ตามธรรมเนียม! ถกงบถามช้างตอบม้าแต่โหวตไร้พลิก

'ศิริกัญญา' ขอตัดงบฯ 3หมื่นล้าน ชี้รัฐบาลขาดประสิทธิภาพเบิกจ่าย งงนายกฯ เพิ่งให้ปรับลดงบไม่จำเป็นในงบประมาณ 2568 'จุลพันธ์'ยันเดินหน้า 'ดิจิทัล วอลเล็ต' แน่นอน

20 มี.ค.2567 – ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เรียงตามรายมาตรา เมื่อถึงมาตรา 4 ภาพรวมงบประมาณรายจ่ายฯ จำนวน 3,480 ล้านล้านบาท น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ. สงวนความเห็นว่า ขอปรับลด 3 หมื่นล้านบาท เพราะงบประมาณเบิกจ่ายล่าช้า เนื่องจากงบปี 2567 มีการอนุมัติงบไปพลางก่อนไปแล้วโดยผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ มูลค่า 1.8 ล้านล้านบาท ส่วนที่เหลือที่สภาสามารถพิจารณาได้จริงๆ โดยที่ไม่ต้องไปโอนเปลี่ยนแปลงคืน ไม่ต้องถูกสำนักงบฯ ทักท้วงในห้องประชุม มีมูลค่าไม่ถึงครึ่งหนึ่งคือ 1.68 ล้านล้านบาท ดังนั้นถ้ามีใครบอกว่างบประมาณไม่ออก 2 ไตรมาสแรก ไม่ได้เป็นปัญหาจากที่สภา เนื่องจากสำนักงบฯ ได้มีการอนุมติงบไปพลางก่อนแล้ว แต่ที่เบิกจ่ายล่าช้าเป็นเพราะรัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพราะงบใช้ไปพลาง สำหรับงบประจำเบิกจ่ายไปแล้ว ณ วันที่ 15 มี.ค.เบิกได้แค่ 79% แต่ที่กังวลคือรายจ่ายลงทุน มีการอนุมัติไปแค่ 155,000 ล้านบาท ซึ่งปกติเราอนุมัติรายจ่ายลงทุนทั้งปี ประมาณ 6 แสนล้านบาท แต่ปรากฎว่าเบิกจ่ายไปได้เพียง 55% ใน 6 เดือน ดังนั้นคิดว่าถ้ารัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบขนาดนี้ ก็สมควรถูกตัดงบลง

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ประมาณการรายได้อาจผิดพลาด รัฐบาลได้ออกนโยบายที่จะกระทบการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลหลายส่วน เช่น จะไม่เก็บภาษีการขายหุ้น ทำนโยบายลดหย่อนกองทุน ESG ลดการนำส่งรายได้ของ กฟผ. ตอนนี้ลดไปแล้ว 8 พันล้านบาท แต่ไม่รู้ว่านำส่งจริงจำนวนเท่าไหร่ ลดภาษีสรรพสามิตสำหรับลดค่าใช้จ่ายราคาน้ำมันให้กับประชาชน 12 เดือน น่าจะใช้ไป 6 หมื่นล้านบาท 4 เดือนแรกก็ต่ำกว่าประมาณณการกว่า 2 หมื่นล้านบาท และยังมีรายได้ที่อาจจะจัดเก็บน้อยลงเนื่องจากเศรษฐกิจโตช้ากว่าตอนทำงบประมาณ ดังนั้นคำนวณแล้ว มีความเสี่ยงที่จะประมาณการรายได้ประมาณ 110,000 ล้านบาท และจัดเก็บงบประมาณได้จริงไม่ถึง 2.787 ล้านล้านบาท ตามที่ประมาณการไว้

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ปัญหาที่ตามมาคือ หากรายได้พลาดเป้า รัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อชดเชยการขาดดุล 693,000 ล้านบาท เสี่ยงต่อการชนเพดานเงินกู้ซึ่งอยู่ที่ 790,656 ล้านบาท อีกเพียง 97,656 ล้านบาท จะชนเพดาน หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นจะทำอย่างไร แน่นอนว่าใครของบก่อนได้ก่อน จึงเห็นว่าควรต้องมาจัดสรรลำดับความสำคัญกันใหม่ ด้วยการปรับลดงบประมาณลงเล็กน้อย เพื่อให้สถานะทางการคลังของประเทศไม่สะดุดหยุดลงหรือมีปัญหา และในกมธ.ฯ นายกรัฐมนตรีได้เสนอตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นสำหรับปี 2568 ได้แก่ งบประชาสัมพันธ์ ฝึกอบรมและดูงาน ค่าใช้จ่ายเดินทางต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการเช่ายานพาหนะ ลดการบรรจุอัตรากำลังใหม่ แต่ตอนนี้งบประมาณปี 2568 หน่วยรับงบประมาณได้ส่งคำขอไปตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.2567 ยังงงอยู่ว่าทำไมนายกฯ เพิ่งทราบจาก กมธ.ว่าเราจำเป็นที่จะต้องลดงบที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ แล้วมาสั่งวันที่ 3 มี.ค.2567 ออกหนังสือวันที่ 6 มี.ค.2567 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เราไม่มีนโยบายแบบนี้ตั้งแต่การมอบนโยบายงบ 2568 ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.2567 แต่เราจะติดตามอย่างใกล้ชิดสำหรับงบปี 2568 ซึ่งจะเผยโฉมหน้าให้ประชาชนทราบที่จะเข้า ครม.ในสัปดาห์หน้า

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ในฐานะรองประธาน กมธ. ชี้แจงว่า ข้อเท็จจริงงบประมาณไปพลางก่อนไม่ใช่อำนาจของสำนักงบฯ ฝ่ายเดียว แต่มีเรื่องของกลไกลตามข้อกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการอนุมติเห็นชอบผ่านนายกฯ รวมกับสำนักงบฯ และเนื่องจากเวลาในการทำงบฯ ประจำปีไม่ทันจึงมีความจำเป็นต้องใช้ แต่ในการใช้งบไปพลางก่อนจะมาตั้งโครงการใหม่ ซึ่งไม่ได้รับการบรรจุในงบประมาณปีก่อนหน้าทำไม่ได้ งบประมาณไปพลางก่อนข้อดีคือผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในปีก่อนหน้ามาเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นจึงเป็นโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากตัวแทนประชาชนในระดับหนึ่ง ซึ่งนายกฯ และ ผอ.สำนักงบฯ สามารถกำหนดได้เฉพาะหลักเกณฑ์เงื่อนไขเท่านั้น เช่นงบประจำ เงินเดือนข้าราชการ เป็นต้น

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า รัฐบาลนี้เข้ามาเราได้มีการอนุมัติแผนการคลังปี 2568-2571 โดยให้ความสำคัญของการลดขนาดการขาดดุลงบประมาณลง เพื่อให้สอดคบ้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2568 จำนวน 7.13 แสนล้านบาท ลดลงปีละประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยปีละ 0.2%ของจีดีพี หากระยะต่อไปเราสามาถทำการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้มีการขยายตัวได้เต็มศักยภาพ อย่างที่วางเป้าไว้ที่ 5% ภาครัฐก็สามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งในเรื่องของการคลังได้ทั้งด้านรายได้และหนี้สาธารณะ ก็สามารถบริหารได้เหมาะสมเพื่อที่จะเดินไปสู่เป้าหมายการคลังในระยะยาวได้ และสามารถเดินหน้าทำงบประมาณสมดุลได้ในเวลาที่เหมาะสม

“ยืนยันว่าโครงการของรัฐบาลทุกโครงการไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลวอลเล็ต หรือโครงการใดก็ตามยังจะเดินหน้า แต่ด้วยกรอบการพิจารณาของชั้นคณะกรรมการผู้ดำเนินการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เรายังยืนยันว่าอาจจะต้องมีความจำเป็นจะต้องกู้ผ่านพ.ร.บ. แต่หากจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็คงจะมาผ่านการพิจารณาการให้ความเห็นของจากสมาชิกอีกครั้ง ยืนยันว่าเราจะเดินหน้าแน่นอน”นายจุลพันธ์กล่าว

ทั้งนี้ สภามีมติเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยให้คงตามคณะกมธ. เสียงข้างมาก ด้วยเสียง 262 ต่อ 140 งดออกเสียง 1 ไม่ออกเสียง 5 เสียง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'จุลพันธ์' บอกเงินดิจิทัลใช้ Super App ไม่ใช่เป๋าตังซื้อของเซเว่นฯ ได้

รมช.การคลังแจงโครงการเงินหมื่นดิจิทัล เริ่มจ่ายเงินไตรมาส 4 ปีนี้ หวังกระตุ้น ศก.ปีหน้า เข็นจีดีพีโต 5%ตามฝัน เบื้องต้น ซื้อของร้านสะดวกซื้อได้ แต่ ห้างใหญ่ไม่เข้าข่าย

'พริษฐ์' ร่ายยาวซัดรัฐบาลเศรษฐาพายเรือในอ่างแก้รัฐธรรมนูญ

'พริษฐ์' ทวงสัญญา 'รัฐบาล' ปมแก้ รธน. หลังพบกกระบวนการเป็นตลกหกฉาก พร้อมทำนายรัฐบาลเตรียมไพ่ ไว้กินรวบอำนาจ ดักทางให้รักษาสัจจะต่อประชาชน