สส.ก้าวไกล ชี้ 3 ความเสี่ยง 'ดิจิทัลวอลเล็ต' เตรียมรับวิกฤติในอนาคต

“สส.ก้าวไกล” เตือน 3 ข้อเสี่ยง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ถามแทนคนเงินเดือน 7 หมื่นทำไมต้องรับใช้หนี้ทั้งที่ไม่ได้เงิน ชี้เงื่อนไขโครงการตัดโอกาสร้านค้าขนาดเล็ก

18 เม.ย.2567 - เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวรัฐบาลยืนยันเดินหน้าดำเนินการโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ในฐานะที่ตนเป็นผู้บริหารธนาคารในระดับอาเซียน อดห่วงไม่ได้กับท่าทีรัฐบาลในโครงการนี้ จึงขอเตือนไปยังรัฐบาลในความเสี่ยง 3 เรื่องที่จะเกิดขึ้น ความเสี่ยงเรื่องแรกคือ การเตรียมตัวกับวิกฤตในอนาคต ในขณะนี้ ทุกท่านทราบข่าวการเกิดวิกฤตการสู้รบ ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป ตะวันออกกลาง และอีกหลายแห่งทั่วโลกขึ้น และถ้าโลกเกิดวิกฤตจากความไม่สงบขึ้น จนกระทบเศรษฐกิจในระดับโลก หรือหากเกิดภัยธรรมชาติรุนแรงในประเทศ เช่น ปี 2554 ขึ้นอีก ในปีนี้ หรือปี 2568 ประเทศไทยจะประสบกับความยากลำบากในการเผชิญกับวิกฤต มองว่าเราใช้จ่ายเงินเกินตัว

นายจุลพงศ์ กล่าวอีกว่า ถ้ามีการแจกเงิน 5 แสนล้านบาทตามโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว แต่เศรษฐกิจของไทยไม่ได้เติบโตตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้หรือเติบโตน้อย ความเสี่ยงของประเทศไทยในการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลกหรือภูมิภาคที่อาจจะเกิดขึ้นจะทำได้ยาก รัฐบาลคงจะคาดหวังจากการเก็บภาษีมาเป็นรายได้ เพื่อรองรับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคตไม่ได้ เพราะหากดูตัวเลขรายได้ของประเทศจากภาษี ประเทศไทยมีรายได้จากการเก็บภาษีราว 13.7% เมื่อเทียบกับจีดีพี ซึ่งน้อยมาก เพราะลดลงกว่าเมื่อก่อนที่อยู่ราว 17% ของจีดีพี เมื่อเทียบกับในประเทศพัฒนาแล้ว มีการเก็บภาษีได้ราว 35% ของจีดีพี ดังนั้น จึงถือเป็นความเสี่ยงมากขึ้นของประเทศในการรับมือกับวิกฤตในอนาคต พูดง่ายๆ คือ เราใช้จ่ายเกินตัว แต่มีรายได้ต่ำ

นายจุลพงศ์ กล่าวต่อว่า ความเสี่ยงเรื่องที่สอง คือการขาดงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากของรัฐบาล เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรและคนชั้นกลาง คนยากจน และการช่วยเหลือเอสเอ็มอี หากเราไม่สามารถยกระดับเกษตรกรและคนยากจนขึ้นมาเป็นคนชั้นกลางได้ ประเทศไทยก็ไม่มีทางที่จะขับเคลื่อนด้วยคนชั้นกลางเหมือนประเทศอื่นๆ ที่เขาสามารถข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้ และหากไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนเอสเอ็มอีในจีดีพีให้มากขึ้น ประเทศไทยก็เดินหน้าต่อได้ยาก

“หากเป้าหมายของการแจกเงิน 5 แสนล้านบาทไม่สำเร็จ คือเศรษฐกิจไม่โตตามที่รัฐบาลคาดไว้ รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลชุดหน้าก็จะไม่มีเงินมากพอที่จะดูแลคนยากจนและเกษตรกรได้ทั่วถึงอีกต่อไป ดูตัวอย่างง่ายๆจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปลายปีที่แล้ว พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีหนี้โดยเฉลี่ย 450,000 บาทต่อครัวเรือน ดังนั้น การแจกเงินตามโครงการดิจิทัลวอลเล็ตคนละ 10,000 บาท โดยห้ามไม่ให้ใช้ในการชำระหนี้ คงไม่ได้ช่วยเกษตรกร” นายจุลพงศ์ กล่าว

นายจุลพงศ์ กล่าวว่า ความเสี่ยงเรื่องสุดท้ายคือการทุจริตคอร์รัปชัน ที่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของไทยยังมีช่องว่างเยอะมาก เช่น การจัดทำซุปเปอร์แอป ซึ่งรัฐบาลเพิ่งจะบอกว่าจะสร้างขึ้นใหม่นั้น ใครจะเป็นจัดทำ หากจะให้เอกชนเข้ามาทำ มีการจัดจ้างแล้วหรือไม่ ในเมื่อจะลงทะเบียนผู้ค้าในไตรมาส 3 คือเริ่มเดือนกรกฎาคมแล้ว หรือถ้ามีแล้ว ผ่านการประกวดราคาเมื่อใด ระบบบล็อกเชนที่อ้างว่าจะใช้นั้นไม่มีคนกลาง เราตรวจสอบไม่ได้ว่าใครทำอะไร แล้วระบบที่รัฐบาลจะมาใช้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น จะตรวจสอบได้หรือไม่ ความเสี่ยงการเกิดคอร์รัปชันจึงเป็นเดิมพันที่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบ

นายจุลพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ชาวบ้านเขาฝากมาถามว่ารัฐบาลกำหนดว่าคนที่ได้รับจากงานก็ต้องมีรายได้ต่ำกว่า 70,000 บาทต่อเดือนถึงจะมีสิทธิ์ได้รับการแจกเงิน ตัวเลขนี้มาจากไหน เราไม่เคยได้รับการอธิบายจากรัฐบาลเลย แล้วไม่รู้จะเปลี่ยนต่อไปอีกหรือไม่ ทำไมคนที่มีรายได้เกิน 70,000 บาท ต้องมารับใช้หนี้

เมื่อถามว่าในเงื่อนไขของรัฐบาลมีข้อสังเกตอะไรบ้าง นายจุลพงศ์ กล่าวว่า รัฐบาลเปลี่ยนเงื่อนไขมาโดยตลอด และในที่สุดเราก็ไม่รู้จะเปลี่ยนเงื่อนไขอีกหรือไม่ ตนกังวลว่าเงื่อนไขที่ออกมานั้น ร้านหาบเร่แผงลอบจะไม่ได้รับเหมือนตอนสมัยโครงการคนละครึ่ง

ถามอีกว่าโครงการนี้เอื้อนายทุนหรือไม่ นายจุลพงศ์ กล่าวว่า มันทำให้โอกาสของร้านค้าขนาดเล็กที่มีน้อยอยู่แล้ว ตัดโอกาสลงไปมากขึ้น ตนไม่ขอพูดว่าเอื้อใคร เราควรจะดูร้านค้าขนาดเล็ก ตนผ่านร้านค้าขนาดเล็ก เห็นมีคิวอาร์โค้ดห้อยอยู่ แต่เราจะไม่เห็นแบบนี้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดิจิทัลวอลเล็ตส่อขัดรธน.! อดีตรมว.คลังแนะกฤษฎีกาตีความ รัฐบาลล้วงงบฯจากปี67ด้วย

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์

ยุ่งแน่! ‘เรืองไกร’ ร้อง ป.ป.ช. สอบ ครม.เห็นชอบดิจิทัลวอลเล็ต ฝ่าฝืนกม.หรือไม่

จากการติดตามโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่คณะรัฐมนตรีพึ่งมีมติให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 67 นั้น

'แก้วสรร' แพร่บทความปอกเปลือก ทักษิโณมิคส์ บวก X กลายเป็นโครงการแจกเงินดิจิทัล

นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ เผยแพร่บทความเรื่อง "ทักษิโณมิคส์ + X = โครงการแจกเงินดิจิตอล" มีเนื้อหาดังนี้ เมื่อคราวแรกเริ่มครองอำนาจในปี ๒๕๔๖ ของพรรคทักษิณ ที่พลิกมิติการปกครองไทยด้วยชุดนโยบายการเงินที่โหมอัดฉีดประชานิยมชนิดเข้มข้นต่างๆนานา