ปิยบุตร หยิบเรื่องการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของ 'ฝ่ายประชาธิปไตย' มาเล่าใหม่

19 มี.ค. 2566 – นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล แชร์บทความที่เคยเผยแพร่มาก่อนหน้านี้ มาเล่าใหม่ ในหัวข้อ

[การปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของ “ฝ่ายประชาธิปไตย”]

อีกไม่กี่เดือน สภาผู้แทนราษฎรใกล้จะครบวาระแล้ว ตลอดเกือบ 4 ปี มีการถกเถียงกันภายใน “ฝ่ายประชาธิปไตย” ทั้งผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยกับผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล และทั้ง ส.ส. และแกนนำพรรคเพื่อไทย กับ ส.ส.และแกนนำพรรคก้าวไกล

มีหลายคนกังวลว่า การถกเถียงกันระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย อาจส่งผลกระทบต่อ “ฝ่ายประชาธิปไตย” อาจทำให้รัฐบาลสืบทอดอำนาจ คสช. สบายใจกว่าเดิมที่ “ฝ่ายประชาธิปไตย” ทะเลาะกันเองจนอ่อนกำลังลง
ผู้สนับสนุนบางกลุ่มของทั้งสองพรรคเห็นกันไปถึงขนาดว่า สองพรรคนี้ คือ คู่แข่งกันในการเลือกตั้งครั้งหน้า และไม่คิดว่าจำเป็นต้องตั้งรัฐบาลด้วยกัน

ผมอยากชวนให้มองมุมใหม่กันดู…

“ฝ่ายประชาธิปไตย” พัฒนาการมาอย่างไร? เป็นเนื้อเดียวกันมาแต่แรกหรือไม่? เมื่อสถานการณ์ดำเนินมาจนถึงปัจจุบันนี้ คำว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” นี้ เปลี่ยนไปอย่างไร? ยังใช้การได้อีกหรือไม่?

ประชาธิปไตย ต้องยึดมั่นเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการตัดสินใจว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ละฝักฝ่ายย่อมมีโอกาสในการรณรงค์ให้ผู้คนมาเห็นด้วยกับตน เปลี่ยนใจให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหันมาเห็นด้วย

ประเทศที่ยึดหลักประชาธิปไตยแบบพหุนิยม ก็ต้องยอมรับให้มีพรรคการเมืองหลายพรรค และเมื่อเป็นคนละพรรคการเมือง ก็ย่อมมีความคิด อุดมการณ์ แนวทางการดำเนินการ บุคลิก ลักษณะ ที่แตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา
หากทุกพรรคการเมือง คิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน นโยบายเหมือนกัน อุดมการณ์เหมือนกัน ก็ไม่มีความจำเป็นใดที่ต้องรวมตัวกันก่อตั้งเป็นพรรคการเมืองที่หลากหลาย ก็รวมกันเป็นพรรคการเมืองเดียวไปเสียเลย เว้นแต่ว่าต้องการแยกพรรคออกมาเป็น “พรรคนอมินี” “พรรคลูก” “พรรคแตกแบงค์พัน”

พรรคอนาคตใหม่ในวันก่อน พรรคก้าวไกลในวันนี้ ก่อตั้งขึ้นตามความคิดอุดมการณ์ของตน ต้องการสร้างพรรคการเมืองแบบใหม่ในประเทศไทย ที่ไม่ใช่เป็นเพียงพรรคเลือกตั้ง ที่ระดมนักการเมืองมาให้ได้ ส.ส.มากๆ เพื่อไปแลกรัฐมนตรี โดยไม่ได้พิจารณาถึงเฉดความคิดอุดมการณ์ (จริงๆจะว่าไป ก็ไม่ได้ใหม่หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น แต่หากพิจารณาเฉพาะกรณีไทย น่าจะมีเพียงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเท่านั้นกระมังที่เป็นพรรคมวลชน/พรรคอุดมการณ์/พรรคขบวน/พรรคยุทธศาสตร์ เพียงแต่ระบบกฎหมายไทยไม่ยอมรับเท่านั้น)

เราต้องการเข้าไปมีอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ มิใช่เข้าไปหาเงินทอน เอาทุนมาทำการเมืองต่อ หรือปกป้องประโยชน์กำไรของพวกพ้องหรือธุรกิจ เราต้องการหยุดการสืบทอดอำนาจ คสช. ทำรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน ปฏิรูปกองทัพ ศาล ระบบราชการ ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ ทลายทุนผูกขาด สร้างเศรษฐกิจใหม่ กระจายทรัพยากรและอำนาจให้คนส่วนใหญ่ สนับสนุนเสรีภาพ ความหลากหลาย

