การโจมตีเขื่อนสำคัญที่รัสเซียถือครองทางตอนใต้ของยูเครนเมื่อวันอังคาร ทำให้มวลน้ำจำนวนมหาศาลหลากเข้าท่วมหมู่บ้าน 24 แห่ง และบีบให้ต้องอพยพพลเรือนกว่า 17,000 คน ท่ามกลางความกังวลว่าจะเกิดภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมตามมา
พลเมืองยูเครนยืนอยู่บนที่สูงและเฝ้ามองสถานการณ์น้ำท่วมในเคอร์ซอนที่เป็นผลมาจากความเสียหายของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟคา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน (Photo by STRINGER / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 7 มิถุนายน 2566 กล่าวว่า จากเหตุเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟคา (Kakhovka) พังเสียหาย จนเกิดน้ำท่วมและสร้างความเดือดร้อนให้กับพลเรือนยูเครน ในตอนนี้ระดับน้ำทะลักเข้าเมืองและชาวยูเครนกำลังอพยพหนี
รัฐบาลมอสโกและรัฐบาลเคียฟกล่าวโทษกันและกันสำหรับความเสียหายที่เขื่อนไฟฟ้าดังกล่าว ขณะที่รัฐบาลวอชิงตันเตือนว่าอาจมี "ผู้เสียชีวิตจำนวนมาก" จากภาวะน้ำทะลักในครั้งนี้
เขื่อนคาคอฟคา ตั้งอยู่บนแม่น้ำนีเปอร์ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ใช้ส่งน้ำหล่อเย็นให้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียที่ตั้งอยู่ห่างจากเขื่อนเพียงแค่ 150 กิโลเมตรเท่านั้น โดยปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของกองกำลังรัสเซีย
เขื่อนคาคอฟคาอยู่ในเคอร์ซอน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังมีการสู้รบอยู่ตลอดระหว่างกองกำลังยูเครนและรัสเซีย ความเสียหายครั้งนี้คาดว่าเกิดจากการวางระเบิด โดยยูเครนกล่าวโทษรัสเซียว่าเป็นคนทำ เพื่อต้องการให้เกิดน้ำท่วมและสร้างความเดือดร้อนให้กับพลเรือนยูเครน รวมทั้งหวังผลขัดขวางการเตรียมกองกำลังรุกกลับรัสเซียของฝั่งยูเครน ซึ่งประธานาธิบดีเซเลนสกกีย้ำว่าจะไม่ส่งผลกระทบแน่นอน
ขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเตรียมเปิดประชุมฉุกเฉินตามคำร้องขอจากรัสเซียและยูเครน เพื่อพิจารณาเหตุดังกล่าว รวมทั้งแผนช่วยเหลือ
ชาวยูเครนในเคอร์ซอนต่างเร่งอพยพขึ้นที่สูง เพราะน้ำจากแม่น้ำนีเปอร์ไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่เมืองอย่างรวดเร็ว
ทางการยูเครนกล่าวว่า มีรายงานพลเรือน 17,000 คนถูกอพยพ และหมู่บ้าน 24 แห่งจมอยู่ใต้น้ำ ขณะที่อีกกว่า 40,000 ชีวิตกำลังตกอยู่ในอันตรายจากน้ำท่วมสูงในพื้นที่ริมแม่น้ำ รวมทั้งมีน้ำมันเครื่องกว่า 150 ตันรั่วไหลลงสู่แม่น้ำด้วยเช่นกันและอาจสร้างปัญหาใหญ่ตามมา
ผู้นำยูเครนกล่าวหารัสเซียว่าระเบิดเขื่อน และฟ้องต่อหน่วยงานระดับนานาชาติ ซึ่งสหภาพยุโรปและองค์การนาโตก็ออกมารับลูกประณามรัสเซียว่าเป็นผู้ก่อเหตุ ขณะที่สหรัฐอเมริกายังสงวนท่าทีไม่ฟันธงว่าวินาศกรรมที่เกิดขึ้นนั้นมาจากฝีมือฝ่ายไหนกันแน่
ขณะที่ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลมอสโก ออกมาโต้ว่า ความเสียหายของเขื่อนเป็นผลมาจาก "การจงใจก่อวินาศกรรมโดยฝ่ายยูเครน"
รัสเซียกล่าวว่าเขื่อนถูกทำลายบางส่วนจาก "การโจมตีหลายครั้ง" โดยฝีมือกองกำลังยูเครน และเรียกร้องให้ทั่วโลกประณามการก่อวินาศกรรมรุนแรงของรัฐบาลเคียฟ
สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศกล่าวว่า ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย และผลตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าไม่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ในขณะนี้ แม้ความเสียหายของเขื่อนทำให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงประมาณ 5 เซนติเมตรต่อชั่วโมง และอาจมีผลต่อระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าฯ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกรัฐมนตรีเยอรมนีทำเซอร์ไพรส์ ไปเยือนยูเครนแบบฉุกละหุก
นี่เป็นการเยือนครั้งที่สองของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มสงครามในยูเครน และเป็นการเดินทางเยือนที่ทำให้เกิดคำถาม