พอช.หนุนโครงการ ‘คนรุ่นใหม่คืนถิ่น’ 80 โครงการ 44 จังหวัด เป้าหมายสร้างคนรุ่นใหม่กลับไปพัฒนาชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ

ผู้บริหาร พอช. ผู้แทนหน่วยงานภาคี  ผู้นำชุมชน  และคนรุ่นใหม่ร่วมงานสัมมนา ‘คนรุ่นใหม่คืนถิ่น” ที่ พอช.

พอช./ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ พอช. สนับสนุนโครงการ คนรุ่นใหม่คืนถิ่น เพื่อสนับสนุนคนรุ่นใหม่กลับไปพัฒนาชุมชนท้องถิ่นร่วมกับเครือข่ายชุมชน  เป้าหมายเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ไปหนุนเสริมการพัฒนาชุมชน 5 ด้าน  ตั้งแต่เรื่องการพัฒนาคน  พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน  สังคม  สุขภาพ  สิ่งแวดล้อม ฯลฯ   โดยมีผู้สนใจจากทั่วประเทศส่งโครงการเข้ามาเสนอจำนวน 139 ทีม  ผ่านการคัดเลือกเหลือ 80 โครงการในพื้นที่ 44 จังหวัดทั่วประเทศ

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ มีภารกิจในการสนับสนุนและเสริมสร้างให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งทั่วประเทศ  ผ่านโครงการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น  การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  การสร้างสวัสดิการชุมชน  ส่งเสริมอาชีพ  รายได้  ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม  วัฒนธรรมประเพณี  พัฒนาคุณภาพชีวิต  ฯลฯ 

นอกจากนี้ พอช.ยังสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น  โดยการสนับสนุนโครงการ คนรุ่นใหม่คืนถิ่น เพื่อให้คนรุ่นใหม่ (อายุไม่เกิน 30 ปี) ส่งโครงการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในด้านต่างๆ เข้ามาพิจารณา (ทีมละ 2 คนขึ้นไป)  เช่น  การพัฒนาอาชีพ  ส่งเสริมธุรกิจชุมชน  การท่องเที่ยวโดยชุมชน  ดูแลสิ่งแวดล้อม  ดิน  น้ำ ป่า  ดูแลสุขภาวะ  สุขภาพชุมชน  ฯลฯ  โดยมีผู้สนใจส่งโครงการเข้ามาจำนวน 139 โครงการทั่วประเทศ  และผ่านการพิจารณาจำนวน 80 โครงการในพื้นที่ 44 จังหวัด

ติวเข้มคนรุ่นใหม่ก่อนกลับไปพัฒนาชุมชน

ในระหว่างวันที่ 25-26 มกราคมนี้  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ คนรุ่นใหม่คืนถิ่น ที่ห้องประชุมสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  โดยมีตัวแทนโครงการที่ผ่านการพิจารณาจำนวน 80 ทีม  ประมาณ 200 คนเข้าร่วมสัมมนา  เพื่อเสริมสร้างความรู้  แนวคิด  และแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นกับนักพัฒนาอาวุโส  เช่น  นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา  อดีตผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  นพพรรณ  พรหมศรี  เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  กนกศักดิ์  ดวงแก้วเรือน  ผู้นำชุมชนจากจังหวัดเชียงใหม่  ฯลฯ

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการว่า  โครงการนี้เปิดรับสมัครในปี 2566 ที่ผ่านมา  โดยมี 139 ทีมส่งโครงการเข้ามา และ พอช.ได้คัดเลือกเหลือ 80 ทีมที่จะได้รับงบประมาณไปทำงานในพื้นที่ 44 จังหวัดทุกภูมิภาคของประเทศไทย  ซึ่งโครงการนี้เป็นแนวคิดเริ่มต้นของ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันฯ ที่จะชวนคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและสื่อสารเรื่องราวต่างๆในพื้นที่ออกไปเพื่อให้ผู้คนได้รับรู้มากขึ้น

นายกฤษดา  สมประสงค์ ผอ.พอช.

