เช็กที่นี่!! รมว.แรงงาน 'พิพัฒน์' เปิดขั้นตอน-เอกสาร แรงงานไทยกลับจากอิสราเอล ยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยา 50,000 บาท ได้แล้วตั้งแต่ 18 ธ.ค.นี้ ที่กระทรวงแรงงานและสำนักงานแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ

วันที่ 17 ธันวาคม 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าตามที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการเยียวยากรณีการขาดรายได้ของแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศอิสราเอลตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งมีแรงงานไทยจะได้รับสิทธิ จำนวน 15,000 คน ๆ ละ 50,000 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 750 ล้านบาท เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดรายได้ในเบื้องต้นของแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล รวมทั้งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานถูกต้องตามกฎหมายได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างจริงจังนั้น

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ความคืบหน้าการดำเนินการภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการดังกล่าวแล้วนั้น ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ผมได้รับรายงานจากนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ว่าได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดเริ่มดำเนินการรับคำร้องได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคมนี้ โดยพี่น้องแรงงานที่กลับมาจากอิสราเอลสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยาได้ทั้งในส่วนกลางและภูมิลำเนา ในส่วนกลางยื่นได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล กระทรวงแรงงาน ณ กระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ และในส่วนภูมิภาคที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลกระทรวงแรงงาน จังหวัด ณ สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด ในวันและเวลาราชการ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 - กันยายน 2567 หรือจนกว่าจะดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาแล้วเสร็จ

ส่วนวิธีดำเนินการ ขั้นตอนการขอรับเงินและเอกสารประกอบการยื่นคำร้องนั้น

ขั้นตอนที่ 1 การยื่นคำร้อง ผู้ยื่นสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยา ณ สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดและกระทรวงแรงงาน โดยแยกตามกลุ่มเป้าหมายและเอกสารที่เกี่ยวข้องประกอบการยื่นคำร้อง ดังนี้

กลุ่มที่ 1 แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล และเดินทางกลับประเทศไทยหลังวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ซึ่งมีอยู่ 9,475 คน จะต้องยื่นคำร้องด้วยตนเอง โดยมีเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องสำหรับการยื่นขอรับเงินเยียวยา ดังนี้ 1) แบบคำร้องขอรับเงินเยียวยา กรณียื่นคำร้องด้วยตนเอง 2) บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงพร้อมสำเนา 3) หนังสือเดินทางพร้อมสำเนาหน้าที่มีรูปถ่าย และตราประทับเข้า – ออก ประเทศไทยหรือหนังสือเดินทางชั่วคราว (CI) พร้อมสำเนาหน้าที่มีรูปถ่าย และตราประทับเข้าประเทศไทย 4) แบบแจ้งข้อมูลการรับเงินโอนผ่านระบบ KTB Corporate Online 5) สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคาร ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องพร้อมถ่ายรูป ณ สถานที่ยื่น และคำร้องสำเนาเอกสารทุกฉบับให้ผู้ยื่นคำร้องรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมลงลายมือชื่อเรียบร้อยแล้ว

กลุ่มที่ 2 แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล จำนวน 39 ราย ผู้ยื่นคำร้อง คือ ทายาทผู้มีสิทธิตามกฎหมาย โดยมีเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องสำหรับการยื่นขอรับเงินเยียวยา ดังนี้ 1) แบบคำร้องขอรับเงินเยียวยา กรณีเสียชีวิต 2) สำเนาใบมรณบัตร 3) สำเนาทะเบียนบ้านผู้เสียชีวิต 4) หนังสือรับรองความสัมพันธ์ทางครอบครัว 5) หนังสือให้ความยินยอมเป็นทายาทโดยธรรม 6) สำเนาบัตรประชาชนทายาท 7) สำเนาทะเบียนสมรส (กรณีคู่สมรส) 8) สำเนาสูติบัตร (กรณีบุตร) 9) แบบแจ้งข้อมูลการรับเงินโอนผ่านระบบ KTB Corporate Online 10) สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคารทายาทผู้มีสิทธิ ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องพร้อมถ่ายรูป ณ สถานที่ยื่น และคำร้องสำเนาเอกสารทุกฉบับให้ผู้ยื่นคำร้องรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมลงลายมือชื่อเรียบร้อยแล้ว และผู้ยื่นคำร้องขอให้เป็นคนเดียวกันกับที่ยื่นคำร้องรับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิตจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ

กลุ่มที่ 3 กรณีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอลและเดินทางกลับประเทศไทยก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2566 โดยใช้วีซ่า Re-entry อายุไม่เกิน 90 วัน : ระหว่างวันที่ 9 กรกฎาคม - 6 ตุลาคม 2566 แต่ไม่สามารถเดินทางกลับไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลได้เนื่องจากกรมการจัดหางานชะลอการเดินทางด้วยเหตุภัยสงครามในประเทศอิสราเอล จำนวน 960 คน โดยมีเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องสำหรับการยื่นขอรับเงินเยียวยา ดังนี้ 1) แบบยื่นคำร้อง กรณี Re-entry Visa 2) บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงพร้อมสำเนา 3) หนังสือเดินทางพร้อมสำเนาหน้าที่มีรูปถ่าย และตราประทับเข้า - ออก ประเทศไทยไม่เกิน 90 วัน 4) Re-entry Visa อายุไม่เกิน 90 วัน) พร้อมสำเนา 5) แบบแจ้งข้อมูลการรับเงินโอนผ่านระบบ KTB Corporate Online และ 6) สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคาร ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องพร้อมถ่ายรูป ณ สถานที่ยื่น และคำร้องสำเนาเอกสารทุกฉบับให้ผู้ยื่นคำร้องรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมลงลายมือชื่อเรียบร้อยแล้ว

และกลุ่มที่ 4 สำหรับแรงงานไทยกลุ่มที่ยังไม่เดินทางกลับจากอิสราเอล และประสงค์ที่จะเดินทางกลับมาเพิ่มเติม รวมถึงแรงงานไทยที่ยังคงถูกจับเป็นตัวประกัน เมื่อเดินทางกลับมาแล้วก็สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยาในส่วนนี้ได้เช่นเดียวกัน

ขั้นตอนที่ 2 เจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานจังหวัด/กระทรวงแรงงาน ตรวจสอบเอกสารของผู้ยื่นคำร้องและพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นคำร้องตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยา

ขั้นตอนที่ 3 สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ รวบรวมเอกสารคำร้องจากสำนักงานแรงงานจังหวัด/กระทรวงแรงงาน

ขั้นตอนที่ 4 กองบริหารการคลังรับคำร้องจากสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ตรวจสอบความถูกต้อง เสนอปลัดกระทรวงแรงงานพิจารณาอนุมัติเบิกจ่าย กองบริหารการคลัง โอนเงินเข้าบัญชี ผู้มีสิทธิ/ทายาท ได้รับเงินเยียวยา

ทั้งนี้ สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน กระทรวงแรงงาน 1506 หรือศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล กระทรวงแรงงาน โทร. 02-2321462-3 หรือ 02-2321471 หรือสำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โลกเดือด !!! “พิพัฒน์” ห่วงใย “ผู้ใช้แรงงาน” แนะ 6 ข้อ ช่วงอากาศร้อนจัด 40-43 องศา

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงานวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล ประจำปี พ.ศ.2567 ภายใต้หัวข้อ

นายกฯ ร่วมผู้นำ 17 ประเทศ แถลงเรียกร้องปล่อยตัวประกันในกาซา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "วันนี้ ผมร่วมกับผู้นำ 17 ประเทศที่มีตัวประกันที่ยังอยู่ในกาซา ออกถ้อยแถลงร่วมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันทั้งหมด

ผู้ใช้แรงงานเฮ! 1 พ.ค.2567 วันแรงงาน "พิพัฒน์" ย้ำชัดประกาศแน่ ทำเร็วขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยืนยันถึงการประกาศบิ๊กเซอร์ไพรส์ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ว่า

"พิพัฒน์" เตรียมเปิดบิ๊กเซอร์ไพรส์ มอบของขวัญวันแรงงาน ค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท

วันที่ 22 เมษายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงงาน กล่าวถึงของขวัญสำหรับผู้ใช้แรงงาน ในวันแรงงาน 1 พ.ค.2567 นี้ว่า

‘นพดล’ ชี้ข่าวดีหาก ‘อิหร่าน’ ยุติโจมตี ‘อิสราเอล’ ห่วงคนไทยขอให้ฟังคำเตือนสถานทูต

กรรมาธิการห่วงใยชีวิตของคนไทยเกือบ 30,000 คนที่ทำงานในประเทศอิสราเอล และเข้าใจว่ามีแรงงานบางส่วนเริ่มเดินทางกลับไปทำงานเพราะต้องมีรายได้เลี้ยงครอบครัว