8 ปี...เส้นทาง ‘น้ำพางโมเดล’ อ.แม่จริม จ.น่าน เป้าหมาย 'มีกิน มีใช้ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี...มีกฎหมายเป็นธรรม!!'

ชาวตำบลน้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน ร่วมกันฟื้นฟูป่า สร้างพื้นที่สีเขียวให้กลับคืนมา

เมื่อ 8 ปีที่แล้ว นโยบาย ‘ทวงคืนคืนป่า’ ของรัฐ เพื่อนำที่ดินจากผู้มีอิทธิพล นายทุน ฯลฯ ที่ครอบ ครองที่ดินไม่ถูกต้องกลับมาเป็นพื้นที่สีเขียว แต่ก็พลอยทำให้ประชาชน คนยากจนได้รับผลกระทบไปด้วย !!

ที่บ้านน้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน มีชาวบ้านธรรมดาๆ ชาวไร่ ชาวนา ถูกยึดที่ดินที่ทำกินที่ทับซ้อนกับเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่จริม และเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา รวมทั้งหมดกว่า 1,900 ไร่

จากผลกระทบดังกล่าว พวกเขาจึงได้รวมตัวกันแก้ไขปัญหา นำไปสู่การจัดการ ‘ดิน น้ำ ป่า และอาชีพ’ มีเป้าหมายเพื่อ “คนน้ำพาง มีกิน มีใช้ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีกฎหมายและนโยบายที่เป็นธรรม”

รากเหง้าและปัญหาของคนน้ำพาง

ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม อยู่ห่างจากตัวเมืองน่านไปทางทิศตะวันออกประมาณ 50 กิโลเมตร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขา มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 273,100 ไร่ มี 10 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่ราบเชิงเขา ประชากรประมาณ 5,300 คน มีทั้งคนล้านนา กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง และถิ่น ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกข้าวโพด ยางพารา และขิง เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ปลูกข้าวไร่และเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคในครอบครัว

ตำบลน้ำพางมีสายน้ำไหลผ่านหลายสาย เช่น น้ำพาง น้ำว้า ฯลฯ มีที่ราบลุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์จึงเป็นที่ตั้งชุมชนเก่ามาแต่โบราณ มีหลักฐานที่ยังปรากฏอยู่คือ ‘พระธาตคำปลิว’ ที่สร้างขึ้นมาในราวปี พ.ศ.1765 ตั้งอยู่ที่วัดน้ำพาง โดยมีการบูรณะวัดและพระธาตุมาแล้วหลายครั้ง ปัจจุบันพระธาตุมีอายุประมาณ 800 ปี

ในปี 2507 ประเทศไทยประกาศใช้ ‘พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507’ เพื่อคุ้มครองและสงวนป่าไม้ของประเทศ มาตรา 4 ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดว่า “ป่า” หมายความว่า “ที่ดินรวมตลอดถึงภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเลที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมาย” ทำให้พื้นที่ในตำบลน้ำพางซึ่งมีสภาพเป็นป่าเขาเกือบทั้งหมดกลายเป็นป่าสงวนฯ

ในปี 2542 กรมป่าไม้ประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เนื้อที่ประมาณ 58,400 ไร่ ปี 2550 ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแม่จริม เนื้อที่ประมาณ 170,200 ไร่ เมื่อรวมป่าสงวนฯ เนื้อที่ประมาณ 42,700 ไร่ รวมมีพื้นที่ป่าในตำบลน้ำพางทั้งหมดประมาณ 271,300 ไร่

ขณะที่พื้นที่ทั้งตำบลมีเนื้อที่ทั้งหมด 273,100 ไร่ จึงเหลือพื้นที่ที่ประชาชนมีเอกสารสิทธิ์ครอบครองเป็นโฉนด นส. 3 และ ที่ดิน ส.ป.ก. รวมกันทั้งตำบลประมาณ 1,707 ไร่เท่านั้น !! (ไม่รวมพื้นที่ที่อยู่อาศัยและทำกินที่ทับซ้อนกับเขตป่าสงวนฯ และอุทยานฯ)

นอกจากนี้จากนโยบายการทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลในปี 2557 ทำให้ชาวบ้านตำบลน้ำพางจำนวนหลายสิบ ครอบครัวถูกยึดพื้นที่ทำกินที่ทับซ้อนกับเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่จริม และเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา รวมทั้งหมดกว่า 1,900 ไร่

จากปัญหาสู่ทางออก... ‘น้ำพางโมเดล’

ข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของคนน้ำพาง ปลูกเพื่อขายให้พ่อค้านำส่งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากข้าวโพดเป็นพืชที่ไม่ต้องดูแลมาก อาศัยน้ำฝน โดยเฉพาะในช่วงปี 2545-2547 รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมการรับจำนำและประกันราคาข้าวโพด จึงทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ในภาคเหนือขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากขึ้น รวมทั้งชาวบ้านในตำบลน้ำพาง

ขณะเดียวกัน การปลูกข้าวโพดก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้ยาฆ่ายา ทำให้สารเคมีไหลลงแหล่งน้ำ รวมทั้งการเผาซากไร่ เพื่อปลูกข้าวโพดรอบใหม่ ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควัน หน้าดินถูกทำลาย ภูเขาที่เคยปกคลุมด้วยป่าไม้กลายเป็นภูเขาหัวโล้น โดยเฉพาะที่จังหวัดน่าน กลายเป็นภาพลบให้สังคมจดจำว่า...ชาวบ้านบุกรุกป่าเพื่อปลูกข้าวโพดจนภูเขาถูกไถจนโล่งเตียน

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ วงจรเกษตรที่นำไปสู่หนี้สินที่ชาวบ้านพยายามเปลี่ยนแปลง

ปวรวิช คำหอม แกนนำชาวบ้านตำบลน้ำพาง บอกว่า แต่เดิมชาวตำบลน้ำพางเคยเคลื่อนไหวผลักดันเรื่องสิทธิที่ดินทำกินตามแนวทางโฉนดชุมชนร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) อยู่แล้ว เมื่อได้รับผลกระทบจากการถูกยึดที่ดินทำกิน ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหา

มีการจัดเวทีประชาคมตำบลเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 เพื่อปรึกษาหารือผลกระทบจากนโยบายรัฐ และหาทางแก้ไขปัญหา โดยมีชาวบ้านและผู้นำชุมชนเข้าร่วมประมาณ 120 คน มีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือร่วมประชุมและเป็นที่ปรึกษา จนนำไปสู่การกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืนโดยชุมชนท้องถิ่น หรือ ‘น้ำพางโมเดล’ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ขึ้นมาดำเนินการ มี ‘ปวรวิช คำหอม’ เป็นผู้จัดการโครงการ ‘น้ำพางโมเดล’

“น้ำพางโมเดล คือการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตของชาวบ้าน จากเดิมที่ชาวบ้านปลูกข้าวโพดเป็นหลัก เป็นพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้สารเคมี หันมาเปลี่ยนเป็นเกษตรเชิงนิเวศน์ โดยปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เป็นการทำเกษตรผสมผสานที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ปลูกกาแฟ โก้โก้ มะม่วงหิมพานต์ ไผ่ซางหม่น และนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูปเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่ม ไม่ใช่ขายเป็นวัตถุดิบเหมือนแต่ก่อน รวมทั้งช่วยกันดูแลดินน้ำป่าด้วย” ปวรวิชบอกถึงที่มาของน้ำพางโมเดล

เวทีประชาคม ‘น้ำพางโมเดล’ ในปี 2558

ในปี 2560-2561 น้ำพางโมเดลได้เริ่มต้นอย่างจริงจัง โดยมีหน่วยงานทั้งภาคเอกชน รัฐ และหน่วยงานระหว่างประเทศร่วมสนับสนุน เช่น ซีพี มูลนิพัฒนาภาคเหนือ กรมป่าไม้ ฯลฯ สนับสนุนงบประมาณ วิชาการ เมล็ดพันธุ์ ระบบน้ำในการเกษตร

ขณะที่ชาวบ้านมีข้อตกลงร่วมกันว่าในพื้นที่ 1 ไร่ จะต้องปลูกต้นไม้เพิ่มอย่างน้อย 35 ต้น เป็นไม้ยืนต้นหรือไม้เศรษฐกิจจำนวน 10 ต้น เช่น ยางนา ประดู่ มะขามป้อม ไม้ไผ่ และไม้ผลจำนวน 25 ต้น เช่น กาแฟ โกโก้ มะม่วงหิมพานต์ อะโว้คาโด้ ฯลฯ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกไม้เศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้มีรายได้ทดแทนข้าวโพด

ลุงชิน เขื่อนจักร์ เกษตรกรบ้านน้ำพาง ผู้เข้าร่วม ‘น้ำพางโมเดล’ บอกว่า มีที่ดินทำกิน 11 ไร่ เมื่อก่อนปลูกข้าวโพดขายพ่อค้าเพราะใครๆ ก็ปลูก แม้จะรู้ว่าข้าวโพดไม่ดี ต้องลงทุนสูง ใช้ทั้งปุ๋ยและสารเคมี ทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม แต่ตอนนั้นยังไม่มีทางเลือกอื่น เมื่อมีโครงการน้ำพางโมเดล จึงเข้าร่วมโครงการ โดยปลูกโกโก้ มะม่วงหิมพานต์ มะม่วงโชคอนันต์ มะขามป้อม ฯลฯ รวมประมาณ 18 ชนิด

ลุงชินถือเป็นเกษตรกรต้นแบบที่เปลี่ยนจากข้าวโพดมาเป็นพืชผสมผสาน โดยทาง ‘น้ำพางโมเดล’ ได้สนับสนุนการวางระบบน้ำเข้าไปในแปลงเกษตร เพื่อให้ลุงชินมีรายได้จากพืชระยะสั้น เช่น พริก มะเขือ ฟักทอง และเลี้ยงหมู ในระหว่างที่รอให้พืชอื่นเติบโต เช่น โกโก้ 2-3 ปีจึงจะเริ่มให้ผลผลิต

“เมื่อก่อนชาวบ้านไม่มีทางเลือก จึงต้องปลูกข้าวโพด เพราะไม่ต้องอาศัยระบบน้ำ รอแต่น้ำฝน แต่ต้นทุนการผลิตก็สูง ต้องใช้ปุ๋ย ยาค่าหญ้า จ้างรถไถ แรงงาน ตกไร่ละ 3-5 พันบาท ปีนึงขายผลผลิตได้ไร่ละ 6-7 พันบาท หักลบต้นทุนแล้วไม่คุ้ม แต่ก็ต้องปลูก เพราะได้เงินก้อนเอามาใช้จ่ายก่อน พอจะปลูกรอบใหม่ก็ต้องหาเงินกู้มาลงทุนอีก ทำให้คนปลูกมีหนี้สินพอกเป็นหางหมู วนเวียนอยู่อย่างนี้” ปวรวิชบอกถึงวงจรอุบาทว์ที่ชาวบ้านสลัดไม่หลุดจากไร่ข้าวโพดเป็นไม้ผลและไม้ยืนต้นต่างๆ 1 ไร่ต้องปลูกอย่างน้อย 35 ต้น เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว

จากดอยหัวโล้นสู่เกษตรสีเขียว-เชื่อมโยงท่องเที่ยวชุมชน

น้ำพางโมเดลจึงเป็นทางเลือกใหม่ของชาวบ้าน โดยเฉพาะกาแฟและโกโก้ที่ให้ผลผลิตเร็ว ปลูกเพียง 2-3 ปีจะเริ่มให้ผลผลิต กาแฟที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นพันธุ์โรบัสต้า เนื่องจากตำบลน้ำพางมีระดับความสูงไม่มากนัก กาแฟโรบัสต้าจะเติบโตได้ดี แต่หากเป็นชุมชนชาวม้งที่อยู่บนดอยมีความสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 800 เมตรขึ้นไปก็จะปลูกพันธุ์อราบิก้า

ปัจจุบันชาวตำบลน้ำพางซึ่งรวมตัวกันเป็น ‘วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรตำบลน้ำพาง’ ได้แปรรูปผลผลิตออกจำหน่าย เช่น ‘เมล็ดกาแฟคั่วโรบัสต้าน้ำพาง’ ขนาดถุงละ 250 กรัม ราคา 170 บาท ราคารับซื้อกาแฟเชอร์รี่จากสมาชิกกิโลกรัมละ 18 บาท ซึ่งในระยะแรกที่กาแฟเริ่มให้ผลผลิตจะได้เมล็ดกาแฟประมาณปีละ 2,000 กิโลกรัม

นอกจากนี้ยังมีเมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบกรอบ น้ำนมเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ท๊อฟฟี่เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ฯลฯ ราคารับซื้อเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ตากแห้งจากชาวบ้านประมาณกิโลฯ ละ 24-28 บาท

ปวรวิช ในฐานะผู้จัดการโครงการ ‘น้ำพางโมเดล’ บอกว่า ด้านการจำหน่ายจะมีบริษัทซีพีช่วยประสานงานและทางวิสาหกิจจะจำหน่ายสินค้าต่างๆ ทางออนไลน์ โดยใช้ชื่อเพจ ‘วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรตำบลน้ำพาง’ และออกบูธจำหน่ายตามงานต่างๆ รวมทั้งจำหน่ายให้แก่ร้านค้าในจังหวัดน่านด้วย

“ส่วนโกโก้นั้น จากเดิมที่กลุ่มจะขายผลสุกให้พ่อค้า เราจะนำมาแปรรูป ทำเป็นเมล็ดโกโก้แห้งส่งขายก่อน ต่อไปเราจะผลิตโกโก้สำเร็จรูปที่สามารถชงดื่ม หรือนำมาทำเป็นขนมขาย เชื่อมโยงกับเรื่องท่องเที่ยวชุมชนที่เรากำลังจะเริ่มด้วย” ผู้จัดการโครงการฯ บอกถึงแผนงานต่อไปเมล็ดมะม่วงหิมพานต์และกาแฟของชาวน้ำพาง

เขาบอกว่า ตำบลน้ำพางมีต้นทุนทางธรรมชาติ ศิลปะ วัฒนธรรมหลายอย่าง เช่น ‘พระธาตคำปลิว’ ตั้งอยู่ที่วัดน้ำพาง สร้างขึ้นมาในราวปี พ.ศ.1765 ตามจารึกบอกว่า ผู้สร้างมาจากเมืองนครพิงค์หรือเชียงใหม่ มีเชื้อสายพม่า ที่ผ่านมามีการบูรณะวัดและพระธาตุมาแล้วหลายครั้ง ปัจจุบันพระธาตุมีอายุประมาณ 800 ปี

มีประเพณี วัฒนธรรมของชาวม้ง ชาวถิ่น และคนล้านนา นอกจากนี้ยังมีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ดอยผาหน่อ คาดว่ามีอายุใกล้เคียงกับภาพเขียนสีที่ผาแต้ม จ.อุบลราชธานี เป็นภาพคล้ายสัญลักษณ์สวัสดิกะ นักรบ ฯลฯ มีความงดงามของลำน้ำว้า ซึ่งปัจจุบันมีเอกชน และอุทยานแห่งชาติแม่จริมจัดให้มีการล่องแก่งน้ำว้า สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดปี ยกเว้นในช่วงที่น้ำหลาก

“ต้นทุนทางธรรมชาติ ศิลปะ วัฒนธรรมประเพณีต่างๆ เหล่านี้ เราจะนำมาจัดทำปฏิทินท่องเที่ยวตลอดทั้งปี เช่น ช่วงหน้าหนาว เป็นเทศกาลปีใหม่ม้ง มีประเพณีกินข้าวใหม่ เราสามารถจัดการท่องเที่ยวแบบ adventure หรือแบบผจญภัยได้ เช่น เดินป่า หรือล่องแก่งน้ำว้าจากจุดหนึ่งไปกินข้าวเที่ยงที่จุดหนึ่ง มีที่พักแบบโฮมสเตย์ ให้นักท่อง เที่ยวได้สัมผัสกับธรรมชาติ มีอาหารพิเศษ เช่น ไก่กระดูกดำของชาวม้ง กินกับข้าวไร่อินทรีย์ ดื่มกาแฟหรือโกโก้สดๆ ที่เราปลูกและผลิตเอง” ปวรวิชบอกถึงแผนงานท่องเที่ยวชุมชนที่จะเริ่มทำให้ทันในช่วงปลายปี 2566 นี้

ส่วนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวนั้น นับจากเวทีประชาคมคนน้ำพางในเดือนกันยายน 2558 ปัจจุบันย่างเข้าปีที่ 8 มีความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเห็นได้ชัดหลายอย่าง เช่น ชาวน้ำพางร่วมกันปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ประมาณ 3,700 ไร่ ปลูกต้นไม้ประมาณ 120,000 ต้น โดยมีเป้าหมายภายในปี 2575 จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้จำนวน 14,253 ไร่ เพื่อพลิกฟื้นดอยหัวโล้นให้กลับมาเขียวขจีอีกครั้ง...และตลอดไป !!

ต้นทุนธรรมชาติ ศิลปะ วัฒนธรรม ผลผลิต ฯลฯ จะนำมาเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวชุมชน

‘บ้านมั่นคง’ ต่อยอดกองทุนที่อยู่อาศัย

นอกจากน้ำพางโมเดลที่ชาวบ้านร่วมกันขับเคลื่อนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 แล้ว ผู้นำในตำบลน้ำพางยังได้ร่วมกันจัดทำ ‘โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลน้ำพาง’ โดยมีการจัดตั้ง ‘คณะทำงานบ้านมั่นคงและการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัย’ ขึ้นมา เพื่อเป็นกลไกในการดำเนินงาน เช่น สำรวจข้อมูล ปัญหาความเดือดร้อน ความต้องการของชุมชน ทั้งด้านวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ อาชีพ สาธารณูปโภค แหล่งน้ำ ฯลฯ และจัดทำเป็นโครงการเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินโครงการจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ตั้งแต่ปี 2565

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและที่ดิน พอช. ได้อนุมัติโครงการและงบประมาณ ‘โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลน้ำพาง’ รวมงบประมาณทั้งหมด 12.6 ล้านบาท มีแผนงานสำคัญ เช่น ซ่อมสร้างบ้านเรือนผู้ที่มีฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม รวม 242 ครอบครัว โดยจะใช้ช่างชุมชน ช่างจิตอาสา ช่วยกันแบบ “เอามื้อเอาแรง” รื้อฟื้นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันเหมือนในอดีต

นอกจากนี้จะมีการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่อยู่อาศัยเพื่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิต ส่งเสริมการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ส่งเสริมเกษตรเชิงนิเวศน์ การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ประปาภูเขา ปรับปรุงถนน สะพาน ฟื้นฟูและส่งเสริมศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่น ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาเรื่องอาชีพ การแปรรูปผลผลิต เช่น กาแฟ โกโก้ มะม่วงหิมพานต์ ไม้ไผ่ ข้าวคั่วดอย ข้าวเหนียวดำ ขยายพันธุ์ไก่กระดูกดำ ฯลฯ

นำทุนธรรมชาติ ทุนวัฒนธรรมมาส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน เช่น การล่องแพ ล่องเรือในลำน้ำว้า การเดินป่า สัมผัสวัฒนธรรมประเพณีชนเผ่าม้ง ถิ่น ล้านนา ทำที่พักโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยว ฯลฯ

ปวรวิช ในฐานะผู้ประสานงานโครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลน้ำพาง บอกว่า แผนงานการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงฯ คาดว่าจะเริ่มโครงการต่างๆ ได้ประมาณเดือนมิถุนายนนี้ (หลังได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช.) โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการโครงการเพื่อกำหนดแผนงานและเริ่มซ่อมสร้างบ้านเรือนชาวบ้านกลุ่มที่มีความเดือดร้อน ครอบครัวเปราะบางก่อน หลังจากนั้นจะทยอยดำเนินโครงการต่างๆ ต่อไป

เขาบอกด้วยว่า ที่ผ่านมา ชาวบ้านในตำบลน้ำพางได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนต่างๆ เพื่อเป็นกองทุนช่วยเหลือกันในการประกอบอาชีพ รวมทั้งนำมาช่วยเหลือสมาชิกในยามเดือดร้อน เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลน้ำพาง จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2552 ปัจจุบันมีสมาชิก 315 คน มีเงินกองทุนกว่า 200,000 บาท ช่วยเหลือสมาชิกในยามเจ็บ ป่วย คลอดลูก เสียชีวิต ฯลฯ

“เมื่อเราจัดทำโครงการบ้านมั่นคงชนบทขึ้นมา เราจึงตกลงร่วมกันว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้มีกองทุนสำหรับเอาไว้ดูแลพี่น้องคนยากคนจน คนพิการ ผู้สูงอายุในตำบล เพื่อจะได้มีบ้าน มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง เราจึงจัดตั้ง ‘กองทุนที่อยู่อาศัยตำบลน้ำพาง’ ขึ้นมาในปี 2565 ที่ผ่านมา โดยให้สมาชิกออมเงินเข้ากองทุนเดือนละ 10 บาท ตอนนี้มีเงินประมาณ 2 หมื่นบาท และเมื่อเราได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการบ้านมั่นคงฯ จาก พอช.แล้ว เราตกลงกันว่าจะให้สมาชิกสมทบเงินร้อยละ 5 จากงบประมาณซ่อมแซมบ้านแต่ละหลังเพื่อเอาเข้ากองทุนไว้ช่วยเหลือกันต่อไป ส่วนคนที่ยากลำบากจริงๆ ไม่ต้องสมทบเงินเข้ากองทุน”

ผู้ประสานงานโครงการบ้านมั่นคงฯ บอกถึงแผนการต่อยอดกองทุน โดยคาดว่าจะมีเงินกองทุนเบื้องต้นประมาณ 400,000 บาท และสามารถนำเงินนี้ไปสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้ เมื่อมีผลกำไรก็จะนำมาปันผลให้สมาชิก และนำรายได้เข้ากองทุนเพื่อให้เกิดการหมุนเวียน ช่วยเหลือสมาชิกได้ยั่งยืน

คณะทำงานสำรวจครอบครัวที่ยากจนสภาพบ้านเรือนทรุดโทรม

หัวใจ 4 ด้านของคนน้ำพาง..และก้าวย่างสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ส่วนด้านการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของเกษตรกร โดยเฉพาะคนตำบลน้ำพางที่อยู่อาศัยต่อเนื่องกันมานาน แต่ถูกป่าสงวนฯ และอุทยานแห่งชาติประกาศทับทีหลังนั้น

ปวรวิช บอกว่า ชาวตำบลน้ำพางจะเดินหน้าแก้ไขปัญหานี้ต่อไป เพราะถือเป็นสิทธิชุมชน และเป็นความชอบธรรมเพราะชาวบ้านอยู่อาศัยมาก่อนที่จะมีกฎหมายป่าไม้ต่างๆ นอกจากนี้ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาตามแนวทาง ‘โฉนดชุมชน’ ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี 2553 และมีบางชุมชนได้รับโฉนดชุมชนไปแล้ว เช่น ตำบลคลองโยง จ.นครปฐม แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล การเมืองเปลี่ยนแปลง นโยบายนี้จึงไม่ถูกนำมาใช้ต่อ

ปัจจุบันเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดินตามแนวทาง ‘คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ’ (คทช.ชาติ) ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด (คทช.จังหวัด) เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้ชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยและทำกิน ซึ่งชาวบ้านที่ตำบลน้ำพางได้รับอนุญาตจาก คทช.จังหวัดในเดือนเมษายน 2565 เนื้อที่ประมาณ 474 ไร่

“แต่ชาวน้ำพางยืนยันที่จะขอใช้แนวทางโฉนดชุมชนตาม พ.ร.บ.คทช. มาตรา 10 (4) ที่เปิดช่องไว้ เพื่อให้ชาวบ้านมีสิทธิในการบริหารจัดการที่ดินเอง และนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาดูข้อเท็จจริงที่ตำบลน้ำพางในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาแล้ว แต่มีการยุบสภาก่อน เรื่องจึงไม่คืบหน้า” ปวรวิชบอก

เขาบอกในตอนท้ายว่า 4 ด้าน คือ 1.มีกิน เพิ่มความมั่นคงทางด้านอาหาร ปลูกพืชที่กินได้และจำหน่าย 2.มีใช้ เพิ่มรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนที่มั่นคงในระยะยาว 3.มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างระบบนิเวศน์ที่สอดคล้องกับชุมชน และ 4. มีกฎหมายและนโยบายที่เป็นธรรม สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม ภูมินิเวศน์ และรูปแบบการผลิตที่ยั่งยืน

“ตอนนี้ข้อ 1 ถึงข้อ 3 เราทำแล้ว และเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม ส่วนข้อที่ 4 คือ ‘มีกฎหมายและนโยบายที่เป็นธรรม’ เราก็จะเดินหน้าต่อไป เพื่อให้เกิดการรับรองสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินและทรัพยากรของชุมชน เพราะเรื่องที่ดินทำกิน-ที่อยู่อาศัยถือเป็นหัวใจของเกษตรกร และเมื่อมีที่ดินที่อยู่อาศัยที่มั่นคงแล้ว ลูกหลานที่ไปทำงานในเมืองก็จะกลับมาทำการเกษตรได้ เพราะมีอาชีพ มีรายได้รองรับ กลับมาดูแลพ่อแม่ปู่ย่าได้ ครอบครัวก็จะมีความสุข ไม่ต้องดิ้นรนไปทำงานในเมือง และต่อไปเราจะพัฒนาชุมชนทุกมิติ มีเป้า หมายเพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้ ชุมชนก็จะน่าอยู่ เกิดความยั่งยืนตลอดไป” ปวรวิชย้ำในตอนท้าย

ผู้คนมีสุขภาพดี มีความสุข ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีสิ่งแวดล้อมดี เป็นอุดมคติและเป้าหมายที่คนน้ำพางจะไปให้ถึง !!


********


เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

4 วันอันตรายสงกรานต์! สังเวย 162 ศพ 'เมืองคอน' แชมป์อุบัติเหตุ

พลตำรวจโทกรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์

กราฟิกอัตลักษณ์'น่าน' เพิ่มเสน่ห์เที่ยวเมืองรอง

จ.น่าน เป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ระหว่างกลุ่มอิทธิพลของลุ่มน้ำโขงและกลุ่มอิทธิพลล้านนา นครแห่งนี้สะสมบ่มเพาะปัญญาจากหลากทิศทางจนสามารถสร้างรูปแบบอัตลักษณ์อันเป็นฐานรากสำคัญนครน่านขึ้นมาได้ อัตลักษณ์น่านเติบโตโดยได้รับอิทธิพลสกุลช่าง

บ้านมั่นคงชนบท ‘น้ำพางโมเดล’ จ.น่าน (2) บ้านที่มั่นคงของ ‘สหายกำปืน' อดีตนักสู้ ‘อนุชน พคท.’

‘น้ำพางโมเดล’ คือการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตของชาวบ้านตำบลน้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน ตั้งแต่ปี 2558 จากเดิมที่ชาวบ้านปลูกข้าวโพดเป็นหลัก เป็นพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้สารเคมี

บ้านมั่นคงชนบท ‘น้ำพางโมเดล’ จ.น่าน (1) “ที่ดินคือชีวิต”...เส้นทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน !!

ตำบลน้ำพาง อ.แม่จริม จังหวัดน่าน อยู่ห่างจากตัวเมืองน่านไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 50 กิโลเมตร และอยู่ไม่ไกลจากชายแดนประเทศลาว