ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศร่วมประชุม ‘ระดับชาติ’ครั้งที่ 15ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาจากชุมชนท้องถิ่นทุกมิติถึงรัฐบาล

ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศเข้าร่วม ‘การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 15 มีผู้แทนหน่วยงานภาคีเข้าร่วม เช่น พลตำรวจโทเรวัช  กลิ่นเกษร (ยืนแถวหน้ากลาง) ผู้แทน ก.ร.ตร.

พอช./ ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศร่วมงาน ‘การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 15 ประจำปี 2566 ที่ พอช.  โดยร่วมระดมข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาจากชุมชนท้องถิ่นที่ชาวชุมชนประสบนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหา ครอบคลุมทุกมิติ  เช่น  รัฐธรรมนูญฉบับสภาองค์กรชุมชน  การกระจายอำนาจเพื่อเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง    การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ  นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต  การพัฒนา Soft Power ชุมชน  ฯลฯ  โดยจะมีการประชุมต่อในวันพรุงนี้ (21 ธันวาคม) ที่รัฐสภา  โดยมีนายวราวุธ  ศิลปอาชา  รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เดินทางมารับมอบข้อเสนอจากที่ประชุม

ระหว่างวันที่ 20-21 ธันวาคมนี้   สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศ  จัดงาน การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 15 ประจำปี 2566  โดยวันที่ 20 ธันวาคมจัดประชุมที่ พอช. และวันที่ 21 ธันวาคม  จัดที่รัฐสภา  มีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับจังหวัด  ผู้ทรงคุณวุฒิระดับจังหวัดจากสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมประมาณ 200 คน

การจัดประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นไปตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ที่กำหนดให้มีการจัดประชุมระดับชาติปีละ 1 ครั้ง  โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 15  มีเป้าหมายสำคัญเพื่อรวบรวมข้อเสนอและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ประชาชนทั่วประเทศประสบมานำเสนอในที่ประชุม  และรวบรวมสังเคราะห์  นำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป

ทั้งนี้นับตั้งแต่ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 ประกาศใช้  ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 15 ปี  มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล  เทศบาล  และเขต (ใน กทม.) ขึ้นมาทั่วประเทศ  รวม7,795 แห่ง  มีสมาชิกที่เป็นองค์กรชุมชนทั้งสิ้น 157,623 องค์กร !! (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ "15 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” บทบาทการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง...รูปธรรมที่ จ.สุราษฎร์ธานี (1) (thaipost.net)

การประชุมที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ถ.นวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ

เปิดประชุมระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 15

โดยในวันนี้ (20 ธันวาคม) ตั้งแต่เวลา 9.00  น. เป็นการจัด การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 15’ วันแรก  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  มีผู้แทนหน่วยงานภาคีต่างๆ  เช่น  สถาบันพระปกเกล้า  กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (..ตร.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ  สภาเกษตรกรแห่งชาติ  นายอนุศักดิ์  คงมาลัย  สมาชิกวุฒิสภา ฯลฯ  เข้าร่วมงานและกล่าวแสดงความเห็นในประเด็นต่างๆ

นายประยูร  จงไกรจักร์ ประธานที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล  กล่าวเปิดการประชุมว่า  สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นพื้นที่ที่ขับเคลื่อน สร้างโอกาส ปกป้องสิทธิชุมชน เชื่อมโยงองค์กรชุมชน เพื่อขับเคลื่อนสังคมสู่องค์กรหลักในการกำหนดแผนพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตร่วมกันของทุกพื้นที่  การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ     1.ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ภายใต้ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551  มาตรา 32  2.เป็นเวทีพัฒนาข้อเสนอสาธารณะร่วมกัน   หากมีเนื้อหาที่ต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีจะนำเนื้อหาเข้าสู่ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล   3.เสนอนโยบาย เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติของคณะรัฐมนตรี  และ 4.การจัดประชุมระดับชาติที่รัฐสภาเพื่อเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายการเมืองได้เห็นศักยภาพของสภาองค์กรชุมชน  เกิดกลไกความร่วมมือระหว่างภาคประชาชนกับรัฐบาล และเกิดการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผอ.พอช.

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวถึง แนวทางการสนับสนุนสภาองค์กรชุมชนกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน”  มีใจความสำคัญว่า  พอช. มีเป้าหมายหลักในการทำงาน คือการหนุนเสริมขบวนองค์กรชุมชน ให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น  โดย พอช. ดำเนินงานหลายด้าน  เช่น  เรื่องที่อยู่อาศัย องค์กรการเงิน  การสร้างสังคมสุจริต  การพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก  ป่าชุมชน  ฯลฯ  ซึ่งทุกเรื่องเป็นฐานรากสำคัญที่จะทำให้พี่น้องประชาชน  คนในครอบครัวเกิดความมั่นคง   หากครอบครัวมีความมั่นคง  อบอุ่น  จะช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน

“การทำงานของ พอช. เปรียบเหมือนร่างกายมนุษย์  มีหัวใจ 2 ดวง  หัวใจของบุคลากร 300 กว่าชีวิต  ขับเคลื่อนงานในพื้นที่ กทม. และต่างจังหวัด   หัวใจอีก 1 ดวง  คือ  พี่น้องขบวนองค์กรชุมชนและพี่น้องประชาสังคม  ในการสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานรัฐ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  สถาบันการศึกษา  ภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ เชื่อมโยง ทำให้เกิดการทำงานหลายมิติ”   นายกฤษดากล่าวถึงบทบาทการทำงานของ พอช.

ผอ.พอช. กล่าวต่อไปว่า  พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนเกิดขึ้นในปี 2551   ปีนี้เป็นปีที่ 15  สภาองค์กรชุมชนรับฟังคนอื่น และมุ่งสู่การทำงานเพื่อสังคมและชุมชน  กฎหมาย (พ.ร.บ.) ฉบับนี้เกิดขึ้นเพื่อรับรองสถานะขององค์กรชุมชน  สภาองค์กรชุมชนเป็นพื้นที่กลางในการสร้างความตระหนักในปัญหาร่วมกัน  ร่วมกันพัฒนากำหนดเรื่องราวต่าง ๆ  หากพี่น้องประชาชนเดือดร้อน  สภาฯ มีหน้าที่จะสะท้อนปัญหาของพี่น้อง ทั้งในระดับท้องถิ่นและประเทศ  และเสนอแนวทางไปยังรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน

ผอ.พอช. กล่าวถึงแนวทางการสนับสนุนสภาองค์กรชุมชนว่า  ปัจจุบันมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้วประมาณ 98 %  ของจำนวน อปท.ทั่วประเทศ   เหลืออีก 100 กว่าแห่งยังไม่ได้จัดตั้ง  ซึ่ง พอช.จะสนับสนุนการจัดตั้งให้ครบ  สภาฯ ที่จัดตั้งแล้วแห่งใดไม่เข้มแข็งจะไปช่วยพัฒนา  ส่วนที่เข้มแข็ง พอช.จะเชื่อมโยงงบประมาณจากภาคเอกชน ธุรกิจ หรือหน่วยงานอื่นๆ เช่น สสส. สช. กสศ. กองทุนพลังงาน รวมทั้ง BOI. ลงไปสนับสนุน 

นอกจากนี้ในปีนี้ พอช. จะสนับสนุนงบบริหารจังหวัดให้สภาฯ จังหวัดละ 100,000 บาท  โดยมีเงื่อนไขว่า จังหวัดที่ยังไม่ได้เป็นจังหวัดบูรณาการ จะสนับสนุนจังหวัดละ 30,000 บาท  หากเป็นจังหวัดบูรณาการจังหวัดละ 70,000 บาท   ส่วนเรื่อง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนฉบับนี้ใช้มา 15 ปีแล้ว  ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้สอดรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง  และต้องช่วยกันขับเคลื่อนเป้าหมายให้มีความชัดเจนมากขึ้น  โดย พอช.จะตั้งทีมงานชุดเล็กขึ้นมาเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน  เพื่อนำไปสู่เป้าหมายประเทศไทยมีรากฐานที่แข็งแรง หากชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง  ประเทศไทยจะไปรอด

“ชุมชนเข้มแข็ง  พื้นที่กลาง : จุดคานงัดประเทศไทย”

ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และประธานอนุกรรมการสนับสนุนสภาองค์กรชุมชน บรรยายพิเศษเรื่อง “สร้างชุมชนเข้มแข็งและกลไกพื้นที่กลางระดับจังหวัด : จุดคานงัดประเทศไทย”  มีเนื้อหาโดยสรุปว่า 

ปัญหารากฐานที่กระทบต่อการพัฒนาประเทศของสังคมไทย เพราะ 1. ปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างของสังคมไทย 2. ปัญหาความไม่ลงตัวของการจัดโครงสร้างสถาบันการเมือง 3. ปัญหาการรวมศูนย์ของระบบราชการไทยที่เรียกว่า “ระบบรัฐราชการรวมศูนย์” ในจังหวัดหนึ่งมีระบบราชการซ้อนอยู่ 5 ชั้น  (ราชการส่วนท้องถิ่น อบจ. เทศบาล อบต. ราชการส่วนกลางที่อยู่ในพื้นที่ กลุ่มจังหวัดบูรณาการ และภาค) ทำให้ระบบงบประมาณไม่สามารถบูรณาการกันได้  จึงเป็นปัญหาใหญ่มาก และ 4. การขาดสถาบันทางสังคมที่เข้มแข็งของภาคประชาสังคมที่จะต่อรองกับอำนาจรัฐได้ เช่น สหภาพแรงงานในประเทศไทยไม่มี เกษตรกรก็ไม่มีองค์กรที่จะต่อรองผลประโยชน์  ไม่มีพลังทางสังคมที่จะต่อรองเพื่อผลประโยชน์ให้กับประชาชน

พื้นที่กลางระดับจังหวัด  เป็นการจัดการตนเองของชุมชนเข้มแข็งที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่ต่าง ๆ มีมากมายหลายพื้นที่ที่กระจายอยู่  มีการจัดการด้านการเงิน ด้านแผนชุมชน ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นจุดแข็งของพี่น้องชุมชนที่ดำเนินการมายาวนาน แต่เรายังไม่มีการนำสิ่งต่างๆ เหล่านี้มาวิเคราะห์  สังเคราะห์  เพื่อให้เห็นภาพความเข้มแข็งมากนัก  ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเข้มแข็ง คือ 1.กลไกหลักในการจัดการตนเองของชุมชนและท้องถิ่น  2.หลักการที่ใช้ในการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น  3.กระบวนการที่ใช้ในการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น  4.เครื่องมือที่ใช้ในการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น  และ 5.เป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่จะเกิดจากการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น

ศ.ดร.บรรเจิด  สิงคะเนติ

ศ.ดร.บรรเจิด ยกตัวอย่างชุมชนเข้มแข็งที่บูรณาการในระดับจังหวัด  กรณีจังหวัดพังงาที่ได้ผลักดันขับเคลื่อนแนวคิดเรื่อง “พังงาแห่งความสุข”  โดยมีพื้นฐานแห่งความสำเร็จ คือ 1.การปรับกระบวนความคิดใหม่  การปรับเปลี่ยนกระบวนคิดและกระบวนการทำงานใหม่  ถือว่าเป็นประเด็นที่สำคัญ  กระบวนการทำงานที่ต้องไปสัมพันธ์กับหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน  2.การสร้างความเข้าใจกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม  และกระบวนการขับเคลื่อนระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม 3.การขับเคลื่อนทางสังคมมีการเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะ 3 ด้าน คือ    ก. การสร้างกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนสังคม  ข. การคิดและวางแผนการเงินแบบผู้ประกอบการสังคม และ ค. การจัดการและการพัฒนาทีมในช่วงเปลี่ยนผ่าน

