10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (6) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคอรุม จ.อุตรดิตถ์ ต่อยอดสร้างอาชีพเชื่อมโยงท่องเที่ยวชุมชน-ผลิต ‘สบู่น้ำนมข้าว-หอยขมสามรส’

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคอรุม อ.พิชัย  จ.อุตรดิตถ์ เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ประจำปี 2566 ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์  อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ (www.thaipost.net/public-relations-news/546209/)

โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคอรุม ได้รับรางวัลจากการประกวดประเภทที่ 6 ‘ด้านการพัฒนาสัมมาชีพในชุมชน’ ซึ่งจะมีพิธีมอบโล่และใบประกาศเกียรติคุณพร้อมกันทั้ง 10 กองทุนในวันที่ 9 มีนาคม 2567 นี้ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย  บางขุนพรหม  กรุงเทพฯ

อนุสาวรีย์ ‘พระยาพิชัยดาบหัก’ ประดิษยฐานบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์

“คอรุม” : ชื่อนี้มีตำนาน

เมืองพิชัย เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะด้านการศึกสงครามระหว่างไทยกับพม่า  และไทยกับลาว   ในอดีตพม่าเคยยกทัพเข้าตีเมืองพิชัยถึงสองครั้ง ทำให้เกิดวีรกรรมของพระยาสีหราชเดโชหรือที่รู้จักกันในนาม “พระยาพิชัยดาบหัก”

ในสมัยรัตนโกสินทร์  เจ้าอนุวงศ์ได้กวาดต้อนชาวลาวจากเมืองเวียงจันทน์มาอยู่ที่เมืองพิชัย  จนทำให้เมืองมีขนาดใหญ่ขึ้น  จนได้รับการยกเป็นหัวเมืองชั้นโทในสมัยรัชกาลที่ 3

จากการสัมภาษณ์สมาชิกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคอรุมเกี่ยวกับความเป็นมาของคำว่า “คอรุม” นั้น  ทุกคนต่างบอกว่ามีตำนานเรื่องเล่ามาจากคำว่า “คอรวม” จากสงครามระหว่างไทยกับพม่า โดยพม่ามาตั้งทัพบริเวณวัดเอกา พระยาพิชัยได้นำทหารมาสกัดทัพพม่าบริเวณวัดขวางชัยภูมิและประกาศให้รางวัลทหารที่สามารถตัดคอข้าศึกได้ เมื่อทหารของพระยาพิชัยตัดคอทหารพม่าได้แล้วจึงนำไปกองรวมกันไว้ที่บริเวณวัดขวางชัยภูมิ  และเรียกพื้นที่ตรงนั้นว่า “คอรวม” ต่อมาหลายยุคหลายสมัยจึงเรียกเพี้ยนกลายเป็น “คอรุม”

ส่วนกลุ่มชาวลาวจากเมืองเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนมาจากการศึกสงครามในอดีต มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในตำบลคอรุม จังหวัดอุตรดิตถ์  เรียกว่า “ลาวเวียงบ้านหาดสองแคว” หรือ ‘ลาวเวียง’ หรือ “ลาวตี้” อพยพมาจากเวียงจันทน์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ในฐานะเชลยศึกสงคราม มาตั้งรกรากอยู่ตามลำน้ำน่านใน 2 อำเภอ  คืออำเภอตรอนและอำเภอพิชัย ปัจจุบันยังมีสำเนียงพูดแบบชาวลาวเวียงจันทร์  มีอาหารดั้งเดิม  เช่น พริกยัดไส้ทอด หมกปลา หมกเขียด แกงหน่อไม้ดอง แกงหยวกกล้วย น้ำพริกแจ่วหม้อ และประเพณีวัฒนธรรมแบบลาวเวียง  เช่น  การตักบาตรเช้าที่เรียกว่า “หาบจังหัน” มีเรือนไม้ทรงลาวโบราณ ซึ่งได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคอรุม

สวัสดิการ 12 ประเภทของคนคอรุม

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคอรุม ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม  2554 ริเริ่มโดยกลุ่มผู้สูงอายุและการส่งเสริมของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ โดยมีระเบียบกำหนดให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนเป็นรายปี  คนละ 365 บาท/ปี  แล้วนำเงินกองทุนนั้น  รวมทั้งเงินสมทบจากรัฐบาลผ่าน พอช. และเงินสมทบจาก อบต.คอรุม  มาช่วยเหลือสมาชิกในยามเดือดร้อนจำเป็น

มีวัตถุประสงค์การจัดตั้งเพื่อ  1.สร้างหลักประกันเพื่อความมั่นคง ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในชุมชน  2.เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน  3.เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชน  4.เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น องค์กรชุมชน  ในการสนับสนุนกองทุนสวัสดิการฯ   และ 5.เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกองทุนสวัสดิการชุมชนในทุกระดับ

จำนวนสมาชิกแรกตั้งมี 457 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 4,421  (จำนวนประชากรในตำบล 9,246 คน) จำนวนสมาชิกจาก 12 หมู่บ้าน จำนวนเงินกองทุน ณ วันแรกเริ่ม 175,945 บาท ปัจจุบันมีเงินกองทุนสะสม 16,934,660.13 บาท จำนวนเงินกองทุนคงเหลือ 4,204,631.13 บาท (ข้อมูล ณ 30 กันยายน 2565)

ส่วนสวัสดิการที่จัดให้กับสมาชิกมี 12 ประเภท คือ  1.สวัสดิการเกี่ยวกับเด็กแรกเกิด คลอดบุตร  2.สวัสดิการการรักษาพยาบาล (คลอดบุตร)  3.สวัสดิการเกี่ยวกับการเจ็บป่วย/รักษาพยาบาล  4.สวัสดิการผู้สูงอายุ  5.สวัสดิการกรณีเสียชีวิต  6.สวัสดิการคนด้อยโอกาส/พิการ 7.สวัสดิการเพื่อพัฒนาอาชีพ 8.สวัสดิการเพื่อการศึกษา  9.สวัสดิการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ   10.สวัสดิการการนอน CI (ผู้ป่วยติดเชื้อ Covid-19)  11.สวัสดิการอุบัติเหตุ  และ 12.สวัสดิการพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการและสมาชิกกองทุน

การบริหารจัดการกองทุนช่วง ‘วิกฤติโควิด-19’

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคอรุม มีการประชุมคณะกรรมการกองทุน 3 เดือน/ครั้ง มีการสรุปยอดบัญชีเป็นรายเดือน มีแผนการติดตามประเมินผลทุก 3 เดือน  และเนื่องจากกองทุนฯ ได้รับการสนับสนุนจาก อบต.คอรุม ที่ตั้งของกองทุนสวัสดิการจึงอยู่ในที่ทำการ อบต. และมีบุคลากรของ อบต.ช่วยสนับสนุนงานของกองทุนสวัสดิการทุกด้าน

การบริหารกองทุนสวัสดิการในช่วงสถานการณ์โควิด-19  เมื่อมีคนอพยพกลับบ้าน และมีสมาชิกบางส่วนที่ไม่สามารถส่งเงินเข้ากองทุนได้   คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ จึงได้จัดประชุมแก้ไขระเบียบเพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์โควิดได้   โดยนำเงินส่วนหนึ่งของกองทุนฯ ไปทำศูนย์ CI (Community Isolation) หรือ ‘ศูนย์พักคอย’ ในตำบล  เพื่อดูแลรักษาเบื้องต้น  รวมทั้งเพื่อไม่ให้ผู้ติดเชื้อนำเชื้อไปเผยแพร่แก่คนในครอบครัวและชุมชน

 นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์โควิด  มีสมาชิกที่ตกงาน  ไม่มีรายได้  จึงมีสมาชิกจำนวนมากไม่มีเงินสมทบเข้ากองทุน  และอยากจะลาออกจากการเป็นสมาชิก  กองทุนสวัสดิการชุมชนจึงมีเงื่อนไขว่า  ถ้าสมาชิกจ่ายเงินเข้ากองทุน 10 บาท  กองทุนฯ จะคืนเงินให้สมาชิก 1,000 บาทเพื่อเอาไปใช้จ่ายแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน  นอกจากนี้กองทุนสวัสดิการฯ ยังสนับสนุนเงินจ้างผู้ดูแลผู้ป่วย สูงอายุ  ผู้ป่วยติดเตียง

รวมทั้งยังจัดทำ “โครงการสัมมาชีพ” เพื่อช่วยเหลือสมาชิก ทำให้คนที่จะลาออกกลับเข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น  รวมทั้งมีผู้ที่มาสมัครเป็นสมาชิกเพิ่ม  ทำให้กองทุนเติบโตขึ้นมีสมาชิกเกือบ 50% ของประชากรทั้งตำบล คือ มีสมาชิก 4,421  จากประชากรในตำบล 9,246 คน

ท่องเที่ยวชุมชนตำบลคอรุม  ล่องเรือชิมฝรั่งสดๆ

กองทุนสวัสดิการฯ ต่อยอดสร้างอาชีพ ‘สบู่น้ำนมข้าว-หอยขมสามรส’

ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย  จังหวัดอุตรดิตถ์  มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนยาวนาน มีวัฒนธรรมพื้นถิ่นหลายอย่าง   โดยเฉพาะวัฒนธรรมลาวเวียง   นอกจากนี้ยังมีภูมิประเทศที่สวยงาม  มีแม่น้ำน่านไหลผ่าน มีวัดโบราณ  เช่น วัดขวางชัยภูมิ วัดเอกา ทั้งสองวัดนี้มีประวัติศาสตร์เกี่ยวโยงกับพระยาพิชัยดาบหักและการศึกสงครามในอดีต

แกนนำในตำบลจึงนำต้นทุนเหล่านี้มาจัดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์  เชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชนกับเมืองโบราณพิชัย  มีโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยว   รวมทั้งส่งเสริมอาชีพอื่นๆ   เช่น การสานตะกร้า หมวก การอนุรักษ์พันธุ์ไก่ชน กลุ่มผลิตน้ำพริก  ฯลฯ เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเกษตรอินทรีย์-ชีวภาพ (ก่อตั้งในปี 2543) มีศูนย์เรียนรู้โรงเรียนชาวนา และจัดตั้งโรงสีชุมชน รับซื้อข้าวเปลือกและสีเป็นข้าวสารขายคนในชุมชน แต่ก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ข้าวจึงได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง  แก้ไขปัญหาข้าวปน ข้าวดีด และต่อมาได้มีบริการรถดำนา รณรงค์ให้เกษตรกรดำนาเพื่อแก้ปัญหาวัชพืชในนา  รวมทั้งผลิตข้าวกล้องตรา “เพชรคอรุม” ได้รับมาตรฐานอาหารปลอดภัย

จากต้นทุนต่างๆ ดังกล่าว  ทั้งด้านการท่องเที่ยว  ผลผลิตจากไร่นา  รวมทั้งมี ‘หอยขมคอรุม’ หอยขมพื้นถิ่นที่มีรสชาติ อร่อย  คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคอรุมจึงได้ต่อยอดฐานทุนของท้องถิ่นมาเป็น “โครงการพัฒนาสัมมาชีพ” เพื่อให้สมาชิกกองทุนฯ และชาวบ้านในตำบล  มีอาชีพ  มีรายได้  เช่น

1.โครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว ฝึกอบรมการทำสบู่น้ำนมข้าวจำนวน 80 คน ฝึกอบรมการทำพวงกุญแจข้าวเปลือกจำนวน 50 คน  เชื่อมโยงกับกลุ่มบ้านพัก home stay เพื่อนำสบู่ไปให้บริการแขกที่มาพัก วางจำหน่ายในกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน ร้านวิสาหกิจชุมชน แอป ชิมฟรี และ เพจ Korrum mall

สบู่น้ำนมข้าว

นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังพุ่งเป้าไปที่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นครัวเรือนของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม (ครัวเรือนผู้เสพและผ่านการบำบัดจากศูนย์คัดกรอง) ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงงาน สร้างสังคมให้กลุ่มคนที่เดินทางผิด ปรับปรุงและใช้ชีวิตในสังคมได้โดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก   โดยให้สมาชิกกองทุนฯ รวมกลุ่มสร้างงาน  สร้างอาชีพ สร้างรายได้  มีวิทยากรมาฝึกอบรม  ส่งเสริมการออม ลดอัตราการขาดส่งของสมาชิก   สนับสนุนการขายสินค้าและบริการในชุมชน ทำให้เกิดรายได้ย้อนกลับเข้ากองทุนฯ    และทำให้ชุมชนมีรายได้หมุนเวียน

2.โครงการเลี้ยงหอยขม ฝึกอบรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหอยขม จำนวน 100 คน  โดยนำพันธุ์หอยขมมาจากโครงการ ‘โคกหนองนาโมเดล’ ในตำบล หลังฝึกอบรมแล้วจะให้สมาชิกและชาวบ้านนำหอยขมกลับไปเลี้ยงที่บ้านในวงซีเมนต์ ทำให้มีรายได้  ลดรายจ่ายค่ากับข้าวในครัวเรือน   นำหอยขมมาแปรรูปเป็น ‘หอยสามรส’ บรรจุกล่องพลาสติกจำหน่ายทางออนไลน์ และจำหน่ายที่ศูนย์แสดงสินค้าตำบลคอรุม

3.สวนฝรั่งสวนดีพิชัย  ของนายสายฝน เกิดแก้ว สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน ที่ได้ปรับพื้นที่สวนเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของตำบลพิชัย การท่องเที่ยวสวนฝรั่ง “สวนดีพิชัย” เป็นกิจกรรมหนึ่งของการท่องเที่ยวในจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ถูกนำไปบรรจุในเส้นทางการท่องเที่ยวโดยหลายหน่วยงาน ก่อให้เกิดกิจกรรมที่ขยายรายได้ไปสู่สมาชิกกองทุนฯ คนอื่นๆ

โดยปรับสวนเป็นร่องน้ำ  แล้วนำเรือมาให้นักท่องเที่ยวล่องสวนพร้อมกับรับประทานฝรั่งสดๆ จากต้น  รวมทั้งเลี้ยงหอยขมไว้ในร่องสวน สมาชิกกองทุนสวัสดิการสามารถมาช้อนหอยขมไปประกอบอาหาร บางรายนำไปทำน้ำยาขนมจีนเพื่อจำหน่าย มีการจ้างงานสมาชิกกองทุนสวัสดิการและนักเรียนในพื้นที่ในการห่อผลฝรั่ง ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

เป้าหมายในอนาคต  1.กองทุนสวัสดิการมุ่งพัฒนาชุมชนในภาพรวม โดยเน้นเรื่องการเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน โดยเฉพาะด้านการดูแลผู้สูงอายุ จัดกิจกรรมให้ครบวงจร “มาแล้วต้องพัก กิน ซื้อ ทำพื้นที่ให้มีเรื่องเด่น”  2.เน้นเรื่องความเชื่อถือของคนในหมู่บ้าน สร้างความมั่นใจ ทำให้มีแรงบันดาลใจ  และ 3.เรื่องความยั่งยืนของกองทุนสวัสดิการชุมชน  ต้องคำนวณประมาณการ และมีบัญชีพิเศษฝากไว้ที่สหกรณ์เพื่อจะได้ดอกเบี้ยพิเศษ  และพยายามไม่ให้กระทบกับเงินต้นกองทุนฯ

********************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พอช. แจงความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากรถไฟทางคู่ 9 จังหวัด ภาคใต้

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.เดินหน้าแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ ทั่วประเทศตาม มติ ครม.14 มีนาคม 2566 ในพื้นที่ 35 จังหวัด 300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ

พอช. ร่วม ศูนย์คุณธรรม และ สช. ขับเคลื่อนคุณธรรมของเครือข่ายทางสังคม มุ่งสร้างคุณธรรมด้วยระบบเครดิตทางสังคม

กรุงเทพมหานคร / วันนี้ 29 เมษายน 2567 ระหว่างเวลา 14.00 – 16.00 น. ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) นำโดย รศ นพ.สุริยเดว ทรีปราตีผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม

พอช. ร่วม 3 พื้นที่รูปธรรมภาคอีสาน ถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยสำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร ร่วมกับสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ถอดบทเรียน 3 พื้นที่รูปธรรม

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