“หลายๆ โครงการที่นำเสนอวันนี้เป็นโครงการที่จะไปสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน   เป็นมิติของการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่เหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องกลับมาทำเรื่องนี้ และที่สำคัญก็คือประชากรเปลี่ยน เราเข้าสู่ประชากรสูงวัย คนรุ่นใหญ่ คนรุ่นใหญ่กว่ากำลังจะเข้าสู่รุ่นชราภาพ  ฉะนั้นคนรุ่นนี้ในอดีตมีความสำคัญมากในการลุกขึ้นมาทำการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ลุกขึ้นมาสร้างบ้านสร้างเมือง  มองเห็นทางรอดของประเทศ ของสังคม ลุกมาทำจิตอาสาด้วยความอยากเห็นบ้านเมืองของเรามีความสุข ผ่านมา 50 ปี 60 ปี 70 ปี คนรุ่นนี้เริ่มเข้าสู่ภาวะที่เริ่มจะต้องกลับไปอยู่ที่บ้านแล้ว ในขณะที่คนอีกรุ่นหนึ่งยังตามขึ้นมาไม่ทัน อันนี้เป็นความคาดหวัง ที่เราหวังว่าจะเติมเต็มกระบวนการการทำงานของสังคมนี้”  ผอ.พอช.กล่าวถึงภารกิจสร้างคนรุ่นใหม่ของ พอช. ซึ่งสืบทอดแนวคิดมาจากอาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้ง พอช.ขึ้นมา  โดยมองเห็นว่า “ชุมชนเข้มแข็งคือทางรอดของประเทศไทย”

ผอ.พอช. กล่าวด้วยว่า  การเปลี่ยนผ่านของรัฐบาล กลไกการบริหารประเทศเปลี่ยนไปเรื่อยๆ นโยบายเปลี่ยนต่อเนื่องบ้าง ไม่ต่อ เนื่องบ้าง แต่สิ่งที่เป็นฐานรากที่จะรองรับประเทศนี้ให้อยู่ได้ก็คือ “ชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง”  จึงมีการจัดตั้ง พอช.ขึ้นมา  โดยปีนี้ พอช.ย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 24 ถ้าเปรียบกับมนุษย์เราก็กำลังพร้อมที่จะเดินไปข้างหน้า พร้อมที่จะทำอะไรได้ทุกสิ่งทุกอย่าง มีพลังมาก เปรียบเสมือนพวกเราที่นั่งอยู่ตรงนี้  ถือว่าเป็นพลังที่สำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า จึงวางเป้าหมายว่า “ชุมชนเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย คือเป้าหมายของ พอช. ภายในปี 2579” ที่เราจะต้องทำเรื่องนี้ต่อไป

ผอ.พอช. กล่าวในตอนท้ายว่า  การที่จะนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทยได้นั้น  พอช.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้นำ การสร้างผู้นำ  และพวกเราที่อยู่ที่นี่คือความคาดหวังในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ พอช. คือการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ แล้วกลับคืนสู่ถิ่น สู่บ้านสู่ครอบครัว สู่ชุมชน ไปร่วมกันสร้างพื้นที่ชุมชนของเราให้มีความน่าอยู่ ให้มีความเข้มแข็งพร้อมกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

“พอช. พร้อมที่จะสนับสนุนทุกโครงการ  80 โครงการที่เข้ามาสู่พื้นที่แห่งนี้ถือว่าเยอะทีเดียวสำหรับการเริ่มต้น  และ พอช.พร้อมที่จะลงทุนเชื่อมภาคีทุกภาคส่วน  องค์กรต่างๆ เช่น  สสส. สช.  เชิญภาคีหน่วยงานภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา มาช่วยกันทำ ถ้ายังไม่พอก็พร้อมที่จะใช้เงินกองทุนของ พอช.มาลงทุนกับพวกเรา  เพื่อสร้างพวกเราให้มีเครือข่าย ขยายเต็มพื้นที่ของประเทศไทย เป็นพลังที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า”  นายกฤษดา  สมประสงค์ ผอ.พอช.  กล่าว

ส่วนหนึ่งของคนรุ่นใหม่ 80 โครงการจากทั่วภูมิภาค

แนะคนรุ่นใหม่หนุนเสริมเทคโนโลยี-พัฒนาสินค้าชุมชน

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมสถาบันฯ หรือ ‘บอร์ด พอช.’ กล่าวปาฐกถาหัวข้อ ‘คนรุ่นใหม่กับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น’  มีใจความสำคัญว่า  คนรุ่นใหม่หลายคนกำลังเรียนหนังสือจะจบ  พอจะจบก็จะคิดว่าจะทำงานที่ไหน บางคนจะไปทำงานบริษัท  ทำงานเอกชน  ทำงานในกรุงเทพฯ  เพราะทำแล้วรวย เงินเดือนเยอะ  ถ้าอยู่บ้านไม่รู้จะทำอะไร  แต่ตนอยากบอกว่า  กรุงเทพฯ มีแต่หนี้ มีแต่รายจ่าย  เงินเดือนอาจได้ 20,000-30,000 บาท  แต่รายจ่ายก็ 30,000-40,000 บาท และสิ่งที่เห็นก็คือ  ชุมชนอ่อนแรงลงเรื่อยๆ เพราะคนหนุ่มสาวเข้าไปกรุงเทพฯ  เหลือแต่ผู้สูงอายุ แล้วเอาเด็กๆ ไปฝากตายายเลี้ยง   แต่หลายคนก็รู้สึกอึดอัดกับการอยู่กรุงเทพฯ จึงตัดสินใจกลับบ้าน  และพอตัดสินใจกลับบ้านก็ปรากฏว่าชีวิตมันเปลี่ยนไปเลย 

ดร.กอบศักดิ์ยกตัวอย่างว่า  ตนมีเพื่อนคนหนึ่งอยู่ที่ชุมชนสุขสำราญ จังหวัดชุมพร  ใกล้ชายแดนพม่า  เขาเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แต่วันหนึ่งเขาบอกว่าไม่เอาแล้ว  อยู่กรุงเทพฯ แล้วไม่รวยสักที  จึงตัดสินใจกลับไปบ้าน พอกลับไปบ้าน เขาก็เอาโครงการที่เราทำร่วมกันเรียกว่า “โครงการออมวันละบาท” และหลังจากนั้นเขาก็เป็นผู้จัดการสถาบันการเงินชุมชน  จากที่เขาออมเงินวันละบาท สักพักเขามีเงินเป็น 10 ล้านบาท

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ

“ที่กรุงเทพฯ เงิน 1 แสนบาทยังไม่ได้จับเลย  แต่พอกลับบ้านไปออมกับพี่น้องชาวบ้านก็ได้เงินเป็นล้าน และวันนี้เขาก็มาบอกว่า เราทำโครงการประปาชุมชน  น้ำชุมชน ปุ๋ยชุมชน  และทำสหกรณ์ขายทุเรียน ขุดบ่อ น้ำไม่เคยขาดเลย  และพอถามว่าทุเรียนขายยังไง ? เขาก็บอกว่า  ขายทีนึง 40 ล้านบาท  เขารวบรวมทุเรียนจากพี่น้องชุมชนมาขายร่วมกัน และสามารถที่จะเปลี่ยนชีวิตของตัวเอง และพอถามว่าจะกลับกรุงเทพฯ ไหม ? เขาก็บอกว่าจะกลับทำไม !!...อยู่ที่นี่รวยกว่าเยอะ  บ้านก็ใหญ่ ที่ดินก็มีตั้งเยอะ และมีการมีงานทำ และหลังจากนั้นเขาก็ชวนเพื่อนอีก 6-7 คนกลับไปช่วยกันพัฒนาพื้นที่...นี่คือหัวใจหลัก”  ดร.กอบศักดิ์ยกตัวอย่าง

ดร.กอบศักดิ์กล่าวด้วยว่า  จากที่ตนดูโครงการ 80 โครงการที่คนรุ่นใหม่ส่งเข้ามา  มีหลายโครงการ  หลายไอเดียดีมาก  และถ้าทำดีๆ  จะมีโอกาสขยายผล  และนำไปสู่รายได้ที่ดี  เช่น โครงการสมุนไพรที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่จะช่วยเรื่องอดบุหรี่  เพราะเรื่องบุหรี่เป็นปัญหาใหญ่  ถ้าหากทำโครงการนี้ได้   ก็จะสามารถทำรายได้ที่ดีได้

นอกจากนี้ ดร.กอบศักดิ์ได้ยกตัวอย่างคนรุ่นใหม่ที่กลับไปช่วยครอบครัวพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร  เช่น  แต่เดิมพ่อทำสวนมะนาวส่งลูกไปเรียนอังกฤษ  เมื่อกลับมาลูกจึงเปลี่ยนจากขายมะนาวได้ลูกละไม่กี่บาท  มาทำน้ำมะนาวบรรจุขวดๆ ละ 25-35 บาท ทำ package สวยงาม  บางคนพ่อแม่ปลูกมันสำปะหลัง  กี่ปีๆ ก็ทำแต่แป้งมัน ขายมันเป็นกิโลฯ  พอลูกจบมาจึงทำเป็นแป้งมันอัดเม็ดและเอามาเลี้ยงปศุสัตว์  และเอาปศุสัตว์  เอาวัวมาแปรรูปเป็นนมบ้าง  เนื้อบ้าง  แล้วขายได้เงินมากกว่าเดิม  ฯลฯ

ดร.กอบศักดิ์ได้กล่าวถึงบทบาทของคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน  โดยเข้ามาหนุนเสริมเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่  เช่น อีคอมเมิร์ช  ทำเรื่องโซเชียลมีเดีย  ทำคลิปสั้นเพื่อประชาสัมพันธ์หรือขายสินค้าชุมชน

“ถ้ามีคนรุ่นใหม่มาผสมกับสิ่งที่ชุมชนทำได้ คราวนี้จากที่ชุมชนยืนขึ้นได้จะวิ่งออกไปได้เลย หลังจากนั้นก็จะทำให้ชุมชนพลิกโฉม  ผมจึงคิดว่าโครงการนี้คือ ‘คนรุ่นใหม่คืนถิ่น’  ที่อยากให้น้องๆ มีเพื่อนๆ เครือข่าย และเวลามีเครือข่ายมันจะรู้สึกอบอุ่นใจ ที่เราประสบความสำเร็จเรื่องของการพัฒนาชุมชนเพราะเรามีผู้นำแต่ละคนไม่เหมือนกัน  แต่ละคนเรียนรู้จากกัน  อยากให้น้องทำงานในพื้นที่ แล้วก็ลองดูว่าเราจะเปลี่ยนชีวิตเขาได้อย่างไร  และหลังจากนั้นก็เรียนรู้จากกัน พอเรามีผู้นำชุมชนทุกอย่างมันเดินได้  บอกเลยว่าชุมชนไหนที่ไปได้ดีเพราะว่ามีผู้นำชุมชนเข้มแข็ง และเราก็มีกระบวนการกระจายผลกว้างขวางทั่วไทย หนึ่งโครงการหนึ่งคนคิด แต่คนทำเต็มไปหมด  เช่น  โครงการบ้านมั่นคงของ พอช. ก็เริ่มจากจุดเล็กๆที่ชุมชนบ่อนไก่  แต่ตอนนี้บ้านมั่นคงมีเต็มบ้านเต็มเมืองทุกที่ทุกจังหวัด”  ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานบอร์ด พอช. กล่าวทิ้งท้าย 

คนรุ่นใหม่ไอเดียกระฉูด

โครงการ คนรุ่นใหม่คืนถิ่น มีโครงการที่ผ่านการพิจารณาทั้งสิ้น 80 โครงการในพื้นที่ 44 จังหวัด  โดย พอช.จะสนับสนุนงบประมาณตามโครงการที่เสนอมา ตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท  มีโครงการขนาดใหญ่ 19 โครงการ  และโครงการขนาดเล็ก 61 โครงการ (ภาคเหนือ 40 โครงการ  อีสาน 14 โครงการ  กลางและตะวันตก 4 โครงการ  กรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก 8 โครงการ ภาคใต้ 14 โครงการ)  รวมงบประมาณทั้งหมด 3,380,000 บาท  ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี

โครงการมีเนื้อหาเกี่ยวกับ 1. การพัฒนาศักยภาพคน 2.การพัฒนาพื้นที่สาธารณะ  3.การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ 4 การพัฒนาด้านสังคม 5. การพัฒนาด้านสุขภาพ  และ 6.การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม  มีโครงการที่น่าสนใจหลายโครงการ  เช่น

โครงการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชน  บ้านแม่ปอคี  อ.ท่าสองยาง  จ.ตาก  :  ชุมชนบ้านแม่ปอคีเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) มักจะถูกสังคมมองว่า  พวกเขาเป็นผู้บุกรุกทำลายป่า  ค้ายาเสพติด  ฯลฯ  กลุ่มเยาวชนบ้านแม่ปอคีจึงอยากใช้เรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเครื่องมือในการสื่อสารวิถีชีวิต  วัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอบ้านแม่ปอคี  เนื่องจากชุมชนมีต้นทุนทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น  น้ำตกแม่เหว่ย  มีวัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ ที่ช่วยดูแลป่าไม้  สิ่งแวดล้อม  โดยจะเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามา  และสื่อสารเรื่องราวดีๆ ของชุมชนออกไปสู่ภายนอก  โดยใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือ  ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช.จำนวน 50,000 บาท

น้ำตกแม่เหว่ย  ต้นทุนทางธรรมชาติของบ้านแม่ปอคี

การขับเคลื่อนการใช้สมุนไพรเพื่อช่วยเลิกบุหรี่สู่ชุมชน :  กลุ่มเป้าหมายหลัก  ผู้สูบบุหรี่ในตำบลปางหมู  อ.เมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน  และประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป  กลุ่มเป้าหมายรอง  อสม.ในตำบล และครอบครัวผู้สูบบุหรี่  โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการร่วมกับ รพ.สต.ปางหมู  อสม.  มีศูนย์ช่วยเหลือการเลิกสูบบุหรี่ในชุมชน 1 ศูนย์  มีคู่มือการเลิกสูบบุหรี่  ตำรับยาสมุนไพร  และสื่อ  เพื่อช่วยเหลือผู้ที่อยากจะเลิกสูบบุหรี่  ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช.จำนวน 30,000 บาท

โครงการพัฒนาลำไยหางดง  :  อำเภอหางดง  จังหวัดเชียงใหม่  เป็นพื้นที่หนึ่งที่เกษตรกรปลูกลำไยเป็นอาชีพหลัก  แต่มีปัญหาลำไยราคาตกต่ำ  โดนกดราคารับซื้อจากพ่อค้าคนกลาง  ทำให้เกษตรกรหลายรายเลิกปลูกลำไย เพราะไม่คุ้มกับทุนและแรงงานที่ลงไป  กลุ่มเยาวชนในตำบลหางดงจึงคิด ‘โครงการพัฒนาลำไยหางดง’ ขึ้นมา  โดยจะมีการหารือกับนักวิชาการ  เกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหา  เช่น  พัฒนาสายพันธุ์ลำไยให้มีคุณภาพ  เพิ่มผลผลิต  แปรรูปและต่อยอดเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนลำไย  ฯลฯ

ผู้บริหาร พอช. และหน่วยงานภาคีชมนิทรรศการโครงการคนรุ่นใหม่ 80 โครงการที่ พอช.

***************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พอช. ร่วม 3 พื้นที่รูปธรรมภาคอีสาน ถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยสำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร ร่วมกับสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ถอดบทเรียน 3 พื้นที่รูปธรรม

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ

มอบรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น 10 ประเภท ตามแนวคิดสวัสดิการสังคมของ ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

ธนาคารแห่งประเทศไทย / แบงก์ชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2567’ มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME และ 10

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (10) กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด จ.พระนครศรีอยุธยา “ย้อนรอยวิถีน้ำ คืนชีพเรือเก่า เล่าขานตำนานท้องถิ่น”

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล