“วรศิษฎ์” เสนอสภาฯ แล้วแก้ไข พ.ร.บ.ประมง ตอกหน้า หน่วยงานรัฐ ทำประมงไทยหายนะ เผาบ้านเพื่อฆ่าแมลงสาบเพียงแค่ 1 ตัว

“วรศิษฎ์” เสนอสภาฯ แล้วแก้ไข พ.ร.บ.ประมง ตอกหน้า หน่วยงานรัฐ ทำประมงไทยหายนะ เผาบ้านเพื่อฆ่าแมลงสาบเพียงแค่ 1 ตัว เตือนสติ! รีบแก้ไข เพราะ 8 ปีที่ผ่านมา ไปเลี้ยงลูกคนอื่น แต่ยอมให้ลูกตัวเองตาย ?

7 ก.พ. 2567 นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.สตูล พรรคภูมิใจไทย อภิปรายเสนอ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ..... ที่เสนอโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กับคณะ ต่อสภาผู้แทนราษฎร ว่า ปัญหาของพี่น้องชาวประมงได้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน และยังไม่ได้รับการแก้ไขทั้ง ตนและหลายพรรคการเมืองก็ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาอภิปรายในการหาแนวทางแก้ปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมงมาโดยตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา
.
นายวรศิษฎ์ กล่าวว่า 8 ปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรป(อียู) มาแปะป้ายไว้ที่หน้าผากของพี่น้องประมงไทย ว่ามีการทําการประมงแบบผิดกฎหมายขาดการดูแล และไร้การควบคุม ถ้าประเทศไทยไม่แก้ไข ก็จะแบนการนําเข้าสินค้าสัตว์น้ำของประเทศไทย รัฐบาลต้องวิ่งออกกฎหมายนับร้อยฉบับในระยะเวลาอันสั้น ออกมาบังคับใช้กับพี่น้องชาวประมง ประเด็น คือออกมาแบบหลับหูหลับตาออก ไม่ได้ดู ไม่ได้ถาม ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้ฟังคนที่ทําอาชีพประมงแม้แต่น้อย ออกกันเอง สุดท้ายปัญหาก็ตกไปสู่พี่น้องชาวประมง นําความหายนะมาสู่อุตสาหกรรมประมงไทย
.
นายวรศิษฎ์ กล่าวอีกว่า เรือประมงในประเทศไทยหายไปกว่าครึ่ง เพราะว่าออกไปทําการประมงไม่ได้ ไม่ต้องไปพูดถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โรงน้ำแข็ง แรงงาน โรงงานแปรรูป หรือแม้กระทั่งตลาดปลา ทุกคนน่าจะเห็นสภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอยู่แล้วว่ามันเป็นยังไงถามว่าเราได้อะไรหลังจากที่ อียู ประกาศปลดใบเหลืองให้กับเรา พี่น้องคนไทยคาดหวังอะไรบ้างจากความสําเร็จนี้ อันนี้เป็นคําถาม ที่อยากจะถามไปยังผู้มีอํานาจว่า เราคาดหวังว่าพี่น้องชาวประมงจะมีความสุขในการทํางานประมงมากขึ้น เราคาดหวังหรือไม่ว่าเราจะมีปลาจับเยอะขึ้น เราคาดหวังหรือว่า อียู จะนําเข้าสินค้าประมงเราเพิ่มขึ้น หรือซื้อสินค้าประมงของเราได้ราคาที่สูงขึ้น คําตอบก็คือ ไม่เลย
.
“สิ่งเดียวที่เราได้จากการแก้ปัญหา IUU Fishing (การทำประมงที่ผิดกฎหมาย การประมงที่ขาดการรายงาน และการประมงที่ขาดการควบคุม Illegal Unreported and Unregulated Fishing) คือความพอใจของ อียู เฉพาะของ อียู เท่านั้น ไม่ใช่ของคนไทย ไปดูได้ สิ่งที่เกิดขึ้น พี่น้องชาวประมงหลายๆ ท่านต้องล้มละลาย หลายท่านต้องสูญเสียธุรกิจ หลายท่านมีหนี้สินเกิดขึ้นจากสภาวะปัญหาที่เกิดขึ้น ซ้ำร้ายไปกว่านั้น บางคนแก้ปัญหาไม่ได้ก็ตัดสินใจที่จะต้องปิดชีวิตตัวเองลง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทุกท่านมองว่าเป็นความสําเร็จ อยากจะบอกว่า อย่าหลงระเริงอยู่บนความตายของพี่น้องชาวประมง ต้องพูดกันตรงๆ ว่า ประมงมันมีปัญหา แต่สิ่งที่พวกเราต้องทําก็คือเราต้องเข้าไปแก้ปัญหา จุดนั้น ไม่ใช่ไปลบทั้งระบบทิ้ง“ นายวรศิษฎ์ กล่าว
.
" ถ้าวันนี้มีแมลงสาบอยู่ในบ้านหนึ่งตัว คุณต้องไปไล่หรือว่าจัดการกับแมลงสาบตัวนั้น ไม่ใช่ไปเผาบ้านทิ้ง เพื่อจัดการกับแมลงสาบตัวเดียว เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งที่มันกระทบ สิ่งที่มันหล่นลงมา คนที่ต้องเผชิญกับฝันร้ายนั้นก็คือพี่น้องชาวประมง ที่ผ่านมาสภาแห่งนี้ก็ได้มีการศึกษาหาแนวทางการแก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของพี่น้องชาวประมงหลายครั้ง หลายคราว ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกรรมาธิการวิสามัญหลายคณะด้วยกัน ไปลองดูรายงานการศึกษามีหลายเล่ม อ่านกันไม่จบ แต่เราไม่เคยที่จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้แบบจริงๆ นอกจากการพูดคุยกันอย่างที่ใกล้ที่สุดก็คือในสภาสมัยที่แล้ว สมัยที่ 25 ที่ตนเองเป็นหนึ่งในผู้ที่ยื่นร่างกฎหมายนี้เข้าไปแล้ว สภาแห่งนี้ก็กรุณาได้ผ่านวาระที่หนึ่งเข้าไปสู่ขั้นกรรมาธิการ แล้วกรรมาธิการก็ทํางานเสร็จแล้วส่งกลับมาที่สภา แต่ปัญหาตอนนั้นก็คือมีการยุบสภาเกิดขึ้น ไม่ว่ากัน ถือว่าเสียงนกหวีดเป่าหมดเวลา เลือกตั้งกลับมาครั้งนี้ หลังจากสภาเปิดมาหนึ่งเดือนตนได้ยื่นกฎหมายฉบับนี้เข้าไปอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะจัดการเร่งแก้ปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมง ต้องขอบคุณสภาฯ ที่ได้บรรจุวาระร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่วาระประชุม ทําให้พวกเราได้นํากฎหมายเข้าสู่สภา แล้วเราก็สามารถพูดกับพี่น้องได้เต็มปากว่าวันนี้เราเอาร่างกฎหมายประมงเข้าสู่สภาได้แล้ว ต้องยอมรับว่าทุกครั้งที่ลงไปในพื้นที่ ไปเจอพี่น้องชาวประมง ซึ่งตนเป็นลูกชาวประมง ลูกน้ำเค็ม ทุกครั้งเวลาไปเจอพี่น้องชาวประมง เขาถามเรื่องปัญหา ซึ่งรู้สึกละอายใจ ว่าทําไมเราถึงไม่สามารถที่จะแก้ปัญหานี้ให้กับพี่น้องได้สักที แต่หลังจากนี้ จะเป็นการวัดใจผู้ที่มีอํานาจ วัดใจหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง หากท่านมีความจริงใจในการที่จะแก้กฎหมายฉบับนี้เพื่อพี่น้องชาวประมงมากขนาดไหน ยิ่งไปกว่านั้น จะบอกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทําการประมง มีเยอะมากนับ10 หน่วยงาน กรมประมง กรมสวัสดิการ จัดหางาน ตํารวจตรวจคนเข้าเมือง สาธารณสุข หรืออีกหลายๆ หน่วยงาน แต่อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดของพี่น้องชาวประมงคือ กรมประมง แน่นอนไม่พ้น พ.ร.บ.ประมงปี 2558 นี่คือที่มาที่เราจะต้องแก้กฎหมายฉบับนี้ให้ได้
.
สส.สตูล กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าจะให้ยกตัวอย่างกฎหมายสักฉบับ ที่บอกว่าเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เป็นกฎหมายที่ออกมารังแกพี่น้องประชาชน เป็นกฎหมายที่ออกมาโดยไร้ซึ่งความรอบคอบ ยกตัวอย่างสิ่งที่เราจะต้องเข้าไปแก้ไขสั้นๆ 2-3 ข้อ เพื่อให้ได้เห็นถึงความสําคัญ ในเรื่องของคณะกรรมการประมงจังหวัด ควรที่จะต้องจัดการสัดส่วนให้ดี ควรที่จะต้องนําคนที่เกี่ยวข้อง เข้าไปเป็นกรรมการ ไม่ควรเอาคนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาเพื่อให้การทํางานในการกําหนดวิธีการทําการประมงหรือขอบเขตพื้นที่ในการทําการมองให้มีคุณภาพ และคล่องตัวที่สุดแล้วต้องให้อํานาจเขาเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีใครรู้ดีไปกว่าคนที่อยู่ในพื้นที่แล้ว
.
“พี่น้องประมงพื้นบ้านก็เช่นกัน พ.ร.บ.ประมง ไปขีดเส้นไว้ ไปกั้นรั้วเอาไว้บอกว่าพี่น้องประมงพื้นบ้าน ให้หาปลาได้เฉพาะในเขตทะเลชายฝั่ง คําถามคือ จะไปกั้นเขาทําไม ให้เขาออกไปทํา เพราะว่าเรือเหล่านี้จะโดนจํากัดด้วยขนาดอยู่แล้ว ถึงจะปล่อยให้เขาออกไปเขาก็ออกไปได้ไม่ไกล เพราะฉะนั้นไม่ควรไปจํากัดสิทธิ์ ควรจะส่งเสริมด้วยเพราะว่าประมงพื้นบ้านคือรากฐานของเศรษฐกิจประมงของทั้งประเทศ”
.
นอกจากนี้ สส.สตูล กล่าวว่า เรื่องที่ 3 บทลงโทษ จะบอกว่าเป็นตัวบรรลัยเลย บทลงโทษประมงไทย อยากจะบอกว่าน่าจะเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษในการปรับที่แพงที่สุดในโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่แพงที่สุดในโลก ลองไปเปรียบเทียบได้ในลักษณะเดียวกันกับบริบทอื่นๆ มันเป็นคนละมาตรฐานแบบฟ้ากับเหว ยกตัวอย่างเช่น วันนี้ถ้าจดทะเบียนเครื่องมือประมง บอกว่าจดเป็นเครื่องมือเอ แล้วออกไปทําการประมงแล้วใช้เครื่องมือบีทําการประมง โดนปรับเป็น 10 ล้าน จริงๆ ถ้าวันนี้ออกไปทําประมง จะนําสัตว์น้ำเข้ามา ต้องแจ้งศูนย์ว่าจะถึงท่ากี่โมง จะมีสัตว์น้ำมาปริมาณเท่าไหร่ ถ้าแจ้งเวลาผิดแจ้งเที่ยง เข้ามาถึง 9 โมง โดนปรับหลายแสนแจ้งปริมาณสัตว์น้ำผิดเกิน10-15% โดนปรับหลายแสน ถามว่ามันใช่เรื่องที่จะต้องเอาผิดกันถึงขนาดนั้นเลยหรือ
.
สส.วรศิษฎ์ อภิปรายว่า เรื่องแรงงาน ถ้าบนเรือประมงมีแรงงานที่ผิดกฎหมาย ต่อหัวที่มีคูณเข้าไปเลยหลายแสนบาทถ้ามี 10 คน ก็หลายล้านบาท

" น่าน้อยใจ เปรียบเทียบกับโรงงานถ้ามีแรงงานผิดกฎหมายอยู่ในโรงงาน ยกตัวอย่างเช่นโรงงานไม้ โรงงานถุงมือ โรงงานเหล็ก ผิดเหมือนกันไหม ผิดเหมือนกัน ลักษณะเดียวกันแต่ทําไมในโรงงานถึงโดนปรับแค่ไม่กี่หมื่นบาท มาตรฐานมันอยู่ตรงไหน นี่คือสิ่งที่เราจะต้องเข้าไปแก้ "
.
ทั้งนี้ เรื่องที่สําคัญที่สุดคือเราใช้ระยะเวลาในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ 8-9 ปีจนสุดท้ายเราหลุดพ้นจากใบเหลืองของอียู ยอมเอาชีวิตของตัวเองเข้าไปแลก เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดในอาชีพประมงพอแก้เสร็จแล้ว ท่านไปดูว่า การนําเข้าปลา หรือว่าสัตว์น้ำ จากต่างประเทศ ที่เรานําเข้าผ่านมาตรฐานของอียูหรือเปล่า มีบางประเทศที่ไม่ผ่าน เพราะฉะนั้นเราจะดั้นด้น กัน 8-9 ปีที่ผ่านมาเพื่ออะไร ยอมให้ลูกตัวเองตาย แต่ไปเลี้ยงลูกคนอื่นเพื่ออะไร เชื่อว่า สส.ทุกท่านจะมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะฉะนั้นในฐานะหนึ่งในผู้ยื่น พ.ร.บ. ขอเรียกร้องให้สมาชิกทุกท่านได้สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ แล้วเราจะได้กลับไปบอกพี่น้องชาวประมงที่บ้านของพวกเราว่า เราแก้ปัญหาให้ท่านสําเร็จแล้ว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'คารม' จวก 'เด็จพี่' ฟุ้งซ่าน! 'บี พุทธิพงษ์' วิจารณ์ดิจิทัลวอลเล็ต แค่ความเห็นส่วนตัว

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากกรณีที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย ออกมาพูดถึงนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไท

'อนุทิน' ย้ำ ภท.หนุนดิจิทัลวอลเล็ตให้เป็นไปตามกฎหมาย ยึดข้อเสนอ 3 หน่วยงาน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย(ภท.) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์ ถึงกรณีที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ สมาชิกพรรคภูมิใจไทย ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านโครงการแจกเงินดิจิทัล

'อนุทิน' ไม่กังวลแบงก์ชาติท้วงแจกเงินดิจิทัล ชี้หากไม่ถูกกฎหมาย กฤษฎีกา-สภาพัฒน์ต้องแจ้งมา

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.)ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย มีหนังสือเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

'เสี่ยหนู' ขอเช็กปมเก้าอี้ 'ครูแก้ว' หลังถูก ป.ป.ช.ฟันจริยธรรมร้ายแรงก่อน

'อนุทิน' ขอเช็กรายละเอียด ตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี หลัง 'ครูแก้ว' ถูก ป.ป.ช.ชี้จริยธรรมร้ายแรงที่ดินป่าดงพะทาย

ภูมิใจไทย รุ่นใหม่ มีของ กับ ไชยชนก เลขาธิการพรรค 14 พ.ค. นับหนึ่งรีแบรนด์ดิ้ง

พรรคภูมิใจไทย หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งก่อตั้งพรรคมา ก้าวเข้าสู่ปีที่ 16 ไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา 6 เม.ย โดยก่อนหน้านั้น พรรคภูมิใจไทย ได้มีการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567