นายพลกองทัพไนเจอร์ประกาศตัวเป็นผู้นำคนใหม่ของประเทศ หลังกระทำรัฐประหาร

นายพลผู้ทรงอำนาจชาวไนเจอร์ซึ่งก่อการรัฐประหารประกาศตนเป็นผู้นำคนใหม่ของประเทศ และเตือนว่าการแทรกแซงทางทหารของต่างชาติจะนำไปสู่ความโกลาหล

นายพลอับดุลราห์มาน ทะเชียอานี กล่าวผ่านโทรทัศน์แห่งชาติและอ่านแถลงการณ์ในฐานะ "ประธานสภาแห่งชาติเพื่อการปกป้องมาตุภูมิ" เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม หลังการทำรัฐประหารโค่นล้มประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด บาซูม ของไนเจอร์ (Photo by ORTN - Télé Sahel / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 29 กรกฏาคม 2566 กล่าวว่า จากกรณีการก่อรัฐประหารในประเทศไนเจอร์โดยฝีมือของกองทัพ และมีการควบคุมตัวประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด บาซูมไว้แล้วนั้น

ล่าสุด กองทัพได้ยึดอำนาจและส่งนายพลระดับสูงเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำคนใหม่ของประเทศเรียบร้อยแล้ว

พลเอกอับดุลราห์มาน ทะเชียอานี ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าหน่วยอารักขาประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2554 ได้ปรากฏตัวทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ และประกาศตัวว่าเป็น "ประธานสภาแห่งชาติเพื่อการปกป้องมาตุภูมิ"

นายพลวัย 50 ปี เป็นผู้เสนอการทำรัฐประหารเพื่อแก้ไข "ความเสื่อมโทรมของสถานการณ์ความมั่นคง" ที่เชื่อมโยงกรณีการต่อสู้นองเลือดกับนักรบญิฮาดซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธแบ่งเเยกดินเเดนชาวมุสลิม

แม้จะเผชิญกับการประณามจากนานาชาติสำหรับการยึดอำนาจจากประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่กองทัพที่ทำรัฐประหารก็ส่งเสียงเตือนถึงความโกลาหลที่จะเกิดขึ้นจากการแทรกแซงทางทหารของต่างชาติ

ในวันที่สามนับตั้งแต่ประธานาธิบดีถูกควบคุมตัว อดีตเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศสได้ออกมาเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูรัฐบาลประชาธิปไตยกลับคืนมาโดยเร็วที่สุด และประกาศยอมรับสถานะผู้นำประเทศของประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด บาซูม คนเดียวเท่านั้น

การรัฐประหารในไนเจอร์ก่อให้เกิดความกังวลในประชาชาติแอฟริกา ซึ่งบรรดาผู้นำแอฟริกาตะวันตกจะประชุมกันในวันอาทิตย์ในกรุงอาบูจา เมืองหลวงของไนจีเรีย เพื่อหารือเกี่ยวกับความไม่สงบดังกล่าว

"ECOWAS และประชาคมระหว่างประเทศจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องประชาธิปไตยและรับประกันว่าการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยจะยังคงหยั่งรากอย่างมั่นคงในภูมิภาคนี้" โบลา อาเหม็ด ทินูบู ซึ่งเป็นประธานประชาคมเศรษฐกิจแห่งแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) กล่าวในแถลงการณ์ และเสริมว่า "ความทะเยอทะยานของชาวไนเจอร์ที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญจะไม่ถูกล้มล้างโดยการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ"

ชาติตะวันตกทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาขู่ว่าจะตัดความช่วยเหลือแก่ไนเจอร์และจะยุติการรักษาความปลอดภัยและความร่วมมือด้านอื่นๆ ภายหลังการกระทำของกองทัพถูกประณามว่าเป็น "การโจมตีอย่างร้ายแรงต่อเสถียรภาพและประชาธิปไตย"

นายพลทะเชียอานี ถูกตอบโต้จากอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลเดิมเช่นกันว่า ถ้อยแถลงที่อ้างเรื่องความมั่นคงนั้นเป็นการโกหก และการทำรัฐประหารนั้นเป็นไปเพื่อ "ผลประโยชน์ส่วนตัว"

แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีบาซูมกล่าวว่า เขากำลังเตรียมการสั่งปลดทะเชียอานีอยู่ก่อนแล้ว แต่นายพลรู้ตัวเสียก่อนและชิงลงมือรัฐประหาร

โมฮาเหม็ด บาซูมและครอบครัวของเขาถูกควบคุมตัวตั้งแต่เช้าวันพุธ และถูกคุมขังไว้ในบริเวณทำเนียบประธานาธิบดีซึ่งตั้งอยู่ภายในค่ายทหารของกองกำลังรักษาการณ์ที่มีกำลังพล 700 นาย

ว่ากันว่าเขายังคงมีสุขภาพที่ดีและสามารถพูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้นำแห่งรัฐอื่น ๆ ได้

ทั้งนี้ ไนเจอร์ไม่มีทางออกสู่ทะเล และเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก โดยมีประชากร 26 ล้านคน, มีพื้นที่ 2 ใน 3 เป็นทะเลทราย และมักอยู่ในอันดับท้ายสุดของเกณฑ์การพัฒนามนุษย์ของสหประชาชาติ

นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี 2503 ก็เกิดรัฐประหาร 4 ครั้งและความพยายามอื่นๆ อีกหลายครั้ง ซึ่งรวมถึง 2 ครั้งก่อนหน้านี้ในสมัยของประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด บาซูม

โดยบาซูมเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีหลังการเลือกตั้งเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งเป็นการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติครั้งแรกของไนเจอร์นับตั้งแต่ได้รับเอกราช.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีตบิ๊กข่าวกรอง ชี้ 'บิ๊กทิน' กินยาผิด! ยันทหารไม่อยากยึดอำนาจถ้านักการเมืองไม่โกง

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart หัวข้อ

'ก้าวไกล' หนุนแก้กฎหมายสกัดรัฐประหาร ลั่นกองทัพต้องอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม มีข้อเสนอให้สภากลาโหมเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…)

‘วิโรจน์’ หนุน ‘สุทิน’ แก้กฎหมายกลาโหม สกัดรัฐประหาร ลั่นต้องทำให้ถึงแก่น

‘วิโรจน์’ เห็นด้วยในหลักการ หลัง ‘สุทิน‘ เสนอแก้ ’กฎหมายกลาโหม‘ สกัดรัฐประหาร แต่ต้องแก้ให้ถึงแก่น ไม่ใช่แค่ผิว ชี้ เป้าหมายสูงสุด คือทำให้กองทัพไม่อยู่ในฐานะรัฐอิสระ แนะ ควรปรับสัดส่วน ‘สภากลาโหม’ ให้เหลือแค่ 11 คน-มีทหารไม่เกินกึ่งหนึ่ง