ศ.ดร.บรรเจิดอธิบายว่า  การทำให้ชุมชนเข้มแข็งและการสร้าง “พื้นที่กลาง” ในระดับจังหวัดจะเป็นจุดคานงัดประเทศไทย เพราะจะทำให้ 1.ลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างของสังคมไทย   การที่จังหวัดหนึ่งมีพื้นที่กลาง  มีแผนพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ เช่น ONE PLAN ที่เชื่อมโยงและเป็นแผนที่มีคุณภาพ  จะทำให้ระบบงบประมาณที่ให้การช่วยเหลือประชาชนลงสู่ประชาชน  นั่นคือ  “ภาคประชาชนมีส่วนกำหนดแผน งบประมาณการพัฒนา    มีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง”

2.ลดการรวมศูนย์ของระบบรัฐราชการรวมศูนย์ของการบริหารราชการของไทย เพราะที่ผ่านมาภาครัฐมีตัวชี้วัดที่แข็งตัว แต่ในขณะที่ภาคประชาชนเป็นผู้ขับเคลื่อน เป็นผู้มาร่วมแก้ไขปัญหาของตนเอง ประชาชนที่จะทำให้เกิดการบูรณาการ เพราะเอาปัญหาของพี่น้องเป็นตัวตั้ง จะช่วยการกระจายการบริหารงบประมาณ โดยกลไกภาคประชาชน

3.ก่อให้เกิดสถาบันทางสังคมของภาคประชาชนที่มีความเข้มแข็ง  และ  4. สิ่งที่ดำเนินการนั้นเป็นสังคมไทย  มีประชาธิปไตยฐานรากที่เข้มแข็งส่งผลต่อคุณภาพของประชาธิปไตยโดยรวม   ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทาย  เป็นจุดคานงัดประเทศไทย  และจะบรรลุผลได้แน่นอน

ศ.ดร.บรรเจิดกล่าวในตอนท้ายว่า  การสร้างชุมชนเข้มแข็งและการสร้างพื้นที่กลางในระดับจังหวัดจะมีบทบาทสำคัญที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างของสังคมไทย  ซึ่งตนมองว่า  เมื่อขึ้นปี 2567 จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้เลย จะเห็นภาพดาวดวงเดียวกัน  เกิดการขับเคลื่อนในพื้นที่ปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ  โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างราชการส่วนกลาง  ภูมิภาค  ท้องถิ่น  และชุมชน

เสียงจากผู้แทนสภาฯ ทั่วประเทศสู่นโยบายสาธารณะ

ในช่วงบ่ายมีการนำเสนอ ข้อเสนอนโยบายสาธารณะ โดยนำข้อเสนอของสภาองค์กรชุมชนตำบลจากทั้ง 5 ภูมิภาคที่ได้มาจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากสภาองค์กรชุมชนตำบลทั้ง 7,795 แห่ง (มีสมาชิกที่เป็นองค์กรชุมชนทั้งสิ้น 157,623 องค์กร) โดยผ่านกระบวนการพิจารณา กลั่นกรอง และประมวลเป็นข้อเสนอร่วมกัน  จนสรุปเป็นข้อเสนอนโยบายสาธารณะในประเด็นต่างๆ  โดยให้ผู้เข้าร่วมประชุมร่วมกันเพิ่มเติมความคิดเห็นก่อนจะนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาล  เช่น 

รัฐธรรมนูญฉบับสภาองค์กรชุมชน  เสนอให้มีคณะทำงานเพื่อจัดกรอบในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับสภาองค์กรชุมชนขอให้รัฐสนับสนุนการจัดกระบวนการรับฟังความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับสภาองค์กรชุมชน  ทั้งในระดับอำเภอและจังหวัด  และการปรับปรุงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่ได้

การกระจายอำนาจเพื่อเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง   โดยเสนอให้สภาองค์กรชุมชนเข้าไปเป็นองค์ประกอบหนึ่งในคณะกรรมการระดับนโยบายในการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจ   ขอให้มีการเตรียมความพร้อมประชาชนเพื่อรองรับการกระจายอำนาจ   ให้ผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ที่มีความพร้อม  เป็นต้น

ข้อเสนอด้านกฎหมายระเบียบการเงินการคลัง   เสนอให้จัดตั้งคณะทำงานศึกษาระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงแก้ไขระเบียบว่าด้วยการเงินการคลังให้สามารถสนับสนุนงบประมาณแก่สภาองค์กรชุมชน   องค์กรชุมชน  และภาคประชาสังคมได้    ให้มีคณะทำงานติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

“ดังนั้น  การปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจที่สำคัญที่สุดคือ การอาศัยประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือมาเป็นเครื่องมือเพื่อการมีส่วนร่วมของชุมชน  และให้ชุมชนมีบทบาทในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของตนเองได้  โดยมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบผลักดันให้มี ‘ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง พ.ศ. ....’  เพื่อชุมชนและจังหวัดต่าง ๆ จะใช้เป็นเครื่องมือหรือแนวทางในการผลักดันให้เกิด ‘พื้นที่กลาง’ ในแต่ละพื้นที่ต่อไป”  ศ.ดร.บรรเจิดกล่าว

การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ  เพื่อให้เกิดพลังภาคประชาชนที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างยั่งยืน  ส่งเสริมสนับสนุนแผนและงบประมาณต่อการสร้างสังคมสุจริตอย่างต่อเนื่องให้ครอบคลุมทุกพื้นที่  มีข้อเสนอต่อรัฐสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อขอให้สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารสาธารณะ  เสนอให้รัฐบาลและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์       มีกลไกกลาง  มีบทบาทเชื่อมโยงบูรณาการหน่วยงานภาครัฐทั้งเชิงนโยบายและการปฏิบัติการพื้นที่  ขอให้หน่วยงานในจังหวัดเอื้ออำนวยสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างสังคมสุจริตและต่อต้านการทุจริต  ผลักดันแผนงานสร้างสังคมสุจริตสู่แผนพัฒนาจังหวัด  หรือแผนของ อบจ.  และเสนอต่อสถาบันพระปกเกล้าเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้นำขบวนองค์กรชุมชนภาคประชาสังคมที่ทำหน้าที่เป็น ก.บ.จ.ก.บ.ก.ให้มีความรู้และทักษะด้านการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด

ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ นโยบายแจกเงินดิจิตอลวอลเลทให้กับประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท  ประมาณ 56 ล้านคน เป็นเงิน 560,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากวิกฤต  จากความเห็นของหลาย ๆ ฝ่าย นักวิชาการ นักการธนาคาร ฯลฯ เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศ แม้จะซบเซาจากวิกฤตโควิด-19 แต่กำลังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จึงไม่จำเป็นต้องนำเงินจำนวนมากมากระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นการสร้างหนี้สินให้กับประเทศ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายการเงิน การคลัง เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยง

การแก้ปัญหาดังกล่าว ควรจะมีทางออกที่ดีกว่าการนำเงินไปแจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนให้มีการแก้ปัญหาโดยภาคชุมชน ซึ่งในอดีตมีตัวอย่างความสำเร็จหลายโครงการ เช่น โครงการมิยาซาวา ซิฟเมนู 5 เป็นต้น  ดังนั้นจึงมีข้อเสนอดังนี้ 1.หากจะมีนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตควรมีการลดขนาดลง โดยให้เฉพาะกับผู้ที่ลงทะเบียนความยากจนจำนวน 14 ล้านคน  2. สนับสนุนให้มีการแก้ปัญหาระบบเศรษฐกิจฐานรากและคุณภาพชีวิต โดยชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ  สนับสนุนให้เกิดกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ-คุณภาพชีวิตระดับตำบล  กองทุนละ 20 ล้านบาทผ่านสภาองค์กรชุมชนตำบล และให้สภาองค์กรชุมชนตำบลตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนขึ้นมา โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 23 พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551

