ฟื้นชีวิต ‘คน...คลองแม่ข่า’

นักท่องเที่ยวต่างชาติขี่จักรยานเลียบคลองที่ชุมชนหัวฝายริมคลองแม่ข่า ซึ่งเทศบาลนครเชียงใหม่เริ่มปรับปรุงในช่วงแรก

เชียงใหม่เป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนามาแต่โบราณ  ตามตำนานระบุว่า  พระยามังรายทรงสร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ.1839  โดยมีชัยมงคล 7 ประการที่ทำให้พระยามังรายทรงเลือกเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานี   ซึ่ง 1 ใน 7 ประการก็คือ ‘น้ำแม่ข่า’

วันนี้เชียงใหม่มีอายุ 726 ปี  ผ่านความเจริญและเสื่อมทรุดไปตามกาลเวลา  ไม่เว้นแม้แต่ ‘น้ำแม่ข่า’ ซึ่งมีประวัติศาสตร์ร่วมกับเมืองเชียงใหม่  ในอดีตมีความสำคัญ  เป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้   เป็นคูคลองยุทธศาสตร์  เป็นคูเมืองชั้นนอกของเมืองเชียงใหม่ทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้

‘แม่ข่า’ ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่

‘ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่’  เป็นจารึกการสร้างบ้านแปงเมืองในสมัยตั้งเมืองเชียงใหม่  บอกถึงชัยมงคลประการที่ 5 ที่พระยามังรายทรงเลือกสร้างเมืองเชียงใหม่ว่า... 

“...อันหนึ่งอยู่ที่นี่หันน้ำตกแต่อุชุปัตตาดอยสุเทพมาเป็นแม่น้ำไหลขึ้นไปหนเหนือ  แล้วไหลดะไปหนวันออก  แล้วไหลไปใต้  แล้วไหลไปวันตกเกี้ยวเวียงกุมกาม  แม่น้ำนี้เป็นนครคุณเกี้ยวเมืองอันนี้เป็นชัยมงคลถ้วนห้า  แม่น้ำอันนี้ไหลแต่ดอยมาที่ขุนน้ำ  ได้ชื่อว่าแม่ข่า...” (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่  เดิมจารึกลงในใบลานด้วยอักษรล้านนา  สำนักนายกรัฐมนตรีจัดพิมพ์ปี 2514)

ส่วนชัยภูมิทั้ง 7 ประการ  ประกอบด้วย  1. กวางเผือกสองตัวแม่ลูกมาจากป่าใหญ่ทิศเหนือมาอยู่ชัยภูมิที่นี้ 2. ฟานเผือกสองตัวแม่ลูกมาอยู่ชัยภูมินี้ รบหมา หมาทั้งหลายพ่ายหนี  3.หนูเผือกตัวใหญ่เท่าดุมเกวียนกับบริวาร 4 ตัวมาอยู่ชัยภูมิที่นี้  4. ชัยภูมิที่จะตั้งเมืองนี้ลาดเทจากตะวันตกมาตะวันออก 5.แม่น้ำนี้เป็นนครคุณเกี้ยวเมืองอันนี้เป็นชัยมงคลถ้วนห้า  แม่น้ำอันนี้ไหลแต่ดอยมาที่ขุนน้ำ  ได้ชื่อว่าแม่ข่า...

6. มีหนองใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ท้าวพระยาต่างประเทศจักมาบูชาสักการะมากนัก และ อันหนึ่งน้ำแม่ระมิงค์ (น้ำปิง)  ไหลมาแต่อ่างสรง  อันพระพุทธเจ้าเมื่อยังทรมานได้มาอาบในดอยอ่างสรง  ไหลออกมาเป็นขุนน้ำแม่ระมิงค์...เป็นชัยมงคลถ้วนเจ็ดแล...

คลองแม่ข่า  ผลจากการขยายตัวของเมืองโดยไม่มีแผนรองรับ

คลองสวย  น้ำใส  ไหลดี  ชุมชนมีสุข

น้ำแม่ข่าหรือ ‘คลองแม่ข่า’ มีต้นกำเนิดจากดอยสุเทพ-ดอยปุย ไหลลงสู่ลำห้วยในอำเภอแม่ริม  หลอมรวมกับลำน้ำอีกหลายสายกลายเป็นคลองแม่ข่า  ไหลผ่านเมืองเชียงใหม่ลงสู่แม่น้ำปิงที่อำเภอหางดง  รวมความยาวประมาณ 31 กิโลเมตร 

ปัจจุบันแม่ข่ากลายเป็นคลองที่รับน้ำเสียจากอาคารบ้านเรือน  ชุมชน  โรงแรม  ตลาด สถานประกอบการต่างๆ  บางช่วงมีความกว้างเพียง  5  เมตร  น้ำในคลองมีสีดำ  เน่าเหม็น   ตื้นเขิน  มีผักตบชวา  กอหญ้า  มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำคลอง  มีชุมชนต่างๆ  ตั้งอยู่ริมคลองแม่ข่าและคลองสาขา  จากอำเภอแม่ริม-เทศบาลนครเชียงใหม่-อำเภอหางดง  รวมทั้งหมด 43 ชุมชน  บางชุมชนตั้งอยู่ในแนวโบราณสถาน  เช่น  กำแพงเมือง  ป้อม  คูเมือง  ฯลฯ

เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน  ชาวชุมชนริมคลองแม่ข่าเคยร่วมกันพัฒนาคลองแม่ข่า

ในปี 2561 จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดทำ ‘แผนแม่บทคลองแม่ข่า (พ.ศ.2561-2565)’ มีวิสัยทัศน์  คือ คลองสวย น้ำใส  ไหลดี  ชุมชนมีสุข มีเป้าหมายเพื่อ 1.ฟื้นฟูคลองแม่ข่าให้มีคุณภาพดีขึ้น  2.น้ำไหลเวียนตลอดทั้งปี  3.ปรับปรุงภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมให้สวยงามเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อน  และ 4.ชุมชนมีส่วนร่วมและบริหารจัดการชุมชนอย่างเป็นระบบ

โดยมีแนวทางการดำเนินงาน  เช่น  การสำรวจแนวเขตคลอง  โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศ  ตรวจสอบแปลงที่ดิน ขุดลอกคลอง  จัดการน้ำเสีย   สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำคลอง  พัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนสองฝั่งคลอง  ปรับปรุงภูมิทัศน์  สร้างกำแพงกันดินคอนกรีต  ถนน  สะพาน  สร้างจิตสำนึกชุมชน  จิตอาสา ‘รักษ์แม่ข่า’ ฯลฯ

เริ่มดำเนินโครงการแรกในปี 2564 คือ  โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียสองฝั่งคลองแม่ข่า พร้อมปรับภูมิทัศน์ ระยะที่ 1’  ตั้งแต่บริเวณสะพานแม่ข่า (ระแกง) ถึงประตูก้อม  ระยะทางประมาณ 750 เมตร  ดำเนินการโดยเทศบาลนครเชียงใหม่  ใช้งบประมาณ 22 ล้านบาทเศษ ปัจจุบันการก่อสร้างเกือบเสร็จสมบูรณ์  

พื้นที่ริมคลองแม่ข่าบริเวณชุมชนหัวฝายและชุมชนกำแพงงามที่เทศบาลนครเชียงใหม่เริ่มปรับปรุง

‘การพัฒนาที่อยู่อาศัย’ วาระของจังหวัด

ขณะที่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’ ที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว  ตามแผนแม่บทคลองแม่ข่ากำหนดให้ พอช. ทำหน้าที่พัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชาวชุมชนริมคลองแม่ข่าในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่

นอกจากนี้ นายประจญ  ปรัชญ์สกุล  ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  ได้ออกประกาศจังหวัดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565  ให้ “การพัฒนาและแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา  ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย  เป็นวาระการพัฒนาของจังหวัดที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง  โดยเน้นให้ประชาชนในพื้นที่  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม...”

ทั้งนี้สำนักงานภาคเหนือ และสำนักงานบ้านมั่นคงและที่ดิน  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสร้างความเข้าใจกับชาวชุมชนและสำรวจข้อมูลชุมชนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในพื้นที่ 22 ชุมชนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่  โดยมีหน่วยงานภาคีเข้าร่วม  เช่น  เทศบาลนครเชียงใหม่  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  และกลุ่มนักออกแบบ ‘ใจบ้านสตูดิโอ’

เจ้าหน้าที่ พอช. สำรวจข้อมูลชุมชนริมคลองแม่ข่า

จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นใน 22 ชุมชน  พบว่ามีทั้งหมด 2,169 ครัวเรือน  ประชากรรวม 4,361 คน  ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง  ค้าขาย  และพนักงานประจำ 

ด้านสิทธิ์ในที่ดิน  พบว่า  72 % มีสัญญาเช่าที่ดินกับหน่วยงานเจ้าของที่ดิน (ระยะสั้น 1-3 ปี) ส่วนใหญ่เป็นที่ดินราชพัสดุ  และเทศบาลนครเชียงใหม่  และ 28 % ไม่มีกรรมสิทธิ์   ด้านการอยู่อาศัย  78 % ต้องการเข้าร่วมโครงการปรับปรุงที่อยู่อาศัย  ฯลฯ

โดยขณะนี้ (สิงหาคม  2565) พอช.อยู่ในระหว่างการสนับสนุนชุมชนให้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  รวมทั้งฝึกเรื่องการบริหารจัดการการเงินโดยชุมชน  มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์แล้วใน 7 ชุมชน  เช่น  ชุมชนแม่ขิง  อุ่นไอรัก  วัดโลกโมฬี  ฯลฯ  ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างการดำเนินการ 

นอกจากนี้ พอช.ได้เตรียมเสนอแผนงานการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคลองแม่ข่าต่อจังหวัดเชียงใหม่ภายในเดือนกันยายนนี้  หลังจากนั้นจะดำเนินงานตามแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชาวชุมชนคลองแม่ข่าต่อไป...

เจ้าหน้าที่ พอช.จัดประชุมสร้างความเข้าใจเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยชาวคลองแม่ข่า

เสียงจากคนคลองแม่ข่า

พิมพ์วลัญช์  สุริยา  ชาวชุมชนหัวฝาย  ริมคลองแม่ข่า  อาชีพรับซื้อของเก่า  บอกว่า  เธอเกิดที่ชุมชนหัวฝาย  ตอนนี้อายุ 46 ปี  จำความได้ก็เห็นคลองแม่ข่ามีสีดำแล้ว  ส่วนชาวบ้านในชุมชนมีประมาณ 150 หลังคาเรือน  ส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย  โดยเฉพาะพี่น้องชนเผ่า  เช่น  อ่าข่า  ขายของที่ระลึก  งานเย็บปักถักร้อย  ขายให้นักท่องเที่ยวที่ถนนคนเดินในวันเสาร์-อาทิตย์  ส่วนผู้ชายมีอาชีพรับจ้าง  ขับรถตุ๊กตุ๊ก       ฯลฯ

เธอบอกว่า  เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ตัวแทนชาวชุมชนริมคลองแม่ข่าได้เดินทางไปดูงานพัฒนาที่อยู่อาศัยของพอช.ที่ชุมชนริมคลองลาดพร้าว  กรุงเทพฯ  ซึ่งมีการรื้อย้ายบ้านออกจากแนวคลองเพื่อสร้างเขื่อนระบายน้ำแล้วสร้างบ้านใหม่  เมื่อกลับมาเชียงใหม่ก็คุยกันถึงเรื่องแบบบ้าน  ถ้าสร้างใหม่ก็ต้องหันหน้าบ้านลงคลองติดถนนเลียบคลอง  จะได้ค้าขายได้  และต้องขยับบ้านร่นระยะจากริมคลองเข้าไป 2 เมตร  ทำให้ชุมชนเหลือพื้นที่ไม่มาก  ต้องสร้างเป็นบ้านแถว 2 ชั้น  ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มตั้งกลุ่มออมทรัพย์กันแล้ว

“การปรับปรุงคลองแม่ข่า  ชาวบ้านส่วนใหญ่ยินดีเข้าร่วม  เพราะอยากอยู่กันแบบมั่นคงถาวร  ที่ผ่านมาก็มีทั้งเช่าที่และไม่ได้เช่า บางคนอยู่ในที่สาธารณะไม่ได้เช่าที่ก็กลัวโดนไล่  ถ้าได้เช่าที่ดินและอยู่ที่เดิมเพื่อสร้างบ้านใหม่ชาวบ้านก็อยากจะทำ  เพราะบ้านสร้างกันมานานและเก่าแล้ว    ตอนนี้เทศบาลปรับปรุงพื้นที่ริมคลองที่ชุมชนหัวฝายและกำแพงงาม มีทางเดินเลียบคลอง  นักท่องเที่ยวก็มาขี่จักรยาน  ถ้าทำตลอดทั้งคลองก็จะดูสวยงาม  เป็นแหล่งท่องเที่ยว  ชาวบ้านเอาของมาวางขายหน้าบ้านได้”  พิมพ์วลัญช์บอก

ชาวชุมชนกำแพงงามเริ่มนำสินค้ามาวางขายนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจากชุมชนต่างๆ   เช่น 1.ขอให้จังหวัดหยุดการรื้อย้ายชุมชนจนกว่าจะมีแผนแม่บทการจัดการที่อยู่อาศัยที่ชัดเจน  2.ชุมชนอยากจะอยู่และปรับปรุงบ้านในที่ดินเดิม  3.ชุมชนยินดีปรับปรุงชุมชน  แต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐ  เช่น  สัญญาเช่าที่ดินระยะยาว 30 ปี  และงบสนับสนุน  4.หากอยู่ในที่เดิมไม่ได้  ขอเช่าที่ดินรัฐที่ไม่ไกลจากเดิม  ฯลฯ

ไม่นานจากนี้...คลองแม่ข่าจะได้รับการฟื้นฟู   ขณะที่ชาวชุมชนจะได้มีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง  เปลี่ยนจากคลองที่ดำเหม็น  ตื้นเขิน  เป็น คลองสวย  น้ำใส  ไหลดี  ชุมชนมีสุข’  และชาวเชียงใหม่จะได้ใช้ประโยชน์จากคลองนี้ร่วมกัน !!

คลองแม่ข่าที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ภาพ : นำพร ศรีสุข  

เรื่อง :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วธ.เปิดงานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง ชวนสัมผัสวัฒนธรรมล้านนาฉลองมรดกโลก

15 เม.ย.2567 - สงกรานต์เชียงใหม่คึกคัก กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่

'ทักษิณ' เล่นน้ำสงกรานต์หน้าห้างเมญ่า ลั่นจะให้ 'อิ๊งค์' ทำเชียงใหม่บูมอีกครั้ง

'ทักษิณ' ร่วมเล่นน้ำสงกรานต์กับ ปชช. หน้าห้างเมญ่า บ่นเสียดายเศรษฐกิจแย่ลงเยอะ ต้องเร่งฟื้นฟู-อัดนโยบาย ลั่นจะให้ 'อิ๊งค์' ทำ 'เชียงใหม่' กลับมาเป็นที่ยอมรับอีกครั้งให้ได้

'แอนโทเนีย' นางมโหธรเทวี กับชุดลายสร้อยบุษบาบรรณ ที่ทำนานกว่า 6 เดือน

สวยสมกับการเป็นนางงามจริงๆ สำหรับ “แอนโทเนีย โพซิ้ว” ที่ล่าสุดมาในชุดไทยนางสงกรานต์ ในการแสดงตำนานนางสงกรานต์ (Maha Songkran World Water Festival) ณ วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่

เปิดฉากหนูน้อยขาไถปี67 ชิงแชมป์ภาคเหนือที่เชียงใหม่ ทั่วประเทศสมัครได้

“สองล้อ” ประเดิมเปิดฉากการแข่งขันจักรยาน “หนูน้อยขาไถ ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2567” สนามที่ 1 รอบชิงแชมป์ภาคเหนือ วันที่ 21 เม.ย.67 ที่ห้างเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต จ.เชียงใหม่ ด้าน “เสธ.หมึก” เผยหยูน้อยนักปั่นจากทั่วประเทศสามารถสมัครเข้าแข่งขันได้ตามกลุ่มอายุของตัวเอง โดยผู้ที่ได้อันดับ 1-10 ของแต่ละกลุ่มอายุจะได้สิทธิ์ไปแข่งขันรอบ TCA ซูเปอร์แชมป์ ในวันที่ 17 พ.ย.67 ที่สนามสวนกีฬากมล กทม.