อัยการสอบสวนประธานาธิบดีเปรู กรณีผู้ประท้วงเสียชีวิต

ประธานาธิบดีหญิงของเปรูถูกอัยการเรียกสอบสวนในกรณีการเสียชีวิตของผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล ท่ามกลางข้อกล่าวหาจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนว่ากองกำลังความมั่นคงใช้ยุทธวิธีที่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต

ประธานาธิบดีดีนา โบลูอาร์เต ของเปรู (กลาง) เดินทางมาพบหัวหน้าอัยการแพทริเซีย เบนาวิเดส ที่สำนักงานอัยการในกรุงลิมา เมื่อวันที่ 7 มีนาคม หลังพัวพันกรณีการเสียชีวิตของผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล (Photo by Peru's Prosecutor Office / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 8 มีนาคม 2566 กล่าวว่า ประธานาธิบดีดีนา โบลูอาร์เต ของเปรู เดินทางไปพบอัยการ หลังถูกเรียกสอบสวนเพื่อให้ปากคำกรณีการเสียชีวิตของผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล ที่มีข้อสงสัยว่าโบลูอาร์เตอาจอยู่เบื้องหลัง

เปรูพัวพันกับวิกฤตการเมืองจากการเดินขบวนประท้วงของประชาชนเกือบทุกวัน นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีเปโดร กัสติโย ผู้นำคนก่อนถูกถอดถอนและจับกุมเมื่อต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

ในช่วง 10 สัปดาห์ของการเดินขบวนประท้วงทั่วประเทศ มีประชาชนอย่างน้อย 54 รายรวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เสียชีวิตจากการปะทะกันระหว่างกองกำลังความมั่นคงกับกลุ่มผู้ประท้วงที่สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีกัสติโย และได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 600 คน ตามรายงานของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินด้านสิทธิมนุษยชน

โบลูอาร์เต วัย 60 ปี ถูกหัวหน้าอัยการแพทริเซีย เบนาวิเดส สอบสวนเป็นเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงครึ่ง

ก่อนหน้านี้ สำนักงานอัยการกล่าวว่า โบลูอาร์เตถูกเรียกมาให้ปากคำเกี่ยวกับกรณีการเสียชีวิตของพลเรือนที่เกิดขึ้นระหว่างการเคลื่อนไหวทางสังคมตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ถึงมกราคม 2566

อัยการเริ่มเปิดการสอบสวนกรณีดังกล่าวในเดือนมกราคม โดยโบลูอาร์เตถูกกล่าวหาว่า "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, เจตนาฆ่าและทำให้บาดเจ็บสาหัส" ต่อกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล นอกจากนี้รัฐมนตรีอีกหลายคนก็ตกเป็นเป้าหมายของการสอบสวนเช่นกัน

แม้ว่าโบลูอาร์เตจะถูกตั้งข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการ แต่ในฐานะประธานาธิบดี เธอไม่สามารถขึ้นศาลได้จนกว่าอำนาจหน้าที่ของเธอจะสิ้นสุดลงในปี 2569

กลุ่มผู้ประท้วงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศจึงได้เรียกร้องให้โบลูอาร์เตลาออก, ยุบสภา, จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว และร่างรัฐธรรมนูญใหม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แอฟริกาใต้ฟ้องศาลโลก กล่าวหาอิสราเอลเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

แอฟริกาใต้กล่าวหาอิสราเอลด้วยข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ที่ศาลสูงสุดของสหประชาชาติ เมื่อวัน