'ณัฐพงษ์' ปลุกสส.แก้ปัญหาต้นตอ ขจัดอำนาจศาลรธน.ล้นเกิน ร่างรธน.ใหม่ทั้งฉบับ

'ณัฐพงษ์' ชี้ นายกฯ คนใหม่ ต้องแก้ปัญหาต้นตอ ขจัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญล้นเกิน สร้างบาดแผลให้ทุกฝ่าย ชี้หลังรธน.ปี40 ยุบพรรคการเมืองแล้ว 111 พรรค มีการตัดสิทธิ์ส.ส.- ถอดถอนนายกฯ รุกล้ำฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร ปลุกสส.ทั้งสภา ร่างรธน.ใหม่ทั้งฉบับ

16ส.ค. 2567 - เมื่อเวลา 10.55 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นพิเศษ ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน อธิปราย ว่า วันนี้เป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการยืนยัน เพื่อสถาปนาอำนาจสูงสุดที่เป็นของประชาชน ให้กลับมายืนหยัดอย่างสง่างามอีกครั้ง

"ดังนั้น ผมเห็นด้วยกับประธานสภาฯ และเพื่อนสมาชิกว่า วันนี้ไม่ใช่เวทีที่พรรคประชาชน จะมาอภิปรายถึงตัวคุณสมบัติของผู้ที่ถูกเสนอชื่อ ไม่ใช่เวทีที่ประชาชนจะมาอภิปรายถึงความเหมาะสมของนโยบายของรัฐบาล เพราะยังไม่ถึงขั้นตอนเหล่านั้น แต่เป็นเวทีที่ในฐานะพรรคประชาชน จะขอกล่าวคำอภิปราย เพื่อเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งจะอยู่ในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 นี้ ว่า พวกเราไม่เห็นด้วยในกระบวนการนิติสงคราม ที่ดำเนินการโดยกลุ่มคนชั้นนำมาทำลายอำนาจที่มาจากประชาชน วันนี้ไม่ว่าเพื่อนสมาชิกจะลงมติอย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภารกิจของพวกเราในฐานะ สส.รวมถึงภารกิจของนายกรัฐมนตรีคนถัดไป คือการกลับไปแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ที่ทำให้พวกเราต้องมานั่งอยู่ในสภาฯ วันนี้"

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของตนหรือเพื่อนสมาชิกคนใดคนหนึ่ง หรือเป็นเรื่องของพรรคประชาชน ของพรรคการเมืองอื่นการเมืองใดการเมืองหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของพวกเราทุกคนที่เราจะต้องร่วมกันขีดเขียนประวัติศาสตร์ต่อจากนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศที่ต้นตอ

นับตั้งแต่ปี 2541 ภายหลังการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญปี 40 ได้มีการยุบพรรคการเมืองไปแล้วทั้งสิ้น 111 พรรค ตัวเลขนี้รวมถึงการยุบพรรคก้าวไกลกรณีล่าสุดไปแล้ว แน่นอนว่าตัวเลขนี้ อาจจะเป็นตัวเลขจากการยุบพรรคที่นับรวมการยุบพรรคจากการขาดหลักเกณฑ์ ขาดคุณสมบัติ และขาดสมาชิกต่างๆ ของพรรคการเมืองด้วย

แต่หากเราจะนับเฉพาะคดีการยุบพรรคที่เป็นคดีทางการเมือง ซึ่งมีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมาในอดีต ก็จะมีอีกหลายกรณี อาทิ การยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ จนมาถึงพรรคก้าวไกลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งมีเพื่อนสมาชิกหลายๆ คนที่นั่งอยู่ในห้องประชุมแห่งนี้ ล้วนเป็นเหยื่อจากคำตัดสินทางการเมือง และล้วนเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากระบบที่ให้อำนาจล้นเกินกับศาลรัฐธรรมนูญ ในการพิจารณายุบพรรคการเมือง

หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวอีกว่า นอกจากการยุบพรรคการเมือง ยังมีกรณีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาทิ กรณีถือหุ้นสื่อ ที่ส่งผลให้เพื่อนสมาชิกของเราบางท่านต้องพ้นสมาชิกภาพไป ทั้งที่เราทราบกันดีว่า ในหลักปฏิบัตินั้น บริษัทเหล่านี้หลายๆ บริษัท ไม่ได้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับสื่อแล้ว

แต่นอกจากกรณียุบพรรคและถือหุ้น ที่มีผลกระทบต่อ สส. ฝ่ายนิติบัญญัติโดยตรง ยังมีกรณีที่นายกรัฐมนตรีประมุขของฝ่ายบริหารถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งมาแล้วหลายครั้งในอดีต

ล่าสุดที่ทำให้เราต้องมาอภิปรายในวันนี้ คือกรณีของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ทูลเกล้าฯ เสนอนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมา ดังนั้น เรื่องนี้คิดว่าเป็นปัญหาของการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระอื่นๆ ที่จะต้องทำอย่างไรไม่ให้มีการรุกล้ำเขตแดนอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจนล้นเกิน

ทั้งนี้ เรายังมีกรณีการถูกประหารชีวิตของนักการเมืองอีกหลายกรณีตามพระราชบัญญัติของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ด้วยข้อหาผิดจริยธรรมร้ายแรง

“ผมคิดว่าทุกท่านที่นั่งอยู่ในห้องแห่งนี้ น่าจะเห็นปัญหาเดียวกัน ในฐานะที่หลายๆ ท่านอยู่ในโลกการเมืองมาก่อนผมนานนัก มีใครคิดว่าบุคคลที่ตนได้เอ่ยชื่อมา สมควรจะถูกประหารชีวิตทางการเมืองไหมครับ เพราะไม่ว่าจะถูกจะผิดอย่างไร เราก็มีกลไกในการตรวจสอบ มีโทษอาญา มีคดีการทุจริตคอรัปชั่นในการตรวจสอบอยู่แล้ว แต่โทษในการประหารชีวิตการเมืองของนักการเมืองที่ทุกท่านก็ล้วนเป็นนักการเมืองเช่นเดียวกันกับผม มีใครเห็นด้วยกับโทษเหล่านี้ไหมครับ”

นายณัฐพงษ์ กลาวอีกว่า สำหรับมาตรฐานทางจริยธรรม ควรจะเป็นเงื่อนไขกฎกติกากระบวนการที่พวกเราตรวจสอบกันเอง ไม่ใช่กฎกติกาที่จะให้องค์กรอื่นๆ อย่างองค์กรตุลาการมาวินิจฉัย โดยใช้มาตรวัดทางกฎหมายมาตรวัดทางจริยธรรมที่ปัจเจกแต่ละคนมองเห็นแตกต่างกัน ดังนั้น หากจะมีใครมาตัดสินจริยธรรมของนักการเมืองในฐานะที่นักการเมืองมาจากประชาชนอตนคิดว่าควรจะต้องใช้ความรับผิดรับผิดชอบใช้เสียงของประชาชนมาเป็นคนตัดสิน

จากเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ จะมีช่วงเวลาไหนที่รองประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ รองประธานสภาผู้แทนคนที่หนึ่ง และประมุขของฝ่ายบริหาร ต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปพร้อมๆ กันในช่วงเวลาไม่กี่วัน ทำให้เกิดสภาพสุญญากาศทางการเมืองในการบริหารราชการแผ่นดินที่เราต้องมานั่งประชุมกันในวันนี้ ตนคิดว่าที่ผ่านมา เราเห็นไม่กี่กรณีนอกจากการเกิดปฏิวัติรัฐประหารโดยตรง แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป ตนคิดว่าเรากำลังอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เต็มใบอีกรูปนึง

การเลือกตั้งในปี 49 ถือการเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตตน แต่ผลการเลือกตั้งในวันนั้น ก็ต้องเป็นโมฆะ และทำลายเสียงที่ตนออกไปใช้สิทธิ์ใช้เสียง เนื่องด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยเช่นนี้ ที่ทำร้ายจิตใจสร้างแผลบาดลึกในประชาชนคนไทยทุกคน รวมถึงตนเองที่ออกไปเข้าหาเป็นครั้งแรก

นายณัฐพงษ์ เชื่อว่า ความจริงที่ตนได้เล่าไปนี้ เป็นความจริงที่เพื่อนสมาชิกรวมถึงประชาชนที่ฟังจากทางบ้านเราประสบกันทุกคน ได้รับบาดแผล ประสบการณ์หลายๆ อย่าง ประชาชนในประเทศนี้ อาจจะไม่ได้มีโอกาสเข้ามานั่งในสภาฯ แต่ตนเชื่อว่าเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ร่วมประสบเหตุแบบเดียวกับตนที่หล่อหลอมให้ทุกท่านมานั่งอยู่ในห้องนี้

ภายหลังจากการปฏิวัติปี 57 ที่มาสู่รัฐธรรมนูญปี 60 ที่บรรดาคณะผู้ร่างมีแนวคิดว่า นักการเมืองเป็นสิ่งเลวร้ายที่พวกเขาต้องฉกฉวยโอกาสจากอำนาจที่ได้มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร และการฉีกรัฐธรรมนูญ มาออกแบบกติกาบนพื้นฐานรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง

ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ตนเชื่อว่ามันได้พิสูจน์แล้วว่า แนวคิดแบบนี้ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย ซ้ำร้ายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งจากกลุ่มคนชั้นนำ ผู้ถือใบอนุญาตอีกหนึ่งใบ โดยใช้อำนาจเหล่านั้นมาทุบทำลายผู้แทนราษฎรผู้ทรงอำนาจสูงสุดจากประชาชน

นายณัฐพงษ์ ชี้ว่า โจทย์ปัจจัยสำคัญของพรรคประชาชนในขณะนี้ คือการสร้างเสถียรภาพให้กับประเทศ ทำอย่างไรให้เรามีนายกรัฐมนตรีคนถัดไปมาทำหน้าที่เร็วที่สุด เพื่อให้ประเทศเราไม่ต้องเกิดสุญญากาศทางการเมือง และเกิดสุญญากาศในการบริหารราชการแผ่นดิน

ภารกิจที่สำคัญของพวกเราในสภานี้ คือช่วยกันสานต่อภารกิจ 3 ประการ คือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่างๆ ทั้งการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ หรือรายมาตรา หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ตาม เพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่ และอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงองค์กรอิสระ ให้มีความเหมาะสมเป็นไปตามหลักสากล จะมีการปรับปรุงโทษและกติกาที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ทำอย่างไรให้พรรคการเมืองเกิดขึ้นได้ง่ายแต่ตายได้ยาก และมีความยืดโยงกับฐานสมาชิกพรรค เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับระบอบประชาธิปไตยในประเทศ ทำอย่างไรที่มีการทบทวนมาตรฐานจริยธรรม ให้เป็นเรื่องความรับผิดรับชอบทางการเมืองของนักการเมืองให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินไม่ใช่องค์คณะไม่กี่คนเป็นผู้ตัดสิน

"เชื่อว่าเราเหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 ปีต่อจากนี้ ในรัฐสภาชุดนี้ ในวาระที่เรามีร่วมกัน เราสามารถผลักดันให้มันเกิดขึ้นได้ และในการเลือกตั้งปี 2570 ไม่ว่าพรรคใดจะชนะการเลือกตั้ง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนนำเสนอนี้ จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญให้กับระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมือง นักการเมือง ผู้ได้รับฉันทามติจากการเลือกตั้ง จากอำนาจสูงสุดของประชาชน ให้สามารถดำเนินนโยบายแก้ไขกฎหมายบริหารประเทศ เพื่อตอบเจตจำนงประชาชนได้อย่างดีที่สุด"

นายณัฐพงษ์ ทิ้งท้ายว่า การลงมติของพรรคประชาชนต่อจากนี้ เราจะลงมติไม่เห็นชอบ เพราะเราต้องการสงวนจุดต่างใช้หลักการเดียวกันกับที่เราได้โหวตเลือกนายเศรษฐาไปเมื่อปีที่แล้ว ว่าเราไม่เห็นด้วยกับการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลแบบนี้ เราเคารพท่าน และผมก็เชื่อว่า ทุกท่านจะเคารพในความเห็นของพวกเรา แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนวาระร่วมอื่นๆ ก็อยากให้ทุกท่านช่วยกันเดินหน้าต่อไป

จากนั้น เวลา 11.11 น. ที่ประชุมได้เข้าสู่วาระพิเศษ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลสมควรได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

โดยเริ่มนับองค์ประชุม มีสมาชิกแสดงตน 482 คน จากจำนวน สส.ทั้งหมด 493 คน จากนั้นได้ให้ฝ่ายเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขานชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นรายบุคคลตามตัวอักษร โดยให้สมาชิกขานว่าเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และงดออกเสียงเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคร่วมรัฐบาลที่มี 314 เสียงยืนยันพร้อมโหวตสนับสนุนให้นางสาวแพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ มีมติเป็นเอกฉันท์งดออกเสียง ส่วนพรรคประชาชนแสดงจุดยืนไม่โหวตสนับสนุนให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรครัฐบาล โดยจะโหวตไม่เห็นชอบ

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เท้ง-ไหม' ชำแหละ 'นายกฯอิ๊งค์' เหมือนฝากงานรมต. มากกว่าแถลงผลงานรัฐบาล

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมด้วย นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลงานรัฐบาลครบ 90 วัน เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

'ธนกร' ฟาด 'พิธา' หยุดโยงมั่ว ซัดพรรคการเมืองจะอยู่หรือตายเพราะทำตัวเอง

'ธนกร' ฟาด 'พิธา' ตรรกวิบัติ ชี้ พรรคการเมืองไม่ได้ตายด้วยองค์กรอิสระ แต่ตายเพราะทำตัวเอง ชี้ กกต.-ศาลวินิจฉัย ยึดตามข้อกฎหมาย เชื่อ ถ้าไม่ทำผิดก็ไร้โทษ จี้ หยุดพ่นหลักการพิษ โยงไกลถึงรัฐประหาร ทำปชช.สับสน ไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมของประเทศได้

อึ้ง! ปชช. 57% ไม่เชื่อมั่นฝ่ายค้าน 'ไหม' โดดเด่นสุด 'เท้ง' รั้งอันดับ 9 'ป้อม' บ๊วย

โพลชี้ 'ศิริกัญญา' โดดเด่นสุด สส.ฝ่ายค้าน แซง 'หัวหน้าเท้ง' อยู่อันดับ 9 ตามคาด 'ลุงป้อม' รั้งท้าย อึ้ง! ประชาชนไม่เชื่อมั่นการทำงานฝ่ายค้านกว่า 57%

'ทักษิณ-พท.' สะดุ้ง! 'ปชน.' ประกาศกวาด 300 สส. ตั้งรัฐบาลพรรคเดียว

'เลขาธิการพรรคประชาชน' ลั่นเลือกตั้งรอบหน้า มีโอกาสกวาด สส. 270 - 300 ที่นั่ง ตั้งรัฐบาลพรรคเดียว โวขั้นต่ำเกินกึ่งหนึ่งแน่ แย้มชงบัญชีนายกฯ มากกว่า 1 ชื่อ

'หัวหน้าเท้ง' รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง เป็น 'ผู้นำฝ่ายค้านฯ'

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 ต.ค. ที่รัฐสภา มีพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส