บันทึกฉบับร่างอัตโนมัตินายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมเสวนาหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ประเทศไทยก้าวต่อไปอย่างไร” ในงานประชุมเสวนา “Better Thailand Open Dialogue : ถามมา - ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” .

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม ร่วมงานประชุมเสวนา “Better Thailand Open Dialogue : ถามมา - ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” พร้อมร่วมเสวนาในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ประเทศไทยก้าวต่อไปอย่างไร” เกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมงาน ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ แม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งกระทรวงคมนาคมไม่ได้หยุดหรือชะลอการลงทุนในโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายคมนาคมของประเทศ เนื่องจากเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ รองรับการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งลดต้นทุนโลจิสติกส์ด้านการขนส่งที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยภายหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย ตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศครอบคลุมพื้นที่ สามารถรองรับความต้องการของประชาชนทั้งในระดับครัวเรือน อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และส่งผลต่อยอดเชื่อมโยงเครือข่ายในระดับประเทศ โดยในปี 2565 ประเทศไทยจะมีโครงการลงทุนทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ในวงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย โครงการที่ได้ลงนามสัญญาแล้ว 516,000 ล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ 974,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงถึง 2.24 ล้านล้านบาท คาดการณ์เบื้องต้นว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 154,000 ตำแหน่งและมีส่วนที่จะต้องจัดหาวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ รวมทั้งเครื่องจักร และยานพาหนะต่าง ๆ ประมาณ 1.24 ล้านล้านบาท จากการประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ด้วยสูตรคำนวณที่เป็นผลมาจากงานวิจัยของ Global Infrastructure Hub and Cambridge Economic Policy Associates ของสหภาพยุโรป จะทำให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณ หรือ Multiply Effect ประมาณ 4 แสนล้านบาท/ปี ในปี 2565 หรือ คิดเป็น 2.35% ของ GDP

กระทรวงฯ ได้ลงทุนพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งในทุกมิติ โดยด้านการขนส่งทางราง ได้แก่ การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) การพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางการเดินทางของระบบรางของไทยและของภูมิภาคอาเซียน โดยเป็นศูนย์รวมของรถไฟทุกประเภท การพัฒนารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ - ท่าพระ การพัฒนาระบบรถไฟระหว่างเมืองเพื่อเพิ่มความสะดวกของประชาชนในการเดินทาง และการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงจิระ - ขอนแก่น โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา - จิระ รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ - นครราชสีมา และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ด้านการขนส่งทางถนน ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน - นครราชสีมา และสายบางใหญ่ - กาญจนบุรี การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุด้วยการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มยางพาราบริเวณเกาะกลางถนน เพื่อลดแรงกระแทกและช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา ด้านการขนส่งทางน้ำ ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ด้านการขนส่งทางอากาศ ได้แก่ การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้ศึกษาจัดทำแผนการพัฒนาระบบคมนาคมสำหรับอนาคต โดยมุ่งเน้นการกระจายความเจริญออกไปในพื้นที่อื่น คือ ออกแบบแนวเส้นทางโครงการให้เป็นแนวตรง เพื่อลดระยะเวลาการเดินทางซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง และลดผลกระทบที่จะมีต่อประชาชนทั้งในด้านการเวนคืนที่ดินและการแบ่งชุมชนออกเป็น 2 ฝั่ง โดยจัดทำเป็นแผนแม่บทการพัฒนา MR-Map ศึกษาโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ เชื่อมอ่าวไทยและอันดามันที่จังหวัดชุมพรและระนอง (Land Bridge) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งทางทะเล รวมทั้งอยู่ระหว่างดำเนินโครงการการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ โดยรัฐบาลจะร่วมกับภาคเอกชนจัดตั้งสายการเดินเรือของไทย เพื่ออำนวยความสะดวก และให้สิทธิพิเศษในการจัดตั้งและดำเนินการ เพื่อให้กองเรือไทยสามารถแข่งขันได้ และเป็นเครื่องมือในการขนส่งสินค้าของไทย

กระทรวงฯ ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดงานประชุมเสวนา “ถามมา - ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” ระหว่างวันที่ 19 - 20 พฤษภาคม 2565 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมแบ่งปันประสบการณ์และการดำเนินงานที่ผ่านมา ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมภายใต้วิกฤตการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งแสดงวิสัยทัศน์ ข้อเสนอแนะและทิศทาง  การปรับตัวรับมือ เพื่อวางรากฐานรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ในอนาคต ให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” ภายในงาน ประกอบด้วยนิทรรศการ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ นิทรรศการอนาคตของไทย นิทรรศการแสดง ผลงานของรัฐบาลที่สำคัญ และนิทรรศการในส่วนบริการภาครัฐ รวมทั้งการกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สังคมยุคใหม่ กฎหมายทันสมัย ระบบราชการทันโลก แก้คอรัปชั่นทันที” โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี การเสวนา หัวข้อ “มองเศรษฐกิจโลก สะท้อนเศรษฐกิจไทย” หัวข้อ “เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ประเทศไทยก้าวต่อไปอย่างไร” หัวข้อ “สิ่งแวดล้อมยุคใหม่ เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ” และหัวข้อ “คุณภาพชีวิตยุคใหม่ ดูแลทุกวัย ยกระดับสวัสดิการ”

สามารถติดตามผลงานการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและการพัฒนาระบบการขนส่งของกระทรวงคมนาคมเพิ่มเติมได้ที่ “MOT channel” https://youtube.com/c/MOTChannel

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภูมิใจไทย รุ่นใหม่ มีของ กับ ไชยชนก เลขาธิการพรรค 14 พ.ค. นับหนึ่งรีแบรนด์ดิ้ง

พรรคภูมิใจไทย หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งก่อตั้งพรรคมา ก้าวเข้าสู่ปีที่ 16 ไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา 6 เม.ย โดยก่อนหน้านั้น พรรคภูมิใจไทย ได้มีการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567