“น้องตั้งใจ”แชตบอตเพื่อนสนิท นวัตกรรมช่วยเลิกเหล้าเข้าพรรษา

 ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 พบประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 5.7 ล้านคนเคยดื่มสุราและแอลกอฮอล์ ในจำนวนนี้เป็นนักดื่มหนักเป็นประจำถึง 1.37 ล้านคน คิดเป็น 2.40% และดื่มหนักเป็นครั้งคราว 4.36 ล้านคน คิดเป็น 7.65% แต่แนวโน้มถือว่าลดลงตามลำดับจาก 13.95% ในปี 2557 เหลือ 11.9% ในปี 2560 และเหลือ 10.05% ในปี 2564 สะท้อนว่าพฤติกรรมการดื่มอย่างหนักของคนไทยมีแนวโน้มดีขึ้น

ศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด (1413 สายด่วนเลิกเหล้า) มีรายงานระบุว่า การให้บริการปรึกษาปัญหาสุราทางโทรศัพท์ 1413 สายด่วนเลิกเหล้าตลอด 7 ปี พบผู้ประสงค์ตั้งใจเลิกเหล้าเข้าพรรษา 3 เดือนเพิ่มมากขึ้นจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม บางคนเลือกการหักดิบเลิกเหล้าด้วยตนเอง เกิดภาวะถอนพิษเหล้า บางรายมีอาการหนักเมื่อขาดเหล้าอย่างรุนแรง มีอาการชัก ประสาทหลอน เพ้อคลั่ง ตัวสั่น สมองสับสนร่วมด้วย

การเตรียมพร้อมก่อน “งดเหล้าเข้าพรรษา” จึงเป็นสาระความรู้ที่ไม่ควรมองข้าม           

ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับ 1413 สายด่วนเลิกเหล้าและเครือข่าย จัดเวทีเสวนา “อีกก้าวของบริการช่วยเลิกเหล้า" พร้อมเปิดตัว “น้องตั้งใจ” ทัดไม้บรรทัดเหนือหู นวัตกรรมแชตบอตช่วยเหลือเลิกเหล้า ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. เผยว่าจากรายงานผ่านระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2566 พบว่าตั้งแต่ต้นปี ผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ารับการบำบัดในสถานพยาบาลอยู่ที่ 857,582 คน คิดเป็น 65.2% ของผู้ที่ดื่มสุราที่ควรได้รับการบำบัด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ 63.71% “แม้จะมีผู้เข้ารับการบำบัดเพิ่มมากขึ้น แต่ยังพบข้อจำกัดในการเข้าถึงการรับบริการ ผู้ดื่มขาดความตระหนักรู้เท่าทัน ไม่กล้าขอเข้ารับบริการเพื่อรับคำปรึกษา ไม่ทราบแหล่งที่จะขอรับความช่วยเหลือเมื่อประสบปัญหา ถือเป็นความท้าทาย สสส.และภาคีเครือข่าย จึงเร่งพัฒนาการให้บริการเชิงรุกในการส่งเสริมให้ประชาชน ลด ละ เลิก วิธีการหยุดดื่มสุราอย่างถูกต้อง ปลอดภัย และการเตรียมความพร้อมของระบบบริการเพื่อรองรับการให้บริการส่งต่อสถานพยาบาล”

ขณะที่ รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด (1413 สายด่วนเลิกเหล้า) ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยข้อมูลการให้บริการ 1413 สายด่วนเลิกเหล้าว่า ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์แบบครบวงจร รวมถึงช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่ปี 2564-2565 มีผู้โทร.เข้ามาขอรับคำปรึกษามากถึง 26,176 สาย โดยเฉพาะช่วงเข้าพรรษาตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย.ของทุกปี จะมีคนโทร.เข้ามาขอรับบริการปรึกษาเพื่อเลิกเหล้ามากขึ้น

ดังนั้น เพื่อขยายการให้บริการได้อย่างทั่วถึงจึงพัฒนา “น้องตั้งใจ นวัตกรรมแชตบอตช่วยเหลือเลิกเหล้า” ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อดูประวัติส่วนตัว และบันทึกการดื่มย้อนหลัง ตลอดจนประเมินระดับความเสี่ยง และวิธีการเลิกเหล้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางช่วยเหลือผู้มีปัญหาจากการดื่มสุราทางออนไลน์ สอดคล้องกับพฤติกรรมการสื่อสารในยุคปัจจุบันที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

รศ.พญ.รัศมนกล่าวยืนยันทางการแพทย์ ไม่มีปริมาณการดื่มที่ปลอดภัย แม้เพียงดื่มวันละแก้วก็ตาม หรือหยดเดียวก็เสี่ยงแล้ว ยิ่งเด็กดื่มเหล้า สมองเด็กเสียหายมีความเปราะบาง โอกาสติดเหล้าได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ที่เริ่มดื่มเหล้า ดังนั้นกฎหมายกำหนดเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีห้ามดื่ม และห้ามขายเหล้าให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี แต่บ้านเราไม่ค่อยเข้มงวดกวดขัน แตกต่างจากในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรป มีงานวิจัยพิสูจน์แล้วว่าแอลกอฮอล์ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ผลกระทบต่อสุขภาพ ตับ สมองเสื่อม โรคหัวใจ พิสูจน์แล้วว่าดื่มไวน์ไม่ได้ป้องกันโรคหัวใจแต่อย่างใด มีโอกาสทำให้เกิดโรคหัวใจด้วยซ้ำไป เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งในเต้านม ฯลฯ

“นักดื่มในประเทศไทย 28% อยู่ในวัยต่างๆ เมื่อเข้ามาใช้แชตบอกซ์เพื่อการบำบัดรักษา หมออยากให้นักดื่มหนักเข้ามาใช้บริการเพื่อเลิกเหล้าอย่างปลอดภัย แม้แต่คนที่ไม่ได้ดื่มแต่อยู่ในครอบครัวเดียวกันแล้วได้รับผลกระทบจากคนดื่มเหล้า ต้องยอมรับว่าแอลกอฮอล์ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว สุขภาพเสื่อม และยังมีอุบัติเหตุ” รศ.พญ.รัศมนยืนยันตัวเลข

พ.ท.นพ.ณัฐพล โชคไมตรี ภาควิชาจิตเวชและประสาทวิทยา วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ผู้คิดค้นแชตบอต "น้องตั้งใจ" พัฒนาขึ้นด้วยความตั้งใจที่อยากให้ประชาชนคนไทยได้มีเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการบำบัดปัญหาการเสพติด โดยมีการสำรวจความต้องการและความคาดหวังของกลุ่มเป้าหมาย ที่คาดว่าจะเป็นผู้ใช้งานกับผู้ให้บริการจาก 1413 สายด่วนเลิกเหล้า โดยจะให้แชตบอตน้องตั้งใจเป็นเหมือนเพื่อนคนหนึ่งที่ใกล้ชิดผู้ดื่ม คอยติดตามและให้คำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงจากการดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้การดูแลจากเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา 1413 สายด่วนเลิกเหล้า ซึ่งจากการทดลองใช้แชตบอตจากกลุ่มตัวอย่าง พบจำนวนวันดื่มของผู้ใช้บริการปรึกษาเลิกเหล้าผ่านแชตบอตมีแนวโน้มลดลงมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้ และระดับความรุนแรงของความเสี่ยงในการดื่มก็ลดลง

“น้องตั้งใจดูแลผู้ป่วยได้จำนวนมาก แต่นักดื่มที่มีโอกาสเข้าถึงการบริการยังมีน้อย หากมาโรงพยาบาลจะมีขั้นตอนยุ่งยาก ให้เลือกใช้แอปไลน์สื่อสารอัตโนมัติ ทำแบบประเมินผ่านไลน์ ต้องมีการวางแผนลดการดื่มให้เสี่ยงน้อยที่สุด ถ้าไม่อยากใช้โทรศัพท์ปรึกษาก็เลือกใช้ไลน์ได้" พ.ท.นพ.ณัฐพลบ่งชี้

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดเพิ่มเพื่อนกับน้องตั้งใจผ่านแอปพลิเคชันไลน์ หรือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กเพจ 1413 สายด่วนเลิกเหล้า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสส. พอช. และไทยพีบีเอส เปิดบ้าน ชวนคนรุ่นใหม่เสนอโครงการ คนรุ่นใหม่คืนถิ่นเฟส 2 “Movement คนรุ่นใหม่”

สสส. : วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 – 12.00 น. สสส. ร่วม พอช. และ Thai PBS เปิดบ้านรับข้อเสนอโครงการ “Movement คนรุ่นใหม่” ตั้งแต่วันนี้ – 25 พฤษภาคม 2567

เครือข่าย “ชุมชนล้อมรักษ์” ต้นแบบช่วยผู้ติดยามีความหวัง

ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาองค์รวม การแก้ไขไม่ใช่แค่เพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น แต่ถือเป็นปัญหาสุขภาพความเจ็บป่วย เมื่อเป็นแล้วก็เป็นใหม่ได้อีก

สสส. ปลื้ม ครบรอบ 4 ปี ThaiHealth Academy พัฒนานวัตกรรมหลักสูตรสุขภาวะ 82 หลักสูตร

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 ที่โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth Academy

"ออมสุขภาพ” รับวัยเกษียณ เตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย

สังคมไทยเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ขณะนี้มีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12 ล้านคน จากจำนวนคนไทย 66 ล้านคน และในอนาคตคืออีก 60 ปีข้างหน้า

เด็กไทย 1 ใน 10 น้ำหนัก/ส่วนสูงหลุดเกณฑ์ กระทบสมอง เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ป่วย NCDs

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2566 โดยกรมอนามัย

วิจัยพบสังคมไทยเหลื่อมล้ำทุกมิติ สื่อสารในครอบครัวลดช่องว่างได้

ผลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ รั้งท้ายโลกเป็นอันดับที่ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022