หน่วยกู้ภัยเพิ่มความพยายามในการค้นหาเรือดำน้ำชมซากไททานิค

หน่วยกู้ภัยสหรัฐหวังว่าการมาถึงของเรือปฏิบัติการแหล่งน้ำลึกของกองทัพเรือสหรัฐฯ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเร่งค้นหาเรือดำน้ำของนักท่องเที่ยวที่สูญหายใกล้กับซากเรือไททานิค เนื่องจากออกซิเจนสำหรับทั้ง 5 คนในเรือกำลังหมดลงอย่างรวดเร็ว

ภาพเรือดำน้ำท่องเที่ยว 'ไททัน' ขณะอยู่บนผิวน้ำ (Photo by Handout / OceanGate Expeditions / AFP)

เจมี เฟรเดอริก กัปตันหน่วยยามฝั่งสหรัฐกล่าวแถลงต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับความพยายามค้นหาเรือดำน้ำท่องเที่ยวที่หายไป ที่ฐานหน่วยยามฝั่งในบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน (Photo by Joseph Prezioso / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 21 มิถุนายน 2566 กล่าวว่า จากเหตุเรือดำน้ำท่องเที่ยว 'ไททัน' ขาดการติดต่อและสูญหาย ขณะเข้าใกล้ซากเรือไททานิคซึ่งจมอยู่ใต้พื้นผิวมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือมากกว่า 2 ไมล์ (เกือบ 4 กิโลเมตร) ตั้งแต่วันอาทิตย์ ล่าสุดทีมค้นหาและกู้ภัยได้เพิ่มความพยายามมากขึ้นด้วยความช่วยเหลือจากเรือของกองทัพสหรัฐ

การสื่อสารทั้งหมดขาดหายไปกับเรือดำน้ำขนาดเล็กความสูง 6.5 เมตร นานกว่า 2 วันแล้ว ท่ามกลางความกังวลถึงความปลอดภัยของผู้เดินทางทั้ง 5 คนในเรือลำดังกล่าว ขณะที่ระบบควบคุมออกซิเจนกำลังจะหยุดทำงานในอีกไม่กี่ชั่วโมง

เรือดำน้ำท่องเที่ยวลำนี้มีชื่อว่า 'ไททัน' และมีผู้โดยสารวีไอพี 3 คนอันได้แก่ ฮามิช ฮาร์ดิง มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ และชาห์ซาดา ดาวูด มหาเศรษฐีชาวปากีสถานกับลูกชายของเขา โดยมีบริษัทเรือโอเชียนเกต เอ็กซ์พีดิชั่นส์ เป็นผู้ให้บริการนำเที่ยวชมซากเรือไททานิคที่ก้นทะเลลึกด้วยสนนราคา 250,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน (ประมาณ 8.7 ล้านบาท) สำหรับที่นั่งพิเศษบนเรือดำน้ำซึ่งมีขนาดเท่ากับรถบรรทุกทั่วไป

มีรายงานว่านอกจากนักท่องเที่ยวแล้ว ในเรือลำดังกล่าวอาจมีสต็อกตัน รัช ซีอีโอของบริษัทเรือโอเชียนเกตฯ เดินทางไปด้วย รวมทั้งปอล อองรี นาร์โฌเลต์ นักดำน้ำและผู้เชี่ยวชาญด้านซากเรือไททานิกระดับโลก

เรือและเครื่องบินของหน่วยยามฝั่งของสหรัฐฯ และแคนาดาออกสำรวจพื้นที่ 7,600 ตารางไมล์ทั่วมหาสมุทร เพื่อค้นหาเรือดำน้ำลำดังกล่าวซึ่งดำดิ่งลงไปในพื้นที่ทะเลห่างจากชายฝั่งนิวฟันด์แลนด์ของประเทศแคนาดาประมาณ 400 ไมล์ (ประมาณ 643 กิโลเมตร)

โฆษกกองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าวว่า ระบบเครื่องกว้านพิเศษสำหรับการยกของหนักจากระดับความลึกมาก รวมทั้งอุปกรณ์และบุคลากรด้านอื่นๆ จะเข้าร่วมปฏิบัติการกู้ภัยในคืนวันอังคารนี้

ด้านกลาโหมสหรัฐกล่าวว่า กำลังประจำการเครื่องบิน C130 เพิ่มเติมอีก 1 ลำไปสมทบกับ 2 ลำก่อนหน้านี้ที่ออกตะเวนค้นหาตั้งแต่วันจันทร์ รวมทั้งเพิ่มเติมเครื่องบิน C-17 อีกสามลำในปฏิบัติการดังกล่าว ในขณะที่สถาบันสมุทรศาสตร์ของฝรั่งเศสประกาศว่าหุ่นยนต์ดำน้ำใต้ทะเลลึกและผู้เชี่ยวชาญจะมาถึงพื้นที่ในวันพุธ

"นี่เป็นการค้นหาที่ซับซ้อนมากและทีมงานที่เป็นเอกภาพกำลังทำงานตลอดเวลาเพื่อนำทรัพย์สินและความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ทั้งหมดออกมาบูรณาการโดยเร็วที่สุด" เจมี เฟรเดอริก กัปตันหน่วยยามฝั่งสหรัฐกล่าวกับผู้สื่อข่าว

หน่วยกู้ภัยประเมินว่าผู้โดยสารในเรือลำดังกล่าวจะมีออกซิเจนเหลืออยู่น้อยกว่า 2 วัน โดยพิจารณาจากความสามารถของเรือดำน้ำที่จะเก็บอากาศฉุกเฉินไว้ได้นานถึง 96 ชั่วโมง

"มีอากาศเหลืออยู่ประมาณ 40 ชั่วโมงตามรายงานเบื้องต้น และมีข้อมูลว่าเรือไททันขาดการติดต่อกับพื้นผิวในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมงหลังจากมันดำดิ่งลงไป" เฟรเดอริกกล่าวเมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันอังคาร (ประมาณเที่ยงคืนวันพุธ ตามเวลาประเทศไทย)

อลิสแตร์ เกรก ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ 2 สถานการณ์โดยอ้างอิงจากภาพของเรือไททันที่เผยแพร่โดยสื่อมวลชน

เขากล่าวว่า หากเรือลำนี้มีปัญหาด้านไฟฟ้าหรือการสื่อสาร เรืออาจโผล่ขึ้นมาและยังคงลอยอยู่ได้และรอเวลาถูกค้นพบ โดยอนุมานว่าเรือสามารถเปิดได้จากภายนอกเท่านั้น

ขณะที่อีกสถานการณ์หนึ่งคือตัวถังแรงดันรั่วไหล ซึ่งถ้าเป็นกรณีนี้ คาดว่าผลลัพธ์อาจเลวร้าย

เรือไททานิคชนภูเขาน้ำแข็งและจมลงในปี พ.ศ. 2455 ระหว่างการเดินทางครั้งแรกจากอังกฤษไปยังนิวยอร์กพร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 2,224 คน โดยครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,500 ราย และไม่มีผู้ใดพบเห็นอีกเลยจนกระทั่งปี 2528 จากนั้นจุดที่พบซากเรือไททานิคก็กลายมาเป็นที่ชื่นชอบของผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือและนักท่องเที่ยวใต้น้ำ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กู้ป้ายชื่อ รล.สุโขทัย ได้แล้ว หลังเปิดการปฏิบัติการค้นหา และปลดอาวุธวันที่ 2

กู้ป้ายชื่อ รล. สุโขทัยได้แล้ว หลังทีมประดาน้ำทหารสหรัฐฯ สหรัฐ- ไทย เปิดการปฏิบัติการค้นหาและปลดอาวุธวันที่ 2 เดินหน้ารวบรวมหลักฐานรอบตัวเรือ ถ่ายภาพฝาแฮ้ท- รอยฉีกโครงกันคลื่น พิสูจน์จุดแรกน้ำเข้าเรือ

ทอท.ผุดสร้างสร้างสนามบินในน้ำ 'seaplane Terminal' นำร่องภูเก็ต

ทอท.ฝันสร้าง”seaplane Terminal” นำร่องสร้างสนามบินในน้ำที่ภูเก็ต ชูโมเดลเครื่องบินสะเทิ้นน้ำ สะเทิ้นบก เกาะมัลดีฟส์-แคนาดา มั่นใจลดความแออัดในสนามบินหลัก กระตุ้นการท่องเที่ยวตามเกาะ ในทะเลอันดามัน เชื่อนักท่องเที่ยวตอบรับ โกยรายได้เข้าประเทศทะลัก คาด 1-2ปีนี้เกิดแน่