กสม.แจงผลงานครึ่งปีมีร้องเรียน 356 เรื่อง!

กสม.แถลงผลงานรอบครึ่งปี มีร้องเรียนเข้ามา 356 เรื่อง สิทธิในชีวิตและร่างกายถูกร้องมากที่สุด เน้นประสานการคุ้มครองเพื่อความรวดเร็วในการแก้ปัญหา

12 พ.ค.2565 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงผลการดำเนินงานรอบครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565) โดยสรุปภาพรวม 3 ด้าน ได้ดังนี้

1.ด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในรอบครึ่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำนักงาน กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียน รวมทั้งสิ้น 356 เรื่อง โดยเรื่องที่รับไว้ดำเนินการ มีจำนวน 284 เรื่อง คิดเป็น 79.77% และเรื่องที่ไม่รับไว้พิจารณา มีจำนวน 72 เรื่อง คิดเป็น 20.23% เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องคดีต่อศาลแล้ว จึงต้องห้ามไม่ให้ กสม.รับไว้พิจารณา หรือเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่ขององค์กรอิสระอื่น เช่น การร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริต การเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นเรื่องที่ไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอว่าเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ทั้งนี้ ประเภทสิทธิที่ร้องเรียนมายัง กสม. มากที่สุด 5 ลำดับแรก เรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ 1. สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย 2.สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีตัวเลขการร้องเรียนต่างจากสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายเพียงเล็กน้อย 3. สิทธิและความเสมอภาคทางเพศ สิทธิสตรี 4.สิทธิชุมชน และ 5.สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน

สำหรับเรื่องร้องเรียนจำนวน 284 เรื่องที่ กสม. รับไว้ดำเนินการนั้น แบ่งเป็นการดำเนินการดังนี้ 1.การตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน 161 เรื่อง คิดเป็น 45.22% และในช่วงเวลาเดียวกันสามารถตรวจสอบเรื่องเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 108 เรื่อง พร้อมมีข้อเสนอแนะในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือคณะรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการ 2.การประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 68 เรื่อง คิดเป็น 19.10% โดยสามารถประสานการคุ้มครองฯ แล้วเสร็จจำนวน 62 เรื่อง เช่น การเร่งรัดการดำเนินคดีให้ผู้ร้องได้รับสิทธิประโยชน์ในทางราชทัณฑ์ การเร่งรัดกระบวนการพิจารณาสถานะบุคคล การแก้ไขปัญหาการประเมินผลการศึกษาตามการจัดการศึกษาโดยครอบครัว เป็นต้น 3.การดำเนินการช่วยเหลื่ออื่น ๆ 51 เรื่อง คิดเป็น 14.32% โดยสามารถให้ความช่วยเหลือได้ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย และการส่งเรื่องให้สภาทนายให้ความช่วยเหลือทางคดี และ 4.การดำเนินการศึกษา วิจัย หรือจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงระบบ 4 เรื่อง ได้แก่ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562, ข้อเสนอแนะกรณีการจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะสำหรับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ, ข้อเสนอแนะกรณีการดำเนินคดีล่าช้าอันเกี่ยวเนื่องกับการอายัดตัว และ ข้อเสนอแนะกรณีร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. ....

2.ด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สำนักงาน กสม. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนร่วมกับภาคีเครือข่ายที่หลากหลาย โดยในครึ่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมความร่วมมือ เช่น การวางแผนจัดทำบันทึกความร่วมมือด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเพื่อส่งเสริมสิทธิของกลุ่มคนเปราะบางร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประเทศไทย การจัดเสวนาวิชาการร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายด้านความหลากหลายทางเพศ เพื่อระดมความเห็นในการแก้ปัญหาสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะ เรื่อง สิทธิและความปลอดภัยของคนเดินเท้า ร่วมกับมูลนิธิเมาไม่ขับ และการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคม Connect Fest ครั้งที่ 2 ประเด็นความเหลื่อมล้ำ ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม 50 องค์กร

สำหรับการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนให้แก่สังคม สำนักงาน กสม. ได้จัดทำแคมเปญรณรงค์ผ่านการสื่อสารสาธารณะในหัวข้อรักไม่ละเมิด ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิในการกำหนดเจตจำนงในชีวิตของเด็กและเยาวชน และจับอย่างระวัง ซึ่งเป็นการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิผู้ต้องหาและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่นำไปสู่การสนับสนุนให้ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทําให้บุคคลสูญหาย ออกมาใช้บังคับได้จริง นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ผู้แทนหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีกรณีร้องเรียนจำนวนมากให้ร่วมเป็นเครือข่ายการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เข้มแข็ง รวมทั้งมีการจัดประกวดภาพถ่ายสิทธิมนุษยชนและคลิปสั้น TikTok ในหัวข้อสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน โดยผลงานที่สะท้อนมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้มีการจัดแสดง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนมี.ค.2565

3.การเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน นอกจากการติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศทุกมิติอย่างต่อเนื่อง สำนักงาน กสม. ได้ติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเด็นเฉพาะที่สำคัญ ได้แก่ 1. แรงงานข้ามชาติ และ 2.สถานะบุคคลและผู้หนีภัยการสู้รบในเมียนมา สรุปได้ดังนี้ ประเด็นแรงงานข้ามชาติ เมื่อเดือนธันวาคม 2564 สำนักงาน กสม. ได้จัดประชุมรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อกรณีปัญหาการขาดแคลนแรงงานข้ามชาติที่นำไปสู่การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยได้มีหนังสือลงวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ถึงนายกรัฐมนตรี แจ้งข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีดังกล่าว ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2565 กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. โดยเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามมาตรา 44 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด และวางแนวทางการนำคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาและกัมพูชาที่เข้ามาทำงานบริเวณชายแดนให้เป็นไปในลักษณะไป – กลับ หรือตามฤดูกาลในพื้นที่แล้ว

สำหรับประเด็นสถานะบุคคลและผู้หนีภัยการสู้รบในเมียนมา เมื่อเดือนมกราคม 2565 กสม. ได้ลงพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดระนองเพื่อติดตามสถานการณ์ของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากกระบวนการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลที่มีความล่าช้า ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ได้มีการประชุมระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ต่อแนวทางในการช่วยเหลือและดูแลผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาและประชาชนไทยบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา และล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2565 กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (นางปรีดา คงแป้น และนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช) ได้เข้าพบและหารือร่วมกับอธิบดีกรมการปกครองถึงแนวทางในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาแก่กลุ่มบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น และผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาในประเทศไทยด้วย

“นอกจากนี้ เมื่อปลายเดือนมี.ค. 2565 กสม. ไทย ยังได้รับทราบผลการปรับคืนสถานะ A จากการประเมินของคณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (SCA) ภายใต้กรอบความร่วมมือเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (GANHRI) อันเป็นผลจากความพยายามอย่างต่อเนื่องของ กสม. ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย รวมทั้งความพยายามในการผลักดันให้มีการแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายที่อาจกระทบความเป็นอิสระของ กสม. ซึ่งล่าสุดเมื่อปลายเดือนเมษายน 2565 เว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้เผยแพร่ผลการปรับเลื่อนสถานะของ กสม. ไทยอย่างเป็นทางการแล้ว”เลขาธิการ กสม. กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม. แนะ กรมราชทัณฑ์ แก้ไขระเบียบตัดผมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี

กสม. แนะ กรมราชทัณฑ์ แก้ไขระเบียบการตัดผมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี ย้ำปฏิบัติให้สอดคล้องกับเพศวิถี วัฒนธรรมความเชื่อและศาสนาผู้ต้องขัง

กสม.ห่วงการละเมิดสิทธิเด็ก นักเรียนรุมทำร้ายกัน-ให้เด็กถอดเสื้อผ้าทำกิจกรรม

กสม. ห่วงการละเมิดสิทธิเด็ก กรณีนักเรียนรุมทำร้ายกันและการให้เด็กถอดเสื้อผ้าในการทำกิจกรรมในโรงเรียน ย้ำโรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย

กสม. ชี้ ประกันภัยโรคโควิด 19 ละเมิดสิทธิผู้บริโภค จี้เยียวยาผู้ที่ไม่ได้รับค่าสินไหม

กสม. ชี้กรณีประกันภัยโรคโควิด 19 ละเมิดสิทธิผู้บริโภค แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข เยียวยาผู้เอาประกันภัยที่ไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทน

กสม. จี้หน่วยงานรัฐ เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวทำร้ายร่างกายหมอที่ภูเก็ต คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

‘ทนายดัง’ นัดร้อง ประธาน ก.อ. สั่งพักงาน ‘บิ๊กอัยการ’ ถูกสอบสวนผิดวินัยร้ายแรง

ในวันที่ 4 มี.ค. เวลา 10.00 น นายวันชัย บุญนาค ทนายความอิสระ จะเดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายเรวัตร จันทร์ประเสริฐ ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) และคณะกรรมการอัยการทั้งคณะ

เวทีเสวนา กสม. พอใจการบังคับใช้กม.ป้องกันการทรมานฯ หารือ ตร.พัฒนาโรงพักต้นแบบ

เวทีเสวนากสม. พอใจการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานฯแนะสร้างความตระหนัก เสริมการมีส่วนร่วม เข้าเป็นภาคี OPCAT พร้อมหารือ ตร. ยกระดับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นต้นธาร ร่วมพัฒนาโรงพักต้นแบบไร้การทรมาน