'อิมราน ข่าน' นักกีฬา นักการเมือง และยามนี้เป็นนักโทษ

AFP

เมื่อเดือนเมษายน 2022 รัฐสภาปากีสถานได้ถอดถอน อิมราน ข่าน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันเขาถูกลอบทำร้าย กระสุนปืนสามนัดเจาะเข้าที่ขาของเขา เดือนมีนาคมปีนี้กองกำลังความมั่นคงของปากีสถานพยายามบุกเข้าไปในบ้านของเขา แต่หลังจากปะทะกับกลุ่มผู้สนับสนุนของเขาอยู่นานหลายชั่วโมง เจ้าหน้าที่ก็ล่าถอยกลับไป

วันอังคารที่ผ่านมา กองกำลังกึ่งทหารของปากีสถานจับกุมอิมราน ข่านได้ในเมืองหลวงอิสลามาบัด ก่อนหน้านี้ข่านออกจากบ้านในย่านหรูของเมืองลาฮอร์เพื่อเดินทางไปขึ้นศาล ซึ่งเขาถูกตั้งข้อหาคอร์รัปชัน แต่เขากลับไม่ไปปรากฏตัว กองกำลังกึ่งทหารฝ่าวงล้อมบอดี้การ์ดของข่านและจับตัวเข้าขึ้นรถตู้สีดำ ขณะนี้การประท้วงทั่วประเทศกำลังทำให้ปากีสถานกลายเป็นอัมพาต

อิมราน ข่านเป็นใคร? ที่สามารถทำให้ปากีสถานต้องนิ่งงัน

ปีที่แล้วข่านรู้สึกเหมือนเป็นคนแปลกหน้าในประเทศของตัวเอง เขาบอกกับสื่อตะวันตก ไม่ใช่แค่เหมือนคนแปลกหน้า แต่เหมือนเป็นศัตรูของชาติ เขาอายุ 70 ปี เกิดเมื่อห้าปีก่อนที่ปากีสถานจะได้รับเอกราช เขาเติบโตขึ้นในบ้านที่ลาฮอร์ ครอบครัวค่อนข้างมีฐานะ แต่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำทางการเมืองหรือการเงินของปากีสถาน

เขาเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศมานาน 50 ปีแล้ว นานกว่าชาวปากีสถานคนอื่นๆ เคยได้รับสิทธิพิเศษในสังคมมาตลอด ผู้คนยอมรับเขาในฐานะนักกีฬาคริกเก็ตประจำชาติ รวมถึงตอนที่เขาก้าวเข้าสู่การเมืองด้วย

คริกเก็ตเป็นกีฬาที่มีความหมายในปากีสถาน พอๆ กับฟุตบอลในบราซิล อิมราน ข่านติดเข้าทีมชาติปากีสถานครั้งแรกในปี 1971 เป็นชายหนุ่มที่ขยันขันแข็งและมั่นใจในตัวเองอย่างเหลือเชื่อ ในช่วงทศวรรษ 1970 เขาร่ำเรียนด้านการเมืองที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและเป็นนักกีฬาทีมมหาวิทยาลัย เพื่อนร่วมทีมเคยกล่าวถึงเขาว่า นักกีฬาคนอื่นๆ ในทีมเป็นนักศึกษาที่ส่วนใหญ่สมัครเข้าไปเพราะอยากเล่น แต่อิมราน ข่านเป็นนักกีฬาที่เล่นแบบเอาเป็นเอาตาย

ปี 1982 ข่านได้รับการแต่งตั้งเป็นกัปตันทีมชาติ เขากลายเป็นบุคคลสำคัญ เป็นผู้กำหนดกลยุทธ์ จัดลำดับว่าใครจะตีหรือขว้างลูกเมื่อไหร่ สิ่งสำคัญที่สุดที่เขาได้เรียนรู้ในช่วงเวลานั้นคือ การยอมรับความพ่ายแพ้ “สิ่งยากที่สุดคือ การลุกขึ้นสู้เมื่อคุณแพ้ คนส่วนใหญ่แพ้แล้วยอมจำนน แต่ถ้าคุณอยากก้าวหน้าในชีวิต คุณต้องรับมือกับช่วงเวลาที่เลวร้ายให้ได้” ภายหลังเรียนจบเขายังคงเล่นคริกเก็ตและเป็นดาวเด่นในอังกฤษต่อไป

หลังจบการแข่งขันเขาไม่ได้ไปนั่งดื่มกับเพื่อนร่วมทีมในผับ แต่จะนั่งรถไฟเข้ากรุงลอนดอน ข่านชอบท่องราตรีในเมืองใหญ่ เขาชอบไปเที่ยวไนต์คลับชื่อ Tramp ที่ซึ่งมีเอลตัน จอห์น หรือจอร์จ เบสต์เป็นขาประจำ และเขาชอบดื่มนมแทนแชมเปญ ข่านมีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ มากมาย ครั้งหนึ่งสื่อในอังกฤษเคยตีพิมพ์ภาพถ่ายเขาในชุดกางเกงในตัวเดียว เขาปรากฏอยู่ในข่าวซุบซิบของลอนดอนเป็นประจำ ข่านกลายเป็นมากกว่ากัปตันทีมคริกเก็ต รวมถึงในปากีสถานด้วย

ปากีสถาน ประเทศที่ประสบกับวิกฤตอัตลักษณ์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง – โมฮัมหมัด อาลี จินนาห์ ผู้ก่อตั้งรัฐเสียชีวิตในปี 1948 หนึ่งปีหลังจากปากีสถานได้รับเอกราช จากนั้นประเทศก็เริ่มแตกแยก ในทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากอังกฤษแบ่งดินแดนออกเป็นปากีสถานตะวันตกและตะวันออกก่อนที่พวกเขาจะจากไป โดยมีอินเดียที่เป็นปรปักษ์อยู่ระหว่างนั้น (ปากีสถานตะวันออกได้รับเอกราชในปี 1971 และกลายเป็นบังกลาเทศ) และปากีสถานก็ขาดอุดมการณ์เช่นกัน เพราะจินนาห์เสียชีวิตก่อนที่จะชัดเจนว่าเขาต้องการประเทศแบบไหน แบบรัฐอิสลามที่เคร่งครัด หรือเป็นสากลภายใต้การนำของมุสลิม

อิมราน ข่าน กัปตันทีมคริกเก็ต ดูเหมือนจะมีครบทุกสิ่งอย่าง เป็นชาวมุสลิมที่มีความเป็นสากล เคร่งศาสนา และมีความมั่นใจ ใช้ชีวิตท่ามกลางแสงสียามราตรีในกรุงลอนดอนหรือบนภูเขาที่สงบเงียบในปากีสถานได้อย่างกลมกลืน จากข่านผู้สามารถรอบด้านกลายเป็นข่านสำหรับทุกคน ในปี 1992 เขาได้รับรางวัล Cricket World Cup และมันเป็นเกมสุดท้ายของเขาในฐานะนักกีฬามืออาชีพ

หลังจากนั้นข่านก็ใช้เวลานานอยู่ใน ‘ความทุรกันดารทางการเมือง’ อย่างที่เขาเรียก เขาสามารถเข้าร่วมหนึ่งในสองพรรคใหญ่ของประเทศ แต่เขากลับเลือกที่จะก่อตั้งพรรค Pakistan Tehreek-e Insaf (PTI) ขึ้นเอง เมื่อปี 2005 หนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษสรุปชีวิตทางการเมืองช่วงปีแรกของข่านดังนี้ “ความคิดและพันธมิตรของข่าน ตั้งแต่เขาเข้าสู่การเมืองในปี 1996 ได้เซถลาและไถลไปเหมือนรถลากท่ามกลางสายฝน” เขาเป็นข่านสำหรับทุกคน ครั้งหนึ่งเคยเป็นพวกหัวรุนแรงทางศาสนา แล้วก็เปลี่ยนเป็นนักปฏิรูปสากลอีกครั้ง

ในมุมมองของนักวิชาการ อาชีพทางการเมืองของข่านประสบความสำเร็จได้จากการสนับสนุนของกองทัพเท่านั้น ปี 2018 เหล่านายพลได้จัดการเลือกตั้งและหนุนให้ข่านเป็นนายกรัฐมนตรี ปากีสถานมีประชากรถึง 230 ล้านคน มีจีดีพีต่ำกว่าประเทศเล็กๆ ในยุโรป แต่ก็มีกองทัพที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก และไม่มีใครปกครองปากีสถานได้นานโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากกองทัพ

ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนไหนในปากีสถานดำรงตำแหน่งครบวาระ 5 ปี เมื่อใดก็ตามที่พวกนายพลคิดอยากทำรัฐประหาร พวกเขาก็จะทำ ในระหว่างนั้นมีสองตระกูลที่มีอำนาจร่วมกัน คือ บุตโต และชารีฟ ปัจจุบัน เชห์บาซ ชารีฟดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นาวาซ-น้องชายของเขาเคยนั่งตำแหน่งนี้มาก่อน แต่ทุกวันนี้ยังลี้ภัยอยู่ในลอนดอน หลังจากถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชัน รัฐมนตรีต่างประเทศของปากีสถานคนปัจจุบันคือ บิลาวัล บุตโต ซาร์ดารี แม่ของเขา-เบนาซีร์ บุตโต เคยถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานยักยอกเงินหลายล้านฟรังก์ไปฝากไว้ในธนาคารสวิสระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เดือนเมษายน 2022 รัฐสภาถอดถอนอิมราน ข่านออกจากตำแหน่ง เหตุผลน่าจะเป็นเพราะเขาบรรจุตำแหน่งทางทหารตามดุลยพินิจของตนเอง และดำเนินนโยบายต่อต้านอเมริกาโดยโน้มเอียงไปผูกไมตรีกับจีนและรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้เขาเคยเปิดเผยกับสื่อตะวันตกประเด็นสงครามในยูเครนว่า ปากีสถานควรวางตัวเป็นกลางระหว่างรัสเซียและยูเครน ปากีสถานต้องการน้ำมันราคาถูกจากรัสเซีย ต้องการข้าวสาลี ต้องการสร้างท่อส่งก๊าซโดยได้รับความช่วยเหลือจากรัสเซีย การอ้างศีลธรรมมีแต่จะทำลายความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ เท่านั้น

ข่านเชื่อว่าการถอดถอนเขาพ้นจากตำแหน่งอาจมีวอชิงตันอยู่เบื้องหลัง และนี่อาจเป็นจุดอวสานทางการเมืองของเขาแล้วก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม นักวิชาการมองว่าฝ่ายตรงข้ามประเมินความนิยมของผู้สนับสนุนข่านต่ำเกินไป เพราะความนิยมของเขาสูงกว่านักการเมืองคนอื่นๆ ถึงขนาดเทียบเท่า ซัลฟิการ์ อาลี บุตโตในช่วงทศวรรษ 1960 บิดาของเบนาซีร์ บุตโตเคยเป็นขวัญใจประชาชนในยุคนั้น ที่ถูกทหารสังหารในเวลาต่อมา

ข่านและผู้สนับสนุนของเขาปิดกั้นทางการเมืองของปากีสถานมานานกว่าหนึ่งปีแล้ว หลายคดีกำลังรอเล่นงานเขาอยู่ โดยเฉพาะจากฝ่ายตรงข้าม เขาและลูกพรรคตอบโต้ด้วยการร้องเรียน ข่านบอก แผนลอบทำร้ายเขาน่าจะเป็นการสมรู้ร่วมคิดกันของหน่วยข่าวกรองทหาร นายกรัฐมนตรี และมหาดไทย ตำรวจจับกุมวัยรุ่นอิสลามคนหนึ่งในที่เกิดเหตุได้ แต่กองทัพปฏิเสธข้อกล่าวหาอย่างหนักแน่น

การเลือกตั้งครั้งใหม่ในปากีสถานถูกกำหนดให้มีขึ้นในปีนี้ แต่ไม่ชัดเจนว่าเมื่อไหร่ และหลังจากอิมราน ข่านถูกจับกุม การเลือกตั้งเสรีดูเหมือนจะมีความไม่แน่นอนมากขึ้นไปอีก หรือถ้าหากมีการเลือกตั้งเสรีเกิดขึ้นจริง ข่านก็อาจมีโอกาสชนะ “เราต้องการความสมดุลของพลเรือนและทหาร เราไม่สามารถใช้ระบบที่มีผมรับผิดชอบทั้งหมดในฐานะนายกรัฐมนตรี ในขณะที่อำนาจทั้งหมดอยู่ในมือของกองทัพ”

อิมราน ข่านปรารถนาจะเป็นข่านสำหรับทุกคนอีกครั้ง เพียงแต่กองทัพไม่เชื่อเขา.

AFP

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ป้อง 'พิธา' สวนรัฐบาลมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ เหน็บ 'ทักษิณ' ผิดศีลข้อ 4

'โรม' ข้องใจ 'ทักษิณ' ลงพื้นที่ดูแข็งแรง ไม่เหมือนป่วยจริง ถามสังคมยอมรับนักการเมืองมุสาได้แค่ไหน สวนคนวิจารณ์ 'พิธา' ดับไฟป่าเชียงใหม่ มือไม่พายอย่าเอาเท้าราน้ำ

จดหมาย 'บุ้ง ทะลุวัง' จากเรือนจำ ถึง 'ทักษิณ'

เพจเฟซบุ๊ก 'ทะลุวัง' ได้โพสต์ข้อความจากจดหมายของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง แกนนำกลุ่มทะลุวัง ที่ส่งจากเรือนจำ โดยระบุถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย

จ่อยื่น สส.-สว. ซักฟอก 'ธรรมนัส' ชง ป.ป.ช. ฟัน 'บิ๊กขรก.' รับทักษิณ

'สนธิญา' จ่อยื่น สส -สว. ซักฟอก 'ธรรมนัส' เหตุบริหารงานไม่ราบรื่น เกิดปัญหาหลายเรื่อง เล็งรวบรวมรายชื่อบิ๊กขรก. แห่รับ 'ทักษิณ' ชง ป.ป.ช. ฟันจริยธรรม

ไทยแลนด์โอนลี่! รมต.-บิ๊กขรก. เข้าแถวต้อนรับนักโทษ

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ประเทศเดียวในโลก รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี รอง ผบ.ตร. เข้าแถวรับนักโทษ

การันตี 'ทักษิณ' โรดโชว์เชียงใหม่ ทำตามระเบียบพักโทษเป๊ะ!

'สมศักดิ์' ชี้ 'ทักษิณ' ไปเชียงใหม่ทำตามระเบียบราชทัณฑ์ อ้างปกติกรณีพักโทษ ไม่มีคิวรวมก๊วน สส. พบนายใหญ่ ขอแล้วยังไร้สัญญาณตอบรับ

ข้องใจ! กรมคุมประพฤติไฟเขียว 'ทักษิณ' โรดโชว์การเมือง

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โรดโชว์การเมือง : พบมวลชนหรือพบญาติ??? น.ช.ทักษิณ ใช้ 2 มาตรฐานตลอดการเป็นนักโทษ