแบบนี้มาก่อน เพราะมันไม่ได้หมายถึงการปฏิเสธตำแหน่งเพียงอย่างเดียว

เปิดใจ ‘ปานปรีย์’ ละเอียดยิบ เหตุยื่นหนังสือลาออก ’รมว.ต่างประเทศ’

'ปานปรีย์’ยอมรับขอลาออกจากรมว.กต. เหตุถูกปรับพ้นรองนายกฯ หวั่นไร้ตำแหน่งรองนายกฯพ่วงอาจทำงานไม่ราบรื่น เชื่อยังมีคนอื่นเหมาะสมมาทำงานแทนได้ อำลาทีมผู้บริหารกระทรวงฯแล้ว

‘หมอเชิด’ สะกิดเตือน ‘เศรษฐา’ หมอคุมยาก เปลี่ยนตัว ‘รมว.สธ.’ เกิดปัญหาแน่

‘หมอเชิด’ แนะ’เศรษฐา’ฟังเสียงสมาชิกพรรคเพื่อไทย ในฐานะคนที่ยกมือให้ด้วย พร้อมระบุหมอควบคุมยาก เปลี่ยนตัวรมว.สธ.เกิดปัญหาแน่

ยุ่งแน่! ‘เรืองไกร’ ร้อง ป.ป.ช. สอบ ครม.เห็นชอบดิจิทัลวอลเล็ต ฝ่าฝืนกม.หรือไม่

จากการติดตามโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่คณะรัฐมนตรีพึ่งมีมติให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 67 นั้น

ด่วน! ‘ปานปรีย์’ ยื่นไขก๊อก ’รมว.ต่างประเทศ’ หลังหลุดเก้าอี้รองนายกฯ

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รมว.ต่างประเทศ ส่งถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่าง