ปิดประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 15 ปี 2566 ระดมข้อเสนอแนวทางจากชุมชนทั่วประเทศให้รัฐ-หน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ไข เสนอหนุน Soft Power 1 แสนชุมชน-ปรับ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เป็นกองทุนให้เกิดความยั่งยืน

ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลมอบข้อเสนอเชิงนโยบายที่ระดมมาจากสภาฯ ทั่วประเทศให้แก่นายกันตพงศ์  รองปลัดกระทรวง พม.(ที่ 9 จากซ้าย)       ที่เดินทางมาเป็นผู้แทนรัฐมนตรี

พอช. / การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 15’ ปี 2566  วันนี้เป็นการประชุมวันสุดท้าย  ผู้แทนสภาฯ ทั่วประเทศระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาเกือบ 20 ประเด็น เช่น เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนสภาองค์กรชุมชนขับเคลื่อน ‘Soft Power’ ให้เกิดความเข้มแข็งอย่างน้อย 100,000 ชุมชน  ทั้งด้านการท่องเที่ยว  ศิลปะ  วัฒนธรรม  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  สินค้าชุมชน  ฯลฯ  เสนอให้ปรับนโยบาย ดิจิทัลวอลเล็ตแจกเงินหัวละ 1 หมื่นบาทให้เป็นกองทุนระดับตำบล  กองทุนละ 20 ล้านบาท  โดยให้สภาองค์กรชุมชนตำบลกว่า 7 พันกองทุนทั่วประเทศบริหารให้เกิดความยั่งยืน

ระหว่างวันที่ 20-21 ธันวาคมนี้   สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศ  จัดงาน การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 15 ประจำปี 2566  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ

การจัดประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นไปตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ที่กำหนดให้มีการจัดประชุมระดับชาติปีละ 1 ครั้ง  โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 15  มีเป้าหมายสำคัญเพื่อรวบรวมข้อเสนอและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ประชาชนทั่วประเทศประสบมานำเสนอในที่ประชุม  และรวบรวมสังเคราะห์  นำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป

โดยในวันนี้ (21 ธันวาคม) ตั้งแต่เวลา 9.00-15.00  น.  เป็นการประชุมวันสุดท้าย  เพื่อรวบรวมข้อเสนอเชิงนโยบายจากการประชุมมอบให้แก่ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  โดยมีนายกันตพงศ์  รังษีสว่าง  รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เดินทางมารับมอบข้อเสนอ  มีนายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ให้การต้อนรับ  มีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลและผู้ทรงคุณวุฒิระดับจังหวัดจากสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมประมาณ 200 คน  ในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมได้คัดเลือกให้นางสาววิภาศศิ  ช้างทอง  ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นประธานในที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลปี 2566

ทั้งนี้นับตั้งแต่ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 ประกาศใช้  ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 15 ปี  มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล  เทศบาล  และเขต (ใน กทม.) ขึ้นมาทั่วประเทศ  รวม7,795 แห่ง  มีสมาชิกที่เป็นองค์กรชุมชนทั้งสิ้น 157,623 องค์กร !! (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ "15 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” บทบาทการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง...รูปธรรมที่ จ.สุราษฎร์ธานี (1) (thaipost.net)

การประชุมวันนี้ (21 ธันวาคม)

ข้อเสนอจากชุมชนท้องถิ่นถึง พอช.

นางสาววิภาศศิ  ช้างทอง  ประธานในที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลปี 2566  กล่าวว่า  ตาม มาตรา 32 (1) กำหนดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งและพัฒนาสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบลให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้เพื่อเสนอให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ  โดยที่ประชุมมีข้อเสนอดังนี้

ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. จัดตั้งคณะทำงานสนับสนุนสภาองค์กรชุมชนระดับกลุ่มจังหวัด สนับสนุนการพัฒนาจังหวัดบูรณาการให้ครบทุกจังหวัดในระยะเวลา 5 ปี พัฒนาสภาองค์กรชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งเพื่อให้สภาองค์ชุมชนเป็นกลไกเชิงสถาบัน  มีบทบาทในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย   ‘โครงการบ้านพอเพียงชนบท’ ที่สนับสนุนโดย พอช. โดยเสนอขอให้เพิ่มค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซม เพิ่มค่าแรงช่างในการซ่อมแซมไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

เสนอให้มีนโยบายสนับสนุน ‘กองทุนภัยพิบัติของภาคประชาชน’  ส่งเสริมให้มีกองทุนภัยพิบัติภาคประชาชนระดับจังหวัด โดยให้ขบวนองค์กรชุมชนบริหารจัดการร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง

บรรยากาศในห้องประชุม

ข้อเสนอถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ข้อเสนอตามมาตรา 32 (2)  ที่ประชุมได้นำเสนอเพื่อให้รัฐบาลและฝ่ายบริหารได้นำไปพิจารณาดำเนินการ ในการกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐ  โดยมีกลไกหรือโครงสร้างที่มีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและสภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นกลไกในการติดตามและผลักดันให้เกิดผลในการแก้ไขดำเนินการ สรุปข้อเสนอได้ดังนี้

.ข้อเสนอประเด็นการพัฒนา Soft Power ชุมชน เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนสภาองค์กรชุมชนที่มีรูปธรรมการเคลื่อนงานด้าน Soft Power ให้เกิดความเข้มแข็ง อย่างน้อย 100,000 ชุมชน  ทั้งในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาเศรษฐกิจ การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน การฟื้นฟูศิลปะ  วัฒนธรรม ภูมิปัญญา เป็นต้น และให้มีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาตามนโยบาย Soft Power

2.การกระจายอำนาจเพื่อเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง โดยเสนอให้สภาองค์กรชุมชน เข้าไปเป็นองค์ประกอบหนึ่งในคณะกรรมการระดับนโยบายในการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจ ขอให้มีการเตรียมความพร้อมประชาชนเพื่อรองรับการกระจายอำนาจ ให้ผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ที่พร้อม เป็นต้น

3.ข้อเสนอด้านกฎหมายระเบียบการเงินการคลัง เสนอให้จัดตั้งคณะทำงานศึกษาระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงแก้ไขระเบียบว่าด้วยการเงินการคลังให้สามารถสนับสนุนงบประมาณแก่สภาองค์กรชุมชน องค์กรชุมชนและภาคประชาสังคมได้ มีคณะทำงานติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

4.รัฐธรรมนูญฉบับสภาองค์กรชุมชน เสนอให้มีคณะทำงานเพื่อจัดกรอบในการยกร่างรัฐธรรมฉบับสภาองค์กรชุมชน ขอให้รัฐสนับสนุนการจัดกระบวนการรับฟังความเห็นต่อร่างรัฐธรรมมนูญฉบับสภาองค์กรชุมชน ทั้งในระดับอำเภอ และจังหวัด และการปรับปรุงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่ได้

5.การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อให้เกิดพลังภาคประชาชน ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างยั่งยืน ส่งเสริมสนับสนุนแผนและงบประมาณต่อการสร้างสังคมสุจริตอย่างต่อเนื่องให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ มีข้อเสนอต่อรัฐสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อขอให้สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารสาธารณะ เสนอให้รัฐบาลและกระทรวง พม. มีกลไกกลางมีบทบาทเชื่อมโยงบูรณาการหน่วยงานภาครัฐทั้งเชิงนโยบายและการปฏิบัติการพื้นที่ ขอให้หน่วยงานในจังหวัดเอื้ออำนวย สนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างสังคมสุจริตและต่อต้านการทุจริต ผลักดันแผนงานสร้างสังคมสุจริตสู่แผนพัฒนาจังหวัดหรือแผนของ  อบจ. และเสนอต่อสถาบันพระปกเกล้าเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้นำขบวนองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมที่ทำหน้าที่เป็น ก.บ.จ. ก.บ.ก. ให้มีความรู้และทักษะด้านการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด

6.ด้านที่ดินที่อยู่อาศัย เสนอให้เร่งปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และแนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้สอดคล้องกับแนวทางส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เสนอให้ชุมชนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตในที่อยู่อาศัยในที่ดินที่ทับซ้อนกับรัฐได้  และขอให้เร่งปรับปรุงระเบียบเกี่ยวกับระบบการจัดการที่ดินในป่าอนุรักษ์ เอื้อให้ชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่น สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ เร่งถ่ายโอนภารกิจการจัดการไฟป่าให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ สั่งการให้ทุกหน่วยงานหยุดการไล่รื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนเพื่อดำเนินการโครงการขนาดใหญ่

7.การปกป้องและการจัดการทรัพยากรเพื่อความมั่นคงทางอาหาร เพื่อให้เกิดกองทุนและแผนงานด้านเกษตรปลอดภัย ขอให้รัฐออกกฎหมายห้ามจำหน่ายและห้ามนำเข้าสารพิษเกี่ยวกับการเกษตร ออกกฎหมายกำหนดให้มีแนวกันชนเพื่อป้องกันพื้นที่เกษตรอินทรีย์ สนับสนุนงบประมาณเป็นกองทุนกลางในการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ สร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ พัฒนาระบบข้อมูลเกษตรอินทรีย์ และขอให้มีคณะกรรมการออกแบบและติดตามอาหารปลอดภัยในระดับตำบล

8.ด้านสวัสดิการชุมชน การเสริมสร้างสวัสดิการสังคม และรัฐสวัสดิการหรือสวัสดิการถ้วนหน้า เสนอให้กำหนดนโยบายและการจัดสรรงบประมาณการพัฒนาสวัสดิการถ้วนหน้าในทุกด้านอย่างน้อย 8 ด้าน มีการพัฒนาสวัสดิการถ้วนหน้ารองรับสังคมสูงวัยและหญิงตั้งครรภ์ สนับสนุนโครงการเพื่อสร้างระบบสวัสดิการระดับชุมชน พัฒนาปรับปรุงระบบสวัสดิการเดิมให้เกิดประสิทธิภาพเข้าถึงกลุ่มเปราะบาง ปรับปรุงระบบการกระจายรายได้  กระจายโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรด้วยการปฏิรูปโครงสร้างภาษี  โดยเฉพาะภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ภาษีมรดก ภาษีหุ้น เป็นต้น

9.ด้าน BCG Model กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิทธิชุมชน โดยเสนอให้กำหนดนโยบายส่งเสริมและพัฒนาระบบกองทุนไม้เศรษฐกิจในพื้นที่เกษตร การอนุรักษ์พันธุกรรมพื้นบ้านควบคู่กับการสร้างพื้นที่สีเขียวในพื้นที่เกษตร สนับสนุนการพัฒนาระบบแหล่งน้ำขนาดเล็ก สนับสนุนบทบาทเยาวชนในท้องถิ่นในการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG สร้างพื้นที่รูปธรรมตัวอย่างเศรษฐกิจ BCG 1 อำเภอ 1 ตำบล

10.การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เสนอให้มีคณะทำงานศึกษาผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติน้ำ พ.ศ. 2561 การทบทวนโครงสร้างการทำงานด้านการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และเครือข่ายลุ่มน้ำ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการแบบบูรณาการโดยเสนอให้มีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการน้ำให้ชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียม

11.ข้อเสนอเชิงนโยบายจาก 5 ภูมิภาค  (1) ภาคกรุงเทพฯปริมณฑลและตะวันออก มีข้อเสนอด้านการจัดการภัยพิบัติ การรับมือโรคอุบัติใหม่ การพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองและชนบท   (2) ภาคกลางและตะวันตก มีข้อเสนอด้านการจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืน การแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนระหว่างรัฐกับราษฎรและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม การสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจฐานรากและส่งเสริมสวัสดิการชุมชน

(3) ภาคเหนือ มีข้อเสนอแผนการบริหารจัดการพื้นที่กับการใช้ประโยชน์ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ป่า ผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย  (4) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีข้อเสนอด้านการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ (โขง ชี มูล) การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเพื่อรับมือกับปัญหาอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

(5) ภาคใต้ มีข้อเสนอด้านการทำการประมงอย่างยั่งยืน เสนอให้มีการศึกษาสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ขอให้ชะลอกระบวนการดำเนินงานในโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง  และศึกษาใหม่ในระดับยุทธศาสตร์ การสัมปทานเหมืองแร่และแผนแม่บทแร่

โครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง 

ข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี : พื้นที่เศรษฐกิจ EEC-ปัญหาชายแดนใต้

นอกจากนี้  ในการประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล  มาตรา 32 (3) กำหนดให้ที่ประชุม “สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ประสบและข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ”  โดยที่ประชุมได้สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ประสบ ได้ดังนี้

1,การพัฒนาเชิงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC และการแก้ไขปัญช้างป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก โดยเสนอให้ยกเลิกผังเมือง EEC และกลับไปใช้ผังเมืองรวมและผังเมืองย่อยจังหวัดของแต่ละจังหวัด ส่วนปัญหาด้านช้างป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก  เสนอให้มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปร่วมเป็นหนึ่งในกลไกการแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ และให้ทบทวน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

2.การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอให้กำหนดกระบวนการสันติภาพมีกฎหมายรับรองและเป็นวาระแห่งชาติ

3.ปัญหาประชาชนยังไม่ได้รับเงินค่าเวนคืนส่วนที่เหลือจากหน่วยงานของรัฐในจังหวัดมุกดาหาร โดยเสนอให้กระทรวงคมนาคมต้องทบทวนมาตรการชดเชย เยียวยาอย่างเร่งด่วนให้ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายทางหลวงชนบทสายเชื่อมระหว่างสายมุกดาหาร 3019 กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212

ข้อเสนอให้แก้ไขปัญหาชายแดนใต้ (ภาพจาก OK Nation)

เสนอปรับ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เป็นกองทุนระดับตำบล

นอกจากข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในประเด็นต่างๆ แล้ว  ที่ประชุมยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ของรัฐบาล  ซึ่งมีนโยบายแจกเงินให้แก่ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท  ประมาณ 56 ล้านคน เป็นเงิน 560,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากวิกฤต  จากความเห็นของหลาย ๆ ฝ่าย นักวิชาการ นักการธนาคาร ฯลฯ เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศ แม้จะซบเซาจากวิกฤตโควิด-19 แต่กำลังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จึงไม่จำเป็นต้องนำเงินจำนวนมากมากระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นการสร้างหนี้สินให้กับประเทศ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายการเงิน การคลัง เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยง

นายสุวัฒน์  คงแป้น  นายกสมาคมสภาองค์กรชุมชนจังหวัดพัทลุง  ผู้เสนอให้ปรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต  กล่าวว่า  การแก้ปัญหาดังกล่าว ควรจะมีทางออกที่ดีกว่าการนำเงินไปแจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนให้มีการแก้ปัญหาโดยภาคชุมชน ซึ่งในอดีตมีตัวอย่างความสำเร็จหลายโครงการ เช่น   โครงการมิยาซาวา ซิฟเมนู 5 เป็นต้น 

เขายกตัวอย่างว่า  หลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 รัฐบาลในขณะนั้น  ได้นำเงินกู้มิยาซ่าวาจากต่างประเทศประมาณ 80,000 ล้านบาทมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ  โดยแจกจ่ายไปยังหน่วยงานต่างๆ  ขณะนั้น ‘สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง’ หรือ  ‘พมช.’ (หน่วยงานสังกัดการเคหะแห่งชาติ ก่อนจะเป็น พอช.) ได้รับงบประมาณมาจำนวน 250 ล้านบาท  ไม่ได้นำไปใช้จ่ายแบบสะเปะสะปะ  แต่นำไปให้ชุมชนแออัดเพื่อใช้เป็นกองทุนหมุนเวียน  เช่น  นำไปให้สมาชิกกู้ยืม  หมุนเวียน  ประกอบอาชีพ  คิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 25 สตางค์  ทำให้เงินถึงมือชาวบ้าน  ไม่ใช่แจกแล้วหมดไป  ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลากว่า 20 ปี  เงินกองทุนเหล่านี้ยังหมุนเวียนอยู่ในชุมชน

ดังนั้นจึงมีข้อเสนอดังนี้ 1.หากจะมีนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตควรมีการลดขนาดลง โดยให้เฉพาะกับผู้ที่ลงทะเบียนความยากจนจำนวน 14 ล้านคน  2. สนับสนุนให้มีการแก้ปัญหาระบบเศรษฐกิจฐานรากและคุณภาพชีวิต โดยให้ชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ  สนับสนุนให้เกิดกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตระดับตำบล  กองทุนละ 20 ล้านบาท (เฉลี่ยตามขนาดพื้นที่ S M L) ผ่านสภาองค์กรชุมชนตำบล และให้สภาองค์กรชุมชนตำบลตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนขึ้นมา โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 23 พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551

“ผมเชื่อว่าสภาองค์กรชุมชนตำบลสามารถบริหารจัดการกองทุนนี้ได้  เพราะเรามี พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนฯ รองรับ  มีการจัดตั้งคณะกรรมการสภาฯ ขึ้นมาบริหารงาน  ตอนนี้เรามีสภาฯ ทั่วประเทศกว่า 7,000 แห่ง  หากใช้เงินกองทุนละ 20 ล้านบาท เป็นกองทุนหมุนเวียนในแต่ละตำบล คิดดอกเบี้ยไม่แพง  โดยให้สภาองค์กรชุมชนตำบลแต่ละแห่งช่วยกันคิดและวางแผนงานว่าจะทำอย่างไรให้กองทุนนี้เกิดความยั่งยืนเติบโต  จะสามารถแก้ไขเรื่องเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชุมชนได้ตรงกับสภาพของแต่ละท้องที่ และจะทำให้กองทุนนี้เกิดความยั่งยืนมีประสิทธิภาพ   จะใช้เงินทั้งหมดประมาณ  15,000 ล้านบาท  ไม่ต้องใช้ถึง 560,000 ล้านบาท  นายสุวัฒน์เสนอความเห็นในตอนท้าย

ผู้เข้าร่วมประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ปี 2566

***************

(เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พอช. ร่วม 3 พื้นที่รูปธรรมภาคอีสาน ถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยสำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร ร่วมกับสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ถอดบทเรียน 3 พื้นที่รูปธรรม

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ

มอบรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น 10 ประเภท ตามแนวคิดสวัสดิการสังคมของ ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

ธนาคารแห่งประเทศไทย / แบงก์ชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2567’ มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME และ 10

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (10) กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด จ.พระนครศรีอยุธยา “ย้อนรอยวิถีน้ำ คืนชีพเรือเก่า เล่าขานตำนานท้องถิ่น”

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล