2 นักสู้ไอโอโจมตี ตบหน้ารัฐ ไร้มาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ ปล่อยลอยนวลพ้นผิด

คืบหน้ากรณีไอโอโจมตี อังคณา – อัญชนา  สองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ เผยรัฐไทยได้ทำหนังสือชี้แจง 5 ประเด็นใหญ่ตามข้อสงสัยของคณะผู้เชี่ยวชาญยูเอ็น ซัดกลับไร้มาตรการรูปธรรมคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ ปล่อยลอยนวลพ้นผิด

24 ธ.ค.2566 -องค์กร Protection International ซึ่งทำงานสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและอำนวยความสะดวกให้กับอังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ สมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ องค์การสหประชาชาติ (UN Human Rights Expert- WGEID)  และ  อัญชนา หีมมิหน๊ะ อดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน  สองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้เข้าถึงความยุติธรรมกรณีการถูกโจมตีและละเมิดสิทธิออนไลน์โดยการทำไอโอ ได้เผยแพร่เอกสารแปล (อย่างไม่เป็นทางการ) ของรัฐบาลไทยตอบกลับผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติ 6 คณะ

 ซึ่งประกอบด้วย คณะทำงานว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง , ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออก, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมอย่างสงบ และการสมาคม , ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน; ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ และผู้รายงานพิเศษว่าด้วยความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ที่ก่อนหน้านี้ได้ส่งหนังสือ(ลำดับที่ AL THA 3/2023 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2566 ถึงรัฐบาลไทยเพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงจากการขาดความรับผิดและมาตรการคุ้มครองต่อการข่มขู่และการคุกคามทางออนไลน์ ต่ออังคณา และอัญชนา สองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสองทั้งหมด 5 ข้อ โดยหนังสือตอบกลับของรัฐไทยลงวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ลงนามโดยผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การสหประชาชาติ นครเจนีวา

โดยข้อที่ 1 หนังสือตอบกลับของรัฐอ้างว่า แม้ศาลเห็นชอบว่าบุคคลทั้งสองเป็นผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและเป็นผู้เสียหายจากการกระทำดังกล่าวแต่ได้ยกฟ้องฐานที่ขาดข้อพิสูจน์ว่าเว็บไซต์ pulony.blogspot.com มีส่วนเกี่ยวข้องกับ กอ.รมน. หรือกองทัพไทย นอกจากนั้น เลขาธิการกอ.รมน. ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวระบุว่าเว็บไซต์ดังกล่าวไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐแต่ได้ถูกขึ้นบัญชีติดตามและตรวจสอบโดยกอ.รมน.

ส่วนข้อที่ 2 ที่ยูเอ็นให้รัฐไทยระบุถึงมาตรการที่รัฐบาลจะประกันว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยเฉพาะผู้ซึ่งทำหน้าที่เก็บและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะสามารถดำเนินงานที่ชอบธรรมในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุนได้โดยไม่ต้องหวาดกลัวต่อภัยคุกคามหรือไม่ต้องเสี่ยงที่จะเผชิญกับการข่มขู่และการตอบโต้ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ประเด็นนี้หนังสือตอบกลับระบุว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นกลุ่มบุคคลสำคัญภายใต้ทั้งแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 2

นอกจากนี้ในหนังสือตอบกลับยังย้ำอีกว่า รัฐบาลสนับสนุนบทบาทของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนรวมทั้งผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยผ่าน การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา  การประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย กำหนดมาตรการคุ้มครองและเยียวยาสำหรับผู้เสียหายไม่เพียงจากการทำให้สูญหายและการทรมานเท่านั้นหากยังรวมถึงการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี

และยังอ้างเพิ่มเติมว่า ได้ดำเนินงานเพื่อผลักดันร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก ที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการและได้ส่งร่างกฎหมายไปให้กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเสนอแนะให้นำเนื้อหาของร่างเข้าไปผนวกเป็นส่วนหนึ่งของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่ามีกองทุนยุติธรรมให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายซึ่งให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย การไกล่เกลี่ย ความคุ้มครองและความช่วยเหลือด้านกฎหมายกับบุคคลทุกคนและในหนังสือตอบกลับยังอ้างอีกว่า กอ.รมน.ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการสอบสวนตามรายงานว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและในการประกันให้การปฏิบัติหน้าที่ต่าง  ๆ มีความสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศความร่วมมือเช่นนี้รวมถึงการจัดอบรมประจำปีให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเกี่ยวกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนอีกด้วย

ส่วนข้อ 3 ที่ยูเอ็นได้ขอให้รัฐไทยระบุถึงมาตรการที่นำมาใช้เพื่อประกันให้เกิดความรับผิดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการเข้าถึงความจริง ความยุติธรรม การชดเชยและหลักประกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำในกรณีของสองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนรายละเอียดในหนังสือตอบกลับระบุว่า อังคณาและอัญชนาสามารถเข้าถึงระบบยุติธรรมและมีสิทธิในการฟ้องคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องรวมถึงสิทธิอุทธรณ์คดีต่อศาลอุทธรณ์ ในการพิจารณาของศาลสูง และหากพบว่าหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อบุคคลทั้งสอง หน่วยงานดังกล่าวย่อมถูกศาลสั่งให้รับผิดสอดคล้องตามหลักกฎหมาย และอาจมีคำสั่งให้ต้องชดเชยและเยียวยา  และตามข้อมูลของ กอ.รมน. หากพบว่าเจ้าหน้าที่คนใดละเมิดกฎหมายและทำให้เกิดความเสียหายและอันตรายต่อบุคคลอื่น กอ.รมน.จะทำการสอบสวนภายในอีกด้ว

ส่วนข้อ 4 ในกรณีที่ยูเอ็นถามถึงมาตรการเป็นการเฉพาะใด ๆ ที่ได้นำมาใช้เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการโจมตีด้วยเหตุทางเพศสภาพ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งการใส่ร้ายป้ายสีทางออนไลน์ต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในหนังสือตอบกลับได้อ้างว่า มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้คุ้มครองพลเมืองไทยจากการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงหลายมาตราแล้วในกรณีการโจมตีทางออนไลน์ รวมทั้งการโจมตีด้วยเหตุแห่งเพศสภาพหนังสือตอบกลับได้อ้างว่าเป็นกรณีที่อยู่ใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์พ.ศ. 2560

และในส่วนข้อที่ 5  ที่คณะทำงานยูเอ็นให้รัฐไทยระบุถึงมาตรการที่ได้นำมาใช้เพื่อประกันบูรณภาพทางกายและใจของอังคณา นีละไพจิตร และอัญชนา หีมมิหน๊ะ เมื่อคำนึงถึงภัยคุกคามและการข่มขู่ที่ทั้งสองคนต้องเผชิญอย่างต่อเนื่อง  หนังสือตอบกลับระบุอีกว่า ทั้งสองสามารถเข้าถึงระบบยุติธรรมรวมทั้งมีสิทธิในการฟ้องคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมีสิทธิอุทธรณ์คดีต่อศาลอุทธรณ์ บุคคลทั้งสองยังสามารถเข้าถึงมาตรการเยียวยารวมทั้งผ่านพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม

ขณะที่ ปรานม สมวงศ์  จาก Protection International กล่าวถึงหนังสือตอบกลับของรัฐบาลที่มีออกมาในครั้งนี้ว่า เป็นเรื่องดีที่ประเทศไทยยืนยันว่า ไทยตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศ แต่การตระหนักอย่างเดียวไม่พอ การตอบของรัฐบาลไทยเป็นการตอบแบบมาตราการทั่วๆไปยังไม่เป็นรูปธรรมที่ใช้ได้จริงเพื่อจะคุ้มครอง ยังไม่ระบุมาตรการกลไกที่นำมาใช้เป็นหลักประกันในการคุ้มครองได้จริงเพื่อให้เกิดความรับผิดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการเข้าถึงความจริง ความยุติธรรม การเยียวยา และการประกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

” ตัวอย่างเช่น แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่ยังยกมาอีก ก็ยังไม่มีการกำหนดมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อคุ้มครองและยอมรับการดำเนินงานของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ยังไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย โดยถือเป็นเพียงมติของหน่วยงานฝ่ายบริหารภายใต้รัฐบาลไทย และมีสถานะเป็นเพียง “กฎ” ทำให้ให้ไม่มีน้ำหนักหรือไม่มีศักยภาพในการบังคับใช้ตามกฎหมาย  และในกรณีของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ สองท่านนี้ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม/ความช่วยเหลือด้านกฎหมายจากกระทรวงยุติธรรม” ปรานม  ระบุ

ด้านอังคณา กล่าวว่า ชื่นชมที่รัฐบาลไทยตอบข้อกล่าวหาของคณะผู้เชี่ยวชาญ สหประชาชาติ กรณีการข่มขู่และการคุกคามต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดีส่วนตัวเห็นว่าคำตอบของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐรวมถึง กอ.รมน. เป็นการตอบคำถามเชิงนโยบายอย่างกว้าง ในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การจัดอบรม หรือการทำแผนชาติด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ โดยไม่ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงต่อปัญหาการปฏิบัติ หรือข้อจำกัดต่างๆที่ทำให้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยา ทั้งด้านความยุติธรรม การนำคนผิดมาลงโทษ รวมถึงการเยียวยาทางจิตใจได้จริง

อังคณา ระบุว่า เพื่อให้ปฏิบัติได้จริงตามที่รัฐบาลได้ตอบคำถามคณะผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ รัฐบาลต้องมีการออกมาตรการที่จำเป็น เช่น รับรองแนวปฏิบัติด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UN Guidelines on Human Rights Defenders) หรือมีการออกกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงให้มีการชดใช้เยียวยาเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และรัฐไม่ควรมองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นศัตรู ซึ่งศาลได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติให้มีการเยียวยากรณีการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเรื่องการเยียวยากรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้การชดใช้เยียวยาไม่เกิดขึ้นจริง

“อีกประการที่กังวล คือ คำตอบของ กอ.รมน. ที่ระบุว่า “กอ.รมน.ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการสอบสวนตามรายงานว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ..’ เห็นว่าเนื่องจาก กอ.รมน. ในสถานะผู้ถูกร้อง จึงไม่สมควรเป็นผู้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกทั้งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถือเป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติ ที่ต้องมีความเป็นอิสระ มีความเป็นธรรม และไม่ลำเอียง จึงควรระมัดระวังอย่างมากในเรื่องการถูกแทรกแซง โดยเฉพาะการให้ผู้ถูกร้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เพราะนอกจากอาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแล้ว ยังอาจทำให้ผู้เสียหายเกิดความหวาดกลัวในการร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย” อังคณา กล่าว

ขณะที่ อัญชนา ระบุว่า หนังสือตอบกลับของรัฐบาลไทยที่มีออกมาในครั้งนี้เป็นการมองแค่ระบบโครงสร้างไม่ได้มองการปฏิบัติว่าเป็นอย่างไร รวมถึงการเข้าถึงสิทธิของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เมื่อมีการอ้างถึงกฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก รวมถึงกฎหมาย พ.ร.บ คอมฯ ที่บอกนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหรือประชาชนที่ได้รับการละเมิดสามารถที่จะนำกฎหมายเหล่านี้มาใช้ได้ แต่ในความเป็นจริงในเคสของตนเองและคุณอังคณานั้นเมื่อได้มีการดำเนินการขอแจ้งความเพื่อหาผู้โพสต์ในเฟสบุ๊ก ซึ่งเป็นโดเมนของเว็บไซต์ไอโอ แต่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็บอกว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะโดเมนเนม อยู่ต่างประเทศรวมถึงกระทรวงที่เกี่ยวข้องโดยตรงเอง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็ตรวจสอบไม่ได้ แสดงว่าระบบของรัฐมีปัญหา เมื่อระบบไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้แล้วจะทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิได้อย่างไร

“นอกจากนี้ในส่วนของเรื่องของ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ก็ไม่ได้มีความชัดเจนในเรื่องของเงินเยียวยาแม้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตอบคำถามกับคณะทำงานยูเอ็นว่าผู้กระทำเป็นรัฐถึงจะเยียวยาได้ แต่ในความเป็นจริงศาลไม่ได้ระบุแบบนี้ ทุกวันนี้เหมือนทุกคนลอยตัวอยู่เหนือปัญหาไม่มีระบบการเยียวยาที่สามารถพิสูจน์ได้ และการเยียวยาแบบมีเงื่อนไขระบุว่าผู้ถูกกระทำต้องพิสูจน์ว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทำ จึงจะมีโอกาสในการเข้าถึงการเยียวยาได้แต่ยาก เพราะพิจารณาจากคำพิพากษา” อัญชนา  ระบุ

ขณะที่สัญญา เอียดจงดี ทนายความในคดีนี้ กล่าวว่า จากกรณีที่รัฐได้ทำหนังสือตอบกลับคณะผู้แทนของยูเอ็นไปนั้นจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าวิธีคิดของรัฐไทยยังผลักภาระให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งกระบวนการยุติธรรมทั้งห้าข้อที่รัฐได้พยายามชี้แจงใส่ในหนังสือตอบกลับคณะทำงานยูเอ็นนั้น เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ผลักภาระให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิที่ต้องไปพิสูจน์ว่าตนเองถูกละเมิด และใครเป็นคนละเมิดแล้วถ้าบุคคลที่ละเมิดนั้นเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ยังต้องมาพิสูจน์อีกว่าเสียหายยังไง เท่าไหร่ ทำไมเราไม่มองกลับกันว่าคนที่ถูกกล่าวอ้างเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกหน้าว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยเป็นผู้กระทำ มันจึงควรมีเครื่องมือที่กำหนดให้ ภาระการพิสูจน์ ตกแก่รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องพิสูจน์ว่าตนเองไม่ได้ทำ เราจะไปถึงจุดนี้ได้อย่างไร

ทนายความระบุด้วยว่า และในเรื่องที่เราถูกกระทำนั้นในบางครั้งเราไปใช้สิทธิทางกฎหมาย ก็ถูกฟ้องกลับ  ซึ่งหากพิจารณาตาม มาตรา มาตรา 161/1 และ 165/2 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งให้อำนาจศาลในการตรวจสอบกรณีที่ประชาชนฟ้องกันโดยไม่สุจริต แต่ในทางปฏิบัติที่เราทำกันมา ในส่วนมาตรานี้ศาลไม่เคยลงมาตรวจสอบอย่างจริงจัง ซึ่งทำไมประธานศาลฎีกาไม่ออกข้อกำหนดหรือแนวระเบียบปฏิบัติว่าในกรณีที่เป็นการฟ้องปิดปาก ให้รัฐไต่สวนคำร้องตรงนี้ก่อน ว่ามีมูลหรือไม่ ก่อนที่จะมีการไต่สวนมูลฟ้องว่ามีมูลหรือไม่มีมูลซึ่งตรงส่วนนี้จะโอเคกว่าและจะแบ่งเบาภาระไปได้เยอะ และรัฐบาลควรทำงานเชิงรุกเมื่อมีการกล่าวหาและควรแบ่งเบาภาระของผู้เสียหายด้วยการออกกฎหมายภายในมารองรับมาตรการระหว่างประเทศต่างๆที่มีออกมาเพื่อมุ่งที่จะเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สิทธิ์ตรงนี้

“สรุปคือ รัฐควรสร้างเครื่องมือที่เป็นกฎหมายมารองรับเลยว่าถ้ามีคนกล่าวอ้างว่าถูกละเมิดสิทธิจากการใช้สิทธิหรือทำหน้าที่ปกป้องสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน ต้องมีเครื่องมืออะไรที่จะมาคุ้มครองเขาได้บ้าง มีเครื่องมืออะไรที่จะมาเยียวยาได้บ้าง ต้องทำให้ชัดเจนเลย” ทนายความ กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สมชัย ชี้ปรับ ครม. ‘รัฐบาล’ ขาดทุนมากขึ้น  หน้าตาคนมาใหม่หลายคน ปชช.ส่ายหน้า

ปรับ ครม.ครั้งนี้ จึงดูเหมือนรัฐบาลจะขาดทุนมากขึ้น  เพราะหน้าตาคนมาใหม่หลายคนประชาชนก็ส่ายหน้า  ยิ่งปานปรีย์ลาออกอีก ยิ่งเสียโอกาสได้คนเก่งและทุ่มเทมาอยู่ใน ครม.

ดร.รัชดา เชื่อถ้าใช้หลักตอบแทนนายใหญ่ ’นพดล’ เสียบเก้าอี้ ‘ปานปรีย์’ แน่

ดร.รัชดา อยากรู้รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของรัฐบาลนี้จะเป็นใคร คนที่จะต้องเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ สถานการณ์การเมืองในประเทศเพื่อนบ้านและการเมืองโลกตอนนี้

ก้าวไกล เดือดแทน ‘หมอชลน่าน’ ทุ่มเทเหนื่อยสุด โดนคนทิ้งพรรคเสียบเก้าอี้

‘ณัฐชา’ มอง ปรับ ครม.เศรษฐา 1/1 ‘เพื่อไทย’ ยังรักษาคาแรคเตอร์ ‘สมบัติผลัดกันชม’ เก้าอี้ รมต. เหมือนเดิม สงสัย ทำไมเอาคนทิ้งพรรคอย่าง ’สมศักดิ์‘ แทน ’หมอชลน่าน‘ เหตุเหนื่อยสุดแบกรับสถานการณ์ช่วงเลือกตั้ง-จัดตั้งรัฐบาล

แฉเล่ห์ 'พท.' วางยาแก้ รธน. ล็อกคำถามประชามติครั้งแรก

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า พรรคเพื่อไทยจริงใจแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่