รมว.พม. ย้ำ "ไม่ว่าจะชาติพันธุ์ใด ทุกคนคือคนไทย ต้องได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม" ส่งมอบความห่วงใยจากภาครัฐ พร้อมเปิดโครงการ “ชมวิถีชาวเล” ผลักดันพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาวเล ขณะ พอช. ชี้การพัฒนาแบบมีส่วนร่วมคือหัวใจของความยั่งยืน พร้อมหนุนโครงการบ้านมั่นคง-พัฒนาอาชีพ
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 -นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง พม. และนายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ลงพื้นที่เพื่อรับฟังเสียงจากประชาชนกลุ่มเปราะบาง เยี่ยมชมวิถีชีวิต ติดตามการดำเนินงานในชุมชนชาติพันธุ์ชาวเลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและพังงา การสนับสนุนคุณภาพชีวิต การประกาศเขตคุ้มครองวิถีชีวิต การขับเคลื่อนชุมชนแบบมีส่วนร่วม และเปิดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล “บ้านหินลูกเดียว” ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
ชุมชนบ้านหินลูกเดียว เป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมอแกลน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันมายาวนาน โดยรัฐมนตรี พม. ได้พบปะและให้กำลังใจพี่น้องในชุมชน พร้อมมอบเครื่องอุปโภคบริโภคและเงินสงเคราะห์ครอบครัวเปราะบาง พร้อมเยี่ยมชมกลุ่มภูมิปัญญาสมุนไพรรักษาโรค และกลุ่มประมงพื้นบ้านในพื้นที่หลักหมุดเขตคุ้มครอง
“กระทรวง พม. ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตพี่น้องชาวเล ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใด หากอาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ทุกคนคือลูกหลานของเรา ต้องได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม” นายวราวุธกล่าว พร้อมระบุว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ไม่เพียงเพื่อรับฟังปัญหาเท่านั้น แต่ยังเป็นการเฉลิมฉลองและเชิดชูวิถีชีวิตของชาวมอแกลน ซึ่งมีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาเฉพาะตัวที่ควรได้รับการอนุรักษ์สืบไป
รมว.พม. ยังกล่าวอีกว่า เรานำความห่วงใยจากกระทรวงฯ มาสู่พี่น้องชาวเล ทั้งในรูปแบบของความช่วยเหลือเบื้องต้น และการผลักดันให้เกิดระบบการดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ โดยทำงานผ่านอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่
นายวราวุธ ย้ำในช่วงท้ายว่า “ในยุคที่สังคมต้องเดินหน้าควบคู่กันทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและความหลากหลายทางวัฒนธรรม รัฐต้องเป็นพลังสนับสนุน ไม่ใช่เพียงแค่การช่วยเหลือ แต่ต้องร่วมสร้างอนาคตให้กับชุมชนเหล่านี้ได้อย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้ บ้านหินลูกเดียวได้รับการประกาศให้เป็น “เขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล” แห่งที่ 2 ของประเทศ และนับเป็นแห่งที่ 19 ของการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ ส่วนชุมชนบ้านแหลมหลา (ท่าฉัตรไชย) ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เป็นอีกหนึ่งชุมชนมอแกลนที่มีวัฒนธรรมผสมผสานกับคนในท้องถิ่นอย่างกลมกลืน
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจในการพัฒนาองค์กรชุมชนให้เข้มแข็ง โดย พอช. ได้สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มเปราะบางผ่านโครงการต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีการดำเนินงานครอบคลุมทั้ง 18 ตำบล 3 อำเภอ คิดเป็น 100% ของพื้นที่จังหวัด โดยมีทั้งโครงการบ้านมั่นคง บ้านพอเพียง การแก้ไขปัญหาที่ดิน และกองทุนสวัสดิการชุมชน
นายกฤษดา กล่าวต่อ พอช. สนับสนุนโครงการบ้านมั่นคง จำนวน 16 โครงการ รวม 2,084 ครัวเรือน ด้วยงบสนับสนุนรวมกว่า 108 ล้านบาท และโครงการบ้านพอเพียงอีกเกือบ 500 ครัวเรือน รวมทั้งยังมีการสนับสนุนงานด้านสวัสดิการชุมชน การพัฒนาอาชีพ และการจัดการที่ดินทำกิน
“หัวใจของการพัฒนา คือการให้คนในชุมชนลุกขึ้นมาจัดการตนเอง พอช. ทำงานร่วมกับเครือข่ายชาวเลในรูปแบบคณะทำงานนโยบายระดับพื้นที่ (Area-based Policy Working Group) เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินทำกิน การฟื้นฟูวิถีชีวิต และการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวเล” นายกฤษดากล่าว
ข้อมูลล่าสุดยังระบุว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลในจังหวัดภูเก็ตจำนวน 18 กองทุน มีสมาชิกกว่า 28,000 คน มีเงินกองทุนสะสมรวมกว่า 100 ล้านบาท และมีการให้สวัสดิการแก่สมาชิกกว่า 30,000 ราย
รมว.พม. และคณะ ยังได้เดินทางลงพื้นที่ จังหวัดพังงา เพื่อเปิดโครงการ “ชมวิถีชาวเล ยลเสน่ห์มานิ - Charming of the Sea, Let’s See Mountain 2025” และเยี่ยมชมนิทรรศการ “พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์: พลังที่ถูกส่งต่อจากภูเขาถึงทะเล” ซึ่งเน้นย้ำบทบาทของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวมานิในฐานะผู้ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และผู้สืบสานวัฒนธรรมดั้งเดิม
กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันของไทย ได้แก่ มอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมานิที่อาศัยในพื้นที่ป่า ต่างมีวิถีชีวิตและอัตลักษณ์เฉพาะที่ต้องได้รับการส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาอย่างเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรม
การลงพื้นที่ในครั้งนี้ สะท้อนเจตนารมณ์ของรัฐบาลและ พม. ในการผลักดันให้ “ทุกคนบนแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะอยู่บนเขา หรือริมทะเล ต้องได้รับโอกาสในการมีชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรี และสามารถรักษาอัตลักษณ์ของตนเองไว้ได้อย่างมั่นคง”.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'วราวุธ' เผยพบ ทักษิณ' ที่งานศพ 'บิ๊กสุ' ไม่ได้คุยการเมือง นายกฯไม่ได้ส่งสัญญาณปรับครม.
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณี
“วราวุธ” เผย ทีม พม.ตราด ลงพื้นที่ชายแดน ร่วมติดตามสถานการณ์-ให้กำลังใจ-สำรวจแนวทางการอพยพคน กลุ่มเปราะบาง
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2568 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.)
พอช. แจงข้อเท็จจริง “บ้านมั่นคงเพชรธนา” อุดรธานี – เดินหน้าแก้ปัญหาสหกรณ์ ฟื้นฟูความเชื่อมั่น
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ชี้แจงกรณีร้องเรียนโครงการบ้านมั่นคงเพชรธนา จังหวัดอุดรธานี ย้ำให้ความสำคัญกับความโปร่งใสของกระบวนการ
กาญนะจ๊ะ เดินหน้าระบบจัดการ-ตั้งศูนย์กระจายสินค้าชุมชน สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจฐานราก
พอช. จับมือขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี ระดมความคิดวางแนวทางจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าชุมชนต้นแบบ พัฒนาเครือข่ายการตลาด สร้างเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน พร้อมหารือโมเดลบริหารจัดการข้อมูลและทุนในพื้นที่
พม. จับมือเครือข่าย จัดกิจกรรม หนุนพลังครอบครัว-ชุมชน ริมคลองเปรมประชากร พัฒนาเด็ก เยาวชนยั่งยืน พร้อมแก้ปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษา
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick off โครงการ “Prem’s Plearn” จุดพลังครอบครัว ชุมชน ร่วมพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ และการส่งเสริมบทบาทของครอบครัวในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนให้เติบโตเป็นพลเมืองที่ดี มีคุณภาพ
ชทพ.แถวตรง! โหวตเหมือนวิปรัฐบาล
'วราวุธ' นั่งหัวโต๊ะถก สส. พรรคชาติไทยพัฒนา โหวตทิศทางเดียวกับมติวิป รบ.