เสียงจาก ‘ชาวเลราไวย์ไร้แผ่นดิน’ และพลังของคนจนเมืองภูเก็ต

แหลมพรหมเทพหมุดหมายแห่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

ภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมานานหลายสิบปี ก่อนโควิด-19 มาเยือน มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประมาณปีละ 13 ล้านคน ทำรายได้ปีละเกือบ 4 แสนล้านบาท  หรือเพียง 5 เดือนแรกของปีนี้ หลังเปิดการท่องเที่ยวได้ไม่นาน ยังทำรายได้ให้ภูเก็ตกว่า 26,000 ล้านบาท !!

นั่นเป็นตัวเลขที่น่าดีใจ แต่จังหวัดภูเก็ตยังมีซอกหลืบที่นักท่องเที่ยวและผู้คนทั่วไปมิได้มองเห็น  เช่น ชุมชนชาวเลที่ถูกฟ้องร้องขับไล่จากนักธุรกิจพัฒนาที่ดินเพื่อการท่องเที่ยว รวมทั้งปัญหาชุมชนแออัดในที่ดินป่าชายเลนและที่ดินสาธารณะกว่า 30 ชุมชนที่ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  ทั้งที่พวกเขาเป็นแรงงานสร้างเมืองภูเก็ต  และมีส่วนทำให้เมืองท่องเที่ยวแห่งนี้เจริญเติบโต

ทะเลมีเจ้าของ...คนเลไร้แผ่นดิน...!!

ในอดีตชาวเลจะแล่นเรือออกหาปลาและสัตว์น้ำต่างๆ  โดยมีเรือเป็นบ้าน  มีท้องทะเลกว้างใหญ่เป็นแหล่งทำมาหากิน  สืบทอดวิถีชีวิตและประเพณีจากบรรพบุรุษมาเนิ่นนาน...แต่มาวันหนึ่งพวกเขาพบว่าแผ่นดินที่อยู่อาศัยกันมานานนับร้อยปีนั้น  กลายเป็นแผ่นดินที่มีเจ้าของแล้ว..!!

สมัยก่อนชาวเลจะใช้เรือที่ขุดจากไม้และเสริมกาบเรือด้วยไม้ระกำที่มีน้ำหนักเบาช่วยพยุงเรือได้ดี  ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้เรือหัวโทงแบบชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้เพราะสะดวกกว่า

นิรันดร์  หยังปาน  ชาวเลหาดราไวย์  จ.ภูเก็ต  คณะกรรมการเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอันดามัน  บอกว่า  ชาวเลในประเทศไทยมี 3 กลุ่ม  คือ  ชาวมอแกน  มอแกลน  และอูรักลาโว้ย  ประมาณ  14,000 คน  อาศัยอยู่ชายทะเลฝั่งอันดามันและเกาะต่างๆ  ในจังหวัดระนอง  พังงา  ภูเก็ต  กระบี่  และสตูล  รวม 44 ชุมชน  

“สมัยก่อนชาวเลไม่ได้เรียนหนังสือ  เพราะต้องร่อนเร่ออกหาปลา  หรือเมื่อตั้งชุมชนเป็นหลักแหล่งแล้ว  แต่ไม่รู้เรื่องการแจ้งครอบครองที่ดินตามกฎหมาย  เพราะชาวเลถือว่าที่ดินและทะเลเป็นของส่วนรวม   หลังเหตุการณ์สึนามิในปี 2547 ปัญหาเรื่องที่ดินรุนแรงขึ้น  นายทุนเอาเอกสารสิทธิ์มาฟ้องขับไล่ชาวเลที่อยู่มาก่อน  ทำให้พวกเราได้รับความเดือดร้อน  ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน  เพราะเราหากินกับทะเล  ก็ต้องอยู่กับทะเล”  นิรันดร์บอกถึงปัญหา

เขาบอกด้วยว่า  ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  มีชาวเลถูกฟ้องร้องขับไล่ออกจากที่ดินที่พวกเขาอยู่อาศัยมานานตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ  เพื่อนำที่ดินไปสร้างโรงแรม  รีสอร์ท  ฯลฯ  โดยเฉพาะที่ดินบริเวณชายทะเล  ซึ่งเป็นแหล่งอยู่อาศัย  จอดเรือประมง  ซ่อมแซมเครื่องมือหาปลา  เช่น  ชาวเลที่เกาะหลีเป๊ะ  จังหวัดสตูล  ชาวเลที่หาดราไวย์  จังหวัดภูเก็ต  ฯลฯ

กรณีพิพาทที่ดินราไวย์  ชาวเลโดนฟ้อง 26 คดี

สนิท  แซ่ชั่ว  แกนนำชาวเลหาดราไวย์   บอกว่า  ชุมชนชาวเลหาดราไวย์มีทั้งหมด 254  ครัวเรือน  ประชากร 1,322  คน  ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยมานานนับร้อยปี   ส่วนใหญ่มีอาชีพประมงพื้นบ้าน  มีเรือรวมกัน  68  ลำ  ส่วนที่ดินหาดราไวย์มี  2 แปลงอยู่ติดกัน   

บริเวณด้านหน้าชุมชนชาวเลราไวย์เป็นย่านขายอาหารทะเลสด

ที่ดินแปลงที่ 1 เนื้อที่ 19 ไร่  เป็นที่อยู่อาศัยของชาวเล  บริเวณด้านหน้าชุมชนติดทะเล  เป็นแหล่งขายอาหารทะเลสด  มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเลือกซื้อและนั่งกินอาหารทะเลตลอดทั้งวัน  เป็นทำเลทองของหาดราไวย์  เอกชนที่ครอบครองที่ดินแปลงนี้มีหลายราย

ตั้งแต่ปี 2552 ถึงปัจจุบัน  นักธุรกิจเอกชนที่มีเอกสารครอบครองที่ดินเป็นโฉนด 2 แปลง  ได้ฟ้องร้องขับไล่ชาวเลและผู้ที่อยู่อาศัยให้ออกไปจากที่ดินแปลงนี้  รวมทั้งหมด 26  คดี  มีชาวเลถูกฟ้องขับไล่กว่า 100 คน  ผลการพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์  ส่วนใหญ่ตัดสินให้โจทย์ชนะ  มี 3 คดีที่ศาลตัดสินให้ชาวเลชนะ (ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์และฎีกา)

ชุมชนชาวเลราไวย์

ขณะเดียวกัน  ชาวเลได้ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลปกครองจังหวัดภูเก็ตเมื่อปี 2560 เพื่อให้ศาลปกครองเพิกถอนโฉนดที่ดินเนื้อที่ 19 ไร่  เพราะเห็นว่าออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ทับที่อยู่อาศัยของชาวเลที่อยู่อาศัยมาก่อน  ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา  ศาลปกครองรับฟ้องคดีแล้ว

ที่ดินแปลงที่เนื้อที่ประมาณ 33 ไร่  ด้านหน้าติดทะเล  (มูลค่าปัจจุบันประมาณ 600 ล้านบาท)  ชาวเลใช้ประโยชน์ร่วมกัน  เช่น  ซ่อมเรือประมง  ซ่อมลอบ  อวน  เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ  เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน  เรียกว่า “บาลัย”  รวมทั้งมีสุสานฝังศพ  และใช้พื้นที่หน้าชายหาดเป็นที่จอดเรือประมง   ที่ดินแปลงนี้บริษัทเอกชนมีโฉนดครอบครอง  และมีแผนที่จะสร้างรีสอร์ทและสปา

มกราคม 2559  คนงานของบริษัทเจ้าของที่ดินได้นำรถบรรทุกและรถแบ็กโฮขนแท่งปูนและก้อนหินขนาดใหญ่มาปิดกั้นทางเข้า-ออกที่ชาวเลใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมและซ่อมแซมเครื่องมือประมง  จนเกิดเหตุปะทะกัน  ชาวเลบาดเจ็บหลายราย 

‘บาลัย’ ของชาวเลคล้ายกับ ‘ศาลปู่ตา’ ของชาวอีสาน  ปีหนึ่งชาวเลจะไหว้บรรพบุรุษที่บาลัยปีละ 2 ครั้ง  หรือหากเจ็บป่วยก็จะมาไหว้บรรพบุรุษเพื่อให้หายป่วย  หรือบนบานขอพรได้

สนิท  แกนนำขาวเลบอกว่า  ที่ผ่านมาชาวเลได้ต่อสู้ทางศาล  และร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง  เช่น  ดีเอสไอมาขุดกระดูกบรรพบุรุษที่ฝั่งอยู่ในสุสานหาดราไวย์ว่ามีอายุเก่าแก่กี่ปี  ก่อนที่จะมีคนมาอ้างเอกสารสิทธิ์หรือไม่  มีหลักฐานภาพถ่ายที่ในหลวงรัชกาลที่ 9  เสด็จมาเยี่ยมชาวเลราไวย์ในปี 2502  ยืนยันว่าชาวเลตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยมาก่อน  ฯลฯ 

“ตอนนี้เรากำลังรวบรวมหลักฐานต่างๆ  เพื่อยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้เข้ามาตรวจสอบที่ดินทั้ง 2 แปลงที่ชาวเลใช้เป็นเส้นทางสาธารณะ  โดยวัดจากที่ดินชายทะเลที่น้ำขึ้นเต็มที่ขึ้นไปถึงชายฝั่งประมาณ 15 เมตร  ที่เอกชนมีเอกสารสิทธิ์ครอบครอง  เพื่อให้เป็นที่สาธารณะ  เพราะชาวเลใช้เป็นทางเข้า-ออกเพื่อทำประมงมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่  หากเอกชนมาปิดกั้นหรือสร้างรีสอร์ทตรงนี้ก็จะปิดทางขึ้นลงทะเล  ทำให้ชาวเลทำประมงและจอดเรือไม่ได้”  สนิทบอกถึงการเรียกร้องสิทธิของชาวเลหาดราไวย์ที่จะเดินหน้าต่อไป

ขณะที่ คมสัน โพธิ์คง  อาจารย์คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยรังสิต  ซึ่งเกาะติดปัญหาชาวเลหาดราไวย์มานาน  บอกว่า  ปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินชาวเลหาดราไวย์นั้น  ส่วนใหญ่เกิดจากการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ  และที่ผ่านมาทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ   คณะกรรมการแก้ไขปัญหาบุกรุกที่ดินรัฐ (กบร. ) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ลงไปตรวจสอบจนได้ข้อเท็จจริงและมีข้อเสนอถึงรัฐบาลหมดแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีการแก้ไขปัญหา  เพราะมีหน่วยงานบางหน่วยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกโฉนดโดยมิชอบ

บริเวณหน้าชายหาดจะเป็นที่จอดเรือประมง  บนฝั่งจะเป็นที่ซ่อมแซมเรือและเครื่องมือประมง

คนจนภูเก็ตร่วมแก้ปัญหาที่ดิน

นอกจากนี้  ภูเก็ตยังมีปัญหาเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อย  ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน  ที่ดินกรมธนารักษ์  ที่ดินสาธารณะ  รวมทั้งหมดประมาณ 32  ชุมชน  ประมาณ 3,000 ครอบครัว  กว่า 10,000  คน  มีอาชีพประมงพื้นบ้าน  รับจ้างทั่วไป  เช่น  ขับรถ  ลูกจ้างร้านอาหาร  สถานบริการ  แหล่งท่องเที่ยว  โรงแรม  ฯลฯ  เป็นแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบที่มีส่วนทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเมืองภูเก็ตขับเคลื่อนไปได้

สินชัย   ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิชุมชนพัฒนาภูเก็ต 

สินชัย  รู้เพราะจีน   ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิชุมชนพันาภูเก็ต  บอกว่า  ในเมืองภูเก็ตมีชุมชนผู้มีรายได้ กระจายอยู่ทั่วไป  ประมาณ 30 ชุมชน  มีทั้งคนภูเก็ตและผู้คนจากจังหวัดต่างๆ  เข้ามาทำมาหากิน  ส่วนใหญ่อยู่อาศัยในพื้นที่สัมปทานเหมืองดีบุกและสัมปทานไม้โกงกางเก่า   เป็นที่ดินรัฐ  พอสัมปทานหมดจึงมีชาวบ้านจากที่ต่างๆ เข้ามาบุกเบิกที่ดินว่างเปล่า  สร้างบ้านเรือนขึ้นมา  อยู่อาศัยต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี  เมื่อภูเก็ตกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกจึงมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มเติมเพื่อทำมาหากิน  จนกลายเป็นชุมชนหนาแน่น

“หลังสึนามิปี 2547 มีการฟื้นฟูที่ดินชายทะเลที่เสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนั้น  ทำให้มีการฟ้องร้องขับไล่ชาวบ้าน   พวกเราจึงเริ่มรวมตัวกันเป็น ‘เครือข่ายสิทธิชุมชนพัฒนาภูเก็ต’  มีชุมชนที่เดือดร้อนเข้าร่วม 23 ชุมชน  เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย  และร่วมกันพัฒนาพื้นที่  เช่น  ร่วมกันปลูกป่าชายเลน  ปลูกต้นโกงกาง  ทดแทนป่าชายเลนที่ถูกสัมปทานเผาถ่าน ตอนนี้ปลูกไปแล้วกว่า  1 ล้านต้น   ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนภูเก็ตได้ประมาณ 4 พันไร่”  สินชัยบอก

นอกจากนี้เครือข่ายฯ ยังเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน  โดยผลักดันเรื่อง ‘โฉนดชุมชน’  ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน  ในนาม ‘ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม’ (P-Move) เพื่อให้ประชาชนที่ยากไร้ได้มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  ในลักษณะที่ดินแปลงรวม  โดยชุมชนมีสิทธิบริหารจัดการที่ดินเอง   รวมทั้งร่วมเคลื่อนไหวกับพี่น้องทั่วประเทศที่มีความเดือดร้อนในประเด็นปัญหาต่างๆ ด้วย

ผลจากการเรียกร้องสิทธิเรื่องที่ดินอย่างต่อเนื่องและมีพลังของพี่น้องเครือข่ายสิทธิชุมชนพัฒนาภูเก็ตทำให้หน่วยงานรัฐเข้ามาสนับสนุนและแก้ปัญหาของเครือข่ายฯ  เช่น  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ สนับสนุนการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ชุมชนที่มีบ้านเรือนทรุดโทรมและพัฒนาสาธารณูปโภคตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ หลายชุมชน

ชาวชุมชนโหนทรายทอง  ต.รัษฎา  อ.เมือง  มีสมาชิก 280 ครัวเรือน  ทำโครงการบ้านมั่นคงกับ พอช.ตั้งแต่ปี 2555  ขณะนี้ซ่อมสร้างบ้านเฟสแรกเสร็จแล้ว 81 หลัง

เช่น  ชุมชนกิ่งแก้ว 1  ต.รัษฎา  อ.เมือง  ทำโครงการในปี 2556  จำนวน 244 ครัวเรือน  พอช. สนับสนุนงบประมาณครัวเรือนละ 25,000 บาท  รวมสาธารณูปโภค  21 ล้านบาทเศษ  ชุมชนประชาอุดมปรับปรุงปี 2557   จำนวน 189  ครัวเรือน  พอช. สนับสนุนงบ 21 ล้านบาทเศษ  ฯลฯ

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้อนุญาตให้ชุมชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนในจังหวัดภูเก็ต  รวม 13 ชุมชน  (กำลังจะอนุมัติเพิ่มอีก 4 ชุมชน) เข้าอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าชายเลนโดยถูกกฎหมาย  รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 300 ไร่  ตามที่ทางจังหวัดภูเก็ตขออนุญาตไป  ตามนโยบาย ‘คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ’ (คทช.ชาติ /มีพลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รักษาการนายกฯ เป็นประธาน ) ที่ให้ คทช.จังหวัด  (มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน) ขอใช้ที่ดินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาให้ประชาชนอยู่อาศัยได้

ชุมชนโหนทรายทองเป็น 1 ใน 13 ชุมชนที่ได้รับอนุญาตอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าชายเลนที่ ผวจ.ภูเก็ต  ประธาน คทช.จังหวัดขอใช้ที่ดินจากกรมทรัพยากรทางทะเลฯ  ชี้ให้ดูหนังสืออนุญาตที่ชาวบ้านนำมาขยายติดไว้หน้าชุมชน

ร่วมกับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศผลักดันโฉนดชุมชน

สินชัย  ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ บอกว่า  แม้ว่าพี่น้องเครือข่ายฯ จะได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยในป่าชายเลนอย่างถูกต้องตามกฏหมายแล้ว  แต่เครือข่ายฯ จะร่วมกับพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าต่างๆ  รวมทั้งที่ดินรัฐทั่วประเทศผลักดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชนต่อไป  ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565  (กรณี P-Move  ยื่นข้อเรียกร้องต่างๆ รวมถึงปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัย  รวม 15 ข้อ) เนื่องจากแนวทางของ คทช.ยังไม่ได้ให้สิทธิกับชุมชนในการจัดการบริหารที่ดินเอง

ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ  พ.ศ.2562  มาตรา 10  กำหนดว่า  คทช. มีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินโดยทั่วไป  รวมทั้งให้มีหน้าที่และอำนาจต่างๆ เช่น  (1)   กำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ  เพื่อขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี....

และ (4) กำหนดมาตรการหรือแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม  ซึ่งรวมถึงรูปแบบการจัดที่ดินในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์   หรือรูปแบบในลักษณะอื่นตามหลักเกณฑ์  และวิธีการที่ คทช. กำหนด  โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเพื่อให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด

“ดังนั้นเครือข่ายฯ จะร่วมกับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศผลักดันให้รัฐบาลและ คทช.ชาติ  ใช้แนวทางการบริหารจัดการที่ดินตามมาตรา 10 (4) เพื่อให้กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม  ตามแนวทางของโฉนดชุมชน  มีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนมีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินที่มั่นคง  ถูกกฎหมาย  ในลักษณะที่ดินแปลงรวม ไม่ใช่สิทธิส่วนบุคคล  เพื่อป้องกันการขายสิทธิ   โดยชุมชนมีสิทธิร่วมกันบริหารจัดการที่ดิน  ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น  เพื่อรักษาผืนดินให้เป็นมรดกของลูกหลานสืบต่อไป”  สินชัยกล่าวย้ำ

ชาวชุมชนกิ่งแก้ว

ชาวชุมชนประชาอุดมร่วมเรียกร้องการแก้ไขปัญหาที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชน

 

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

นายกฯ ยัน ร่วมโต๊ะอาหารเที่ยงกับ 'เอกนัฏ'

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) ร่วมโต๊ะอาหารกลางวันกับนายกรัฐมนตรีและคณะ

'เศรษฐา' ลงพื้นที่ภูเก็ต ติดตามแก้จราจร เร่งอุโมงค์กะทู้-ป่าตอง หลังช้า 10 ปี

'เศรษฐา' ลงพื้นที่ภูเก็ตติดตามแก้ปัญหาจราจร เร่งอุโมงค์กะทู้-ป่าตอง หลังช้า 10 ปี ตั้งแต่สมัยยิ่งลักษณ์ บอกงบพุ่งเท่าตัว ชมดรีมทีม 6 เดือน ทำดีเพื่อปชช.