ครม.เห็นชอบแต่งตั้ง ‘กอบศักดิ์ ภูตระกูล’ เป็นประธานบอร์ด พอช.คนใหม่

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  นักเศรษฐศาสตร์  ประธานบอร์ด พอช.คนใหม่ที่สนใจงานเศรษฐกิจฐานราก

ทำเนียบรัฐบาล / วันนี้ (27 กันยายน)  การประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล  มีพลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี  รักษาการนายกรัฐมนตรี  เป็นประธาน  ที่ประชุมมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เสนอชื่อนายกอบศักดิ์  ภูตระกูล  เป็นประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  แทนประธานกรรมการคนเก่าที่ครบวาระ 3 ปี (นายไมตรี  อินทุสุต) พร้อมแต่งตั้งกรรมการสถาบันฯ อีก  5  คน

ส่วนคณะกรรมการสถาบันฯ อีก  5  คน  ประกอบด้วย  กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน  1.นางวารุณี   สกุลรัตนธารา  2.นายสังคม  เจริญทรัพย์  3.นางสาวจรรยา  กลัดล้อม  และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  4.นางวิภาภรณ์  ชัยรัตน์  และ 5.นายปรนนท์  ฐิตะวรรโณ

ทั้งนี้ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ พ.ศ.2543  หมวด 3  การบริหารและการดำเนินกิจการ   มาตรา 14  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง  เรียกว่า  “คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน” ประกอบด้วย

(1) ประธานกรรมการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้  ความเชี่ยวชาญ  และประสบการณ์สูงในด้านการพัฒนาชุมชนหรือการบริหารองค์กร  ฯลฯ

ประธานกรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี เมื่อพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

ส่วนคณะกรรมการสถาบันฯ มีทั้งหมด 9 คน  มาจากส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  จำนวน 4 คน  กรรมการจากผู้แทนองค์กรชุมชน จำนวน 3 คน  และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  จำนวน 2 คน

คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการและการดำเนินการของสถาบันเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดเอาไว้  เช่น

1.สนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ  การเพิ่มรายได้  การพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม   และการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชนทั้งในเมืองและชนบท   โดยยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวมหรือบูรณาการและหลักการพัฒนาที่สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมเป็นแนวทางสำคัญ   ทั้งนี้   เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและประชาสังคม

2.สนับสนุนและให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน 3.สนับสนุนและให้การช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาองค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน ตลอดจนประสานงานการสนับสนุนและให้การช่วยเหลือดังกล่าวจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 4.ส่งเสริมและสนับสนุนและสร้างความร่วมมือขององค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับประเทศ

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  พูดคุยกับผู้บริหาร พอช.

เส้นทางชีวิตและงานของ ดร.กอบศักดิ์

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ปัจจุบันอายุ 54 ปี   เป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาประเทศ การเงิน  และตลาดทุน  จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา  ปริญญาตรีด้านคณิตศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ที่ Williams College ประเทศสหรัฐอเมริกา  และระดับปริญญาเอกจาก Massachusetts Institute of Technology ด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค  และเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ  เมื่อปี 2540

หลังสำเร็จการศึกษา  เข้าทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเวลา 14 ปี   มีประสบการณ์การทำงานด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค  ระบบการเงิน   นโยบายการเงิน  นโยบายสถาบันการเงิน  นโยบายเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ  ฯลฯ

ปี 2553 ทำงานกับภาคเอกชน  โดยทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ  ตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่  กิจการธนาคารต่างประเทศเป็นเวลา 5 ปี

ปี 2559  เริ่มทำงานด้านการเมืองในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ  เข้ามาแก้ไขปัญหาและปฏิรูปเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยในด้านต่างๆ  ต่อมาในปี 2560 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  และปี 2561 เป็นโฆษกพรรคพลังประชารัฐ  

เดือนกรกฎาคม 2563  ดร.กอบศักดิ์ลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ  และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง  พร้อมกับนายอุตตม สาวนายน  รมว.กระทรวงการคลัง  นายสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์  รมว.พลังงาน  และนายสุวิทย์  เมษินทรีย์  รมว.กระทรวงการกระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัย  และนวัตกรรม 

โดยอดีต 2  รัฐมนตรี  คือ นายอุตตม  และนายสนธิรัตน์  ปัจจุบันตั้งพรรคการเมืองใหม่  คือ  พรรคสร้างอนาคตไทย  

ส่วน ดร.กอบศักดิ์หันหลังให้เวทีการเมือง  แล้วกลับไปทำงานในภาคธุรกิจที่ธนาคารกรุงเทพ  ตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่   และประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (1 มิถุนายน 2565)  ฯลฯ

ล่าสุด  คือ  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’

หลังออกจากเวทีการเมือง  ดร.กอบศักดิ์ ได้รับเชิญให้ไปวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกตามเวทีเสวนาและสื่อต่างๆ

ดร.กอบศักดิ์กับ พอช.และขบวนองค์กรชุมชน 

ส่วนด้านวิชาการ  ดร.กอบศักดิ์  ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ได้ผลิตผลงานทางวิชาการออกมาอย่างต่อเนื่อง ในเดือนมีนาคม 2552  ได้รับรางวัล ‘ป๋วย  อึ๊งภากรณ์’  สำหรับนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานดีเด่น  ประจำปี 2552 จากสถาบันป๋วย  อึ๊งภากรณ์   โดยคำประกาศเกียรติคุณของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิระบุว่า...

“ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล  เป็นนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ซึ่งมีความแม่นยำและความลุ่มลึกในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์  มีความรัดกุมในวิธีวิทยา  ตลอดจนมีความสามารถในการประยุกต์ใช้วิธีการทางเทคนิคในการทดสอบแนวคิดทางทฤษฎีต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมไม่ฟุ่มเฟื่อย  และมีความโดดเด่นที่สามารถตีความข้อมูลเชิงประจักษ์ที่คุ้นเคยให้เกิดมุมมองใหม่ที่น่าสนใจและเข้าใจได้ง่าย  งานวิชาการของ ดร. กอบศักดิ์ หลายชิ้นสามารถก่อให้เกิดการถกเถียงและเปิดประเด็นให้เกิดการศึกษาวิจัยสื่บเนื่องอย่างกว้างขวาง...”

นอกจากนี้ในระหว่างที่ ดร.กอบศักดิ์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ดร.กอบศักดิ์ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่ พอช.และเครือข่ายองค์กรชุมชนจัดขึ้นหลายวาระ  เช่น  ในเดือนตุลาคม 2561 เดินทางมาเยี่ยมชุมชนต้นแบบ ‘ตำบลดงขี้เหล็ก’ อ.เมือง  จ.ปราจีนบุรี  ที่จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์มานานกว่า 20 ปี  มีเงินกว่า 100 ล้านบาท  และเป็นประธานในการมอบ ‘บ้านมั่นคง’  ให้แก่ชาวชุมชนด้วย

มอบบ้านมั่นคงที่ตำบลดงขี้เหล็ก  จ.ปราจีนบุรี

เดือนกันยายน 2564  พอช. จัดงาน ‘ถอดบทเรียนการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชน’ ดร.กอบศักดิ์   บรรยายพิเศษเรื่อง  ‘การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยเศรษฐกิจและทุนชุมชน’  มีเนื้อหาโดยสรุปว่า  การพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมาเรามาผิดทาง  เพราะยิ่งพัฒนายิ่งมีช่องว่างขึ้นเรื่อย ๆ  เจ้าสัวมีเงินเพิ่มขึ้น  แต่ประชาชนมีรายได้ลดลง

“การพัฒนาเมืองไทยจึงเหมือนคนเป็นโรคตานขโมย   คือ  หัวโต  พุงโล  ก้นปอด   ภาคตะวันออกโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ส่วนอื่นที่เป็นแขนขา  หมู่บ้านต่างๆ  ลีบไปเรื่อย ๆ  หมู่บ้านมีแต่คนแก่และผู้สูงอายุ  ที่ดินก็ยิ่งหายไป  ยิ่งพัฒนาคนส่วนใหญ่ยิ่งไม่มีที่ดินทำกิน  คนรวย 20  เปอร์เซ็นต์  มีที่ดิน 80 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศ  รายได้ห่างกัน 10 เท่า  หากพัฒนาอย่างนี้ไม่สำเร็จ  การพัฒนาที่คนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”  ดร.กอบศักดิ์ยกตัวอย่าง

ดร.กอบศักดิ์บรรยายเรื่องเศรษฐกิจและทุนชุมชนที่ พอช. เมื่อเดือนกันยายน 2564

“เศรษฐกิจพอเพียงสร้างประเทศเข้มแข็ง” 

ดร.กอบศักดิ์กล่าวด้วยว่า    แต่ก่อนทุกพื้นที่ของเมืองไทยเลี้ยงตัวเองได้  จะทำอย่างไรให้ภาพนี้กลับคืนมา ? เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม  2548  ตนดูโทรทัศน์   ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัส  พระองค์ท่านเป็นนักเศรษฐศาสตร์  ท่านตรัสไปเรื่อย ๆ  ‘ขอให้แต่ละคนมีความสำเร็จพอสมควร   เศรษฐกิจพอเพียงคือทำให้พอเพียง   ถ้าไม่พอเพียงไปไม่ได้   แต่ถ้าพอเพียงสามารถนำพาประเทศไปได้ดี  ก็ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จแต่พอเพียง  เพื่อให้บ้านเมืองบรรลุความสำเร็จที่แท้จริง’

“ผมทำงานกับรัฐบาลมา 6 ปี   รู้ว่ารัฐบาลต้องทำอย่างไร ?   รัฐบาลแต่ละรัฐบาลจะสร้างตึกสูง  สร้างความเจริญไปเรื่อย   แต่ลืมคิดไปว่าหากฐานของตึกไม่มั่นคง   มันก็ทลายลงมา  ปัญหาที่มีถึงวันนี้   เพราะรัฐไม่มองทุนชุมชน   เน้นเศรษฐกิจส่วนกลาง   ยิ่งทำยิ่งกลวง   หากจะให้สำเร็จอย่างแท้จริง  ต้องทำฐานให้ดี ๆ บ้านจะมั่นคง   ดังนั้นสิ่งที่เราคุยกันวันนี้จึงสอดรับกับเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่  9 เป็นเรื่องที่จะพัฒนาความเข้มแข็งของประเทศ”  ดร.กอบศักดิ์กล่าว

(ภาพจากเฟซบุ๊ก ดร.กอบศักดิ์)

สร้างความเข้มแข็งจากฐานราก

ดร.กอบศักดิ์ยกตัวอย่างว่า  ตนเดินทางไปเยี่ยมชุมชนต่างๆ  ทั่วประเทศ  เห็นความเข้มแข็งของชุมชน  เช่น   กลุ่มสัจจะออมทรัพย์  ออมเงินวันละบาท  ปีหนึ่งก็เป็นเงินก้อนใหญ่  นำไปสู่ธนาคารชุมชน   สถาบันการเงินชุมชน   เมื่อมีสถาบันการเงินชุมชนทำให้ลดค่าใช้ในการเดินทางไปธนาคาร  ลดหนี้นอกระบบ  ตนจึงอยากชวนทุกคนทำสถาบันการเงินให้เกิดทุนในชุมชนของเราเอง  ให้หนี้นอกระบบหมดไป  และสามารถนำเงินมาจัดสวัสดิการ  รัฐบาลไม่ต้องจ่าย            เราสามารถจ่ายได้เอง  เพราะรัฐบาลจะเข้าไม่ถึงชุมชน

นอกจากนี้ชุมชนต่างๆ ยังมีสินค้าที่ดีมีคุณภาพ  เช่น  กาแฟถ้ำสิงห์  จังหวัดชุมพร  เป็นกาแฟโรบัสต้า รสชาติดีเป็นพิเศษ  ทำแพ็กเก็จได้ดี   ชุมชนทัพไทยทำข้าว 10 ประเภท  เช่น  ข้าวหอมนิล  เป็นข้าวอินทรีย์  วางขายที่โรงแรมเซ็นทรัล  บางส่วนขายที่สิงคโปร์  ฯลฯ   มีตลาดชุมชน  นำสินค้าจากชุมชนมาขาย   มีการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน     แต่จะต้องมีการยกระดับการจัดการ  สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดรายได้แก่ชุมชน  เป็นเศรษฐกิจชุมชน  ทำให้ชุมชนเข้มแข็งได้

ส่วนชุมชนชายฝั่งทะเล  เช่น  แหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี  ทำธนาคารปูม้า  ราคาเท่ากับทองคำ  มีกุ้ง  หอยปู  ปลา  ในภาคใต้  อันดามัน  อ่าวไทย  ทำให้มีอาหาร  มีรายได้  นอกจากนี้ชุมชนหลายแห่งยังทำธนาคารต้นไม้  ปลูกต้นยางนา  มีราคาต้นละ  10,000-20,000 บาท   เทียบได้กับราคาทองคำ 1 บาท   สามารถปลูกบนคันนาได้  เป็นการเก็บออมระยะยาว

ชุมชนต่างๆ ยังมีธนาคารชุมชน   สวัสดิการชุมชน   วิสาหกิจชุมชน   ร้านค้าชุมชน  ป่าชุมชน   สภาองค์กรชุมชนตำบล  การพัฒนาผู้นำชุมชน   แต่ทำอย่างไรจะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง    และประเทศไทยจะสามารถหายจากโรคตานขโมยได้  หากทุกหมู่บ้านเข้มแข็ง  อำเภอเข้มแข็ง  ประเทศไทยจะเป็นที่อิจฉาของโลก  เป็นต้นแบบของโลก

ดร.กอบศักดิ์ยกตัวอย่างในตอนท้ายว่า  นายแจ็คหม่า  มหาเศรษฐีชาวจีน  เจ้าของธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ ‘อาลีบาบา’ และ ‘ลาซาด้า’  เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วยังจนอยู่เลย  แต่เขาไม่ยอมลดละ  มีความฝัน  มีความมั่นใจ  เขาทำให้วิสาหกิจชุมชนเล็กๆ  ของประเทศจีนสามารถขายสินค้าออกสู่ตลาดโลกได้ผ่านธุรกิจออนไลน์หรือ   e-commerce

“เราสามารถดำเนินการต่าง ๆ ให้เกิดแผ่นดินทอง  สินค้าออกสู่ตลาดโลกได้   เราเปลี่ยนชีวิตได้  และการพัฒนาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็คือ  ‘ต้องทำ’   เมื่อเราทำจริงแล้วจะต่อยอดอย่างไร ?  จะหาตลาดอย่างไร ?  หากจีนทำได้  เราก็ต้องทำได้   ทั้งหมดจะสำเร็จได้ก็เพราะว่าเราคิดว่า  เราทำได้”  ดร.กอบศักดิ์ย้ำในตอนท้าย

ดร.กอบศักดิ์ร่วมงานบ้านมั่นคงที่ จ.ปราจีนบุรี  เมื่อเดือนตุลาคม 2561

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

วธ.ตั้งรองอธิบดีกรมศิลป์-กรมศาสนา 4 ตำแหน่ง

8 เม.ย.2567 - นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ลงนามคำสั่งกระทรวงวัฒนธรรมที่ 58/2567 เรื่อง ให้โอนข้าราชการพลเรือนสามัญ จำนวน 1 ราย ได้แก่ นางสาวขนิษฐา โชติกวณิชย์

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