เหลือเฟือ! 'ลานคนเมือง' รองรับม็อบได้ 1 พันคน 'ชัชชาติ' ขอเอี่ยวหาไอเดียพัฒนาเมือง

“ชัชชาติ” เชื่อประชาชนคือเจ้าของพื้นที่กทม. ชี้ชุมนุมที่ลานคนเมือง 24 มิ.ย.นี้ ให้ใช้ที่แค่ 60% เกรงรบกวนผู้อื่น เผยกรุงเทพฯบรรยากาศดีขึ้น อย่าทำให้กลายเป็นทะเลาะเรื่องอื่น

24 มิ.ย.2565 - ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) (กทม.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง จัดให้มีสถานที่ใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ ว่า ประกาศออกมาตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.แล้ว แต่ในจังหวัดอื่นๆ นั้น เขาประกาศกันไปหมดแล้ว ซึ่งจริงๆ เราก็เชย เพราะ จังหวัดบุรีรัมย์ เขาก็ประกาศไปเมื่อปี 2563 แล้ว 23 พื้นที่ ก็คงไม่ต้องตื่นเต้นมาก โดยกทม.ประกาศไปแล้ว 7 จุด ได้แก่ 1.ลานคนเมือง เขตพระนคร 2.ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง 3.ที่สาธารณะใต้สะพานรัชวิภา ใกล้ซอยวิภาวดีรังสิต 36 เขตจตุจักร 4.ลานจอดรถหน้าสำนักงานเขตพระโขนง 5.ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี 6.ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ และ 7.สวนมณฑลภิรมย์ เขตตลิ่งชัน โดยแต่ละจุดจะมีผังชัดเจนว่าสามารถทำกิจกรรมตรงจุดไหนได้บ้าง ยกตัวอย่างเช่น ลานคนเมือง ฝั่งทิศใต้ (ด้านวัดสุทัศน์) สามารถใช้พื้นที่ได้ ร้อยละ 60 จากพื้นที่ทั้งหมด หรือประมาณ 3,722 ตารางเมตร รองรับผู้ชุมนุมได้ 1,000 คน ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น กำหนดพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร รองรับได้ 800 คน

“เนื่องจากเป็นประกาศครั้งแรกของกรุงเทพมหานคร ผู้ชุมนุมจะต้องปฏิบัติตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด กทม.มีหน้าที่อำนวยความสะดวก จัดพื้นที่ให้ ก็คงมีเรื่องความปลอดภัย ห้องน้ำ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน มี CCTV เก็บข้อมูล แต่มาตรการความมั่นคงตำรวจจะเป็นคนมาดูแล ในส่วนของการทำผิดกฏหมายต่าง เรื่องความรุนแรง การใช้อาวุธ เนื้อหาในการชุมนุม ตำรวจจะเป็นผู้รับผิดชอบ กทม.เองไม่ได้มีหน้าที่ในส่วนนี้” ผู้ว่าฯกทม. กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม จุดดังกล่าวยังเป็นจุดทดลองอยู่ เนื่องจากกทม.ยังไม่เคยประกาศให้มีพื้นที่ชุมนุมสาธารณะ โดยจะใช้เวลาทดลอง 1 เดือน ว่าหลังจากนี้จะเป็นประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการประกาศพื้นที่หรือไม่ และประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จากการประกาศนี้หรือไม่ เพราะมีอีกหลายมิติที่เรายังไม่รู้ และคงต้องดูอีกครั้งว่าเราจะสามารถดูแลการชุมนุมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมาตรา 9 แห่งพรบ.ชุมนุมสาธารณะ ปี 2558 ได้หรือไม่

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ขอฝากพี่น้องประชาชนว่า หลายคนในที่ประชุมไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการจัดพื้นที่ เพราะกลัวว่าจะดูแลลำบาก และเกรงจะมีความเสียหาย แต่ตนเชื่อว่าประชาชนคือเจ้าของพื้นที่ของกทม. ดังนั้น การจัดพื้นที่ให้ประชาชนแสดงออก ตนว่าเป็นสิ่งที่ดี ลดการลงไปใช้พื้นที่ถนน ทำให้การจัดการดูแล ความปลอดภัยดีขึ้น และสรุปที่ประชุมทุกคนก็เห็นด้วยแต่คงไม่ได้ให้พื้นที่ทั้งหมด อาจจะให้แค่ร้อยละ 60 ของพื้นที่ เพราะต้องแบ่งให้กับผู้ที่จะมาใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ด้วย เช่น พื้นที่ออกกำลังกาย เต้นแอโรบิค ในขณะเดียวกัน เป็นจุดที่หากเกิดกรณีฉุกเฉิน จะเป็นจุดที่รองรับคนได้ เราพยายามทำทุกอย่างเต็มความสามารถ ขอความร่วมมือประชาชน ให้ทำตามกรอบของกฏหมาย

“การแสดงออกเป็นเรื่องที่ดีแต่ไม่ควรไปละเมิดสิทธิของคนอื่น และกทม.เองก็พร้อมจะช่วยเหลือ แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย สำหรับการขออนุญาตให้ขอล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ส่วนการขออนุญาตจริงๆ ตามกฎหมายไม่ได้มีกำหนด แต่เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก เราจะได้เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ และอำนวยความสะดวกให้ดีขึ้น หากมีการมาขออนุญาตหลายกลุ่มพร้อมกัน อาจต้องมีการเจรจากัน คงไม่สามารถให้จัดพร้อมกันได้ ต้องถ้อยที ถ้อยอาศัย ทุกคนมีเจตนาที่ดี ” นายชัชชาติ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีประชาชนมาชุมนุมเกินกว่าที่กำหนดจะมีมาตรการอย่างไร นายชัชชาติ กล่าวว่า ผู้จัดจะต้องมีการประมาณการด้วยว่าผู้ชุมนุมจะมาเท่าไหร่ บางครั้งหากเกิดความหนาแน่นจริงๆ สามารถรับชมผ่านทางไลฟ์สดได้ เพราะมีช่องทางในการสื่อสารมากขึ้น อย่างวันนี้กลุ่มผู้ชุมนุมที่จะจัดกิจกรรม 24 มิ.ย. ได้ประสานมายัง นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีผู้ที่มาชุมนุมประมาณ 500-600 คน ส่วนเรื่องการกำหนดเวลาในการเลิกชุมนุมให้เป็นไปตามการขออนุญาตการใช้เครื่องขยายเสียง โดยต้องคำนึงถึงคนที่อยู่รองข้างด้วย

เมื่อถามถึงกรณีที่มีผู้ชุมนุมบางกลุ่มอาจจะไม่ได้อยู่สถานที่ที่จัดไว้ให้ แต่ไปอยู่บนท้องถนนแทน นายชัชชาติ กล่าวว่า ต้องค่อยๆ ดูกันไป เราต้องพยายามควบคุม ซึ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น แต่เราต้องพยายามชี้แจง เรียนตรงๆ ว่า บรรยากาศกรุงเทพฯ ดีขึ้น อีกไม่นานก็จะเลือกตั้งใหญ่แล้ว เราทุกคนอยากฟังความคิดที่แตกต่างคืออะไร ถ้าเราทำให้เกิดเรื่องอื่น สุดท้ายการแสดงความคิดเห็นจะไม่ได้แสดงความเห็น กลายเป็นทะเลาะเรื่องอื่นแทน ดังนั้นอย่าเปลี่ยนการแสดงความคิดเห็นสาธารณะเป็นอย่างอื่น

ถามต่อว่า จะลงไปฟังด้วยหรือไม่ หรือเป็นการส่งตัวแทนไปฟัง นายชัชชาติ กล่าวว่า มีคนของกทม.ในตำแหน่งที่เหมาะสม โดยตนจะลงไปในเมื่อเวลาที่เหมาะสม ซึ่งตนเหมือนไม้สุดท้ายขอให้เก็บตนไว้หน่อย และตนก็คงลงไปเดินเล่น กินขนม ฟังความเห็นของคน เมื่อเราลงไปฟัง ทักทายคน อาจจะได้ไอเดียใหม่ๆ มาพัฒนาเมืองก็ได้

“ต้องมองว่าเป็นบรรยากาศบวก การฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง คือพื้นฐานของการเป็นประชาธิปไตย เมื่อไหร่ก็ตามสังคมยอมรับความเห็นที่แตกต่างได้ ความขัดแย้งก็จะน้อยลง” นายชัชชาติ กล่าวย้ำ

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สงกรานต์'รางน้ำ' พิกัดใหม่เล่นน้ำสุดฉ่ำ

สงกรานต์กรุงเทพฯ จุดเล่นน้ำสงกรานต์ยอดฮิตที่มีคนไทยและชาวต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวอย่างคับคั่งเป็นประจำทุกปี คนจะนึกถึงถนนข้าวสาร เขตพระนคร หนึ่งในย่านท่องเที่ยวและจัดงานเล่นน้ำสงกรานต์ยอดนิยมเสมอมาของกรุงเทพฯ  รองลงมาสงกรานต์สีลมซึ่งปิดถนนให้เล่นน้ำสงกรานต์กันตลอดเส้นสีลม ยังมีพื้นที่ของคนกลุ่มความหลากหลายทางเพศ LGBTQ ที่จัดประกวดเทพีสงกรานต์ เดินขบวนพาเหรด การแสดงศิลป

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