เร่งค้นหาผู้สูญหายหลังดินถล่มในโคลอมเบีย เสียชีวิตอย่างน้อย 14 ราย

ทีมกู้ภัยพร้อมโดรนเร่งค้นหาผู้รอดชีวิต หลังดินถล่มในภาคกลางของโคลอมเบียทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 14 ราย และสูญหายอีกราว 12 คน

เจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังค้นหาผู้สูญหายบริเวณที่เกิดเหตุดินถล่ม ในเขตเทศบาลเกตาเม รัฐกุนดีนามาร์กา ประเทศโคลอมเบีย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม (Photo by Handout / Colombian Police / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 19 กรกฏาคม 2566 กล่าวว่า ฝนที่ตกหนักในเขตเทศบาลเกตาเม รัฐกุนดีนามาร์กาของโคลอมเบียเมื่อค่ำวันจันทร์ ทำให้เกิดน้ำท่วมดินถล่มในพื้นที่ บ้านเรือนหลายหลังถูกทำลายและถนนถูกตัดขาด

นิโคลัส การ์เซีย ผู้ว่าการรัฐกุนดีนามาร์กา กล่าวว่า "พบร่างผู้เสียชีวิตแล้ว 14 ราย" เมื่อช่วงเที่ยงวันอังคาร ขณะที่ผู้บาดเจ็บ 6 รายถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล และบ้านเรือนกว่า 20 หลังถูกน้ำท่วมเสียหาย

มีผู้ที่ยังสูญหายอีกประมาณ 12 คนภายใต้กองโคลนสูง 1-2 เมตร ทำให้ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงจำเป็นต้องใช้โดรนในปฏิบัติการด้วย

กองทัพโคลอมเบียประกาศว่าจะส่งทหารประมาณ 80 นายไปช่วยในการค้นหา ขณะที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเร่งอพยพผู้รอดชีวิตหลายสิบคน

นอกจากสร้างอันตรายถึงชีวิตแล้ว ดินถล่มยังทำให้เส้นทางถนนที่เชื่อมระหว่างกรุงโบโกตาไปทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ถูกตัดขาดด้วยโคลนและก้อนหินขนาดใหญ่ และส่งผลกระทบต่อเส้นทางขนส่งสินค้าหลัก

ประธานาธิบดีกุสตาโว เปโตร ของโคลอมเบียแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้ประสบเหตุผ่านทางทวิตเตอร์ และกล่าวว่าภัยพิบัติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานรอบๆ พื้นที่เสี่ยงภัย

ฤดูฝนในโคลอมเบียเริ่มในเดือนมิถุนายนและมักจะต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน

ปีที่แล้ว น้ำท่วมตามฤดูกาลในประเทศทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วประมาณ 300 ราย โคลอมเบียจึงประกาศให้เป็นภัยพิบัติระดับชาติในปี 2565 เนื่องจากฝนตกหนักเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ลานีญาซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่บางส่วนของโลก

ทั้งนี้เมื่อต้นเดือนกรกฏาคม องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสหประชาชาติเพิ่งประกาศเตือนว่าสภาพอากาศแปรปรวนจะรุนแรงขึ้นในละตินอเมริกาและแคริบเบียน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตรียมใจยังร้อนกันอีกยาว 'เอลนีโญ'ส่อหวนกลับมาเร็ว

จากกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศการติดตามและการคาดหมายปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 โดยมี 4 ปรากฏการณ์ ประกอบด้วย ปรากฏการณ์เอนโซ El Nino Southern Oscillation (ENSO) ปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole (IOD) ปรากฏการณ์ Madden Julian Oscillation (MJO) และลมมรสุม (Monsoon) นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองตรว

สทนช. เร่งหน่วยงานด้านน้ำคลอดแผนปฏิบัติการรองรับฤดูฝน เตรียมรับมือ “ลานีญา” คาดฝนตกหนัก มิ.ย. - ส.ค. 67

สทนช. มั่นใจ 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 รับมือสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลเป็นรูปธรรมเร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้มาตรการรับมือฤดูฝน