นักการเมืองประสานเสียงแก้กฎหมายพรรคการเมือง!

กกต.จัดเสวนา 'พรรคการเมืองสร้างชาติ' ทุกพรรคประสานเสียง แก้กฎหมายพรรคการเมือง ดันทำงานเพื่อปชช. เต็มที่ ลั่นยุบพรรคไม่ใช่ทางออก

27 มี.ค.2567 - ที่อิมแพค ฟอรัม เมืองทองธานี สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดเสวนาวิชาการเรื่องพรรคการเมืองสร้างชาติและการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการพรรคการเมือง โดยนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.), นายภราดร ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ ศ.วุฒิสาร ตันไชย นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวเปิดงาน และนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวรายงาน ทั้งนี้ มีหัวหน้าพรรค และสมาชิกพรรคการเมืองเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

ซึ่งประเด็นคำถาม ในงานเสวนา คือพรรคการเมืองเอื้อประโยชน์ให้การเมืองไทยได้อย่างไรโดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า โดยส่วนตนมองว่าพรรคการเมืองทุกพรรคที่ก่อตั้งขึ้น มีเจตนาว่าต้องการเข้ามาบริหารบ้านเมืองและนำนโยบายเข้ามาใช้ให้ประโยชน์กับประชาชนคงไม่มีพรรคการเมืองใด ที่ตั้งขึ้นแล้วอยากเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งพรรคการเมืองได้ตั้งขึ้นและถูกกำกับโดยรัฐธรรมนูญ อีกทั้งบริบทของรัฐธรรมนูญนั้นมีความเข้มงวดในการควบคุมพรรคการเมือง ซึ่งทางพรรคการเมืองมองว่าเรามีเจตนาในจัดตั้งพรรคขึ้นก็จริงแต่เราถูกจำกัด มากมายหลายประการ ในข้อกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่สามารถที่จะเรียกร้องอะไรได้ จึงมองว่าทางออกที่จะดีสุดคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นพรรคการเมืองเป็นประชาธิปไตย

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่าแทนที่จะบริหารชาติบ้านเมือง แต่กลับถูกมองว่ามาบริหารอำนาจ บางครั้งก็ถูกยุบพรรค ความต่อเนื่องในการบริหารชาติบ้านเมือง และดำเนินกิจกรรมทางการเมืองนั้นก็ไม่เกิดขึ้น โดยลึกๆ ไม่ค่อยเห็นด้วย ในเรื่องการยุบพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นโดยง่าย ซึ่งเราเคยเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ในหลายเรื่องโดยเฉพาะมาตรา 92 (2) และ (3) แต่ท้ายที่สุดแล้วเราก็แก้ไม่สำเร็จ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งในส่วนพรรคการเมือง ก็สร้างนักการเมืองมืออาชีพ ให้ขึ้นมาบริหารพรรคการเมือง แต่ในปัจจุบันเรายังไม่มีร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะส่วนมากทุกคนก็มีอาชีพหลักควบคู่ไปด้วย ท้ายที่สุดแล้วการที่พรรคการเมือง ถูกควบคุมกำกับด้วยกฎหมาย แต่มองว่าควรจัดทำรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยและมีความมั่นคงมากกว่าที่เป็นอยู่

ด้านนายวุฒิสาร กล่าวว่า พรรคการเมืองก่อนจะสร้างชาติควรจะมองว่าจะสร้างนักการเมืองที่ดีได้อย่างไรซึ่งความจริงที่ทำให้พรรคการเมืองมั่นคงและเดินต่อได้ คือความจริงที่อยู่ภายในพรรคการเมือง เช่น แก่นกลาง ที่เป็นชุดความคิดอุดมการณ์ จุดมุ่งหมาย เดียวกัน ที่สมาชิกพรรคจะมีความคิดเห็นตรงกันหรือไม่เชื่อเรื่องเดียวกันใช่หรือไม่ เพราะหากจะต้องมีอิสระในการจัดการบริหาร พรรคการเมืองควรเติบโตด้วยธรรมชาติไม่ใช่เติบโตด้วยกติกา คนที่จะควบคุมพรรคคือสมาชิกพรรคการเมือง คนที่จะรับผิดชอบคือกรรมการบริหารพรรคการเมือง ที่ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ

นายวุฒิสาร กล่าวอีกว่าระบบกฎหมายควรเอื้อให้พรรคการเมืองเติบโตโดยประชาชน ซึ่งเรื่องที่สำคัญคือเราต้องยอมรับว่าพรรคการเมือง มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย ซึ่ง 4-5 ปีที่ผ่านมาบทบาทของ สส.ในการอภิปรายในสภาไปในทิศทางที่ดีเห็นชัดเจนว่า หากคุณจะพูดอะไรที่ไม่มีข้อมูลเป็นไปไม่ได้แล้ว เราเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง ทุกคนต่างมีข้อมูลข้อเท็จจริงเข้ามาอ้างอิงในการอภิปราย แต่ที่ผ่านมากติกาหรือกฎหมายพรรคการเมือง ไม่เคยให้พรรคการเมืองเติบโตโดยธรรมชาติแต่กฎหมายออกมาซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆมีกติกาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอยากให้มี Mindset สำหรับกฎหมายนี้ จะต้องให้เวลาเพื่อเกิดการพัฒนาไปเรื่อยๆ อย่าออกกฎหมายเพื่อการยุบพรรคอย่างเดียว เพราะพรรคการเมืองถือว่าเป็นสมบัติของสมาชิกพรรค เราต้องออกกติกาให้ดีและมี Mindset ใหม่

ด้านนายชัยธวัช กล่าวว่าน่าเสียดายที่สังคมไทย สวนทางกับโลก และบอกว่าพฤติกรรมของพรรคก้าวไกล มีพฤติกรรมล้มล้างการปกครอง และถูกยุบพรรค ซึ่งในแง่นี้หมายความว่าพรรคการเมืองพรรคนี้ ไม่น่าจะมีบทบาทให้การเมืองดีและสร้างชาติ แต่ในทางตรงกันข้าม ถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองทำลายชาติเป็นพรรคการเมืองที่ไม่ดีซึ่งมีนัยยะที่เป็นประเด็นสำคัญอยู่ ทั้งนี้มองว่าพรรคการเมืองมีความสำคัญมากๆในการสร้างชาติ ในฐานะผู้มีบทบาททางตรงในการกำหนดนโยบายสาธารณะรวมถึงการออกกฏหมาย ตัวพรรคก้าวไกลเอง พยายามพัฒนาบุคลากรและตัวแทนของพรรคให้มีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพราะไม่ว่าจะพูดถึงการกำหนดนโยบายสาธารณะ เราระดมสมองจากนักกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญ แต่ในเมืองไทยเราไม่เคยเห็นพัฒนาการทางการเมือง เราไม่เคยเห็นการถกเถียงทางการเมืองกันอย่างจริงจังดังนั้นตนคิดว่าควรจะมีได้แล้ว

นายชัยธวัชยังย้ำอีกว่า การเมืองดีไม่มีอะไรมากต้องวางอยู่บนหลักการพื้นฐานง่ายง่ายคือ 1.อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน 2.สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานต้องได้รับการคุ้มครอง 3.กฎกติกาฟรีและแฟร์หรือไม่ หากเราออกแบบการเมืองที่เราคิดว่าการเมืองดีคือแบบนี้ เราก็จะออกกฎกติกาที่เชื่อว่าจะเอื้อต่อการพัฒนาทางการเมือง เพราะเชื่อว่าประชาชนเรียนรู้ได้ แต่หากการเมืองดีคือการที่ยุบพรรคการเมืองกันอย่างเป็นปกติ พรรคการเมืองถูกสั่งว่าหาเสียงแบบนี้ไม่ได้และอันตรายไป จนถึงการยุบพรรคนั้น และกฎพรรคการเมืองนั้นหยุบหยิบไปหมด การใช้งบประมาณ ไม่เอื้อต่อการสร้างพรรคการเมืองที่เข้มแข็งเลย ขอเงินยากและหากเราออกแบบกฎกติกาพรรคการเมืองด้วยพื้นฐานที่เรียกว่าเป็นการเมืองที่ไม่ไว้ใจประชาชนและต้องการพยายามควบคุมอำนาจ และสถาบันทางการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชนให้อยู่ภายใต้อำนาจที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน แต่เป็น “คุณพ่อรู้ดีไปหมด” ว่าการเมืองที่ดีควรเป็นอย่างไร อันนี้ถือเป็นใจกลางสำคัญมากๆที่การเมืองไทยยังไม่จบว่าจะมีคำตอบจากเรื่องนี้อย่างไร

ด้านนายภราดร กล่าวต่อว่า สำหรับพรรคการเมืองที่ไม่รักษาคำพูดตอนหาเสียง จะมีบทลงโทษอย่างไรนั้น บอกว่าหากไม่ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ก็จะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป ยกตัวอย่างพรรคภูมิใจไทยกับนโยบายกัญชา ซึ่งระบุว่าจะทำกัญชาให้เป็นกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งในช่วง 4 ปีที่นายอนุทินเป็น รมว.สาธารณสุข ก็ทำให้เป็นกัญชาเสรีทางการแพทย์และสำเร็จไปส่วนหนึ่งแต่สิ่งที่ปรากฏออกมา เรากำลังเขียนกฎหมายเพื่อที่จะให้มีการควบคุมความเสรีของกัญชาเกี่ยวกับเรื่องของการสันทนาการ ซึ่งเราประกาศว่าไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว แต่กฎหมายนั้นไม่สำเร็จเพราะอะไรก็แล้วแต่พักร่วมรัฐบาลขณะนั้นทำให้องค์ประชุมไม่ครบไม่เห็นด้วยพยายามเตะถ่วงให้กฎหมายนี้ไม่ผ่าน ก็มีผลกระทบ มาถึง การเลือกตั้งว่าภูมิใจไทยทำให้กัญชาเสรีมากเกินไปซึ่งไม่ใช่เจตนารมณ์ของเราเนื่องจากกฎหมายไม่แล้วเสร็จ ทำให้พรรคการเมืองอื่นนำมาโจมตีในสนามเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นคิดว่าการพูดแล้วไม่สามารถทำตามที่หาเสียงได้แม้บทลงโทษทางกฎหมายไม่มีแต่ก็จะถูกกดลงโทษทางสังคมต่อไปส่งผลต่อพรรคการเมืองในอนาคต

นายภราดรกล่าวว่า การเมืองจะดีหรือไม่ดีพรรคการเมืองจะดีหรือไม่ดีต้องเริ่มต้นจากกติกา พรรคการเมืองจะดีได้ กติกาก็ต้องดีก่อน พรรคการเมืองเป็นบ้านของสมาชิก และทำหน้าที่ในการนำเสนอ แนวทางความคิดของตัวเองสู่สาธารณะแล้วให้สาธารณะ วิพากษ์วิจารณ์เห็นตัวตนของพรรค ต้องมีการสอบถามว่าประชาชนต้องการอะไรแล้วเอาความต้องการนั้น มาเป็นแก่น เป็นหลักคิดนำเสนอต่อสังคมอีกครั้งแล้วลงสู่สนามเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนเลือกเข้าสู่การเป็นคณะบริหาร นี่คือสิ่งที่สังคมไทยปรารถนาที่จะเห็น แต่ที่ผ่านมาพรรคการเมืองถูกกดทับถูกบีบคั้น ถูกทำให้รู้สึกว่านักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นสิ่งชั่วร้าย เป็นสิ่งที่สังคมไม่ปรารถนาจึงออกกติกามาเหมือนกับว่าพยายามที่จะเข่นฆ่านักการเมืองและเข่นฆ่าพรรคการเมือง ไม่ให้พรรคการเมืองมีการเติบโต โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญปี 2550 และฉบับ 2560 ที่มีกติกาในการยุบพรรคซึ่งตนคิดว่าไม่มีใครเห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมืองจากกติกาที่เขียน ว่าจะต้องยุบจาก เหตุผล 1 2 3 แต่พรรคการเมืองควรจะต้องยุบพรรคจากประชาชน เพราะเกิดมาจากประชาชน ซึ่งในอดีตหลายพรรคการเมืองที่เกิดมาปัจจุบันก็ไม่มีสถานะแล้วเพราะประชาชนไม่เลือก อย่างไนก็ตาม หลายคนผ่านประสบการณ์ถูกยุบพรรคมาแล้วทั้งสิ้น อาจารย์ชูศักดิ์ 2 ครั้ง นายชัยธวัช 1 ครั้ง ส่วนตน 1 ครั้งและกำลังสุ่มเสี่ยงอีก 1 ครั้ง ฉะนั้น ถือว่าเป็นความเจ็บปวดในฐานะคนการเมืองที่ต้องมาทำการเมืองโดยมีความระแวง ว่าจะถูกยุบพรรคจากการทำงานการเมืองหรือไม่

“อยากเห็นพรรคการเมืองมาแข่งกันนำเสนอมุมมองทัศนคติทางการเมือง เศรษฐกิจสังคมการศึกษา จะเดินหน้าพัฒนาประเทศผ่านนโยบายต่างๆ แต่จะเห็นว่าในปี 2562 และ 2566 ในการเลือกตั้งพรรคการเมืองไม่ได้แข่งในเรื่องเหล่านี้ แต่กลับแข่งกันว่าเป็นพวกของใคร เป็นฝ่าย เผด็จการหรือฝั่งประชาธิปไตยซึ่งนี่เป็นเรื่องพื้นฐานมาก มันมีที่ไหนที่พรรคการเมืองอยู่ฝั่งเผด็จการ เพราะทุกคนก็มาจากการเลือกตั้ง”

นายภราดร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามทุกอย่างอยู่ที่กติกา อย่างที่นายชูศักดิ์บอกว่า ชนใดเขียนกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็มาจากผู้ที่ทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 เขียน กฎหมายเขียน รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์การเลือกตั้งปี 2562 กติกาจึงบิดเบี้ยวมาจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นคิดว่าสิ่งที่พรรคการเมืองเห็นตรงกันว่าประเด็นแรกที่จะต้องทำคือการแก้ไขกติกาให้เป็นสากล แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ผ่านสสร.ที่มาจากประชาชน นี่คือเรื่องสำคัญที่เป็นหัวใจของการเลือกตั้งรอบนี้และอนาคตต่อไปหาก กติกาเข้มแข็งเป็นสากล มาจากประชาชน ซึ่งยังไม่รู้ว่าสุดท้ายจะออกมาแบบไหนแต่แน่นอนว่าเมื่อมาจากประชาชนย่อมดีกว่ารัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการ ทั้งฉบับ 2550 และ 2560 ดังนั้นเมื่อกติกาดี พรรคการเมืองดีก็นำไปสู่การเมืองที่ดี

"พรรคการเมืองต่อไปนี้ถ้าเป็นกติกาใหม่เราจะไม่ต่อสู้การเมืองบนคำว่าเผด็จการ หรือคำว่าประชาธิปไตย แต่จะมาต่อสู้กัน ว่าเราเป็นพรรคการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม เป็นพรรคการเมืองเสรีเราจะทำเศรษฐกิจแบบทุนเสรีทำเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมอะไรก็แล้วแต่ นี่คือช่องทางการนำเสนอของพรรคการเมืองที่จะเสนอต่อประชาชนให้ได้เลือกในสิ่งที่เขาควรจะเลือก ไม่ใช่ว่ามาเลือกว่าเป็นเผด็จการประยุทธ์ หรือไม่ประยุทธ์หรือมีลุงไม่มีเราอะไรแบบนี้" นายภราดร กล่าว และว่า พฤติกรรม การกระทำของพรรคการเมืองต่างๆ จะมีผลต่ออนาคตที่ประชาชน จะเป็นผู้ตัดสินผ่านการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่านักการเมืองตรวจสอบไม่ได้องค์กรอิสระยังมีหน้าที่ในการตรวจสอบนักการเมืองอยู่ดี แต่ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่พอเหมาะพอสม ที่ไม่ใช่ว่ามีธงการเมือง ที่จะกลั่นแกล้งทางการเมืองกัน อย่างเรื่องของการยุบพรรค ซึ่งเชื่อว่าการยุบพรรคทุกครั้งนั้นมีธงทางการเมืองและเชื่อว่าสังคมก็เห็นแบบนั้นเหมือนกัน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าพรรคการเมืองถูกตรวจสอบโดยองค์กรอิสระไม่ได้ แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมายแต่พอเหมาะสม และการตรวจสอบที่เข้มแข็งที่สุดคือการตรวจสอบโดยประชาชน

นายภราดร ยังกล่าวถึง นโยบายเงินดิจิทัล10,000 บาทว่าพรรครัฐบาลมีความเป็นห่วงโครงการดังกล่าวแล้วจะขอไม่เข้าร่วมประชุมหรือไม่ ว่า ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล รัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาลไปแล้ว เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในองคาพยพก็ต้องเดินหน้าไปตามนโยบายของรัฐบาล แน่นอนว่าพรรคภูมิใจไทยก็ต้องเดินหน้าไปตามนโยบายของรัฐบาล แต่ในปี 2567 ยังติดขัดในเรื่องของงบประมาณที่ยังไม่สามารถเอาไปใช้ได้ ก็อาจจะต้องหาช่องทางอื่นซึ่งเชื่อว่าขณะนี้ทางรัฐบาลกระทรวงการคลังกำลังหาช่องทาง เพื่อจะนำเงินมาดำเนินนโยบายนี้ได้อย่างไร แน่นอนว่าก็มีทางออกในการออกเป็นพ.ร.ก. เงินกู้ได้หรือไม่ ซึ่งก็เป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรี หรือออกเป็นพ.ร.บ. ซึ่งต้องผ่านสภาได้หรือไม่ ก็ต้องมาถกเถียงในสภาต่อไป ดังนั้นคิดว่าในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อเป็นนโยบายรัฐบาลก็จำเป็นที่จะต้องร่วมกันผลักดันให้สำเร็จ หากไม่มีอะไรที่หนักหนาสาหัสหรือผิดกฎหมายซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่ผิดกฎหมายอะไรก็สามารถที่จะผลักดันไปได้ ส่วนความเห็นพรรคฝ่ายค้าน หรือพรนคก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ก็ว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ชัยเกษม' ออกตัวไม่เกี่ยวปรับครม. ผู้บริหารพรรคจะใช้ให้ทำอะไรก็ได้ สบายๆ

นายชัยเกษม นิติสิริ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย เดินทางมาไหว้ศาลพระภูมิเจ้าที่ ศาลตา ศาลยาย โดยผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่า การเดินทางมาไหว้วันนี้เกี่ยวอะไรกับการปรับ ครม.หรือไม่

'อนุทิน' ไม่กังวลแบงก์ชาติท้วงแจกเงินดิจิทัล ชี้หากไม่ถูกกฎหมาย กฤษฎีกา-สภาพัฒน์ต้องแจ้งมา

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.)ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย มีหนังสือเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

'เสี่ยหนู' ขอเช็กปมเก้าอี้ 'ครูแก้ว' หลังถูก ป.ป.ช.ฟันจริยธรรมร้ายแรงก่อน

'อนุทิน' ขอเช็กรายละเอียด ตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี หลัง 'ครูแก้ว' ถูก ป.ป.ช.ชี้จริยธรรมร้ายแรงที่ดินป่าดงพะทาย

'รังสิมันต์'แนะ 3แนวทางแก้ปัญหาเมียนมา!

กมธ.ความมั่นคงเชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องถกสถานการณ์เมียนมา 'โรม' ชี้ปัญหาในเมียนมาก็เป็นปัญหาของไทย เหตุคนหนีอพยพข้ามแดน ลั่นไทยอยู่ในฐานะที่น่าไว้วางใจที่สุด ควรเป็นตัวกลางในการเจรจา

'ชัยธวัช'ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาสู้คดียุบพรรคเพิ่มอีกรอบ!

'ชัยธวัช' ลุ้นศาล รธน.ขยายเวลาสู้คดียุบพรรค มองเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงต้องหาพยาน-หลักฐาน สู้อย่างเต็มที่ เชื่อปรากฎการณ์งูเห่าน้อยกว่า 'อนาคตใหม่' เหตุสถานการณ์ต่างกัน