ไม่รอด!สภาสูงจองกฐินซักฟอกปม 'ทักษิณ' 25 มี.ค.แน่

สภาสูงซักฟอกรัฐบาล 25 มี.ค.ส่อเดือด สว.ยัน อภิปรายปม 'ทักษิณ' แน่ ย้ำเป็นประเด็นใหญ่

21 มี.ค.2566 - นายดิเรกฤทธิ์ เจนคลองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงการประชุมวุฒิสภาวันจันทร์ที่ 25 มีนาคม ที่จะมีการอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ว่า การอภิปรายครั้งนี้ที่มีการแบ่งประเด็นการอภิปรายเป็น 7 หัวข้อ ซึ่งในหัวข้อ ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย กรณีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทาง สว.จะมีการอภิปรายแน่นอน เพราะเรื่องของกระบวนการยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมาย เป็นประเด็นปัญหาระดับชาติ ที่ยังเกี่ยวข้องกับ ความมั่นคง ความเท่าเทียม-เสมอภาค ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ในการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ที่ผ่านมา สว.มีการศึกษาติดตามเรื่องกระบวนการยุติธรรมมาตลอด และเมื่อตอนนี้มีเคสตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง กับกรณีที่ประชาชนมีข้อสงสัยว่า หลักการทางกฎหมายที่ประเทศเราวางไว้ ที่อยากให้กระบวนการยุติธรรมเป็นของประชาชนโดยแท้จริง คือต้องไม่ใช่เครื่องมือพันธนาการที่ให้รัฐบังคับใช้อย่างเลือกปฏิบัติ แต่ต้องมีความรวดเร็ว ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรมกับทุกคน เป็นเครื่องมือที่จะทำให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง เพื่อให้เป็นกระบวนการยุติธรรมของประชาชน

“เมื่อเกิดกรณีของนายทักษิณ ที่เป็นกรณีซึ่งมีการพูดถึง และตั้งคำถามจากประชาชน เรื่องนี้จึงมีประเด็นอยู่ ในแง่เรื่องของกฎ กติกา กฎหมาย มีการบังคับใช้เหมือนกันหรือไม่ ที่เป็นประเด็นใหญ่ที่สุด”นายดิเรกฤทธิ์กล่าว

นายดิเรกฤทธิ์กล่าวด้วยว่า กรณีของนายทักษิณ ยังมีประเด็นเรื่อง เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร มีการปฏิบัติหรือเลือกปฏิบัติระหว่างนายทักษิณกับคนอื่นหรือไม่อย่างไร และยังมีกรณีหน่วยงานตรวจสอบที่เกี่ยวข้องว่าเมื่อเกิดกรณีมีพฤติการณ์เหล่านี้ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีหลายภาคส่วนเกี่ยวข้องไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ แต่ยังมีเช่นแพทย์ที่ทำความเห็น รวมถึงผู้เกี่ยวข้องกับการคุมประพฤติ การกักบริเวณ การให้ข้อยกเว้น ซึ่งเฉพาะกรณีของนายทักษิณ จะมีกระบวนการที่เกี่ยวข้องสามส่วนด้วยกัน หนึ่ง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น เมื่อนายทักษิณ ที่ต้องโทษจำคุกแปดปี แล้วการให้เหตุผลในการขอพระราชทานอภัยโทษ ทำไมด้วยเหตุผลอะไร แล้วนักโทษคนอื่นมีกรณีแบบนายทักษิณหรือไม่ เพราะการขอพระราชทานอภัยโทษ จริงๆ แล้วเหมือนกับเป็นเรื่องของสถาบันฯ ที่จะพิจารณาตามพระราชอำนาจ แต่ว่าต้นเรื่องที่ผู้รับสนองพระบรมราชโองการฯ หรือผู้ที่มีหน้าที่ในการนำเสนอจำเป็นต้องทำหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องให้เหตุผลว่าด้วยเหตุอะไร จึงทำเรื่องเหล่านี้ มีการทำคุณงามความดีอะไร มีเหตุผลอะไร เข้าเงื่อนไขกฎหมายอะไร จึงได้มีการขอพระราชทานอภัยโทษ

