หวั่นรัฐบาลเศรษฐา ถอยหลังเข้าคลอง 'คลายกฎประมง' เปิดประตูค้ามนุษย์ 

เครือข่าย MWG เปิดเวทีเสวนาชวนจับตารัฐเตรียมดัน  FTA ไทย-อียู พร้อมออกแถลงการณ์ชง 3 ข้อเร่งแก้ปัญหา IUU ด้าน“EJF” หวั่น“รัฐบาลเศรษฐา”แก้กฎประมงทำสิทธิมนุษยชนไทยถอยหลัง

21 ม.ค.2567 –   เครือข่ายภาคประชาสังคม ประกอบด้วย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) และ Solidarity Center (SC) ได้จัดงานเสวนาสรุปทิศทางประมงไทย ในบริบทการค้าระหว่างประเทศ : ข้อพิจารณาเรื่องสิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม และมาตรฐานตลาดการค้าอาหารทะเล เพื่อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงกฎหมายและความร่วมมือในการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนติดตามสถานการณ์กฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานประมงและข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA)ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย โดยมีตัวแทนเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน นักวิชาการ ภาคธุรกิจ และผู้ที่สนใจเข้าร่วม

ดอมินิก ทอมสัน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม(EJF) กล่าวถึงสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านการบริหารจัดการประมงไทย ภายใต้รัฐบาลนำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งภาคประชาชาสังคมมีข้อกังวลและข้อเสนอแนะในประเด็นนี้ว่า หลังจากหลายปีที่ประเทศไทยได้สร้างความอื้อฉาวในระดับนานาชาติในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน แรงงานบังคับ (Forced Labour) และแรงงานเด็ก (child labor) ก็มีการปฏิรูประบบอุตสาหกรรมประมง และได้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านการทำประมงและส่งออกอาหารทะเลที่ยั่งยืน ถูกกฎหมาย และเป็นธรรม มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในขณะนี้ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางและแนวทางจัดการอุตสาหกรรมประมงที่ถอยหลังกลับ ซึ่งจะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชนและชื่อเสียงของประเทศไทยต่อประชาคมโลก และจะสร้างผลกระทบต่อความพยายามของรัฐบาลใหม่ในการดึงดูดการลงทุนระหว่างประเทศใหม่

ดอมินิก กล่าวต่อว่า การผ่อนปรนมาตรการทางกฎหมายอาจเป็นตัวทำลายมาตรการทางการประมงและการส่งออกอาหารทะเลในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งตัวเลขประมาณการส่งออก ปี พ.ศ. 2564 มีมูลค่า 1.72 แสนล้านบาท การย้อนกลับไปดูพันธกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทยในเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับของอาหารทะเลจะทำให้ประเทศผู้ซื้ออาหารทะเลจำนวนมากอาจทบทวนการจัดซื้ออาหารทะเลจากประเทศไทยต่อไป แนวทางการรับมือนั้นจะต้องมีความชัดเจน มีความโปร่งใส แนวทางการปฏิบัติควรได้รับการพัฒนามากกว่าการผ่อนปรน สิ่งนี้จะทำให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลในประเทศไทยเจริญรุ่งเรือง ที่แรงงานสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย และมีส่วนช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไปที่เข้ามาในอุตสาหกรรมนี้

“ประชากรของปลามีจำนวนน้อยลงมากในปัจจุบัน การลดต้นทุนในการทำอุตสาหกรรมประมงที่ทำได้ตอนนี้ คือ การลดต้นทุนด้านแรงงาน ซึ่งจะเสี่ยงต่อเรื่องการค้ามนุษย์ การใช้งานแรงงานเยี่ยงทาส วงจรการจับปลากำลังไปสู่จุดจบของอุตสาหกรรมมากเรื่อยๆ บริบทไทยก่อน ปี 2015 เราไม่รู้มีเรือเท่าไหร่ มีเครื่องหมายประจำเรืออย่างไรบ้าง ไม่มีการถ่วงสมดุล การล่วงล้ำจับปลา กฎหมายประมงออกแบบมานานแล้ว และไม่มีการลงโทษที่เหมาะสม การโอนย้ายเราไม่รู้เลย ไม่มีใครตรวจสอบถ่วงดุลได้ การตรวจสอบท่าเรือไม่สามารถททำได้เพียงพอ ไม่สัญญาณเตือน ผลคือจำนวนปลาลดลงอย่างมาก” ดอมินิก กล่าว

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผอ.ฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า หากรัฐบาลไทยมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบข้อบังคับในการทำประมง คนที่เสียประโยชน์คือลูกเรือ โดยเฉพาะการแก้ไขในเรื่องระบบติดตามตรวจสอบเรือ เป็นระบบใหม่ที่ให้ออกเรือนานมากกว่า 30 วัน มีเรือแม่ออกไปรับปลาและเปลี่ยนถ่ายลูกเรือกลางทะเลได้ ซึ่งจะเป็นการเปิดประตูให้มีการค้ามนุษย์เกิดขึ้น และที่สำคัญจะทำให้เกิดการทำประมงที่ผิดกฎหมายเกิดขึ้นด้วย

“อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่าสมาคมประมงเป็นเด็กดื้อ ไม่ค่อยเชื่อฟังกฎหมายและไม่เชื่อฟังรัฐบาล คิดว่าอยู่ในทะเลจะทำอย่างไรก็ได้ตามความพอใจ จึงเห็นว่าไม่เหมาะที่จะให้สมาคมประมงกำหนดว่าอะไรเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยควรทำหรือไม่ควรทำ แนวโน้มคือเขาพยายามเสนอให้รัฐบาลชุดนี้เปิดเสรีอุตสาหกรรมประมง ยกเลิกการปกป้องสิทธิของลูกเรือ ซึ่งจะสร้างปัญหาเรื่องการทำประมงผิดกฎหมายตามมา ที่ผ่านมาสมาคมประมงไม่เคยยอมรับการปฏิรูปและไม่ยอมรับว่ามีการค้ามนุษย์เกิดขึ้นจริง ประเด็นเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่ทำลายความสามารถของรัฐบาลไทยและเศรษฐกิจไทยในการส่งอาหารทะเลออกไปข้างนอก  เพราะหากยกเลิกกฎระเบียบต่างๆ ในการปกป้องลูกเรือก็จะมีปฏิกิริยาจากต่างประเทศว่ารัฐบาลไทย เรือประมงไทย กลับมาใช้แรงงานการค้ามนุษย์แล้ว” ฟิล กล่าว

ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มประมงพื้นบ้านไม่มีตัวตน และกำลังจะถูกลดความสำคัญอย่างน่าตกใจ  พูดไม่ได้พูดจากความรู้สึกหรือความนึกคิดของตนคนเดียว แต่เป็นการรวบรวมความคิดเห็นของสมัชชา 66 องค์กรที่เป็นเครือข่ายประมงพื้นบ้านในนามสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เราได้สัมผัสในทุกเวทีการยกร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ. 2558  ที่จะเป็นกฎหมายฉบับใหม่ โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองทั้งหมด 6 พรรคเขียนร่างกฎหมายขึ้นมา โดยร่าง พ.ร.บ.ของพรรคเพื่อไทยได้เป็นฉบับเปรียบเทียบกับ พ.ร.ก. การประมง พ.ศ.2558 และฉบับแก้ไข 2560 ถ้าเราไปดูจุดมุ่งหมาย พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ในมาตรา 4 (2) ได้ให้ความสำคัญกับประมงพื้นบ้าน หมายถึงพยายามที่จะสนับสนุนการประมงพื้นบ้าน องค์กรประมงท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนและยกความสำคัญของประมงพื้นบ้าน  แต่พอเราไปดูร่าง พ.ร.บ.ของพรรคการเมืองทั้ง 6 พรรค โดยเฉพาะฉบับของพรรคเพื่อไทยเรากลับเห็นว่าในมาตรา 4 (2) มีการขีดทิ้ง แล้วพยายามที่จะไปส่งเสริมการประมงทุกประเภทที่ถูกกฎหมายทุกวิถีทางทุกรูปแบบ ซึ่งการซ่อนคำแบบนี้ไว้นั้นน่าตกใจ เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าประมงพื้นบ้านกำลังจะไม่มีตัวตนในร่าง พ.ร.บ.ทุกฉบับที่กำลังจะแก้

“ประมงพื้นบ้านกำลังจะหมดตัวตน ความน่าเจ็บปวดของ พ.ร.ก.การประมง 2558 …แต่วันนี้คณะกรรมการนโยบายเรื่องสัตว์น้ำในทะเลออกมาแบ่งใช้ระบบสัดส่วนประมงโควต้า ปรากฎว่าประเทศไทยมีเรืออยู่ 60,000 ลำ เป็นประมงพานิชย์ 10,000 ลำ ได้สัดส่วนไป 80% ถ้าตามบันทึกในแต่ละปีได้ 1.2 ล้านตัน เรือประมงพื้นบ้านมีอยู่ 50,000 ลำ ได้สัดส่วนการจัดสัตว์น้ำ โควต้า 20% คิดเป็นสัดส่วนได้แค่ 2.8 ล้านตัน..นี่คือความจนจากการบริหารที่ยังไม่ทั่วถึง” ปิยะ ระบุ

ปิยะ กล่าวต่อว่า วันนี้ถ้าจะแก้กฎหมายต้องเน้น 4 เรื่อง 1.ทะเลคือพื้นที่สาธารณะ ต้องสร้างความตระหนักว่าใครก็ตามที่ใช้พื้นที่สาธารณะประกอบอาชีพต้องผ่านกฎกติกาที่เป็นธรรมและเท่าเทียม 2.สร้างกติกากฎหมายที่เปิดโอกาสให้คนทุกคนทุกกลุ่มมีความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เรื่องแรงงานต่างชาติ 3.ความมั่นคงทางอาหารต้องมีในกฎหมาย ต้องมองว่าประมงไม่ใช่แค่อาชีพ วันนี้ทะเลทั่วโลกมันคือทะเลเดียวกันทั้งโลก เป็นแหล่งโปรตีนที่ใหญ่ที่สุด สะอาดที่สุด 4.ส่งต่อความยั่งยืนให้คนรุ่นหลัง การรักษาสัตว์น้ำ การรักษาแหล่งธรรมชาติให้รุ่นลูกรุ่นหลาน

“ความยั่งยืน วิถีกับวิธีของประมง มันมีวิถีเดียวกันคือการจับสัตว์น้ำเพื่อเอาไปชาย แต่วิธีการจับมันไม่เหมือนกัน วิธีการจับ ความยั่งยืนคือการต้องไม่ทำลายพื้นที่อาศัยของสัตว์น้ำ เช่น กัลปังหา ประการังเทียม และต้องไม่ทำลายระบบพึ่งพา สัตว์น้ำตัวใหย่กินสัตว์น้ำตัวเล็ก สัตว์น้ำตัวเล็กกินแพลงตอน มันต้องเป็นระบบห่วงโซ่ เรื่องที่ไม่ยั่งยืนเราต้องไม่ทำลายความยั่งยืนความมั่นคงอาหาร” ปิยะ กล่าว

จากนั้นอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ  กล่าวถึงแถลงการณ์ของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติและภาคประชาสังคม เรื่องข้อห่วงใยและข้อเสนอต่อการมาตรการแก้ไขกฎหมายประมงของประเทศไทย ว่า เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ มีข้อสังเกตและข้อกังวลใจ โดยเฉพาะในเรื่องผลกระทบต่อการจ้างงานและการคุ้มครองแรงงานในงานประมง  ดังนี้  1.การเสนอยกเลิกควบคุมการขนถ่ายกลางทะเลของสัตว์ทะเลที่จับได้และการขนถ่ายลูกเรือกลางทะเลระหว่างการประมง ทำให้แรงงานประมงต้องทำงานบนเรือเป็นระยะเวลานานในลักษณะกักขังในทะเล กลายเป็นที่มาของการบังคับใช้แรงงานซึ่งขัดต่อข้อกำหนดทางจริยธรรมและจรรยาบรรณทางธุรกิจ ( Code of Conduct) ของคู่ค้าระหว่างประเทศ 2.แรงงานเด็กในกิจการประมงทะเล  ซึ่งต้องอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี 3.การขยายเวลาในการทำประมง จากเดิมกำหนดครั้งละไม่เกิน 30 วัน หากขยายเวลาทำประมงเป็น 60-90 วัน จะมีผลเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิแรงงานในด้านต่างๆ 

4.การยกเลิกระบบการจ่ายเงินเดือนผ่านบัญชีธนาคาร ส่งผลให้มาตรการในการตรวจสอบเรื่องการคุ้มครองแรงงานในเรื่องการจ่ายค่าจ้างที่มีหลักฐานลดลง ไม่สามารถตรวจสอบควบคุมการละเมิดสิทธิแรงงานได้  5.การเปลี่ยนการจ่ายค่าจ้างรายเดือนเป็นการจ่ายค่าจ้างรายวัน เป็นช่องว่างต่อการจ่ายค่าจ้าง แรงงานอาจไม่ได้รับค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และควรได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำคูณด้วย 30 วัน 6.การขยายระยะเวลาแก้ไขรายชื่อลูกเรือหลังการแจ้งออก ซึ่งเปิดช่องว่างให้มีการลักลอบนำคนงานขึ้นเรือหลังการตรวจสอบที่ท่าเรือแล้วเสร็จ และสุ่มเสี่ยงต่อการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์

นายอดิศร กล่าวต่อว่า ผลกระทบสำคัญนอกจากจะเกิดขึ้นต่อการคุ้มครองแรงงานในกิจการประมงแล้ว ยังกระทบโดยต่ออุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลในตลาดโลก โดยในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีมููลค่าการส่งออก 5.4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (1.72 แสนล้านบาท) และเมื่อพิจารณาจากประเทศคู่ค้าในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย จะพบว่ามากกว่า 60% เป็นประเทศที่มีมาตรการทางกฎหมายที่จำกัดผลิตภัณฑ์ที่ใช้แรงงานบังคับอย่างเข้มข้น จึงเป็นความกังวลใจว่าหากทิศทางในการแก้ไขกฎหมายและมาตรการการทำประมงที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิแรงงาน การบังคับใช้แรงงาน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารทะเล และเศรษฐกิจการค้าไทยในตลาดโลกในภาพรวมด้วยเช่นกัน

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยในแนวทางการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับประมงทะเลดังนี้ 1.ขอให้พิจารณาทบทวนการแก้ไข พ.ร.ก.การประมง กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการละเมิดสิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อมและขัดต่อข้อกำหนดทางการค้าอาหารทะเล ทั้ง 6 ประเด็นข้างต้น และขอให้ชะลอการนำเสนอกฎหมายหลักและกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะส่วนที่จะมีผลกระทบทั้ง 6 ประเด็นไปก่อนจนกว่าจะมีการร่วมกันพิจารณานำเสนอความเห็นของทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน 2.จัดตั้งคณะกรรมการการหารือที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ได้เสียทุกภาคส่วน (Social Dialog) ตามกรอบอนุสัญญาฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง ค.ศ. 2007 เพื่อพิจารณาจัดทำข้อเสนอและแก้ไขกฎหมายด้านการประมงที่มีผลกระทบต่อการคุ้มครองแรงงานและการทำประมงที่ยั่งยืน   3.รัฐบาลควรจะต้องพิจารณาแก้ไขกฎหมายให้มีความสอดคล้องต่อมาตรฐานแรงงานพื้นฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศและข้อกำหนดทางการค้าด้านอาหารทะเล

“เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติยืนยันในหลักการการแก้ไขปัญหาประมงทะเลไทย ต้องวางบนพื้นฐานของการลดทอนความยุ่งยากของระบบราชการ เคารพและคุ้มครองในสิทธิแรงงาน ทำการประมงที่ยั่งยืน เพื่อให้กิจการประมงและอาหารทะเลไทยยืนหยัดในเวทีการค้าระหว่างประเทศอย่างมีศักดิ์ศรี และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยและเศรษฐกิจไทย”นายอดิศร ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลแนะผู้ประกอบการไทยปรับตัว ปฏิบัติตามกฎตลาดโลก

รัฐบาลเสริมความเข้มแข็งสินค้าไทย ให้เท่าทันกฎระเบียบของทุกตลาด แนะผู้ประกอบการปรับตัว หลังสเปนจ่อออกกฎใหม่ เครื่องดื่มพสาสติกต้องใช้ฝาแแบยึดกับขวด

รัฐบาลลุยต่อต้านค้ามนุษย์ แก้ปัญหา ’ฟินแลนด์’ ระงับวีซ่าคนไทยเก็บเบอร์รี่

‘คารม’  เผยรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา กรณีฟินแลนด์ระงับวีซ่าคนไทยเก็บเบอร์รี่ชั่วคราว เดินหน้าต่อต้านการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในทุกรูปแบบ

'โบว์' ตั้งคำถามจะมีผลกระทบอย่างไรต่อสถาบัน หาก 'ตะวัน' เสียชีวิตระหว่างฝากขัง

น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา โพสต์เฟซบุ๊กว่า ตะวันและแฟรงค์ ถูกฝากขังในชั้นสอบสวน ทั้งที่อิสรภาพของผู้ต้องหาทั้งสองคนไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน