รัฐบาลอินเดียของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผ่านการลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจไปได้อย่างไม่พลิกโผ หลังเสร็จสิ้นการปราศรัยอันเผ็ดร้อนในการอภิปรายตลอด 3 วัน

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ปรากฏบนหน้าจอโทรทัศน์ในท่าทางโกรธ ขณะปราศรัยต่อรัฐสภาในกรุงนิวเดลี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม (Photo by ARUN SANKAR / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม 2566 กล่าวว่า การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภาต่อรัฐบาลอินเดียของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เดินทางมาถึงวันสุดท้าย ก่อนเปิดให้มีการลงมติ และบทสรุปออกมาว่ารัฐบาลยังคงได้รับความไว้วางใจอย่างท่วมท้นให้ทำงานต่อไป
ทั้งนี้ คะแนนไว้วางใจท่วมท้นที่ได้มานั้นเกิดจากการลงคะแนนของส.ส.ฝั่งรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากบรรดา ส.ส.ฝ่ายค้านทั้งหมดได้เดินออกจากห้องประชุมรัฐสภาก่อนการลงคะแนน เพื่อประท้วงกรณีที่รัฐบาลยังคงเพิกเฉยต่อปัญหาความรุนแรงทางเชื้อชาติในรัฐมณีปุระ
การปราศรัยอย่างดุเดือดของราหุล คานธี ผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งกล่าวโทษนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีว่ากำลังฆ่าแผ่นดินแม่ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกเพราะปล่อยให้ความไม่สงบลุกลามมานานหลายเดือน
การตอบโต้จากฝั่งรัฐบาลและตัวโมดีเอง ทำให้ฝ่ายค้านไม่พอใจและประท้วงด้วยการเดินออกจากห้องประชุม จนทำให้นายกรัฐมนตรีโมโหและตำหนิการกระทำดังกล่าวอย่างรุนแรง แม้รัฐบาลจะชนะโหวตผ่านญัตติไม่ไว้วางใจดังกล่าวในท้ายที่สุดก็ตาม
โมดีประณามพรรคฝ่ายค้านว่า เป็นพวกไม่ไว้วางใจระบอบประชาธิปไตย โดยมุ่งมั่นแต่การแสดงความคิดเห็น แต่ไม่มีความอดทนที่จะได้ยิน (การโต้แย้ง)
"ความขี้ขลาดและไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ในสภา เป็นการบอกได้ชัดว่า ประเทศไม่สามารถคาดหวังอะไรได้จากคนเหล่านี้" โมดีกล่าวปราศรัยในสภา หลังฝ่ายค้านวอล์กเอาต์ และทำให้การลงคะแนนในญัตติไม่ไว้วางใจต้องมีความมัวหมอง
อย่างไรก็ดี พรรคภารติยะ ชนะตา (บีเจพี) ซึ่งเป็นพรรคชาตินิยมฮินดูของโมดี ครองเสียงข้างมาก 543 เสียงในสภาผู้แทนฯ และจะเอาชนะการลงมติไม่ไว้วางใจได้อย่างสบายๆ อยู่ดี แม้ฝ่ายค้านจะอยู่ร่วมลงคะแนนก็ตาม
การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้านถูกมองว่าหวังโค่นล้มความน่าเชื่อถือของรัฐบาลก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในต้นปีหน้าซึ่งได้รับการคาดหมายอย่างกว้างขวางว่าพรรครัฐบาลจะได้ครองอำนาจเป็นสมัยที่ 3 อย่างแบเบอร์
ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 152 รายในรัฐมณีปุระตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จากการปะทะกันระหว่างชาวเมเตที่นับถือศาสนาฮินดูเป็นส่วนใหญ่ และชุมชนคูกิที่นับถือศาสนาคริสต์เป็นหลัก โดยแต่ละฝ่ายต่างมีกลุ่มติดอาวุธเพื่อคอยโจมตีใส่กัน
โมดีถูกฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่ายุยงให้เกิดความแตกแยกทางศาสนาเพื่อจุดประสงค์ในการเลือกตั้ง รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้เวลากว่า 2 เดือน กว่าจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาหารือแก้ไข
โมดีกล่าวปราศรัยในรัฐสภาต่อประเด็นความรุนแรงดังกล่าวว่า เป็นเรื่องน่าสลดใจ และให้คำมั่นว่าจะมีสันติภาพในรัฐมณีปุระในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน
ปัจจุบันการปะทะรุนแรงระหว่างกลุ่มชนเผ่าในรัฐมณีปุระได้รับการดูแลจากทหารที่ถูกระดมเข้ามาจากพื้นที่อื่น ๆ ของอินเดียเพื่อควบคุมความรุนแรง, กำหนดเคอร์ฟิว และการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตทั่วทั้งรัฐ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ใครรู้สาเหตุแจ้งด้วย 'สว.สมชาย' แปลกใจ ทำไมส.ส.ก้าวไกล ไม่ตรวจสอบ 'นช.เทวดา'
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า
'วันนอร์' ทูลเกล้าฯชื่อ 'ชัยธวัช' เป็นผู้นำฝ่ายค้านแล้ว เตรียมพร้อมงานพิธีรับสนองพระบรมราชโองการ
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้นำชื่อนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ทูลเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการ และขณะนี้รอเวลาที่จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปแล้ว
'วันนอร์' พร้อมทูลเกล้าฯชื่อ 'ชัยธวัช' เป็นผู้นำฝ่ายค้าน แต่ก้าวไกลยังไม่ส่งหนังสือรับรองไปยังกกต.
ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีกระบวนการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ภายหลังพรรคเป็นธ