วิกฤตเมียนมาเป็นวาระสำคัญในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนรวมตัวกันที่อินโดนีเซียเมื่อวันอังคาร เพื่อหารือวิกฤตการณ์ในเมียนมา โดยสมาชิกในภูมิภาคแตกแยกกันเกี่ยวกับวิธีจัดการการมีส่วนร่วมกับรัฐบาลทหาร

ที่นั่งว่างที่สงวนไว้สำหรับผู้แทนเมียนมาในระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม (Photo by Achmad Ibrahim / POOL / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 11 กรกฏาคม 2566 กล่าวว่า การประชุมสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดขึ้น 2 วันในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศมีวาระการประชุมเกี่ยวกับพื้นที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์, ปัญหาเมียนมา และจะตามมาด้วยการหารือร่วมกับตัวแทนจากจีน, สหรัฐอเมริกา และชาติมหาอำนาจอื่นๆ

นับตั้งแต่รัฐบาลพลเรือนถูกรัฐประหารและปกครองโดยกองทัพทหาร เมียนมาติดอยู่ในวิกฤตความรุนแรงจากการต่อสู้ระหว่างกลุ่มประชาธิปไตยและฝั่งรัฐบาลเผด็จการที่นำโดยมิน อ่อง หล่าย ผู้มีนโยบายปราบปรามรุนแรงต่อผู้เห็นต่าง

อาเซียนถูกประณามมาตลอดว่าเป็นเพียงเสือกระดาษที่ไม่สามารถดำเนินการใดๆเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวได้ แถมยังแตกแยกกันเองจากการใช้แค่เพียงความพยายามทางการทูตในการแก้ไขวิกฤต

ความแตกร้าวเหล่านี้ถูกเปิดเผยในร่างแถลงการณ์ร่วมที่เผยแพร่ต่อสื่อมวลชน โดยเนื้อหาเกี่ยวกับเมียนมาถูกเว้นว่างไว้ เนื่องจากสมาชิกอาเซียนไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับจุดยืนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

"ย่อหน้านี้ยังอยู่ระหว่างการหารือ ประเทศสมาชิกยังคงต้องใช้เวลาอีกซักพักในการเสนอญัตติ แต่พวกเขากำลังใช้ความพยายามเป็นพิเศษในวันก่อนการประชุมซึ่งเป็นการโหมโรงล่วงหน้าสู่การประชุมสุดยอดผู้นำในเดือนกันยายน เพื่อรวมกลุ่มกันเกี่ยวกับประเด็นเมียนมา" นักการทูตอาเซียนรายหนึ่งกล่าวกับเอเอฟพี

เมียนมายังคงเป็นสมาชิกอาเซียน แต่ถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมระดับสูง เนื่องจากรัฐบาลทหารล้มเหลวในการดำเนินการตามแผนสันติภาพฉันทามติ 5 ประการที่ตกลงกันไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพื่อยุติความรุนแรงในประเทศและนำไปสู่การเจรจา

ความพยายามของอาเซียนในการเริ่มดำเนินการตามแผนนั้นไร้ผล เนื่องจากรัฐบาลทหารเพิกเฉยต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติและปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมกับฝ่ายตรงข้าม

ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพต้อนรับรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารใน "การพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ" ที่มีการโต้เถียงกันเมื่อเดือนก่อน ทำให้ความแตกแยกลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างสมาชิกอาเซียนที่บางส่วนไม่เห็นด้วยกับการให้โอกาสเมียนมากลับเข้าสู่โต๊ะประชุม

แม้จุดยืนของสมาคมอาเซียนแรกเริ่มคือการปฏิบัติตามกฎบัตรว่าด้วยฉันทามติและการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าการประชุมจะสามารถผลักดันให้สมาชิกทำอะไรได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะแผนการดำเนินการที่ชัดเจนขึ้นว่าอาเซียนจะทำอะไรต่อไปในอนาคต เพื่อกดดันรัฐบาลทหารเมียนมา

ในวันพฤหัสบดี การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนบวกสามกับญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และจีน จะเกิดขึ้นก่อนการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกของรัฐมนตรีต่างประเทศ 18 ประเทศในวันศุกร์ ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย.

เพิ่มเพื่อน