'ปรับตัว เปลี่ยนแปลง' งานอาร์ตเพื่อพัฒนาเมือง

คนรักงานศิลปะและอยากร่วมพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ต้องไปนิทรรศการ”ปรับตัว เปลี่ยนแปลง” (CITY ADAPTATION Lab!) งานที่ท้าทายนักสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน นักออกแบบ สถาปนิก นักอนุรักษ์ นักวิชาการ นักแสดง และยูทูปเบอร์  มาระดมความคิดสะท้อนมุมมองในการปรับตัวของผู้คนอย่างสมดุลกับธรรมชาติ และสถานการณ์ปัจจุบันที่เผชิญกับการแพร่ระบาดชองโควิด-19 เพื่อความอยู่รอดท่ามกลางกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงผ่านมุมมองทัศนคติเชิงบวก ที่สำคัญยังกระตุกให้สังคมรู้ในประเด็นที่หลากหลายซึ่งซ่อนอยู่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ทั้งฝุ่นพิษ PM 2.5  น้ำเน่าเสีย ขยะล้นเมือง ขยะอาหาร หรือแม้แต่พื้นที่เสื่อมโทรมอย่างชุมชนแออัด พร้อมกับส่งเสริมความร่วมมือกับภาคีต่างๆ ในสังคมผ่านผลงานศิลปะร่วมสมัยในรูปแบบที่หลากหลายจัดแสดงที่หอศิลปกรุงเทพฯ    

สำหรับนิทรรศการนี้ยังถือเป็นการบุกเบิกการนำเสนอรูปแบบการปรับตัวในการจัดนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย ด้วยนวัตกรรม Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR)  ในการนำเสนอไอเดียทางศิลปะเพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงและสร้างประสบการณ์การรับชมนิทรรศการได้ทุกที่ทุกเวลา โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ”เมืองเปลี่ยนแปลง”  จัดโดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ มูลนิธินโยบายสาธารณะไทย และ วัน แบงค็อก

ในส่วนนักสร้างสรรค์ ประกอบด้วย กัลยา โกวิทวิสิทธิ์ และ ผศ. สมรรถผล ตาณพันธุ์, คณิณญาณ จันทรสมา, ดิลกลาภ จันทโชติบุตร และเสกสรร รวยภิรมย์ (นา คาเฟ่ ณ บางกอก 1899), ธนวัต มณีนาวา, ธเนศ วรากุลนุเคราะห์, นคร ลิมปคุปตถาวร, นท พนายางกูร, ปฐมา หรุ่นรักวิทย์, พิชัย แก้ววิชิต, ภูศนัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์ และครอบครัว, เมธาวี อ่างทอง, สยาม อัตตะริยะ, รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต, สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ และ รศ.ดร. สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ นักสร้างสรรค์ร่วม บริษัท อินฟินิตี้ เดฟ จำกัด, พัตริกา ลิปตพัลลภ, นาวน์ สตูดิโอ ส่วนภัณฑารักษ์ วิภาวี คุณาวิชยานนท์ และภัณฑารักษ์ร่วม รินรดา ณ เชียงใหม่

มีไฮไลต์ที่อยากชวนมาชมและช่วยกันคิดหาวิธีในการเปลี่ยนแปลง ปรับตัว อยู่ร่วมกับเมืองนี้อย่างมีสุข เช่น ภาพถ่ายชุด”อารมณ์-โรค 2564”  จำนวน 22 ชิ้น ของพิชัย แก้ววิชิตที่จัดแสดงในครั้งนี้  เป็นภาพถ่ายของกรุงเทพฯ เมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องความวุ่นวาย คึกคัก มีสีสัน  และน่าค้นหา ภาพบอกเล่าความรู้สึกของช่วงเวลาที่เมืองมีบรรยากาศที่เปลี่ยนไปพร้อมๆกับวิถีชีวิตของผู้คน  ศิลปินตั้งคำถามนานแค่ไหนที่เราไม่ได้เบียดกับคนอื่นบนรถเมล์ นานแค่ไหนที่ต้องมีหมอพยาบาล ผู้เสียสละ ผู้กล้าหาญที่สร้างความหวังให้ทุกคนในช่วงเวลาของสงครามเชื้อโรคนี้  วิถีชีวิตคนเปลี่ยนไป ถนนว่างเปล่า  การเดินทางสำรวจภายใจจึงเริ่มขึ้นในบ้านของศิลปินผ่านสิ่งของ สะท้อนความรู้สึกอีกแง่มุม ทำให้เห็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเมือง  สร้างความเข้มแข็งพอที่จะให้กำลังใจคนรอบตัว

หรือประติมากรรมแขวนลอยชื่อ”สมดุลชีวิต” ที่ประกอบไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันและแคมป์คนงาน  เช่น ผงซักฟอก ปลากระป๋อง น้ำมันหมูแบ่งขาย น้ำปลา กระติ๊บข้าวเหนียว รองเท้าแตะ ถุงมือ หมวก  เสื่อ ยาทัมใจ ยาเส้น หลอดไฟ ค้อน  ชุดสังฆทาน ธูปเทียน  ไปจนถึงผ้ายันต์  เป็นผลงานสร้างสรรค์ของปฐมมา หรุ่นรักวิทย์ สถาปนิก ที่ทำงานคลุกคลุกับชุมชนแออัดมานาน  ศิลปินได้สร้างงานศิลปะแง่งามสะท้อนถึงความสมดุลแห่งชีวิต ท่ามกลางข้อจำกัดต่างๆ ผ่านประติมากรรมนี้ สิ่งของที่ใช้มีทั้งให้ความปลอดภัย ความสะดวกสบายทางกาย รวมไปถึงความอบอุ่นภายในใจของผู้คนจำนวนมากที่อาศัยในชุมชนแออัด มีฐานะยากจน  ขาดโอกาสทางสังคม บ้านเรือนที่สร้างก็ไม่ถูกสุขลักษณะ แต่ศิลปินชวนให้คนดูตระหนักคนในชุมชนแออัดกลางกรุงเป็นฐานความเจริญของเมือง  เป็นฟันเฟืองสำคัญหนุนธุรกิจใหญ่ และชวนให้ช่วยกันหาแนวทางยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชมแออัดเหล่านี้ ลดการเป็นเมืองโตเดี่ยว  รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำ คำพูดที่คนในสังคมคุ้นเคย แต่ยังขาดการแก้ปัญหาจริงจัง

ขยะอาหารที่หลายคนมองข้ามเป็นอีกประเด็นที่ศิลปิน ดิลลาภ จันทโชติบุตร และเสกสรร รวยภิรมย์ จาก นา คาเฟ่ ณ บางกอก 1899 หยิบยกนำมาสร้างผลงานศิลปะจัดวาง วัสดุเก็บตก และสื่อผสานโลกเสมือนชื่อว่า  “CURE ” เล่นกับคำว่า ถนอม เป็นวิธีการแปรสภาพอาหารเหลือใช้ให้อายุยืนยาวขึ้น,  เยียวยา แปรสภาพอาหารอย่างสร้างสรรค์ ส่งผลดีต่อกายและใจ ,รักษา สื่อความรับผิดชอบต่ออาหาร ช่วยรักษาสภาพแวดล้อมโลกใบนี้ได้  ผลงานที่จัดแสดงเกิดขึ้นจากการสำรวจและทดลองเป็นเวลานานของศิลปินนาคาเฟ่  ภายใต้โครงการนาโปรเจค ศิลปินตั้งใจสื่อสารถ้ามีการจัดการที่ดี หรือมีวิธีถนอมอาหารที่ทุกคนสามารถทำได้เองคงจะดีไม่น้อย หรือแค่ตักอาหารพอกิน หมั่นตรวจเช็กวันหมดอายุของอาหาร  ทุกคนร่วมแก้ไขปัญหานี้ได้ เพราะอาหารที่ผลิตและถูกทิ้งเป็นขยะอาหาร ส่วนใหญ่ยังเป็นอาหารที่บริโภคได้ เป็นการสูญเสียทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ในขณะที่คนมีรายได้น้อยในเมืองยังท้องหิว

อีกไฮไลต์”ปรับตัว!” ผลงานเสนอสิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวันท่ามกลางโควิดผ่านการเปลี่ยนรูปแบบของสิ่งที่เราคุ้ยเคยเป็นสิ่งประดิษฐ์ในรูปแบบใหม่ ดูแล้วสนุกสนาน แปลกตา อยากชมผลงานเต็มๆ ไปที่ชั้น7หอศิลปกรุงเทพฯ จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 24 เมษายน 2565  บอกเลยว่าแต่ละผลงานมุมมองดีมาก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สร้างเมืองน่าอยู่ผ่านศิลปะ'กรุงเทพฯ242'

ผลงานศิลปะจากการร่วมสำรวจเมืองของเหล่าศิลปินและนักสร้างสรรค์หลากหลายสาขาในฐานะพลเมืองกรุงเทพฯ เปิดให้ชมแล้วในนิทรรศการ "กรุงเทพฯ ๒๔๒" (Bangkok 242 Space of Sharing)   ศิลปินแต่ละคนมอง กทม.ผ่านเลนส์ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรม

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทอดพระเนตรงานศิลปะการกุศลรามาฯ รักษาศิลป์

29 ก.ค.2566 - เวลา 14.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานศิลปะการกุศล “รามาฯ รักษาศิลป์ : ส่งต่อความสุข สานต่อการ “ให้” ผ่านงานศิลปะ” 

คนมุงเพียบ! '3 นิ้วด้อมส้ม' ชุมนุมใหญ่หน้าหอศิลป์ ขู่อีกแล้วมืดฟ้ามัวดิน

ตามที่เพจเฟซบุ๊กกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมชน โพสต์ข้อความประกาศจัดกิจกรรมชุมนุมใหญ่ "Restpect My Vote" เพื่อส่งเสียงถึง ส.ส. และ ส.ว.ให้เคารพเสียงของประชาชน ที่บริเวณหน้าหอศิลป์ กทม.

ไร้จิตสำนึก! แฉคนเดินขบวน 'บางกอกไพรด์' ทำผลงานศิลปะพังเสียหาย ทิ้งขยะเรี่ยราด

กรณีการจัดงาน Bangkok Pride 2023 ซึ่งมีการเดินขบวนพาเหรดรณรงค์ในเรื่อง LGBTQ เริ่มต้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา