'Grand National' ประเพณีแข่งหรือทรมานม้า?

/AFP

การแข่งม้า ‘Grand National’ ที่มีชื่อเสียงในเอนทรี ทางตอนเหนือของอังกฤษ กลายเป็นข่าวพาดหัวเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากการแข่งขันตามประเพณีประจำปีนี้มีเหตุไม่น่าพิสมัยเกิดขึ้น – ม้าตาย 3 ตัว นักเคลื่อนไหวถูกจับกุม 118 คน และคำถามที่ถกเถียงกันในสังคมอังกฤษว่า จำเป็นต้องจัดเทศกาลนี้สืบต่อหรือไม่?

Grand National Festival ถูกจัดขึ้นตั้งแต่ปี 1836 และนับเป็นการแข่งขันม้าวิบากที่มีชื่อเสียงที่สุดในสหราชอาณาจักร อีกทั้งยังเป็นงานประเพณีประจำท้องถิ่น ที่ไม่เพียงแต่ผู้ชมนับหมื่นคนมาร่วมงานที่สนามม้าในเอนทรี ใกล้เมืองลิเวอร์พูลเท่านั้น แต่ผู้คนทั่วประเทศต่างให้ความสนใจ และร่วมเดิมพันกับการแข่งขัน ทำให้มันกลายเป็นกิจกรรมที่มีการเดิมพันสูงสุดด้วย

ขณะเดียวกันมันก็เป็นกิจกรรมที่บรรดานักเคลื่อนไหวด้านสิทธิของสัตว์วิพากษ์วิจารณ์มานานหลายปี สนามแข่งม้านี้ถือว่าอันตรายอย่างยิ่ง ทั้งสำหรับม้าและคนขี่ เพราะม้าแต่ละตัวต้องวิ่งแข่งเคียงข้างกันข้ามสิ่งกีดขวางที่ยากลำบาก แม้จะมีมาตรการต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยง แต่อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า รวมถึงการแข่งขันล่าสุดนี้ด้วย

ในการแข่งขันแมตช์สำคัญเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ต่อหน้าผู้ชมราว 70,000 คน ม้าชื่อ ‘Hill Sixteen’ อายุ 10 ปีล้มลงตั้งแต่สิ่งกีดขวางแรก มันคอหัก และตายหลังจากนั้นไม่นาน นับเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงครั้งที่ 3 ในเอนทรีปีนี้ วันเสาร์ก่อนหน้าม้า ‘Dark Raven’ ก็ได้รับบาดเจ็บถึงตาย หรือวันพฤหัสบดีช่วงเริ่มต้นเทศกาล ม้า ‘Envoye Special’ ก็พบกับชะตากรรมเดียวกัน

แต่ก่อนการแข่งขันในวันเสาร์ที่จบลงด้วยเรื่องน่าเศร้าของม้า ‘Hill Sixteen’ นั้น กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิของสัตว์ได้รุกเข้าไปบนเส้นทางเพื่อประท้วงและขัดขวางการแข่งม้าที่อันตราย เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องนำตัวพวกเขาออกไป ทำให้การแข่งขันเริ่มช้าไป 14 นาที สื่ออังกฤษรายงานว่า ตำรวจจับกุมนักเคลื่อนไหวได้ 118 คน

นอกจากพยายามขัดขวางการแข่งม้าบนเส้นทางแล้ว นักเคลื่อนไหวยังได้ปิดกั้นถนนทางเข้างานด้วยการทากาวเกาะติดกับพื้นถนน “กีฬาที่น่ากลัวนี้ยังคงจัดต่อเนื่องให้เห็นต่อหน้าต่อตาเรา ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องห้ามธุรกิจที่น่ากลัวนี้” องค์กรพิทักษ์สัตว์ Animal Rising แถลงการณ์ปฏิบัติการผ่านทางทวิตเตอร์ มีผู้คนราว 17,000 คนลงชื่อร่วมทางออนไลน์

เส้นทางแข่งม้ายาวประมาณ 7 กิโลเมตรในเอนทรีจัดว่าเป็นเส้นทางวิบากและอันตราย กระทั่งว่าม้าแข่งวิบากที่ดีที่สุดและราคาแพงหลายตัวยังไม่กล้าลงสนาม แม้ว่าจะลดทอนความเสี่ยงสำหรับม้าและคนขี่ไปบ้างแล้วในช่วงทศวรรษ 1990 แต่ปัญหาก็ไม่ได้คลี่คลาย ข้อมูลของ Aminal Rising ระบุว่ามีม้า 55 ตัวต้องจบชีวิตที่เอนทรีตั้งแต่ปี 2000 รวมถึง 15 ตัวในเทศกาล Grand National ด้วย “สัตว์ที่สวยงามเหล่านี้ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะประเพณี และธุรกิจการพนัน”

หลังจากเหตุการณ์ล่าสุด องค์กรพิทักษ์สัตว์ชื่อดัง ‘RSPCA’ (ราชสมาคมเพื่อการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรการกุศลที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร ได้เรียกร้องให้ British Horseracing Authority สอบสวนเหตุเสียชีวิตในช่วงเทศกาล Grand National และจะประกาศการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไป ซึ่งสังคมอังกฤษคงต้องรอดูว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่

ไม่นานหลังจาก ‘Hill Sixteen’ ล้มและคอหักตายไป ม้า ‘Corach Rambler’ ซึ่ง ดีเรค ฟ็อกซ์ เป็นคนขี่ ก็คว้าแชมป์ Grand National ครั้งที่ 175.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ช้าง จูเนียร์ คัพ 2025' ฟุตบอลU-13 รอบปทท. รางวัลพิเศษบินไปเปิดประสบการณ์ที่อังกฤษ

“Chang Junior Cup 2025” เตรียมระเบิดศึกฟุตบอล U-13 รอบชิงแชมป์ประเทศไทยดึง “ลีซอ” ถ่ายทอดประสบการณ์สร้างแรงบันดาลใจ ในพิธีจับสลากแบ่งสายการแข่งขัน พร้อมเพิ่มรางวัลพิเศษ “Chang Sportsmanship” เปิดประสบการณ์ฟุตบอลระดับโลกที่ประเทศอังกฤษ

'อิ๊งค์' ปลื้ม 'เมี่ยงคำ' เมนูฮิต ยกระดับ Thai SELECT ดันอาหารไทยสู่เวทีโลก

นายกฯ มอบประกาศนียบัตรรับรองร้านอาหารไทย ยกระดับตรา Thai SELECT ติดดาวเทียบชั้นมิชลิน ร่วมกิจกรรมสาธิต 'เมี่ยงคำ' เมนูสุดฮิตในอังกฤษ

'นายกฯอิ๊งค์' บินอังกฤษ-โมนาโก เปิดประตูการค้า ชูซอฟต์พาวเวอร์ไทย

นายกฯ เตรียมบินเปิดประตูการค้าในสหภาพยุโรป 21 - 25 พ.ค. ชู Soft Power ด้านอาหาร กีฬา ดันมวยไทยสู่เวทีโลก พร้อมดึงแข่ง F1 มาไทย สร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