เปิดข้อมูล 10 ปี คดีโกง 'จำนำข้าว' นำโด่งสร้างความเสียหายสูงสุด 1.3 แสนล้านบาท

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) รวบรวมข้อมูลคดีคอร์รัปชันของนักการเมืองในรอบ 10 ปี พบ 61 คดี และมีนักการเมืองกระทำผิด 68 คนซึ่งมีลักษณะการกระทำความผิด 10 แบบทั้งจากพรรคใหญ่และเล็กทำกันเป็นเครือข่ายร่วมกับข้าราชการประจำแต่น้อยมากที่นักการเมืองจะถูกดำเนินคดี หวังสร้างการตระหนักรู้ให้ประชาชนเจ็บแล้วต้องจำไม่เลือกคนโกงเข้ามาบริหารบ้านเมือง

17 เม.ย.2566 - องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้เผยแพร่ “รายงาน 10 ปีคดีโกงของนักการเมืองไทย” ผ่านเวบไซต์และเฟซบุ๊คองค์กร ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากการนำเสนอข่าวโดยสื่อมวลชน เฉพาะคดีที่มีการชี้มูลความผิดโดย ป.ป.ช. การตัดสินคดีโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ระหว่างปี พ.ศ. 2555 ถึงปัจจุบัน พบว่า มี 61 คดี และมีนักการเมืองกระทำผิด 68 คน

นายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงจำนวน 61 คดีว่า สามารถจำแนกตามลักษณะความผิด ดังนี้ (1) โกงเลือกตั้ง 25 คดี (2) ยื่นบัญชีทรัพย์ สินเท็จ 9 คดี (3) โกงจัดซื้อจัดจ้างและฮั้วประมูล 8 คดี (4) เอื้อประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง 8 คดี (5) ประพฤติมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 3 คดี (6) แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ 2 คดี (7) ร่ำรวยผิดปกติ 2 คดี (8) บุกรุกที่ดินหลวง 2 คดี (9) เรียกรับสินบน 1 คดี (10) เครื่องราชอิสริยาภรณ์ 1 คดี และสำหรับนักการเมือง 68 คนในที่นี้หมายถึง ส.ส. ส.ว. สนช. รัฐมนตรี ทั้งจากพรรคเล็ก พรรคใหญ่ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน

“ข้อมูลนี้คือบทเรียนความเสียหายของแผ่นดินที่เกิดจากคอร์รัปชันโดยนักการเมือง องค์กรฯจัดทำขึ้นด้วยเจตนาสุจริต ไม่ได้ต้องการจงใจใส่ร้ายผู้ใด แต่ต้องการให้ประชาชนตื่นตระหนักว่า อย่าลืมความเสียหาย อย่ายอมรับความหายนะอีกต่อไป การโกงซับ โกงซ้อน โกงซ่อนเงื่อน การพลิกแพลงกฎหมายและใช้โวหารจอมปลอมของนักการเมืองทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับประชาชนที่จะรู้เท่าทัน ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องต้องเรียนรู้ร่วมกันเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวและว่า

โดยทั่วไปคดีคอร์รัปชันโครงการขนาดใหญ่มักมีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง ทำกันเป็นเครือข่ายและมีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมด้วย อย่างไรก็ตามกลับพบว่าส่วนใหญ่มีแต่ข้าราชการที่ถูกดำเนินคดี เช่น คดีถุงมือยาง (ความเสียหาย 2,000 ล้านบาท) คดีสร้างโรงพัก (มูลค่า 5,848 ล้านบาท) และแฟลตตำรวจทั่วประเทศ (มูลค่า 3,700 ล้านบาท) เว้นแต่คดีนั้นมีหลักฐานแน่นหนาว่าโดยนักการเมือง เช่น คดีสนามฟุตซอล (มูลค่า 4,450 ล้านบาท) และคดีรุกป่า

ทั้งนี้ คดีที่ระบุได้ว่าสร้างความเสียหายให้ประเทศมูลค่าสุงสุดในรอบสิบปี ได้แก่ คดีโครงการจำนำข้าว (มูลค่า 1.3 แสนล้านบาท) ตามด้วยคดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน (มูลค่า 2.49 หมื่นล้านบาท) ไม่เพียงเท่านั้น เฉพาะ 8 คดีที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและฮั้วประมูลมีมูลค่าความเสียหายรวมกัน ราว 5.2 หมื่นล้านบาท

“ในแต่ละปีเกิดเรื่องอื้อฉาวและเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. และยื่นฟ้องต่อศาลจำนวนมาก แต่มีเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้นที่ถูกชี้มูลและศาลตัดสินว่าผิดจริง คดีอื้อฉาวจำนวนมากใช้เวลาดำเนินคดีมากกว่า 10 ปีถึง 30 ปีก็มี บางคดีผ่านไป 20 ปีเพิ่งแจ้งข้อกล่าวหา บางคดีเอาผิดใครไม่ได้เพราะหมดอายุความ และความผิดมีโอกาสเกิดขึ้นในทุกกระทรวงและหน่วยงานรัฐพอๆ กัน โดยไม่จำกัดว่าคนผิดต้องเป็นรัฐมนตรีที่มีอำนาจบริหารเท่านั้น แต่ ส.ส. กรรมาธิการ และเครือข่าย ก็สามารถเชื่อมโยงกันทำร้ายบ้านเมืองได้ และนักการเมืองทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง ก็มีโอกาสคอร์รัปชันได้พอกัน” นายมานะกล่าว

รายงานนี้ยังระบุข้อมูลที่น่าสนใจด้วยว่า ในปี 2564 ไม่ปรากฏว่ามีคดีที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนักการเมืองเลย และในการเลือกตั้งครั้ง 2566 นี้ มีนักการเมืองหลายคนที่ถูกดำเนินคดีคอร์รัปชันกลับลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งที่รู้กันดีว่า ผู้ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในคดีคอร์รัปชันจะหมดสิทธิ์การเป็น ส.ส. แล้วเลือกตั้งใหม่ทันที

นอกจากนั้น ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า มีการดำเนินคดีนักการเมืองข้อหาร่ำรวยผิดปรกติน้อยมาก ทั้งที่พบว่า นักการเมืองแจ้งบัญชีทรัพย์สินให้ร่ำรวยมากขึ้นหรือลดลงอย่างผิดปรกติจำนวนมาก ขณะเดียวกัน พฤติกรรมประหลาดของนักการเมืองเมื่อเกิดคดีความ หรือส่อว่าจะมีคดี เช่น จดทะเบียนหย่าจากคู่สมรส, เปลี่ยนชื่อ – นามสกุล เป็นต้น และมีคดีของอดีตนายกรัฐมนตรี แม้เสียชีวิตไปแล้ว ทายาทยังต้องชดค่าเสียหายให้แก่รัฐ

สำหรับการประเมินมูลค่าความเสียหายจากคอร์รัปชันนั้น เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันกล่าวว่า ยากที่จะประเมินเพราะไม่สามารถคำนวณความเสียหายต่อเนื่องที่ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานและประชาชนได้ ทั้งปัญหาคุณภาพชีวิตและปัญหาปากท้อง ชัดเจนอย่างที่สุดว่า คอร์รัปชันเป็นตัวการตอกย้ำซ้ำเติมให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม เช่น การที่รัฐซื้อของแพงได้ของไม่ดีหรือล่าช้า ย่อมส่งผลให้เกิดอุปสรรคหรือด้อยคุณภาพในการให้บริการประชาชนด้วยเช่นกัน รวมถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจ เกิดความไม่เป็นธรรมทางการค้า หรือความขัดแย้งในสังคมตามมา

“จากรายงานฯนี้ยิ่งเห็นชัดว่าหากเราเลือกนักการเมืองโกงเข้ามา ประเทศอาจล่มจมได้และนี่คือบทเรียน” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นิด้าโพล' เผยคนไทยไม่ค่อยเชื่อมั่นการทำงานหน่วยงานปราบปรามทุจริต

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “คดีทุจริต ประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ”

'คปท.' สวน 'ภูมิธรรม' ต้องบังคับใช้คำพิพากษาให้เป็นธรรม หน้าที่ขี้ข้าค่อยไปกราบส่วนตัว

แกนนนำคปท.ชี้ 'ยิ่งลักษณ์' คือตัวการร่วมทุจริตจำนำข้าว ย้อนถาม 'ภูมิธรรม' เป็นรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อช่วย 'ทักษิณ' กับ' ยิ่งลักษณ์' ใช่ไหม ยันในความเป็นรัฐต้องบังคับใช้คำพิพากษาให้เป็นธรรม ส่วนหน้าที่ขี้ข้าค่อยไปกราบกันส่วนตัว

'ดร.มานะ' ชำแหละ '10 วัฒนธรรมเป็นพิษ' ที่ซ้ำเติมให้คอร์รัปชันลุกลามเกินเยียวยา

ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง '10 วัฒนธรรมเป็นพิษ' (Toxic Culture) ที่ซ้ำเติมให้คอร์รัปชันลุกลามเกินเยียวยา มีเนื้อหาดังนี้

คปท.สัญจรสุรินทร์ มีมติคดีทุจริต ไม่ควรลดโทษให้ติดคุกเต็ม  

คปท.สัญจร  สุรินทร์วันนี้มีมติร่วมกันว่า คดีทุจริต คอร์รัปชั่น ของนักการเมือง ไม่ว่าระดับไหน    อบต. เทศบาล  สจ. สส. รมต. นายกฯ

เดินหน้าเต็มที่ 'เศรษฐา' เมินรายงานป.ป.ช.ยุติเงินดิจิทัล รับไทม์ไลน์อาจขยับ แต่ไม่ยาว

'เศรษฐา' ลั่นเดินหน้าเต็มที่ ไม่คิดเอารายงาน ป.ป.ช.ยุติโครงการเงินดิจิทัล ยันไม่มีทุจริตร้อยเปอร์เซ็น เพราะใช้เทคโนโลยีส่งเงินตรงเข้ากระเป๋าปชช. ยอมรับไทม์ไลน์อาจขยับ แต่ไม่ยาวไปถึงใช้งบปี 68 จ่อคุยพรรคร่วมหลังข้อมูลครบ