สอง หลังได้รับการพระราชทานอภัยลดโทษเหลือจำคุกหนึ่งปี แล้วเหตุใดถึงไม่ได้เข้าไปอยู่ในเรือนจำ มีกรณีพิเศษอะไรถึงได้เข้าไปนอนรักษาตัวที่รพ.ตำรวจได้ มีอาการเจ็บป่วยอย่างไร แล้วการไปนอนที่โรงพยาบาล ที่ถือว่าเป็นการต้องขังรับโทษ มีกระบวนการที่เกี่ยวข้องอย่างไร ,ระหว่างอยู่รพ. มีเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ไปดูแลควบคุมหรือไม่ และเรื่องของการได้รับการพักโทษ ที่นักโทษที่จะเข้ารับการพักโทษได้ต้องมีเงื่อนไขอย่างไร

และสุดท้าย คือการได้รับการพักโทษ กลับไปอยู่บ้านได้ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของกรมคุมประพฤติ แล้วตัวเขาได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมประพฤติหรือไม่ อย่างที่เราเห็นภาพข่าวกัน ที่ไปปรากฏตัวที่เชียงใหม่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แล้วหากเป็นนักโทษคนอื่นที่ได้รับการพักโทษ จะสามารถทำแบบเดียวกันนี้ได้หรือไม่ เพราะการกลับไปไหว้บรรพบุรุษก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็มีการใช้เวลาอีกส่วนหนึ่งไปทำกิจกรรมที่คนป่วยขั้นวิกฤตที่เคยได้รับข้อยกเว้น ทำได้หรือไม่ และหากไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติไม่อนุญาต ถ้าเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น ตามหลักจะต้องทำอย่างไร จะต้องกลับมารับโทษจำคุกหรือไม่

“ทั้งหมดเป็นเรื่องในทางปฏิบัติที่มีคนเกี่ยวข้องจำนวนมาก และเป็นปัญหาที่ประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่สว.-ส.ส.เท่านั้นที่มีข้อสงสัย โดยเหตุที่ต้องสงสัยเพราะกระบวนการยุติธรรม เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทั้งประเทศ การให้ความยุติธรรมเป็นเรื่องของคนทั้งสังคม ที่ต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมอย่างทั่วถึงจากรัฐอย่างเป็นธรรม เพราะเมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกว่า คุกมีไว้ขังคนจน หากเป็นคนรวย ทำผิดจะไม่ถูกคุมขัง ถ้าคนรู้สึกแบบนี้ มันจะเป็นการสร้างความกดดัน ความขมขื่นต่อประชาชน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ”นายดิเรกฤทธิ์กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....

เปิดระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวานนี้ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน​กรรม​การ​การเลือกตั้ง​ (กกต.)​ ได้ลงนามในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ.2567

ประธาน กมธ.พัฒนาสังคมฯ ย้ำจุดยืนไม่ไปดูงาน ตปท.

'ครูหยุย' ย้ำจุดยืน กมธ.การพัฒนาสังคมฯ ไม่ไปดูงาน ตปท. ชี้หากใครไปต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ แนะกำหนดแนวทางให้ชัด เศรษฐกิจแย่ -แจกเงินหมื่น ไม่ให้ไปดูงานต่างประเทศ

'ธนาธร' ปลุกหนักมาก! ชวนลงสมัคร 'สว.ประชาชน' เข้าไปรื้อรัฐธรรมนูญ

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า แถลงเปิดตัวแคมเปญ ‘สว.ประชาชน’ ของคณะก้าวหน้า ว่า คณะก้าวหน้าเห็นความสำคัญของการเลือกตั้ง สว.ในเดือน พ.ค.-มิ.ย.ที่จะมาถึง จึงอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนให้มาร่วมกันลงสมัคร สว.