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่พรรคอนาคตใหม่ในวันก่อน และพรรคก้าวไกลในวันนี้ มี “อัตลักษณ์ทางการเมือง” มีเฉดสีความคิดอุดมการณ์ เป็นของตนเอง แยกและแตกต่างออกจากพรรคอื่นๆอย่างชัดเจน

แน่ล่ะ… ในการต่อสู้ทางการเมือง ผ่านการเลือกตั้ง และผ่านขบวนการมวลชน บางครั้งบางช่วงเวลา ก็ต้องร่วมมือกันกับพรรคอื่นๆกลุ่มอื่นๆ เพื่อเป้าหมายหลักร่วมกันอันจำเป็นในสถานการณ์เฉพาะหน้า บางกรณี ก็มีประเด็นที่เห็นร่วมกันกับพรรคอื่น บางกรณี ก็เห็นต่าง แล้วก็ถกเถียงรณรงค์กันไป ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

ประเด็นต่อมา ผมอยากชวนทำความเข้าใจถึงส่วนต่างๆภายใน“ฝ่ายประชาธิปไตย”

คำว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ค่อยๆก่อตัวขึ้นหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทยย่อมไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร 19 ก.ย.49 แน่นอน เพราะ เป็นรัฐประหารที่ล้มรัฐบาลที่พวกเขาสนับสนุน

แต่มีคนอีกจำนวนมาก ที่ไม่ได้สนับสนุนรัฐบาลไทยรักไทย ไม่ได้เลือก หรือเลือกแต่ก็ตามตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ แสดงข้อคัดค้านรัฐบาลในเวลานั้นอยู่บ่อยครั้ง พวกเขาเหล่านี้ก็ร่วมต่อต้านรัฐประหาร 49 ด้วย เพราะ พวกเขาไม่มีวันยอมรับวิธีการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ยึดอำนาจปกครองประเทศ

เมื่อมีการเลือกตั้ง 23 ธค 50 ฝ่ายไม่ยอมรับรัฐประหาร 49 ทั้งกลุ่มที่สนับสนุนพรรคไทยรักไทย ทั้งกลุ่มที่วิจารณ์พรรคไทยรักไทยแต่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร จึงแสดงออกผ่านการเลือกพรรคพลังประชาชน จนจัดตั้งรัฐบาลได้

ต่อมามีการล้มรัฐบาลด้วยวิธีการผิดปกติ ในปลายปี 51 มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ตามมาด้วยการยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรครวม 109 คน ทำให้นักการเมืองหลายกลุ่มตัดสินใจ “สลับข้าง” สนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล

ต่อด้วยการชุมนุม 52 การชุมนุม เมษา พฤษภา 53 และการสลายการชุมนุมอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน

เมื่อถึงการเลือกตั้งในปี 2554 “ฝ่ายประชาธิปไตย” ที่ไม่ยอมรับรัฐประหาร 49 ไม่ยอมรับการเปลี่ยนรัฐบาลด้วยวิธีผิดปกติ ในปี 51 ไม่เห็นด้วยกับฆาตกรรมหมู่กลางมหานครในเดือนเมษา พฤษภา 53 รวมทั้งผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทยแต่เดิม ก็แสดงออกผ่านการเลือกตั้งอีกครั้ง ด้วยการลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทย จนจัดตั้งรัฐบาลได้ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

22 พ.ค.2557 คสช.ก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์

“ฝ่ายประชาธิปไตย” ก็ร่วมกันต่อต้าน คัดค้าน ประท้วง รัฐประหาร 57 และรัฐบาล คสช.

จนเมื่อต้นปี 2561 มีการรวมตัวกันก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ และลงเลือกตั้งครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2562
แกนผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ สมาชิกรุ่นก่อตั้งจากทั่วประเทศ ผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ นักวิชาการ ปัญญาชนที่สนับสนุนเอาใจช่วยพรรคอนาคตใหม่ ก็อยู่ในกลุ่มก้อนของ “ฝ่ายประชาธิปไตย” เพียงแต่ว่ามีความหลากหลาย ตั้งแต่ ผู้ที่สนับสนุนพรรคไทยรักไทย/พลังประชาชน/เพื่อไทย มาโดยตลอด ผู้ที่เลือกพรรคไทยรักไทย/พลังประชาชน/เพื่อไทย แต่ไม่ได้ถึงขนาดเป็นแฟนพันธุ์แท้ เลือกไปตามเป้าหมายของการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ผู้ที่บางครั้งก็เลือกพรรคขั้วไทยรักไทย บางครั้งก็ไม่เลือก ผู้ที่วิจารณ์ขั้วพรรคไทยรักไทย แต่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร 49/57 ผู้ที่หันมาสนใจการเมืองภายหลังรัฐประหาร 57 เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อ หรือผู้ที่ไม่เอาระบอบประยุทธ์

ดังนั้น คนจำนวนมากที่เข้ามารวมกันหลวมๆ แต่เป้าหมายเดียวกัน คือ ไม่เอารัฐประหาร 57 ไม่เอาการสืบทอดอำนาจของ คสช. จึงมีหลายเฉดมาก ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาต้องเห็นดีเห็นงามกับพรรคเพื่อไทยไปทั้งหมด หรือพรรคก้าวไกลไปทั้งหมด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนจำนวนมากที่กากบาทเลือกพรรคเพื่อไทยในปี 2554 เพราะ ไม่เอา ปชป ไม่เอาการสลายการชุมนุม 52/53 ไม่เอากระบวนการตุลาการภิวัฒน์ แต่ก็ไม่ได้เป็น “แฟนพันธุ์แท้” ของเพื่อไทย หรือบางครั้งก็วิจารณ์ “เพื่อไทย” ด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นรัฐบาล 54-57 พวกเขาเหล่านี้ เปลี่ยนมาเลือกพรรคอนาคตใหม่ในปี 62 และจะไปเลือกพรรคก้าวไกลในปี 66

คำว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” จึงมีความหมายกว้างขวางมาก ไม่อาจพิจารณาในลักษณะ “ขั้ว” เดียว ที่คิดเหมือนกันทั้งหมด และคำๆนี้ ก็ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบไปมาก หลังจากมีพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล

เราจะอาศัยข้อเท็จจริงเพียงว่า เป็นพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นเสียงข้างมาก แล้วผูกขาดคำว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ไม่ได้

ข้อเท็จจริงเพียงว่า เป็นพรรคการเมืองที่ตั้งรัฐบาลแล้วถูกรัฐประหาร ไม่ได้เท่ากับว่าพรรคการเมืองนั้น = ประชาธิปไตย โดยทันที โดยไม่พิจารณาถึงปัจจัยอื่น

ระยะหลัง กลายเป็นว่า ใครไม่เห็นด้วยกับพรรคที่ชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของ ส.ส. หรือวิจารณ์การซื้อเสียง ก็เท่ากับว่าไม่เอาการเลือกตั้ง ไม่เอาประชาธิปไตย ไปไกลหน่อย ก็ถูกจัดเฉดให้กลายเป็นสิ่งที่พวกเขาให้ชื่อว่า “สลิ่มเฟสสอง”

คำว่า “ประชาธิปไตย” มีเนื่อหาสาระมากกว่านั้น แน่นอน รัฐบาลต้องมาจากเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งอย่างทั่วไป เท่าเทียม เสรี แต่นั่นก็เฉพาะองค์ประกอบทางรูปแบบเท่านั้น ยังต้องมีองค์ประกอบทางเนื้อหา ยืนยันว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน” ประกันเสรีภาพของบุคคล

หากประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุด ในประเทศนี้ อยากเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” แล้วต้องถูก “ล้อมคอก” ด้วยการสนับสนุนพรรคที่ชนะการเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว ไม่วิจารณ์ ไม่หือ ไม่อือ พรรคทำอะไรก็ต้องเคารพบูชาไปตามกันหมด สิ่งใดที่พรรค แกนนำพรรค ตัดสินใจแล้ว ก็ถือว่าเป็นที่สุด วิจารณ์โต้แย้งไม่ได้ แบบนี้ ก็คือการเอาคำว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ไปผูกขาดใช้กันเอง คือการลดทอนคุณค่าประชาชนผู้อิสระเสรี ทรงอำนาจสูงสุด ให้กลายเป็นเพียง “แฟนคลับ” พรรคการเมือง

แล้ว “ฝ่ายประชาธิปไตย” ในนิยามเงื่อนไขแบบนี้ มีสุขภาพดีหรือ?

ประเด็นปัญหาของการถกเถียงกันระหว่าง “ฝ่ายประชาธิปไตย” ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้ จะจบลงทันที หากหลังการเลือกตั้ง 66 พรรคเพื่อไทยร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ หรือกับพรรคอื่นชื่อใดที่มี “คราบไคล” ประยุทธ์/ประวิตร/คสช. ซึ่งผมเชื่อว่าพรรคก้าวไกลคงไม่เข้าร่วมแน่นอน

เมื่อถึงเวลานั้น เราคงไม่ต้องมาเถียงกันระหว่าง “ฝ่ายประชาธิปไตย”

และคำว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ที่ใช้เรียกแทนฝ่ายประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหาร 49/57 และแทนพรรคการเมืองที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. อันได้แก่พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็คงค่อยๆเลือนหายไป

การต่อสู้ระหว่างขั้วการเมืองชุดใหม่ จะเริ่มขึ้นอย่างเด่นชัด ซึ่งอาจเป็น 2 ขั้ว อาจเป็น 3 ขั้วหรือ 4 ขั้วก็ได้
หากเป็นเช่นนี้ ก็ไม่เห็นว่า ประชาธิปไตยไทยจะเสียหายทรุดโทรมตรงไหน ตรงกันข้าม ยิ่งดีเสียอีก ประชาชนจะได้มีทางเลือกมากขึ้น

แนวโน้มการเมืองของหลากหลายประเทศบอกเราว่า การเมืองแบบ “ทวิพรรค” หรือ “ทวิขั้ว” อาจดูมีเสถียรภาพ มีรัฐบาลเข้มแข็ง แต่เนื้อในนั้น อาจไม่มีความแตกต่างในสาระสำคัญระหว่างพรรคหรือขั้ว จนกลายเป็นว่า เลือกขั้วใดไปก็ไม่ต่างกันมากนัก และจะเป็นอันตรายมากยิ่งขึ้น ถ้า “ทวิพรรค” หรือ “ทวิขั้ว” สมรู้ร่วมคิดกันภายใต้ผลประโยชน์ร่วมกันของ “ชนชั้นนำทางการเมือง” ดังนั้น การเมืองในหลากหลายประเทศ จึงเกิดขั้วทางเลือกใหม่ขึ้นเพื่อคานระบบทวิพรรคที่หัวต่างกันแต่ก็ครองร่างกายการเมืองแบบเดิมแบบเดียวกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' แพลมโผครม.นิ่งแล้ว ไม่มีแกว่ง อุบตอบเก้าอี้หดเหลือแค่ตำแหน่งนายกฯ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ระบุว่าส่งรายชื่อบุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรีถึงนายกฯ โดยนายกฯย้อนถามว่า “หรือครับ ไม่ทราบ”

'ก้าวไกล' หนุนแก้กฎหมายสกัดรัฐประหาร ลั่นกองทัพต้องอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม มีข้อเสนอให้สภากลาโหมเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…)

'อุ๊งอิ๊ง' โพสต์คลิปครอบครัวเดินห้าง ถามตอนเด็กเคยขายอะไร ทักษิณตอบขายกาแฟ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์สตอรี่อินสตราแกรมส่วนตัว เป็นคลิปวีดีโอนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และน.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ เดินที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งด้วยกัน

นายกฯ ยัน ร่วมโต๊ะอาหารเที่ยงกับ 'เอกนัฏ'

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) ร่วมโต๊ะอาหารกลางวันกับนายกรัฐมนตรีและคณะ

'ดร.อานนท์' ชงสูตรการเมืองทำลาย 'ก้าวไกล-ธนาธร' เชื่อยอมเจ็บเถิด จะได้จบ

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (NIDA) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า

'ทวี' ยันไม่เคยได้ยิน เพื่อไทยจะเอาตำแหน่งประธานสภาฯ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีมีกระแสว่าพรรคเพื่อไทยจะขอเก้าอี้ประธานสภา ว่า รัฐธรรมนูญได้มีการเขียนเอาไว้อย่างชัดเจนถึงการเข้าดำรงตำแหน่งประธานสภาว่าเป็นเรื่องของสภา ส่วนเรื่องคณะรัฐมนตรีนั้นเป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี