'วิโรจน์' ลั่น ได้เวลาบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก กับครูที่กระทำทารุณกรรมต่อเด็กอย่างจริงจัง


'วิโรจน์' ลั่น ได้เวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กกับครูที่กระทำทารุณกรรมต่อเด็กอย่างจริงจัง กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องประกาศนโยบาย โรงเรียนที่ปลอดจากอำนาจนิยม และการกลั่นแกล้งรังแก

21 มิ.ย.2566 - นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

ได้เวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก กับครูที่กระทำทารุณกรรมต่อเด็ก อย่างจริงจัง ]
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนคงได้อ่านข่าว การที่ครูบางคน ใช้ความรุนแรงในการลงโทษ หรือกระทำกับนักเรียน จนนักเรียนได้รับบาดเจ็บทางกาย หรือทางใจ
- การสั่งให้นักเรียนลุกนั่ง เป็นร้อยครั้ง โดยไม่ตระหนักเลยว่า การลงโทษดังกล่าว จะเกินกว่าศักยภาพของเด็กจะปฏิบัติได้ หรือไม่ เอาความสะใจของตนเป็นที่ตั้ง จนทำให้นักเรียนกระดูกแตก กล้ามเนื้อฉีก
- จงใจกล้อนผมหรือใช้วิธีการใดๆ เพื่อตีตราประจาน ให้นักเรียนรู้สึกอับอาย จนเกิดเป็นบาดแผลในใจ
- พูดจาดูหมิ่นเหยียดหยาม ข่มขู่ว่าจะเอาปืนมายิงนักเรียน
- พฤติกรรมที่ส่อไปในทางล่วงเกินทางเพศ คุกคามทางเพศ หรือล่วงละเมิดทางเพศ
ฯลฯ
.
การกระทำเหล่านี้ นอกจากจะเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้ว
.
ยังเข้าข่ายเป็นการกระทำทารุณกรรมเด็ก ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มาตรา 26 ซึ่งบทกำหนดโทษตามมาตรา 78 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 26 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกด้วย
.
แต่ที่ผ่านมา กลับไม่มีการดำเนินคดีกับครูที่ก่อเหตุอย่างจริงจังเลย มีแต่การลงโทษทางวินัยสถานเบา พอเรื่องซา ครูคนเดิมก็กลับมาสอนอีก แล้วพฤติกรรมเดิมๆ ที่เป็นปัญหา ก็เกิดขึ้นซ้ำกับนักเรียนคนอื่นๆ ไม่จบไม่สิ้น
.
ที่ผ่านมา เหตุผลที่ไม่มีการดำเนินคดีอาญาอย่างจริงจัง เป็นเพราะว่า
1) แม้ว่าเด็กจะร้องทุกข์เองได้ แต่ในทางปฏิบัติ การร้องทุกข์กล่าวโทษมักจะต้องดำเนินการโดยพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ซึ่งส่วนมากมักจะถูกกล่อม เชิงข่มขู่ จากผู้บริหารสถานศึกษาบางท่าน ให้พ่อแม่ไม่แจ้งความดำเนินคดี โดยมักจะอ้างว่า "ถ้าแจ้งความแล้ว เด็กอาจจะอยู่ในโรงเรียนไม่ได้" พอพ่อแม่ กังวลว่าลูกจะถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน ก็จะยอมไม่แจ้งความ หลายกรณีแทนที่กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นเจ้าภาพในการดำเนินคดีกับครูที่กระทำทารุณกรรมกับนักเรียน อย่างถึงที่สุด กลับทำตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ย เพื่อช่วยให้ครูที่กระทำความผิด ให้ไม่ต้องรับโทษทางอาญา กรณีที่พ่อแม่ยืนยันจะแจ้งความดำเนินคดี ส่วนใหญ่พ่อแม่ต้องย้ายลูกไปเรียนที่อื่น แปลกไหมครับ เด็กที่ถูกกระทำต้องย้ายหนี ในขณะที่ครูผู้กระทำ ยังคงสอนต่อไปที่โรงเรียนเดิม
.
2) คดีอาญาที่เกี่ยวกับเด็ก ในหลายกรณี ต้องมีนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ เข้าร่วมในกระบวนการสอบสวนด้วย มีขั้นตอนในการทำงานเพิ่มเติม จึงทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่อยากจะดำเนินคดี ตำรวจจึงมักจะไกล่เกลี่ย ให้ลงเพียงบันทึกประจำวัน
.
เรื่องการทารุณกรรมเด็ก หรือการใช้อำนาจนิยม หรือการใช้ความรุนแรงกับเด็ก นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กนะครับ หลายครั้งนักเรียนถึงกับบาดเจ็บสาหัส บางรายเป็นบาดแผลในใจ จนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย หลายรายต้องเติบโตขึ้นมาอย่างมีปมในใจ
.
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครอง จะมีการวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อปกป้องสวัสดิภาพของเด็กร่วมกัน โดยจะตระหนักร่วมกันว่า "เด็กทุกคน คือ ลูกของผู้ใหญ่ทุกคนในสังคม" หากมีครูที่ไม่ดีบางคน ทำทารุณกรรมต่อเด็ก องค์กรพ่อแม่จะร่วมกันติดตาม เพื่อให้มีการดำเนินคดีกับครูผู้ก่อเหตุอย่างถึงที่สุด และจะไม่ยอมให้ครูเหล่านี้กลับมาทำร้ายเด็กคนไหนได้อีก
.
เครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครอง จึงถือเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่ง ในการปกป้องเด็ก โรงเรียนไหนที่สมาคมผู้ปกครองเข้มแข็ง โรงเรียนนั้นก็จะมีความก้าวหน้า เด็กๆ ก็จะได้รับการดูแลอย่างดี
.
ผมคิดว่า สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งดำเนินการ ก็คือ กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องประกาศนโยบาย "โรงเรียนที่ปลอดจากอำนาจนิยม และการกลั่นแกล้งรังแก" ให้ชัดเจน ทำหน้าที่ในการปกป้องเด็กอย่างจริงจัง ขับเคลื่อนนโยบายนี้ ร่วมกับองค์กรครูต่างๆ
.
มีการอบรมซักซ้อมกับครูประจำการทั่วประเทศ เพื่อให้ครูเป็นกลไกสำคัญ ในการปกป้องนักเรียน
.
ครูส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงกับเด็กหรอกครับ และไม่คิดที่จะปกป้องครูบางคน ที่มีพฤติกรรมกระทำทารุณกรรมต่อเด็กด้วย ขอเพียงมีนโยบายที่ชัดเจน ผมเชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือจากครูบาอาจารย์ทั่วประเทศ
.
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย ก็คือ การส่งเสริมการสร้างเครือข่าย และการมีส่วนร่วมขององค์กรพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นแนวร่วมที่เข้มแข็ง ในการปกป้องเด็กทุกคนในประเทศ
.
และนับจากนี้เป็นต้นไป หากพบว่าครูท่านใดมีพฤติกรรมกระทำทารุณกรรมต่อเด็ก หากการสอบสวนแล้วพบว่ากระทำผิดจริง นอกจากจะมีการดำเนินการทางวินัยแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และดำเนินคดีอาญา อย่างถึงที่สุด อีกด้วย

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“รมช.สุรศักดิ์” ร่วมถก การพัฒนาการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ฯ

เมื่อวันศุกร์ ที่ 5 เมษายน 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และสร้างจิตสำนึกในความเป็นไทย ครั้งที่ 1/2567 ที่

'สุทิน' โต้ฝ่ายค้านรู้ไม่จริง 'ฟริเกต-เรือดำน้ำ' โบ้ยไม่ทันฟัง 'วิโรจน์' แฉคนในรัฐบาลตบทรัพย์

'สุทิน' เย้ยฝ่ายค้านรู้ไม่จริง 'ฟริเกต-เรือดำน้ำ' เหมือนคลำหา ชี้ข้อมูลเก่า 90% เหมือนโดนบีบให้ขึ้นชกทั้งที่ยังไม่พร้อม อ้างทันฟัง'วิโรจน์' แฉคนในรัฐบาลตบทรัพย์ฟริเกต เผยถ้ามีคนโทรหาแค่ให้กำลังใจ บอกทร.ใจเย็นๆได้เรือแน่ เชื่อปมเรือดำน้ำจบใน เม.ย. มั่นใจเจ้าหน้าที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านดีแล้วเรื่องสิทธิ์ที่ดิน พร้อมแจงประเด็นตัวเลขนายพลผิดเหตุมองตารางพลาด

“รมช.สุรศักดิ์” เปิดงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Kick Off Soft Power

เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 28 มีนาคม 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Kick Off Soft Power

"เสมา1" มอบ สพฐ. ใช้ระบบไอทีทำใบ ปพ.5 ช่วยลดขั้นตอนเอกสารของครูผู้สอน ใบสำคัญด้านการศึกษา หวังก้าวสู่องค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจํากระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้มีนโยบายลดภาระครู ซึ่งจะเร่งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หลุดกรอบการทำเอกสารของครูผู้สอนแบบเดิม

"รมช.สุรศักดิ์" ลงพื้นที่เมืองเชียงราย​ ลุย​ รับฟังสภาพปัญหาอุปสรรคจากหน่วยงานทางการศึกษา​ ก่อนนำข้อมูลเสนอต่อ​ที่ประชุม​ ครม.

เมื่อวันจันทร์​ ที่ ​18 มีนาคม 2567 นายสุรศักดิ์​ พันธ์​เจริญ​ว​ร​กุล​ รัฐมนตรี​ช่วยว่าการ​กระทรวง​ศึกษาธิการ​ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ก่อนการประชุม​ ครม.สัญจร​ ณ โรงเรียนวัดพระเกิดคงคาราม อ.เทิง จ.เชียงราย​ โดยมี​ นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ประจำนายอนุทิน ชาญวีรกูล)