ชาวตำบลเสวียด อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี ช่วยกันดูแลป่าต้นยางเหียงเนื้อที่หลายร้อยไร่
‘ป่าชุมชนและฝายมีชีวิต’ เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ พอช.และหน่วยงานภาคีเครือข่ายกำลังร่วมกันขับเคลื่อน โดยมีการตั้งคณะทำงานป่าชุมชนและฝายมีชีวิตขึ้นมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมานาน...นั่นคือ ‘ความยากจน’ ที่เกิดจากการที่ประชาชนในชนบทไม่มีสิทธิ์ในการดูแลและพึ่งพาอาศัยและใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรป่าในท้องถิ่นของตนเอง !!
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ‘พ.ร.บ.ป่าชุมชน’ ฉบับแรกประกาศใช้ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ
“โดยที่เป็นการสมควรส่งเสริมให้ชุมชน ได้ร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนในรูปแบบของป่าชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการป่าชุมชนและได้ประโยชน์จากป่าชุมชน อันจะส่งผลให้ชุมชนดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศให้มีความสมบูรณ์และยั่งยืน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
ผลจากการมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะทำให้ประชาชนสามารถดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น สามารถเก็บหาของป่า ตัดไม้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือน เพื่อประโยชน์สาธารณะ (ยกเว้นไม้ทรงคุณค่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ) ปลูกต้นไม้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ สร้างฝายกักเก็บหรือชะลอน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้น เป็นแหล่งเก็บน้ำใต้ดิน ทำประปาภูเขา นำน้ำมาใช้ในการเกษตร จัดการท่องเที่ยว ฯลฯ
ทั้งนี้ป่าชุมชนตามความหมายของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ “ป่านอกเขตป่าอนุรักษ์หรือพื้นที่อื่นของรัฐนอกเขตป่าอนุรักษ์ ที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเป็นป่าชุมชน โดยชุมชนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษา ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืนตามพระราชบัญญัตินี้”
ชาวหนองยาง อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ร่วมกันดูแลต้นยางนาเพิ่มออกซิเจนให้ชุมชน
พอช.-ภาคีเครือข่ายหนุนชุมชนจัดตั้งป่าชุมชนเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า พ.ร.บ.ป่าชุมชนจะประกาศใช้เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว แต่ยังมีขั้นตอนรายละเอียดในการดำเนินการอีกมาก เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด (ทำหน้าที่พิจารณาคำขอจัดตั้งป่าชุมชน อนุมัติแผนการจัดการป่า ควบคุมดูแลการจัดการป่า ฯลฯ) ชุมชนที่ต้องการจัดตั้งป่าชุมชนจะต้องยื่นคำขอจัดตั้ง ต้องมีแผนการจัดการป่าชุมชน แผนการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา การใช้ประโยชน์ การตรวจสอบรังวัดพื้นที่ป่าชุมชนที่ขอจัดตั้งโดยกรมป่าไม้ การจัดทำแผนที่ป่าชุมชน ฯลฯ
ดังนั้นสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. จึงร่วมกับกรมป่าไม้และภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิชุมชนไท สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฯลฯ จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการป่าชุมชนและฝายมีชีวิต เช่น ให้ความรู้เรื่อง พ.ร.บ.ป่าชุมชน การจัดตั้งป่าชุมชน การจัดทำแผนแผนจัดการป่าชุมชน ฯลฯ โดยมีการประชุมครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
เดโช ไชยทัพ ประธานคณะทำงานสนับสนุนการขับเคลื่อนป่าชุมชนและฝายมีชีวิต กล่าวว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มีการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ป่าต่างๆ ทั่วประเทศก่อนจะมี พ.ร.บ.ป่าชุมชน และหลังมี พ.ร.บ.แล้ว จนถึงปัจจุบันประมาณ 12,000 แห่ง เนื้อที่รวมประมาณ 6.6 ล้านไร่ และกรมป่าไม้มีเป้าหมายภายในปี 2570 จะเพิ่มจำนวนป่าชุมชนอีก 15,000 แห่ง เนื้อที่รวมประมาณ 10 ล้านไร่
“คณะทำงานชุดนี้จะทำหน้าที่ในการส่งเสริมให้ชุมชนที่มีความพร้อมและอยากจัดตั้งป่าชุมชน รวมทั้งชุมชนที่มีการจัดตั้งป่าชุมชนแล้ว จัดทำแผนจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิต และใช้ประโยชน์จากป่าตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องประมาณ 15 แห่งภายในปีนี้ และนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป” เดโชบอก
ขณะที่ข้อมูลจากกรมป่าไม้ระบุว่า ปัจจุบันกรมป่าไม้ได้ส่งเสริมการจัดตั้งป่าชุมชนทั่วประเทศแล้วจำนวน 12,117 แห่ง ชุมชนมีส่วนร่วม 13,855 หมู่บ้าน เนื้อที่รวม 6.64 ล้านไร่
จากการประเมินของกรมป่าไม้ มีประชาชนได้รับประโยชน์จากป่า 3,948,675 ครัวเรือน เกิดมูลค่าการพึ่งพิงป่าชุมชน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ จำนวน 4,907 ล้านบาท การกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ในป่าชุมชนเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน รวม 42 ล้านตันคาร์บอน การกักเก็บน้ำในดินและการปล่อยน้ำท่า 4.562 ล้านลูกบาศก์เมตร และการประเมินมูลค่าของระบบนิเวศน์ของป่า 595,857 ล้านบาท
ส่วนเป้าหมายภายในปี 2570 กรมป่าไม้ตั้งเป้าสนับสนุนการจัดตั้งป่าชุมชนเพิ่มเป็น 15,000 แห่งทั่วประเทศ ชุมชนมีส่วนร่วม 18,000 หมู่บ้าน เนื้อที่รวม 10 ล้านไร่
ป่าชุมชนดอนโจร จ.บุรีรัมย์
รางวัลจากป่าชุมชน...รูปธรรมจากป่าดอนโจร
ป่าดอนโจร ตำบลลำไทรโยง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ หากย้อนกลับไปเมื่อ 40-50 ปีก่อน มองไปทางไหนก็จะเห็นแต่ความแห้งแล้ง เพราะป่าไม้ถูกทำลาย ชาวบ้านตัดไม้เอาไปขายโรงเลื่อย พอไม้ใหญ่หมดไป เหลือตอไม้และไม้ที่ทำฟืนได้ก็เอามาเผาถ่านขายเป็นอาชีพ จนป่าไม้ในตำบลแทบจะหมดไป บางปีฝนฟ้าแห้งแล้ง ทำนาไม่พอกิน หนุ่มสาวต้องบากหน้าเข้าไปขายแรงงานในเมือง...
ประเทือง มากชุมแสง วัย 62 ปี อดีตครูโรงเรียนประถมศึกษาในตำบลลำไทรโยง แกนนำฟื้นฟูป่าดอนโจร เล่าว่า ป่าดอนโจรถูกบุกรุกทำลายอย่างต่อเนื่อง บ้างก็ขยายพื้นที่ทำกินเข้าไปในเขตป่า ทำให้ป่าหดแคบลง ประมาณช่วงหลังปี 2530 ครูประเทืองได้ไปอบรมศึกษาดูงานการพัฒนาชุมชน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งจัดขึ้นที่อำเภอนางรอง พอกลับมาได้นำกล้าไม้ต่างๆ มาปลูก เริ่มจากที่วัดในตำบล เช่น พะยูง สะเดา คูน ฯลฯ
ต่อมาจึงพานักเรียนในชั้นเรียน ป.5- ป.6 ออกจากห้องเรียนไปศึกษาธรรมชาติที่ป่าดอนโจร ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนมากนัก พาเด็กไปดูไม้ป่าชนิดต่างๆ บอกสอนว่า ต้นไหนกินได้ ต้นไหนเอามาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ทำอย่างนี้นานหลายปี ชาวบ้านที่ไม่เข้าใจก็หาว่าครูประเทืองเพี้ยน เพราะห้องเรียนมีเอาไว้สอนเด็ก แต่ครูกลับพาเด็กออกมาเดินป่า
“บางคนก็เรียกผมว่า ‘ครูผีบ้า’ เพราะเห็นผมชอบพาเด็กไปเก็บเห็ด เก็บผักในป่า เป็นครูแต่ไม่สอนหนังสือ แต่นี่คือการสอนเด็กให้รู้จักธรรมชาติและประโยชน์ของป่า ปลุกจิตสำนึกให้รักป่า หวงแหนป่า พาเด็กไปปลูกต้นไม้ ที่บ้านใครมีต้นอะไรก็เอามาเพาะ แล้วเอาไปปลูกในป่า บางคนเอาลูกตาล บางคนเอาไผ่ไปปลูก ขึ้นบ้าง ไม่ขึ้นบ้าง ก็ไม่เป็นไร เพราะนี่คือการสอนให้รักป่า ต้องปลูกป่าในใจคนก่อน เหมือนในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงกล่าวเอาไว้” ครูประเทืองบอก
จากเด็กนักเรียน ครูผีบ้าได้ขยายแนวคิดไปยังชาวบ้าน ผู้ปกครองเด็ก พระสงฆ์ ผู้ใหญ่บ้านและกำนัน ขยายไปสู่ อสม. เพราะ อสม.ทำงานใกล้ชิดกับชาวบ้าน ชาวบ้านให้ความเชื่อถือและเคารพไม่ต่างจากพระหรือครู จนเกิดแนวร่วมทั้งตำบล เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และอบต.ก็มาส่งเสริมสนับสนุน
ราวปี 2541 จึงเกิดข้อตกลงร่วมกันในการดูแลรักษาป่าดอนโจร โดยมีตัวแทนชาวบ้านที่อยู่รอบป่า 5 หมู่บ้านๆ ละ 5 คนร่วมกันจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ป่าดอนโจร เพื่อลาดตระเวน ดูแล และสร้างกฎ กติกา ไม่ให้มีการทำลายป่า เช่น ห้ามล่าสัตว์ ห้ามจับสัตว์น้ำ ห้ามตัดไม้ทุกชนิด ห้ามบุกรุกพื้นที่ป่า ห้ามทิ้งขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ กำหนดเวลาเข้า-ออกป่า
เก็บค่าบำรุงรักษาป่าสำหรับผู้ที่เข้าไปหาเห็ด หาผัก สมุนไพร หน่อไม้ ถ้าเป็นชาวบ้านในตำบลเก็บค่าบำรุงครั้งละ 10 บาท หากเป็นคนต่างถิ่นเก็บครั้งละ 20 บาท เพื่อเอาเงินมาเป็นค่าน้ำมันรถ อาหาร-เครื่องดื่มของอาสาสมัครที่ตระเวนดูแลป่า หากพบผู้ทำผิดจะว่ากล่าวตักเตือน หรือปรับ หากลักลอบตัดไม้จะส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินคดี
ป่าดอนโจรเป็นแหล่งเรียนรู้พันธุ์ไม้และธรรมชาติต่างๆ
ต่อมาในปี 2545 ครูประเทืองและแกนนำในตำบลลำไทรโยงได้ร่วมกันจดแจ้งจัดตั้ง ‘ป่าชุมชนดอนโจร’ ขึ้นมาตามระเบียบของกรมป่าไม้ เพราะพื้นที่ป่าดอนโจรอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเมืองไผ่ เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 2,800 ไร่เศษ มีการจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนขึ้นมา มีคณะกรรมการ 5 ฝ่าย เช่น ฝ่ายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ฝ่ายส่งเสริมและฟื้นฟูทรัพยากร ฝ่ายจัดการทรัพยากร ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฯลฯ และยังเข้าร่วมโครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
นอกจากนี้ครูประเทืองยังเป็นแกนนำในการสร้างแหล่งเรียนรู้ในป่าดอนโจร โดยทำฐานการเรียนรู้ขึ้นมาในป่า รวมทั้งหมด 12 ฐาน เช่น สถานีเห็ดป่า สถานีขี้ตุ่น สถานีป่าแต้ว ฯลฯ มีป้ายบอกให้รู้ว่าสถานีต่างๆ มีลักษณะพิเศษ มีพืช ผัก มีประโยชน์อย่างไรบ้าง เพื่อให้นักเรียนในตำบล ตลอดจนชาวบ้านทั่วไปได้มาศึกษาเรียนรู้
ผลจากการช่วยกันดูแลรักษาป่าดอนโจร ทำให้ผืนป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนในอดีต มีพืชผักต่างๆ เช่น ผักหวาน หน่อไม้ แต้ว เสม็ด มันป่า เห็ดโคน เห็ดป่าต่างๆ ที่ชาวบ้านเข้าไปเก็บมาทำอาหาร มีสมุนไพร เช่น โด่ไม่รู้ล้ม ใช้บำรุงร่างกาย ต้นนมควาย ใช้บำรุงน้ำนมให้แม่ที่เพิ่งคลอด แห้วกระต่าย แก้หิวน้ำ ใช้สูดดมแก้หวัด มีกบ เขียด อึ่งอ่าง แย้ สัตว์เล็ก เช่น หมาจิ้งจอก กระต่าย กระแต กระรอก พังพอน ไก่ป่า ฯลฯ
รวมทั้งชาวบ้านที่เลี้ยงวัวควายก็ใช้ป่าดอนโจรเป็นที่เลี้ยงสัตว์ เพราะในป่าดอนโจรจะแบ่งพื้นที่สาธารณะเพื่อเลี้ยงสัตว์ประมาณ 1,500 ไร่ และยังเป็นการสร้างแนวป้องกันไฟป่าไปในตัว เพราะวัวควายจะและเล็มหญ้า และเหยียบย่ำพงหญ้าจนเรียบ ไม่กลายเป็นเชื้อไฟในช่วงหน้าแล้ง นอกจากนี้เมื่อวัวควายถ่ายมูลออกมาก็กลายเป็นปุ๋ยบำรุงผืนป่าได้อีก
ในปี 2546 กลุ่มราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ตำบลลำไทรโยงได้เข้ารับธงพระราชทาน ‘พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต’ จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นธงที่พระราชทานให้แก่กลุ่ม รสทป.ที่มีผลงานดีเด่นด้านการอนุรักษ์ดูแลป่า
ปี 2553 ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวในการประกวดครั้งที่ 12 จากกลุ่มบริษัท ปตท. ประเภทชุมชนที่มีผลงานการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติจากการอนุรักษ์ป่าดอนโจร
ปี 2561 ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวในการประกวดครั้งที่ 18 จากกลุ่มบริษัท ปตท. รางวัล ‘สิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน’ จากการดูแลรักษาป่าดอนโจร
และปี 2562 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดป่าชุมชนระดับประเทศ โครงการ ‘คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน’ โดยการจัดประกวดของกรมป่าไม้ร่วมกับบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
สมบูรณ์ จีนประสพ กำนันตำบลลำไทรโยง ในฐานะที่สนับสนุนดูแลรักษาป่าดอนโจรร่วมกับครูประเทืองมาแต่ต้น บอกถึงรายได้อีกด้านจากป่าดอนโจรว่า บางปีสามารถเก็บค่าบำรุงจากการเข้าไปเก็บหาของป่าจากชาวบ้านได้ประมาณ 10,000 บาทก็จะนำมาเข้ากองทุนเพื่อดูแลป่า
นอกจากนี้ชาวบ้านยังร่วมกันบริจาคเงินเพื่อสร้างศูนย์เรียนรู้การอนุรักษ์ป่าดอนโจรได้เงินอีกประมาณ 60,000 บาทเศษ ถือเป็นความร่วมมือร่วมใจของคนลำไทรโยง นอกเหนือจากการช่วยกันทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำแนวเขตป่าชุมชน ทำแนวกันไฟรอบป่า ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร
จากปี 2541 ที่ชาวบ้านตำบลลำไทรโยงร่วมกันดูแลรักษาป่า สร้างกฎ กติกาของชุมชนขึ้นมา จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 20 ปี เกิดดอกผลมากมาย จากตำบลที่เคยแห้งแล้งกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบแห่งหนึ่งที่ชาวบ้านร่วมกันดูแลและได้ใช้ประโยชน์จากป่าดอนโจร...เป็นป่าชุมชนที่ยังประโยชน์ต่อชาวชุมชนอย่างแท้จริง !!
‘ฝายมีชีวิต’ สร้างเศรษฐกิจชุมชน
นอกจากการสนับสนุนการจัดตั้งป่าชุมชนแล้ว พอช.และภาคีเครือข่ายจะร่วมกันสนับสนุนการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ยามฤดูแล้ง นอกจากนี้ยังมีประโยชน์มากมายหลายประการ เช่น 1.ช่วยชะลอการไหลของน้ำ ทำให้น้ำซึมลงไปใต้ดิน จากเดิมที่ฤดูน้ำหลาก น้ำจะไหลลงสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็ว 2. ชะลอความแรงของน้ำ ช่วยลดการกัดเซาะตลิ่ง 3.ช่วยดักตะกอน กิ่งไม้ เศษไม้ ดิน หิน โคลน ทราย ทำให้ลำน้ำหลังฝายตื้นเขินช้าลง
4.ช่วยเก็บกักน้ำ ทำให้เกิดความชุ่มชื้นบริเวณฝายและพื้นที่เหนือฝาย ช่วยป้องกันไฟป่า 5.ช่วยให้เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี เช่น ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ทำไร่ ทำนา ทำสวน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น ปลา ปู กุ้ง หอย 7.เป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน มีเห็ด หน่อไม้ สมุนไพร บนพื้นที่ริมตลิ่ง ริมห้วย 8.เก็บความชุ่มชื้น เพิ่มปริมาณน้ำใต้ดิน ใช้ประโยชน์ในการทำประปาหมู่บ้าน ฯลฯ
ส่วนวิธีการสร้างฝายชะลอน้ำนั้น มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ และภูมิปัญญาของชาวบ้าน เช่น ในภาคเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นที่ราบเชิงเขา ชาวบ้านจะช่วยกันสร้างฝายในลำห้วยที่ไหลมาจากดอย โดยใช้ไม้นำมาปักขวางกั้นลำห้วย ใช้ดิน หิน และปูนซีเมนต์มาเสริมความแข็งแกร่งเพื่อต้านทานกระแสน้ำ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมานาน เรียกว่า “ฝายแม้ว” เพราะมีที่มาจากชาวม้ง (ชาวบ้านเรียก “แม้ว”) ที่คิดค้นสร้างฝายชนิดนี้ขึ้นมาก่อน
ชาวบ้านตำบลศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา ช่วยกันสร้างฝายก่อนน้ำจากดอยจะไหลลงมา
ทั้งนี้การสร้างฝายมีชีวิตนั้น ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานบอร์ด พอช. ได้ให้ความสำคัญตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในปี 2561 โดยสนับสนุนโครงการ ‘ประชารัฐร่วมใจสร้างฝายมีชีวิต’ เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ สร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดิน ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้ โดยใช้ “ฝายกั้นน้ำ” หรือ “ฝายชะลอน้ำ” เป็นวิธีหนึ่งในการช่วยสร้างความชุ่มชื้น ให้แก่ผืนดิน และเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร คืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่แผ่นดิน โดยจะให้ พอช. ชุมชน ภาคีเครือข่าย รวมทั้งภาคเอกชนมาร่วมกันขับเคลื่อนโครงการฝายมีชีวิตต่อไป
ดร.กอบศักดิ์ ย้ำว่า โครงการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตนี้ พอช.จะสนับสนุนชุมชนทั่วประเทศ แต่ พอช.มีงบประมาณจำกัด ดังนั้นตนจึงชวนภาคเอกชนที่สนใจมาร่วมโครงการ เช่น สนับสนุนงบประมาณในการปลูกป่า-สร้างฝายมีชีวิต การทำโครงการคาร์บอนเครดิตลดโลกร้อน รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนปลูกไม้มีค่า หากทำโครงการนี้ได้ ป่าไม้ประเทศไทยจะอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านก็จะอยู่ดีมีสุข
“พื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกต้นไม้ดีๆ ได้ประมาณ 200 ต้น ได้ต้นละ 2-3 หมื่นบาท จะได้มูลค่าประมาณ 2 ล้านบาท หาก 1 ชุมชนปลูก1,000 ไร่ จะสร้างมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปใน 3 ปีด้วยมือเรา และในอนาคตจะมีการต่อยอดในพื้นที่ป่าชายเลนที่สามารถจัดทำแผนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างพื้นที่สีเขียวได้” ดร.กอบศักดิ์กล่าว
ชาวบ้านหนองยาง อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ปลูกไม้ยางนาเป็นทรัพย์สิน และเตรียมทำโครงการคาร์บอนเครดิตลดโลกร้อน
***
เรื่องและภาพ: สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’
พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
ประชุม คนช. นัดแรก ไฟเขียวกฎหมายป่าชุมชน 2 ฉบับ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน (คนช.) ครั้งที่ 1/2567 โดยมีนาย
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย