กระทรวงคมนาคมเตรียมความพร้อมหน่วยงานในสังกัดอำนวยความสะดวกและรับมือสถานการณ์การเดินทาง ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565 เน้นย้ำต้องส่งพี่น้องประชาชนกลับบ้านอย่างปลอดภัยจากอุบัติเหตุและการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID - 19

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมเตรียมการรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565 ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๗ เมษายน 2565 โดยกำชับหน่วยงานในสังกัดบูรณาการร่วมกันอำนวยความสะดวกประชาชน “ เพื่อให้ประชาชนเดินทางสะดวก ปลอดภัย ห่างไกล COVID - 19”  และดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) โดยถือปฏิบัติตามข้อกำหนด พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และคำสั่ง ศบค. อย่างเคร่งครัด และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565  พร้อมเสนอแนวทางอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางและแนะนำประชาชนให้วางแผนการเดินทางล่วงหน้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้

นายศักดิ์สยามฯ กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีวันหยุดราชการติดต่อหลายวัน จึงคาดการณ์ว่าจะมีพี่น้องประชาชนที่เดินทางเพื่อกลับภูมิลำเนา ท่องเที่ยวหรือเดินทางไปทำบุญด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลและใช้บริการขนส่งสาธารณะ จึงได้มอบหมายให้ สนข. จัดทำแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565 ของกระทรวงคมนาคม ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๗ เมษายน พ.ศ. 2565 ระยะเวลารวม 7 วัน มีการตั้งเป้าหมายการดำเนินการช่วงวันหยุดยาว ดังนี้

(๑) บริการระบบขนส่งสาธารณะให้เข้าถึงง่าย เพียงพอไม่ล่าช้า ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง ไม่โก่งราคา ไม่ทิ้งผู้โดยสาร และทันกับเหตุการณ์

(๒) ให้ความเชื่อมั่นแก่ประชาชนในคุณภาพของการให้บริการขนส่งสาธารณะ ด้วยการดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้นและจริงจัง

(๓) กำกับและควบคุม ลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ ลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. ๒๕๖๕

(๔) บริหารจัดการจราจรทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ๒๕๖๕ ให้มีความคล่องตัวและไม่ติดขัด

(๕) บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทาง

นายศักดิ์สยามฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้จัดเตรียมแผนงาน/มาตรการรองรับการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565 ที่ครอบคลุมใน ๓ มิติ ได้แก่ มิติอำนวยความสะดวกในการเดินทาง มิติความปลอดภัยในการเดินทางและมิติด้านการควบคุม COVID - 19 เช่น 

มิติอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ประกอบไปด้วย 

เตรียมบริการขนส่งสาธารณะทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ ให้เพียงพอได้มาตรฐานความปลอดภัย ให้ประชาชนเดินทางอย่างสะดวกและปลอดภัยมากที่สุด 

ร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนวางแผนการเดินทางล่วงหน้า เพื่อกระจายการเดินทางและเหลื่อมเวลาการเดินทางในเส้นทางเข้า -  ออกกรุงเทพมหานคร โดยขอความร่วมมือให้กลุ่มเดินทางใกล้ (ประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวภายในรัศมี 200 - 300 กิโลเมตรจากกรุงเทพมหานคร) ให้เดินทางออกทีหลัง - กลับไว โดยเดินทางออกจากกรุงเทพมหานคร ในวันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน 2565 และกลับเข้ากรุงเทพมหานคร ในวันเสาร์ที่ 16 เมษายน 2565  สำหรับคนบ้านไกล ขอให้เดินทางออกไว - กลับทีหลัง โดยเดินทางออกจากรุงเทพมหานคร ในช่วงวันอังคารถึงวันพุธที่ 12 - 13 เมษายน 2565 และกลับเข้ากรุงเทพมหานคร ในช่วงวันเสาร์ถึงวันอาทิตย์ที่ 16 - 17 เมษายน 2565 โดยการเหลื่อมเวลาใช้ทางจะช่วยกระจายปริมาณจราจรบนถนนและบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์

จัดเตรียมมาตรการสำหรับบริหารจัดการจราจรบนเส้นทางถนนสายหลักและสายรองที่มีการจราจรหนาแน่นติดขัด โดยการคืนพื้นผิวจราจร/ช่องจราจรบริเวณโครงการก่อสร้าง ตั้งจุดกวดขันวินัยจราจร และประชาสัมพันธ์ให้ใช้เส้นทางเลี่ยง

มิติความปลอดภัยในการเดินทาง

ตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยง (Black spot) ที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน เช่น บริเวณจุดกลับรถ จุดตัดถนนกับรถไฟ และทางลักผ่าน

รณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่ “ ไม่ขับเร็ว - คาดเข็มขัดนิรภัย - สวมหมวกนิรภัย - ดื่มไม่ขับ - รักษาวินัยจราจร ” รวมถึงร่วมกันขับเคลื่อนการกำกับดูแล/การดำเนินการตามแผนอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน ตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565

การกำกับดูแลความพร้อม ของพนักงานขับขี่และพนักงานประจำรถโดยสารสาธารณะ

เรือโดยสาร และรถไฟให้ปฏิบัติตามกฎหมาย/กฎระเบียบและไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่ใช้สารเสพติด รวมถึงตรวจสภาพความพร้อมและมีอุปกรณ์ความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ เรือโดยสาร รถไฟและเครื่องบิน และภายในสถานีขนส่งผู้โดยสาร สถานีรถไฟ ท่าเรือและท่าอากาศยาน รวมถึงการเปิดใช้งานระบบ GPS ในรถโดยสารสาธารณะ

มิติด้านการควบคุม COVID - 19

เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID - 19 โดยถือปฏิบัติตามข้อกำหนด พ.ร.ก ฉุกเฉิน และคำสั่ง ศบค. อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบกำกับดูแลการให้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภทตามแนวทางที่กำหนด ทั้งการจัดบริการขนส่งสาธารณะให้เพียงพอและเหมาะสม จำกัดจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภทตามที่กำหนด รวมทั้งจัดให้มีการเว้นระยะห่างและการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

นายศักดิ์สยามฯ กล่าวตอนท้ายว่า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้ร่วมกันให้บริการฟรีแก่พี่น้องประชาชน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. ๒๕๖๕ ประกอบด้วย ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียม บนทางพิเศษ ๕ เส้นทาง ได้แก่ ทางพิเศษบูรพาวิถีและกาญจนาภิเษก เป็นเวลา ๗ วัน (๑๒ - ๑๘ เมษายน ๒๕๖๕) และทางพิเศษศรีรัช อุดรรัถยา และเฉลิมมหานคร เป็นเวลา ๓ วัน (๑๓ - ๑๕ เมษายน ๒๕๖๕) และมอเตอร์เวย์ ๒ เส้นทาง ได้แก่ มอเตอร์เวย์หมายเลข ๗ (กรุงเทพมหานคร - พัทยา) และมอเตอร์เวย์หมายเลข ๙ (สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ถนนกาญจนาภิเษก ตอนบางปะอิน - บางพลี และตอนพระประแดง - บางแค ช่วงพระประแดง - ต่างระดับบางขุนเทียน) เป็นเวลา 7 วัน (12 - 18 เมษายน 2565)

เปิดใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์หมายเลข ๖ ช่วงปากช่อง - สีคิ้ว - ขามทะเลสอ ระยะทาง 64 กิโลเมตร ชั่วคราวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565 สำหรับขาออกเป็นเวลา 4 วัน (11 - 14 เมษายน 2565) และขาเข้าเป็นเวลา 4 วัน (15 - 18 เมษายน 2565)  บริการที่จอดรถฟรี ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริเวณลานจอดรถยนต์ระยะยาว โซน C วันที่ 11 - 17 เมษายน 2565

นอกจากนี้ รวค. ได้มีข้อสั่งการเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานดำเนินการ ดังนี้

  1. ให้ทุกหน่วยงานนำแผนที่ได้นำเสนอในวันนี้ มาทำเป็นรายการตรวจสอบ (Checklist) งานในความรับผิดชอบ เพื่อจะได้นำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลได้อย่างชัดเจน
  2. ให้หน่วยงานรายงานผลการดำเนินงานตามแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยฯ ตามแบบฟอร์มที่กำหนด
  3. โทรศัพท์สายด่วนเพื่อบริการข้อมูลข่าวสารและรับเรื่องร้องเรียน ควรพร้อมให้บริการ และหากมีกรณีฉุกเฉินต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมรองรับการเกิดเหตุ
  4. ควรกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานโดยมุ่งเน้นให้สามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกรมการขนส่งทางบกต้องเน้นเรื่องการตรวจสอบความพร้อมความปลอดภัยของผู้ขับขี่และยานพาหนะในจุดตรวจ (Checking point)
  1. รณรงค์ให้เกิดการดำเนินงานตาม “มาตรการคนบ้านใกล้เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ทีหลัง และเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ก่อน” ของ สนข. เพื่อบริหารจัดการการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์โดยพิจารณาแนวทางจูงใจ (Incentive) ให้หน่วยงานในสังกัดลดค่าบริการเดินทางเพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการเดินทาง หรือหารือผู้ประกอบการให้ลดราคาค่าอาหารเครื่องดื่ม ฯลฯ แก่ผู้ที่เดินทางตามมาตรการดังกล่าว
  2. ให้ รฟท. เข้มงวดเรื่องความปลอดภัยบริเวณจุดลักผ่านและบริเวณจุดตัดระหว่างทางรถไฟกับถนน
  3. ให้ ทล. และ ทช. ตรวจสอบการคืนพื้นผิวจราจรบริเวณที่มีการก่อสร้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาคอขวดและจราจรติดขัด  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

’เจือ ราชสีห์‘ ลุยต่อ! ยื่นหนังสือเร่งโครงการสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา

ที่กระทรวงคมนาคม นายเจือ ราชสีห์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ยื่นหนังสือต่อนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อขอให้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ระหว่าง อ.เมืองสงขลา และ อ.สิงหนคร จ.สงขลา

'คมนาคม' คาดเดินทางปีใหม่พุ่ง17 ล้านคันสั่งหยุดก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ชั่วคราว

'คมนาคม'เปิดตัวเลขประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว ช่วงเทศกาลปีใหม่ รถยนต์เข้า - ออกกรุงเทพฯ พุ่งกว่า 17 ล้านคัน สั่งหยุดงานก่อสร้าง 'ถนนพระราม 2'หวังประชาชนเดินทางสะดวก