การพัฒนา Soft Power ชุมชน  เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนสภาองค์กรชุมชนตำบลที่มีการขับเคลื่อน Soft power ให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถสร้างรายได้ให้คนในชุมชนได้มากขึ้น อย่างน้อย 100,000 ชุมชน    เช่น  เรื่องการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน  การฟื้นฟูศิลปะ  วัฒนธรรม   ภูมิปัญญา   สุมนไพรพื้นบ้าน  เศรษฐกิจ  สินค้าชุมชน  เป็นต้น  และให้มีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาตามนโยบาย Soft Power โดยวางเป้าหมายการพัฒนาระยะเวลา 3 ปี

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอในประเด็นต่างๆ  เช่น  การฟื้นสภาพัฒนาการเมือง  การแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่อยู่อาศัย  การปกป้องและการจัดการทรัพยากรเพื่อความมั่นคงทางอาหาร  ด้านสวัสดิการชุมชน  การเสริมสร้างสวัสดิการสังคมและรัฐสวัสดิการ  หรือสวัสดิการถ้วนหน้า

ด้าน BCG Model กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิทธิชุมชน  การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน  ฯลฯ

รวมทั้งที่ประชุมได้สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ประสบและข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไข เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 มาตรา 32 (3)  ดังนี้    

1.การพัฒนาเชิงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และการแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก  โดยเสนอให้ยกเลิกผังเมือง EEC  และกลับไปใช้ผังเมืองรวมและผังเมืองย่อยจังหวัดของแต่ละจังหวัด ส่วนปัญหาด้านช้างป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ  เสนอให้มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปร่วมเป็นหนึ่งในกลไกการแก้ไขปัญหาช้างป่าพื้นที่ป่ารอยต่อ และให้ทบทวน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

2.การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอให้กำหนดกระบวนการสันติภาพ มีกฎหมายรับรองและเป็นวาระแห่งชาติ

3.ปัญหาประชาชนยังไม่ได้รับเงินเวนคืนส่วนที่เหลือจากโครงการขยายทางหลวงชนบทสายเชื่อมระหว่างทางหลวงสายมุกดาหาร 3019 กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212  จากหน่วยงานรัฐในจังหวัดมุกดาหาร โดยเสนอให้กระทรวงคมนาคมต้องทบทวนมาตรการชดเชย เยียวยาอย่างเร่งด่วนให้ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายทางหลวงชนบทดังกล่าว…

ทั้งนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง เพื่อรวบรวมนำไปเสนอต่อในการประชุมวันพรุ่งนี้ (21 ธันวาคม) โดยจะมีการจัดประชุมที่รัฐสภา  ที่ห้องประชุมสัมมนา  อาคารสัปปายะสภาสถาน ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ  โดยมีนายวราวุธ  ศิลปอาชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ในฐานะรัฐมนตรีรักษาการ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 เดินทางมารับมอบข้อเสนอเชิงนโยบายจากที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 15

(ผู้ที่สนใจสามารถรับชมการถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในวันที่ 21 ธันวาคม 2566 นี้  ตั้งแต่เวลา 9.00 น.เป็นต้นไป)                                

***************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พอช. ร่วม 3 พื้นที่รูปธรรมภาคอีสาน ถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยสำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร ร่วมกับสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ถอดบทเรียน 3 พื้นที่รูปธรรม

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ

มอบรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น 10 ประเภท ตามแนวคิดสวัสดิการสังคมของ ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

ธนาคารแห่งประเทศไทย / แบงก์ชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2567’ มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME และ 10

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (10) กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด จ.พระนครศรีอยุธยา “ย้อนรอยวิถีน้ำ คืนชีพเรือเก่า เล่าขานตำนานท้องถิ่น”

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล