หุ่นจำลองพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา ข้อสันนิษฐานสะท้อนความรุ่งเรืองของราชอาณาจักร

 รูปแบบสันนิษฐานหุ่นจำลองพระราชวังหลวง

“พระราชวังหลวง”สมัยกรุงศรีอยุธยา อยู่ตรงไหน หลายคนอาจสงสัย  ซึ่งจริงๆแล้ว ร่องรอยของพระราชวังหลวง ปรากฎอยู่ใกล้กับวัดพระศรีสรรเพชญ์   แต่นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาทั่วไป อาจจะไม่ได้สังเกตเห็น เพราะร่องรอยที่ปรากฎนั้น หลงเหลือเพียงซากฐานราก  มิหนำซ้ำ ยังปกคลุมไปด้วยต้นไม้หญ้าเป็นพงรก  ต่อมาเมื่อปลายปี พ.ศ.2558 บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จึงได้ร่วมกับกรมศิลปากร จัดสร้างอาคารสื่อการเรียนรู้พร้อมหุ่นจำลองรูปแบบสันนิษฐานพระราชวังหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยา ภายในมีหุ่นจำลองพระราชวังหลวงเต็มรูปแบบ โดยมีป้ายสันนิษฐานพระราชวังหลวง ที่จัดแสดงแบบ 3 มิติ พร้อมกับนิทรรศการต่างๆ เพื่อให้ผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ได้เพิ่มความรู้ หรือผู้มาเที่ยวชมได้เช้าใจความเป็นกรุงศรีอยุธยา ความเจริญรุ่งเรือง ก่อนล่มสลาย  ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น


 จนกระทั่งในช่วงสงกรานต์ปี พ.ศ.2560 ได้เกิดเหตุไฟฟ้าลัดวงจร ไฟไหม้อาคารสื่อการเรียนรู้พร้อมหุ่นจำลองรูปแบบสันนิษฐานพระราชวังหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยา ทำให้อาคารแห่งนี้เกิดความเสียหายทั้งหมด จึงเป็นที่มาในการบูรณะ ปรับปรุง ซ่อมแซมพลิกฟื้นอาคารจำลองพระราชวังหลวงให้กลับมาอีกครั้ง

ประทีป เพ็งตะโก อดีตอธิบดีกรมศิลปากร

เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงความเป็นมาและความสำคัญของพระราชวังหลวง กรมศิลปากร จึงจัดการถ่ายทอดสด ผ่าน รายการไขความรู้จากครูกรมศิลป์ “พระราชวังหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยา…การสันนิษฐานและการสื่อความหมาย” โดยวิทยากร ประทีป เพ็งตะโก อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม ราชบัณฑิต สุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3

เรื่องราวของพื้นที่พระราชวังหลวง ประทีป เพ็งตะโก อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้ให้ข้อมูลว่า พระราชวังหลวงนับเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นศูนย์กลางบริหารราชการแผ่นดิน อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่ก่อกำเนิดศิลปะ สถาปัตยกรรม งานปราณีตศิลป์นานาประการ ที่ประดับตกแต่งในสิ่งก่อสร้างต่างๆ สร้างโดยพระเจ้าอู่ทอง และในระยะแรกใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ 7 พระองค์ ตั้งแต่พระเจ้าอู่ทอง ถึงเจ้าสามพระยา มีการสันนิษฐานว่ามีพระที่นั่งสำคัญ 5 หลัง ได้แก่ พระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาท พระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาท พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท พระที่นั่งมังคลาภิเษก และพระที่นั่งตรีมุข แต่ไม่ทราบตำแหน่งที่ตั้งของพระที่นั่งเนื่องจากสภาพพื้นที่ได้ถูกเปลี่ยนแปลง

 ประทีป กล่าวต่อว่า ในระยะที่สอง ตั้งแต่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงยกบริเวณพระราชวังเดิม ได้แก่ พระที่นั่ง 3 องค์นั้น ให้เป็นพุทธาวาส คือวัดพระศรีสรรเพชญ์  รัชกาลที่ 5 ทรงเคยพระราชวินิจฉัยในเรื่องนี้ว่า  พระที่นั่งหลัก 3 องค์น่าจะอยู่บริเวณที่ตั้งเจดีย์ 3 องค์ของวัด  หลังจากนั้นให้มีการย้ายพระราชวังมาสร้างใหม่ทางด้านเหนือของพระราชวังเดิมใกล้กับแม่น้ำลพบุรี และมีการสร้างพระที่นั่งขึ้นอย่างน้อย 2-3 หลัง คือ พระที่นั่งเบญจรัตน์มหาปราสาท พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท  และพระที่นั่งมังคลาภิเษก ซึ่งป็นหลังที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวิหารสมเด็จในช่วงสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

บรรยากาศในการบรรยายเกี่ยวกับรูปแบบสันนิษฐานพระราชวังหลวง

ส่วนในระยะที่สาม  ในช่วงสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระที่นั่งมังคลาภิเษก  ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวิหารสมเด็จ และโปรดเกล้าฯให้สร้างพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ ทำให้ขยายกำแพงเมืองออกมาทางด้านหน้าจรดท้ายเขตวัดธรรมิกราช ซึ่งพื้นที่นี้ส่วนหน้าเรียกว่าท้องสนามหน้าจักรวรรดิ์ และพื้นที่ตอนนี้ก็เป็นพื้นที่ตั้งส่วนราชการสำคัญต่างๆในเวลาต่อมา โดยสรุปพื้นที่การใช้สอยของพระราชวังหลวงในช่วงที่เจริญสูงสุดคือปลายสมัยอยุธยา แบ่งพื้นที่ออกเป็น 7 ส่วน ได้แก่  1.เขตพระราชทานฐานชั้นนอก พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์   2.เขตพระราชฐานชั้นกลาง ตั้งของหมู่มหาปราสาม 3 หลัง คือ พระที่นั่งวิหารสมเด็จ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ 3.เขตพระราชฐานชั้นใน พื้นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ พระที่นั่งเบญจรัตน์มหาปราสาท ปัจจุบันคือ พระที่นั่งตรีมุข  4. พื้นที่สวนไพชยนต์เบญจรัตน์ 5. สวนองุ่นและเขตสระแแก้ว 6.ตำหนักสวนกระต่าย และ7. วัดพระศรีสรรเพชญ์

ดร.สันติ เล็กสุขุม ราชบัณฑิ

ในการศึกษาสันนิษฐานเพื่อนำมาออกแบบหุ่นจำลองพระราชวังหลวง ดร.สันติ เล็กสุขุม ราชบัณฑิต อธิบายว่า การทำพระราชวังหลวง มีการศึกษาทั้งข้อมูลของนายประทีป เพ็งตะโก ที่กล่าวข้างต้น และการลงพื้นที่ศึกษา ซึ่งก็มีการถกเถียงกันเพราะเนื่องจากพื้นที่ตั้งพระราชวังหลวง เหลือเพียงซากฐาน ต่ออิฐ มีสภาพรกร้าง แต่ในอดีตสถานที่แห่งนี้ เคยเป็นศูนย์กลางความเจริฐของกรุงศรีอยุธยา  หลังการศึกษาอย่างละเอียด ทำให้ตกผลึก กลั่นกรองและตรวจสอบ เกิดข้อสันนิษฐาน ก่อนจะสร้างเป็นโมเดลแบบหุ่นจำลองขึ้นมา  โดยแรงบันดาลใจส่วนใหญ่ใช้พระราชวังในกรุงเทพฯเป็นต้นแบบ  ส่วนการประดับใช้ศิลปะสมัยอยุธยา ซึ่งอิงมาจากรูปแบบในวัดร้าง หรือเจดีย์ในสมัยรัตนโกสินทร์  แต่มีการปรับให้เป็นศิลปะอยุธยา ซึ่งมีรายละเอียดที่ปราณีตและต้องรอบคอบอย่างมาก ดังนั้นผู้คนที่มาชมก็จะได้รับรู้ความสำคัญ สัมผัสและได้สนุกในการชมพระราชวังหลวง  

ส่วนพระคลังและพระที่นั่งตรีมุข

สุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 กล่าวว่า หลังจากอาคารสื่อการเรียนรู้พระราชวังหลวง เกิดเหตุไฟไหม้ได้เกือบ 1 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ของอาคารได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องเข้าตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อปิดคดี  หลังจากนั้นทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรจึงได้เข้าพื้นที่ในปลายปี พ.ศ.2561 เพื่อตรวจสอบโครงสร้าง เพราะมีแนวคิดที่จะรื้อฟื้นอาคาร และหุ่นจำลองให้กลับมาอีกครั้ง จากการประเมินพบว่า ตัวอาคารเสียหายจนไม่สามารถใช้โครงสร้างเดิมได้ จึงได้ตัดสินใจรื้อถอน

พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์

สุกัญญา กล่าวต่อว่า กรมศิลปากร มีแนวคิดในการสร้างอาคารสื่อการเรียนพระราชวังหลวง โดยในปีงบประมาณ 2564 ได้ดำเนินการจัดสร้างตัวอาคารสื่อการเรียนรู้พระราชวังหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยาในรูปแบบและตำแหน่งเดิม ขนาดอาคารกว้าง ยาวด้านละ 12 เมตร หลังคาทรงปั้นหยา และแท่นฐานสำหรับจัดแสดงหุ่นจำลองสันนิษฐานพระราชวังหลวง ขนาดกว้าง ยาว ด้านละ 4 เมตร สูง 80 เซนติเมตร จากพื้นอาคาร ทั้งนี้ทางกรมศิลปฯยังได้ตั้งคณะทำงานทำหุ่นจำลองขึ้นมาอีกด้วย ปัจจุบันตัวอาคารแล้วเสร็จประมาณ 90% ควบคู่ไปกับการผลิตหุ่นจำลองโดยสำนักสถาปัตยกรรม ซึ่งมีความคืบหน้าไปกว่า70-80% พร้อมทั้งการดูแลความปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้น

พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการอิสระ เผยดูละครพรหมลิขิตวันแรกก็ติดงอมแงม พร้อมอธิบายการเมืองยุคอยุธยาตอนปลาย

นายภัทร เหมสุข นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กกล่าวถึงละครย้อนยุคเรื่อง "พรหมลิขิต" ว่า วันนี้ (18 ต.ค.) ตอนสองทุ่มครึ่งเหมือนโลกหยุด งานการไม่ต้องทำกันแล้วเพราะทุกคนอยากดูตอนแรกของ พรหมลิขิต ep1 ถ้าทุกคนหยุดผมก็ต้องหยุดด้วย ทำงานอยู่คนเดียวดูเหมือนเป็นคนทำตัวขวางโลก

'อดีตบิ๊ก ศรภ.' ชี้กรุงศรีฯ ไม่แตกแน่! หากสลิ่ม 61-80 ปีออกมาใช้สิทธิ์เลือกผู้ว่าฯ กทม.

'พล.ท.นันทเดช' กางสถิติไล่เรียงกลุ่มอายุตั้งแต่ 18-80 คาดการณ์การลงคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ ระหว่างฝ่ายสลิ่ม-ทักษิณ-3 นิ้ว ชี้กลุ่มชี้ขาดอยู่ที่ช่วงวัย 61-80 ปี