“วิถีคนกับป่า” และ “เห็ดถอบ” ขุมทรัพย์จากแผ่นดิน ที่ ‘ป่าชุมชนต้นแบบ’ บ้านยางเปียง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

ชาวยางเปียงช่วยกันนำจีวรพระผูกรอบต้นไม้ เป็นสัญลักษณ์ ‘บวชป่า’ ไม่ทำลายป่า (ภาพจาก อบต.ยางเปียง)

“เมื่อก่อนคนมักจะเหมารวมว่าอำเภออมก๋อยเป็นพื้นที่ที่มีการเผาป่า  ทำให้เกิดฝุ่นควันและมลพิษคลุมเมืองเชียงใหม่  แต่ความจริงแล้วอมก๋อยเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษาและอยู่ร่วมกับป่ามายาวนานตั้งแต่รุ่นพ่อเฒ่าแม่เฒ่า  เพราะชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับป่าและธรรมชาติ   ต้องดูแลพื้นที่ป่าต้นน้ำ  ป่าพิธีกรรม  เรียกว่าตอนเช้าเปิดประตูบ้านออกมาก็เห็นแต่ป่า  ป่าอมก๋อยจึงมีความอุดมสมบูรณ์  มีความชุ่มชื้น  เป็นแหล่งผลิตออกซิเจน  เป็นปอดของเชียงใหม่...เชื่อว่าถ้าใครมานอนที่อมก๋อย 1 คืน  อายุจะยืนไปหลายปี”

นิรันดร์  น้ำภูดิน  เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ)  ซึ่งทำงานด้านการส่งเสริมการจัดการไฟป่าและการดูแลป่าชุมชนในอำเภออมก๋อยเกริ่นนำ 

เขาบอกว่า  ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่ายังทำให้ชาวอมก๋อยมีอาหารจากป่าตลอดปี  เช่น  ในฃ่วงหน้าแล้ง      มีผักหวานป่า  เข้าฤดูฝนมีหน่อไม้  ราวกลางปีก็จะมีสารพัดเห็ด  ให้เก็บกิน  เก็บขาย  โดยเฉพาะ เห็ดถอบ ซึ่งเป็นเสมือนขุมทรัพย์จากป่าจากแผ่นดิน  เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม  เห็ดถอบจะแทรกผืนดินขึ้นมา  หน้าตามอมแมมคลุกดินแลดูไม่น่ากิน  แต่รสชาติและราคาสวนทางกับรูปร่างที่ขี้ริ้วของมัน

บางปี...เพียงช่วงฤดูกาลเดียว  ชาวบ้านราว 500 ครอบครัวมีรายได้จากเห็ดถอบรวมกันสูงถึง 15 ล้านบาท !!

นิรันดร์ ชี้ให้เห็นถึงสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ในอำเภออมก๋อย

ยางเปียงป่าชุมชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย                          

อมก๋อย  เป็นภาษาลัวะ  มาจากคำว่า “อำกอย”  มีความหมายถึง “ขุนน้ำหรือต้นน้ำ” ซึ่งหมายถึง ‘ต้นน้ำแม่ตื่น’  ซึ่งเป็นสายน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนอมก๋อยมาเนิ่นนาน  (ไหลไปบรรจบกับน้ำปิงที่ จ.ตาก มีความยาวประมาณ 200 กิโลเมตร) เดิมพื้นที่แถบนี้มีชาวลัวะอาศัยอยู่มาแต่โบราณ  ต่อมาภายหลังอาณาจักรเชียงใหม่เจริญรุ่งเรืองขึ้นมา  เกิดศึกสงคราม  บ้านเมืองของชาวลัวะแตกพ่ายล่มสลาย  ชาวลัวะจึงกลายเป็นคนกลุ่มน้อย

