5 มี.ค.2568 นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม) เป็นประธานในพิธีเปิดงานเสวนาวิชาการเพื่อพัฒนาความรู้ทางวัฒนธรรมสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ โดยมีนายชุมพล พรประภา นายกสภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รศ.ดร.หทัยรัตน์ มาประณีต หัวหน้าโครงการฯ และรศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และผู้บริหารฯ เข้าร่วม ณ หอดนตรีและการแสดงอโศกมนตรี 1 (หอประชุมใหญ่) ชั้น 4 อาคารนวัตกรรมศาสตราจารย์ ดร. สาโรช บัวศรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
นางสาวลิปิการ์ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้มีนโยบายในการปรับบทบาทสู่ “กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ” มีวิสัยทัศน์คือ “วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์มีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย” โดยการสำรวจ รวบรวมข้อมูลทุนทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและบำรุงรักษาวัฒนธรรมไทยผ่านการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ฟื้นฟู อนุรักษ์ พัฒนาและเผยแพร่ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดำเนินโครงการพัฒนาความรู้ทางวัฒนธรรมสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ขึ้นเป็นปีแรก โดยมุ่งหวังให้เกิดการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้กับมรดกทางวัฒนธรรม และช่วยเหลือชุมชนให้มีรายได้ สามารถรักษาและสืบทอดความรู้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน จึงได้จัดงานเสวนาวิชาการฯ ครั้งนี้ขึ้น ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลจากการลงพื้นที่ชุมชนเพื่อสำรวจและบันทึกข้อมูลความรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม รวมทั้งวางแผนร่วมกับชุมชนในการพัฒนาและออกแบบสร้างสรรค์ผลงานต้นแบบ จาก 5 ชุมชน ได้แก่
1) “ผ้าทอจกลับแล” ชุมชนทอผ้าฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
2) “หัตถกรรมสานกระจูด” ชุมชนทอกระจูดพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
3) “ผ้าทอไทครั่ง” ชุมชนบ้านนาทุ่งเชือก อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
4) “ปลาร้า” ชุมชนไทยพวน อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก
5) “น้ำตาลโตนด” ชุมชนบ้านถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี
สำหรับวงเสวนาฯ แบ่งออกเป็นส่วนที่ 1 เสวนาฯ ในหัวข้อ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ จากมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและการมีส่วนร่วมของชุมชน” โดย คณะวิทยากรดร.กิติศักดิ์ เยาวนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสร้างสรรค์ ดร.พรนารี ชัยดิเรก ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสร้างสรรค์ และผู้แทนจาก 5 ชุมชน ได้แก่ คุณกัญญาวีร์ ศิริกาญจนารักษ์ ชุมชนทอผ้าฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ คุณมนัทพงษ์ เซ่งฮวด ชุมชนทอกระจูดพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง คุณชนิดา ยิ้มพยัคฆ์ ชุมชนบ้านนาทุ่งเชือก อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี คุณนฤมล บุญเคลิ้ม ชุมชนไทยพวน อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก และคุณชัชชัย นาคสุข ชุมชนบ้านถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ดำเนินรายการเสวนาโดย ผศ.ดร.ปิยะนาถ อังควาณิชกุล นักวิจัยโครงการและอาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มศว.
ส่วนการเสวนาฯ หัวข้อ “กลยุทธ์การส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์” โดยผู้เชี่ยวชาญจาก 3 ภาคส่วน คือ ภาคการเมือง ภาครัฐ และภาคการศึกษา ดังนี้ ดร.เอกชัย เรืองรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา ดร.ปภาภรณ์ ชุณหชัชราชัย ผู้อำนวยการกองนวัตกรรม สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ผศ.ดร.กิตติกรณ์ นพอุดมพันธุ์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ดำเนินรายการเสวนาโดย ผศ.ดร.สุรีย์พร นิพิฐวิทยา นักวิจัยโครงการและอาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มศว.
ผู้เข้าร่วมการเสวนาครั้งนี้ ประกอบด้วยผู้บริหารและผู้แทนกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้แทนชุมชน คณาจารย์และนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ประกอบการ และผู้สนใจทั่วไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สวธ.สำรวจภูมิปัญญาท้องถิ่น‘บ้านทะเลน้อย’ พัทลุง ต่อยอดอัตลักษณ์ชุมชน
นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม) ลงพื้นที่ ณ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง