
จี้ให้ส่งคำตอบโดยเร็วภายในหนึ่งสัปดาห์ หากจันทร์นี้ รัฐสภาลงมติส่งคำร้องให้ศาลรธน.ตอบมาให้ชัด แก้ 256 ตั้งสภาร่างรธน. โดยไม่ต้องทำประชามติก่อนได้หรือไม่
16 มี.ค.2568 – ในวันจันทร์ที่ 17 มีนาคมนี้ จะมีการประชุมร่วมรัฐสภา ระหว่าง สส.กับสว. ที่จะมีวาระสำคัญในการประชุมคือ จะมีการพิจารณาลงมติว่าจะส่งญัตติที่เป็นคำร้องของนพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา กับของสส.พรรคเพื่อไทย ที่นำโดยนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งขอให้ที่ประชุมรัฐสภามีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตอบข้อหารือประเด็นข้อกฎหมายเรื่อง กระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย ที่เสนอให้แก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเข้าไปยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งร่างแก้ไขรธน.ทั้งสองฉบับดังกล่าว เสนอเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภาแล้วแต่ยังค้างการพิจารณาอยู่ ญัตติของนพ.เปรมศักดิ์และสส.พรรคเพื่อไทย จึงมีการถามศาลรัฐธรรมนูญว่า รัฐสภาสามารถดำเนินการพิจารณาร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวได้หรือไม่หรือว่าต้องมีการทำประชามติก่อน
นาวาตรี วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า จะลงมติเห็นด้วยกับการให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองญัตติ เพื่อให้เกิดความชัดเจนเพราะหากไม่ถามศาลรธน.ก่อน แล้วสมาชิกรัฐสภาเกิดไปลงมติในร่างแก้ไขรธน.มาตรา 256 ที่ค้างการพิจารณาอยู่ แล้วเกิดมีปัญหาภายหลังว่าทำไม่ได้ ก็จะมีการไปเอาผิดกับสมาชิกรัฐสภาอีก คิดว่าหากที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 17 มีนาคมนี้มีมติให้ส่งญัตติดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ คิดว่าศาลรธน.ไม่ควรใช้เวลานาน ควรต้องรีบตอบกลับมา เพราะเป็นเรื่องที่ศาลรธน.น่าจะมีแนวทางไว้อยู่แล้ว จึงไม่น่าใช้เวลานานที่จะตอบกลับมา หากศาลรธน.บอกว่าต้องทำประชามติก่อน ฝ่ายที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะได้ไปทำจัดทำประชามติก่อน แต่หากบอกว่าไม่ต้องทำสามารถแก้มาตรา 256 ได้เลย ก็จะทำให้สมาชิกรัฐสภาได้กลับมาโหวตร่างแก้ไขรธน.ทั้งสองร่างที่ค้างอยู่ต่อไป จะได้จบเร็ว
เมื่อถามว่าหากส่งญัตติไปแล้วศาลรัฐธรรมนูญไม่รับพิจารณาหรือไม่ตอบกลับมาโดยอ้างเหตุว่ายังไม่เกิดปัญหา ไม่เข้าองค์ประกอบที่จะตอบกลับมาได้ นาวาตรี วุฒิพงศ์ กล่าวว่า ศาลรธน.ตั้งมาเพื่อตอบข้อสงสัยไม่ใช่หรือ ก็ควรที่ศาลรธน.ต้องตอบญัตติที่ส่งไป เพราะหากไม่ตอบกลับมา แล้วสมาชิกรัฐสภาไปลงมติอย่างใดอย่างหนึ่งในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างไว้ แล้วเกิดต่อไปมีปัญหามีคนไปร้องเอาผิด สมาชิกรัฐสภาก็แย่กันหมด
เมื่อถามอีกว่าหากรัฐสภาลงมติให้ส่งศาลรธน.ทางศาลรธน.ก็ควรตอบกลับมาโดยเร็วอาจไม่เกินภายในสัปดาห์นี้เลย นาวาตรี วุฒิพงศ์ ตอบว่า “ถูกต้อง” เพราะเรื่องนี้มีข้อถกเถียงกันมาหลายสัปดาห์แล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ จะให้ทำหรือไม่ให้ทำประชามติ เขาก็ควรบอกมา ก็อุตส่าห์มีหนังสือจะสอบถามไปแล้ว ความจริงสส.กับสว.หลายคน ก็อยากให้ลงมติไปเลย ไม่เห็นต้องไปถามศาลรธน. แต่ก็เหมือนโดนขู่ว่าหากไปลงมติจะมีการเอาผิด สส.กับสว.ก็เหมือนโดนมัดมือมัดเท้าอยู่ ทำอะไรก็ไม่ได้ ก็ขู่กันฟอดๆ ว่าหากลงมติจะร้องเอาผิด จะโดนตัดสิทธิ์การเมือง ก็เลยต้องถามไป
“ยังไม่รู้ว่า ญัตติของหมอเปรมศักดิ์จะผ่านหรือไม่เพราะสส.อาจไม่ลงให้แล้วไปลงให้เฉพาะญัตติของเพื่อไทยก็ได้ แต่ส่วนตัวผมจะลงมติเห็นชอบด้วยให้ทั้งสองญัตติได้มีการส่งศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ซึ่งหากส่งไปแล้ว การตอบของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้มีอะไร ก็แค่บอกว่า ต้องทำประชามติก่อนถึงจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างอยู่ได้ หรือว่าไม่ต้องทำประชามติ รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างอยู่อยู่ได้เลย ศาลก็ควรบอกได้แล้ว เพราะประชาชน เขาก็อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมก็อยากให้แก้รัฐธรรมนูญ เพราะของเดิมมันแย่อยู่ แต่จะแก้ได้หรือไม่ มันก็ควรให้เกิดความชัดเจนได้แล้ว เพื่อที่จะได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ทันก่อนการเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งหากเกิดความชัดเจนตรงนี้ คิดว่า ถ้าศาลบอกว่าให้รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ได้เลย ไม่ต้องทำประชามติก่อน ถึงตอนนั้นเมื่อรัฐสภากลับมาพิจารณาร่างที่ค้างอยู่สองร่าง ก็เชื่อว่าจะมีสว.ลงมติเกินหนึ่งในสามของสว.แน่นอนหากมีความชัดเจนเกิดขึ้น ”นาวาตรี วุฒิพงศ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับญัตติของพรรคเพื่อไทยกับของนพ.เปรมศักดิ์ แม้จะให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญเหมือนกันแต่มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน
โดยในส่วนของพรรคเพื่อไทย เป็นญัตติที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่
เนื้อหาระบุอ้างอิงถึงร่างแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อจัดทำร่างฉบับใหม่ของร่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ซึ่งมีหลักการทำนองเดียวกัน และประธานรัฐสภาบรรจุระเบียบวาระในการประชุมเมื่อวันที่ 13-14 ก.พ.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าเกิดความขัดแย้งและความเห็นที่แตกต่างกันของสมาชิกรัฐสภาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา
ญัตติดังกล่าว ระบุว่า ฝ่ายหนึ่งเห็นว่ารัฐสภาไม่มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 2 ฉบับ เนื่องจากยังมีการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ว่าประชาชนประสงค์ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่เสียก่อน ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 จึงได้แสดงออกด้วยการประกาศไม่เข้าร่วมประชุมและมีการอภิปรายแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง ขณะที่สมาชิกรัฐสภาส่วนหนึ่ง เห็นว่า รัฐสภามีหน้าที่ทำหน้าที่พิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้มีหลักเกณฑ์ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการเพิ่มเติมหมวด 15/1 เท่านั้น ซึ่งภายหลังเมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จึงไปดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ
โดยทำพร้อมกับประชามติว่าประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นการทำประชามติก่อนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เช่นกัน ซึ่งฝ่ายนี้เห็นว่าเป็นการสอดคล้องและเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564
“ดังนั้นเมื่อสมาชิกรัฐสภามีความเห็นขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการพิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในข้างต้น จึงทำให้รัฐสภาไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหน้าที่และอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการทำหน้าที่และถือว่าเป็นกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วและยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปัญหาดังกล่าว จึงเสนอญัตติด่วนตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่”ญัตติของส.ส.เพื่อไทย ที่จะส่งศาลรธน.ระบุ
ขณะที่ญัตติของนพ.เปรมศักดิ์ ที่จะให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ มีการตั้งประเด็นคำถามศาลรัฐธรรมนูญว่า กระบวนการที่รัฐสภากำลังดำเนินการอยู่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่สามารถทำได้หรือไม่และหากทำได้และรัฐสภาเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว การทำประชามติตามมาตรา 256 สามารถทำไปพร้อมกับคำถามว่าประชาชนเห็นชอบให้ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่
อนึ่งก่อนหน้านี้ มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรธน.มาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชาติ เมื่อ 13 กับ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า องค์ประชุมล่มทั้งสองวัน เพราะสส.ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้านและสว.ต่างพากันไม่กดบัตรแสดงตนในห้องประชุมรัฐสภา หรือไม่เข้าประชุม ทำให้องค์ประชุมไม่ครบทั้งสองวันติดต่อกัน ที่เกิดจากสาเหตุที่ สมาชิกรัฐสภาเกรงว่าจะมีปัญหาหากไปร่วมพิจารณาร่างแก้ไขรธน.ทั้งสองฉบับ เพราะยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่าสามารถทำได้หรือไม่ หรือว่าต้องทำประชามติก่อนถึงจะแก้มาตรา 256 ได้ ทำให้เพื่อไทย ที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่จริงใจกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องให้สส.ของพรรคเข้าชื่อกันเสนอญัตติดังกล่าวเพื่อส่งศาลรธน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กมธ.ศึกษากาสิโน วุฒิสภา จี้รัฐบาลถอนร่างพรบ.สถานบันเทิงฯ ออกจากสภาไม่ใช่ทิ้งเชื้อคาไว้
วุฒิสภา ระบุรัฐบาลควรถอนร่างพรบ.สถานบันเทิงฯออกจากสภา ไม่ใช่ทิ้งเชื้อคาไว้ ค้านเอาที่การท่าเรือฯ คลองเตย ติดริมแม่น้ำ สองพันกว่าไร่ ประเคนกลุ่มทุนกาสิโนข้ามชาติ ข้องใจเร่งรีบเพื่อเตรียมทุนเอาไปหาเสียงเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่
ดร.ณัฏฐ์ ชี้ กกต.ไต่สวน ‘หมอเกศ’ เสี่ยงขาดอายุความ คดีคุณสมบัติ–โพยฮั้ว สว.
นักกฎหมายมหาชน เตือน กกต.ไต่สวน พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย อาจล่าช้าเกินกรอบเวลา 1 ปี เสี่ยงคดีขาดอายุความ ทั้งกรณีคุณสมบัติผู้สมัครและพัวพันโพยฮั้ว สว. ชี้สังคมตั้งคำถามหนัก เป็นเทคนิคลดกระแสหรือถ่วงเวลาให้พ้นผิด
'อ.ไชยันต์' มั่นใจไม่มีปัญหาลักษณะต้องห้าม สมัครตุลาการศาลรธน.คนใหม่
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการยื่นใบสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มีการปิดรับสมัครไปเมื่อ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา
สว. โชว์ผลงานปีแรก เทอม 2 ประชุม 29 ครั้ง พิจารณากฎหมาย 15 ฉบับ
ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง เป็นประธานในที่ประชุม ได้กล่าวถึงผลงานของวุฒิสภา
ศาลรัฐธรรมนูญตีตกคำร้องฟัน กกต.ปมฮั้วเลือก สว.
ศาล รธน.ตีตกคำร้อง "ณฐพร" ปมขอสั่งฟัน กกต.เหตุปล่อยฮั้วเลือก สว. ชี้ไม่ใช่ผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ กกต.ทำตาม กม.หากเสียหายใช้สิทธิทางศาลอื่นได้
นฤมลโยนสภา! ตัดสินเรื่องทำประชามติ 'กาสิโน'
'นฤมล' ระบุพรรคร่วมยังไม่ได้คุย ข้อเสนอให้ประชามติ กม.คอมเพล็กซ์ ชี้ต้องฟังเสียงเสียงใหญ่ในสภาด้วยเอาอย่างไร ยัน รบ.รับฟังเสียงทักท้วง ไม่อยากให้ม็อบบานปลาย