ปัจจุบัน  ‘อมก๋อย’  เป็น 1 ใน 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่  ตั้งอยู่ทางใต้สุดของจังหวัด  เป็นดินแดนชายขอบที่อยู่ติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนและตาก  สภาพพื้นที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน  มีเนื้อที่ทั้งหมด1,365,177 ไร่  เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ารวมกันประมาณ  98 เปอร์เซ็นต์  เหลือพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนไม่ถึง  1 หมื่นไร่   ประชากรประมาณ 63,000 คน  ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปาเก่อญอ (ปกากะญอหรือกะเหรี่ยง)  ม้ง  คนเมือง  ลาหู่ (มูเซอ)และลัวะ  อาชีพหลัก  ปลูกข้าวไร่  ฟักทอง  ผักกาด  กะหล่ำปลี  กาแฟ  อะโวคาโด  ฯลฯ

นิรันดร์  บอกว่า  แม้ว่าสภาพพื้นที่ในอำเภออมก๋อยเกือบทั้งหมดจะเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า   แต่ด้วยวิถีชีวิตของชาวอมก๋อยที่อยู่เคียงคู่กับป่า  หากินกับป่า  ดูแลป่าและแม่น้ำมาช้านาน   โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ปาเก่อญอ   ทางราชการโดยกรมป่าไม้จึงผ่อนผันและสนับสนุนให้ชาวบ้านและชุมชนร่วมกันดูแลป่าในลักษณะของ ‘ป่าชุมชน’  ดังเช่น  ‘ป่าชุมชนยางเปียง’ ตำบลยางเปียง

ธนากร  หล้าเป็ง  ‘พ่อหลวง’  หรือกำนันตำบลยางเปียง  เสริมว่า  ตำบลยางเปียงมี 17 หมู่บ้าน  ประชากรประมาณ 9,900 คน  ส่วนใหญ่เป็นชาวปาเก่อญอ  นอกนั้นเป็นคนเมือง (ล้านนา) และม้ง  อาชีพหลักทำไร่ข้าว หรือปลูกข้าวหมุนเวียน  เพราะที่ราบมีน้อย  ปลูกฟักทอง  พริก  มะเขือ  ฯลฯ  เอาไว้กินในครัวเรือน  และเลี้ยงสัตว์  เช่น  วัว  ควาย  หมู  ไก่ 

พ่อหลวงธนากรบอกว่า  ชาวบ้านตำบลยางเปียงหลายหมู่บ้านช่วยกันดูแลป่ายางเปียงมาตลอด  เพราะเป็นป่าต้นน้ำที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชย์ในการทำเกษตร  และหาอยู่  หากินกับป่าและลำน้ำ  มีน้ำแม่ตื่น  แม่ต๋อม  แม่หาด  เป็นแม่น้ำสายหลัก  โดยเฉพาะชาวปาเก่อญอที่เป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่  จะมีพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับป่าและวิถีชีวิต  เช่น  มีการแบ่งพื้นที่เป็นป่าศักดิ์สิทธิ์  ป่าพิธีกรรม  มีพิธีบวชป่า มีข้อห้ามในการตัดไม้  มีประเพณีการเลี้ยงเจ้าที่  เจ้าป่าทุกปี  ฯลฯ

ในปี 2561  ชาวบ้านร่วมกันจดทะเบียน ‘ป่าชุมชนยางเปียง’ กับกรมป่าไม้  เนื้อที่ป่าชุมชนทั้งหมดประมาณ 28,000 ไร่  ถือว่าเป็นป่าชุมชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย   (ป่าชุมชนส่วนใหญ่มีขนาดไม่กี่ร้อยไร่) มีไม้มีค่าต่างๆ เช่น  เต็ง  รัง  ประดู่  มะค่า  สัก  ฯลฯ   มีการจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนขึ้นมาดูแล  มีคณะกรรมการ 20 คนมาจากทุกหมู่บ้าน  แต่ละหมู่บ้านจะต้องมีอาสาสมัครดูแลป่าชุมชนอย่างน้อย 20 คน

“ทุกเดือน  คณะกรรมการป่าชุมชนและอาสาสมัครทุกหมู่บ้านจะร่วมกันออกลาดตระเวนดูแลไม่ให้มีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า  ก่อนเข้าฤดูแล้งจะช่วยกันทำแนวกันไฟ  เพื่อป้องกันไฟป่า  และหากพื้นที่ไหนมีใบไม้แห้ง  มีเศษซากไม้สะสมอยู่เยอะ  จะเป็นเชื้อเพลิงทำให้ไฟไหม้ป่า  เราก็จะใช้วิธี ‘ชิงเผา’ ก่อน  เพื่อลดเชื้อเพลิงสะสม  แต่หากเกิดไฟป่าก็จะร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ช่วยกันดับไฟป่าเพื่อไม่ให้ลุกลาม  ทำให้อำเภออมก๋อยเกิดปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันน้อยมาก  ไม่ใช่คนอมก๋อยทำให้เกิดปัญหาไฟป่าอย่างที่คนอื่นเข้าใจ”  พ่อหลวงธนากรชี้แจง

พ่อหลวงบอกด้วยว่า  ในอดีตอำเภออมก๋อยมีชาวบ้านส่วนหนึ่งนิยมปลูกข้าวโพด (เลี้ยงสัตว์) เป็นอาชีพหลัก  แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาติดตามมา  เช่น  การเผาซากพืชไร่ข้าวโพด  ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควัน  บางครั้งไฟลามไปไหม้ป่า  เกิดปัญหาการใช้ยาฆ่าหญ้า  สารเคมีมีพิษ  ไหลลงสู่แหล่งน้ำใช้ของคนอมก๋อยทั้งอำเภอ 

ราวปี 2556 จึงมีการประชุมร่วมกับอำเภอ  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านในอำเภออมก๋อย  เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพด  ปลูกพืชเชิงเดี่ยว  จนในที่สุดตกลงกันได้  และกลายเป็นประชาคมร่วมกันว่า “คนอมก๋อยจะไม่ปลูกข้าวโพดอีกต่อไป”

“ตอนแรกชาวบ้าน  คนที่ปลูกข้าวโพดก็ไม่พอใจ  ถามว่า  ‘ถ้าไม่ปลูกข้าวโพดแล้วจะให้ทำอะไรกิน  จะเอาเงินจากที่ไหนมาให้ลูกเรียนหนังสือ ?’  แต่ผมก็ชี้แจงว่า ถ้าเราช่วยกันดูแลป่า  เราก็จะมีรายได้  มีอาหารจากป่า  มีเห็ดป่า และใช้ป่าเป็นที่เลี้ยงวัวควาย  มีรายได้จากการขายวัวควายทุกปี”  พ่อหลวงบอก

นอกจากนี้วัวควายที่เข้าไปกินหญ้าในป่าจะช่วยลดเชื้อเพลิงสะสม   เพราะฝูงวัวควายที่เข้าไปหากินในป่า  กินหญ้า  จะเดินย่ำพงหญ้า  จนกลายเป็นร่องเป็นแนวป้องกันไฟป่าตามธรรมชาติ  รวมทั้งวัวควายที่กินลูกไม้ในป่าเมื่อถ่ายมูลออกมาก็จะช่วยขยายพันธุ์ไม้ด้วย

เห็ดถอบ  หน้าตามอมแมม  แต่มีราคาแพง  รสชาติอร่อย

รางวัลจากผืนป่า ‘เห็ดถอบ’ สร้างรายได้ 15 ล้านบาท

ผลจากการช่วยกันดูแลรักษาป่าชุมชนและป่าโดยรอบ  ทำให้คนอมก๋อยมีอาหารจากป่าตลอดทั้งปี  เช่น  เดือนมกราคม-เมษายน จะมีผักหวานป่าให้เก็บกิน  เก็บขาย  ลูกผักหวานนำมาเพาะขาย  มะขามป้อมส่งขายให้ ‘ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาอมก๋อย  อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ เพื่อนำไปแปรรูป

เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม  เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน  จะมีเห็ดป่าต่างๆ  เช่น  เห็ดถอบ หรือเห็ดเผาะ  เห็ดตู  เห็ดแดง  เห็ดโคน  ฯลฯ  เกิดขึ้นในป่าชุมชนยางเปียงและป่าต่างๆ ในอำเภออมก๋อย

เดือนสิงหาคม-ตุลาคม  มีหน่อไม้  ผักป่าต่างๆ  จนถึงช่วงปลายปีจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าวไร่  และต้นปีในช่วงเดือนมกราคมจะเป็นช่วงฤดูกาลเฉลิมฉลอง  เป็นงานปีใหม่ของชาวปาเก่อญอ เรียกว่า ‘นี่ซอโค่’ เป็นงานรวมญาติพี่น้องที่แยกย้ายไปทำงาน  หรือแต่งงานมีครอบครัวอยู่ในที่ต่างๆ ก็จะกลับมาพบปะกันปีละ 1 ครั้ง

พ่อหลวงธนากร  กำนันตำบลยางเปียง  บอกว่า  เห็ดถอบเป็นเห็ดที่มีรสชาติอร่อย  ตลาดมีความต้องการสูง  ราคารับซื้อที่ยางเปียง  กิโลกรัมละ 250-300 บาท  เมื่อไปถึงตลาดเชียงใหม่ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลฯ ละ 400 บาท  ชาวบ้านในตำบลยางเปียงประมาณ 3 หมู่บ้าน  กว่า 500  ครอบครัวได้อาศัยป่าชุมชนเก็บเห็ดกินและขายมานานหลายปี

“เมื่อปี 2562 มีการสำรวจข้อมูลพบว่า  ช่วงที่เห็ดถอบออกประมาณเดือนพฤษภาฯ ถึงมิถุนาฯ ชาวบ้านในตำบลยางเปียงจะมีรายได้จากเห็ดถอบประมาณครอบครัวละ 3 หมื่นบาท  รวมทั้งหมด 500 ครอบครัว  จะมีรายได้จากเห็ดถอบในปีนั้นประมาณ 15 ล้านบาท”  พ่อหลวงบอก

เห็ดถอบมีลักษณะกลม  มีสีดำหรือน้ำตาลเข้ม  ขนาดตั้งแต่ปลายนิ้วก้อยจนถึงขนาดไข่ไก่ฟองย่อมๆ นำไปทำอาหารได้หลายอย่าง  เช่น  แกง  อ่อม  ต้มยำ  ลาบ  นึ่งใส่เกลือกินกับน้ำพริกข่า  แกงคั่วกะทิแบบภาคกลาง  ฯลฯ  เนื้อเห็ดจะมีความกรอบ

ลุงเขียว  จันทร์แก้ว  อยู่บ้านหลวง  ตำบลยางเปียง  บอกว่า  นอกจากเห็ดถอบแล้ว  ในป่าชุมชนยางเปียงและป่าที่อยู่รอบๆ จะมีเห็ดต่างๆ  ให้เก็บกิน  เก็บขาย  เช่น  เห็ดตูน้ำผึ้ง (สีเหมือนน้ำผึ้ง)  เห็ดหอม  เห็ดแดง  เห็ดโคน  ราคาแตกต่างกันไป  หากปีไหนเห็ดออกเยอะ  ราคาจะถูก  เฉลี่ยแล้ว 1 กิโลฯ  ราคาขายอย่างต่ำ 50 บาท-200 บาท  จะมีพ่อค้าทั้งในอำเภอและต่างถิ่นมาจอดรถรอซื้ออยู่ริมถนนติดทางเข้าป่าไปเก็บเห็ด  เรียกว่าตอนเช้ามีตะกร้าเข้าป่าใบเดียว  พอกลับออกมาก็ได้เงินร้อยเข้ากระเป๋าแล้ว

“บางคนจะออกเก็บเห็ดตั้งแต่เช้ามืด  ผมจะเก็บเห็ดช่วง 7-8 โมงเช้า  พอสายๆ สัก 9 โมงก็เลิก  บางวันเก็บได้นิดหน่อยพอเอาไปทำกับข้าว  ไม่ต้องเสียเงินซื้อ  บางวันได้ 4-5 โล  บางทีก็ได้ถึง 10 โล  ขายได้ 3-4 ร้อยบาท  ไม่ต้องเอาไปขายที่ไหน  เพราะจะมีพ่อค้ามารอรับซื้อทุกวัน”  ลุงเขียวบอกถึงรายได้พิเศษในช่วงฤดูเก็บเห็ด

เห็ดป่านานาชนิด  แม้จะมีราคาถูกกว่าเห็ดถอบ  แต่ก็ทำให้ชาวบ้านมีรายได้  มีอาหารที่ไม่ต้องซื้อหา

นอกจากรางวัลจากผืนป่าดังกล่าวแล้ว  พ่อหลวงธนากรบอกว่า  ผลจากการช่วยกันดูแลรักษาป่า  ไม่ส่งเสริมให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  เช่น  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้ว  ยังทำให้เกิดผลดีต่างๆ ต่อคนอมก๋อยอีกหลายอย่าง  เช่น  1.ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน  แต่ที่อำเภออมก๋อยอากาศเย็นสบาย  ไม่มีปัญหาฝุ่นควันจากการเผาซากพืชไร่  ไร่ข้าวโพด

2.แม้จะไม่ปลูกข้าวโพด  แต่คนอมก๋อยก็มีรายได้จากพืชอื่น  เช่น  กาแฟ  อะโวคาโด  มีรายได้จากการเลี้ยงวัวควายพื้นเมืองในป่าชุมชนเพื่อขายและเป็นทรัพย์สินของครอบครัว   ครอบครัวหนึ่งเลี้ยงไม่ต่ำกว่า 4-5 ตัว  บางรายมากกว่า 10 ตัว  ราคาวัวควายตัวหนึ่งไม่ต่ำกว่า 2-3 หมื่นบาท 

3.ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา  จนถึงปัจจุบัน  คนอมก๋อยได้รับผลกระทบน้อยมาก  เพราะส่วนใหญ่คนอมก๋อมจะทำเกษตรแบบพอเพียง  ปลูกข้าวไร่  ฟักทอง  พริก  มะเขือ  ฯลฯ หาเลี้ยงครอบครัวอยู่ที่บ้าน  ไม่ไปทำงานรับจ้างในเมือง  จึงไม่ถูกเลิกจ้าง  มีข้าวกิน  มีเห็ด  มีหน่อไม้  มีสมุนไพร  มีผักป่า  เลี้ยงไก่  หมู  หาปลาในแม่น้ำ   ฯลฯ  มีอาหารกินทั้งปี

ชาวลาหู่ (มูเซอ) ที่ตลาดริมทางหลวงกับพืชผักนานาชนิด  อะโวคาโดราคาเพียงกิโลฯ ละ 35 บาท

‘ยางเปียง’ ป่าชุมชนต้นแบบนำร่อง 15 แห่งทั่วประเทศ

ในปี 2566 นี้  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ร่วมกับภาคีเครือข่าย  8 องค์กร   คือ   กรมป่าไม้  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สสส.  มูลนิธิชุมชนไท  มูลนิธิสืบนาคะเสถียร  RECOFTC – Thailand   มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) ฯลฯ  จัดทำ โครงการขับเคลื่อนการจัดการป่าชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’  เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนบริหารและจัดการป่าชุมชนนำร่อง  จำนวน 15 แห่ง  ตาม ‘พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562’  (ดูรายละเอียด พ.ร.บ.ที่ https://www.forest.go.th/law/wp-content/uploads/sites/33/2019/06) และนโยบายของกรมป่าไม้ที่จะขยายพื้นที่ป่าชุมชนออกไปทั่วประเทศ  เพื่อให้ชุมชนช่วยกันดูแลและใช้ประโยชย์ได้  เพราะเจ้าหน้าที่มีกำลังคนและงบประมาณดูแลไม่ทั่วถึง

เดโช  ไชยทัพ  ประธานคณะทำงานสนับสนุนการขับเคลื่อนป่าชุมชนและฝายมีชีวิต  พอช. บอกว่า  ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา  มีการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ป่าต่างๆ ทั่วประเทศก่อนจะมี พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562  และหลังมี พ.ร.บ.แล้ว  จนถึงปัจจุบันประมาณ  12,000 แห่ง  เนื้อที่รวมประมาณ 6.6 ล้านไร่   และกรมป่าไม้มีเป้าหมายภายในปี 2570  จะเพิ่มจำนวนป่าชุมชนอีก 15,000 แห่ง  เนื้อที่รวมประมาณ 10 ล้านไร่ 

โครงการขับเคลื่อนการจัดการป่าชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ชุมชนที่มีความพร้อมและอยากจัดตั้งป่าชุมชน  รวมทั้งชุมชนที่มีการจัดตั้งป่าชุมชนแล้ว  จัดทำแผนจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิต  และใช้ประโยชน์จากป่าตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้  เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องจำนวน 15 แห่งภายในปีนี้  และจะนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป”  เดโชบอกถึงเป้าหมายของโครงการ

ทั้งนี้ป่าชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกนำร่องทั้ง 15 แห่งทั่วประเทศ  เช่น  ป่าชุมชนยางเปียง  อ.อมก๋อย  จ.เชียงใหม่โครงการพัฒนาป่าชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  จ.นครสวรรค์   โครงการพัฒนาศักยภาพและการมีส่วนร่วมของเครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดเลย   โครงการป่าชุมชนตำบลเสวียด  อ.ท่าฉาง  จ.สุราษฎร์ธานี  ฯลฯ

เครือข่ายป่าชุมชนนำร่อง 15 แห่ง  และการลงนามความร่วมมือขับเคลื่อนป่าชุมชนของ 8 หน่วยงานที่ พอช. เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

“คนอยู่ได้  ป่ายั่งยืน”

นิรันดร์  น้ำภูดิน  มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) ซึ่งทำงานด้านการส่งเสริมการจัดการไฟป่าและการดูแลป่าชุมชนในอำเภออมก๋อย  บอกว่า  ป่าชุมชนยางเปียงได้รับคัดเลือกให้เป็นป่านำร่อง 15 แห่งทั่วประเทศ  ชาวบ้านจึงได้จัดทำ โครงการเสริมสร้างศักยภาพคณะกรรมการและสมาชิกป่าชุมชนในการบริหารจัดการป่าชุมชนอย่างยั่งยืน ขึ้นมา 

โดยจะเริ่มโครงการตั้งแต่เดือนกันยายนนี้  จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567  จะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น  การฝึกอบรม   ประชุมสร้างความเข้าใจเรื่อง พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 การจัดทำแผนงานการอนุรักษ์ป่าชุมชน  การใช้ประโยชน์จากป่า  ฯลฯ

“ที่ผ่านมา  ชาวยางเปียงช่วยกันดูแลป่าชุมชนก่อนจะมี พ.ร.บ.ป่าชุมชนออกมา  แต่เมื่อก่อนยังมีข้อจำกัด  เช่น  หากคณะกรรมการป่าชุมชนพบเห็นคนลักลอบตัดไม้  หรือเผาป่า  คณะกรรมการจะไม่มีอำนาจไปจับ  และไม่สามารถสร้างฝายกักเก็บน้ำ  หรือจัดการเรื่องไฟในป่าชุมชนได้  แต่เมื่อมี พ.ร.บ.ออกมาแล้ว  จะช่วยให้คณะกรรมการป่าชุมชนบริหารจัดการป่าชุมชนได้หลายอย่าง  เพราะมีกฎหมายรองรับ” นิรันดร์บอก

เขาบอกว่า  ตามแผนงานการบริหารจัดการป่าชุมชนยางเปียงเบื้องต้น  จะมีการตั้งกฎระเบียบในการดูแลรักษาป่า  เพื่อป้องกันการแย่งชิงทรัพยากรในป่าชุมชน   เช่น  1.หากคนจากภายนอกเข้ามาเก็บเห็ดป่าจะต้องเสียค่าบำรุง  เก็บค่ารถมอเตอร์ไซค์  รถยนต์ที่นำเข้ามา  เพราะที่ผ่านมาคนจากภายนอกไม่ได้ช่วยดูแลป่า  เมื่อเก็บเห็ดแล้วก็กลับไป

2.สร้างฝายชะลอน้ำ  หรือสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ  เพื่อให้ป่าเกิดความชุ่มชื้น  ฤดูแล้งจะมีแหล่งน้ำให้วัวควายที่ปล่อยเลี้ยงในป่าได้กิน  3.ปลูกสมุนไพรที่กินได้  เช่น  ข่า  ตะไคร้  ขิง  4.ปลูกกาแฟแซมในป่า   นำมาแปรรูป  นำรายได้จากกาแฟมาเป็นค่าบริหารจัดการดูแลป่า  เช่น  ค่าน้ำมันในการลาดตระเวน  ค่าอาหาร  เครื่องดื่มของอาสาสมัครดูแลป่า  5.โครงการคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชน  เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน  นำรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตมาดูแลป่า  ฯลฯ

“ป่าชุมชนและ พ.ร.บ.ป่าชุมชนมีความสำคัญกับชาวบ้าน  และเมื่อมี พ.ร.บ.ป่าชุมชนออกมาแล้ว  ชาวบ้านก็ไม่ต้องทะเลาะกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้  เพราะเมื่อก่อนจะมีข้อห้ามทำโน่น  ทำนี่ตลอด  และเมื่อชาวบ้านช่วยกันดูแลป่า  ก็ควรจะมีสิทธิ์ใช้ประโยชน์จากป่า  ซึ่งชาวบ้านจะช่วยกันดูแลป่าได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่  เพราะเป็นแหล่งอาหาร  เป็นแหล่งเศรษฐกิจและรายได้ของชาวบ้าน  เมื่อชาวบ้านอยู่ได้  ป่าชุมชนก็จะยั่งยืน”  นิรันดร์บอกทิ้งท้าย

อบต.ยางเปียงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ชุมชน  และโรงเรียน จัดกิจกรรมอนุรักษ์ป่าในตำบลเมื่อเร็วๆ นี้ (ภาพจาก อบต.ยางเปียง)

******

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เชียงใหม่พร้อม รับสมัคร สว.พรุ่งนี้ พุ่งอันดับ 2 รองกรุงเทพฯ

ผอ.กกต.เชียงใหม่แจ้งสื่อทำงานปกติ เว้นสัมภาษณ์แนะนำตัวผู้สมัคร ขณะที่อำเภอต่างๆ ซักซ้อมขั้นตอนรองรับก่อนเปิดรับสมัคร สว.พรุ่งนี้

สวัสดิการชุมชนตำบลยายชา พัฒนาศูนย์เรียนรู้หลากหลาย ดูแลกันและกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน

ตำบลยายชา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ประกอบด้วย 6 หมู่บ้าน จำนวนประชากร 7,958 คน รวม 4,969 ครัวเรือน มีประชากรแฝงเข้ามาใช้แรงงานกว่า 3,000 คน

จากเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ล้านเปอร์เซ็นต์ ที่ตำบลเขาไม้แก้ว “ความเปลี่ยนแปลงจากเกษตรเคมีสู่แหล่งผลิตอาหารปลอดภัย”

สุนทร คมคาย เกษตรกรหนุ่มใหญ่วัยเกือบ 50 ปี คนในพื้นที่เรียกกันติดปาก “เกษตรแหลม” แกนนำกลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว เล่าให้ฟังว่า ผมเรียนจบปริญญาตรีด้านเกษตร สาขาไม้ผล

พอช. ร่วมขบวนชุมชน ถอดบทเรียนพื้นที่รูปธรรม “คนสร้างบ้าน พัฒนาชีวิตที่มั่นคง” Collective Housing : ให้คนเป็นแกนหลักในการพัฒนา พัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน

การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ประกอบกับการพัฒนาเศรษฐกิจการค้า ทำให้เมืองขยายตัว เกิดชุมชนแออัด ชุมชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีทั้งเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้าน

บ้านมั่นคงคนสุพรรณบุรี บ้านที่มากกว่าคำว่าบ้าน พัฒนาเมืองน่าอยู่ชุมชนเข้มแข็ง

สถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของจังหวัดสุพรรณบุรี ถ้ามาแล้วไม่ควรพลาด!!! นั่นก็คือ "ตลาดสามชุก" นับว่าเป็นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีของกินอร่อย