จรวดโซยุซของรัสเซีย ถูกปล่อยออกจากฐาน ในภารกิจเยือนดวงจันทร์ครั้งแรกในรอบเกือบ 50 ปี

รัสเซียปล่อยจรวดโซยุซซึ่งบรรทุกยานสำรวจไปยังดวงจันทร์เรียบร้อยแล้ว เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 50 ปี

จรวดโซยุซ (Soyuz) ซึ่งบรรทุกยานอวกาศลูน่า-25 (Luna-25) ของรัสเซียในภารกิจสำรวจดวงจันทร์ ถูกปล่อยจากฐานอวกาศวอสตอชนี คอสโมโดรม เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม (Photo by Handout / Russian Space Agency Roscosmos / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม 2566 กล่าวว่า รัฐบาลมอสโกเดินหน้าสานต่อภารกิจบนดวงจันทร์ ด้วยการเปิดตัวจรวดโซยุซ (Soyuz) ซึ่งจะนำพายานอวกาศลูน่า-25 (Luna-25) ไปทำการสำรวจบนดวงจันทร์

หน่วยงานอวกาศของรัสเซียทำการปล่อยจรวดดังกล่าวเมื่อเวลา 02.10 น. ตามเวลาท้องถิ่น (06.10 น. ตามเวลาประเทศไทย) จากฐานอวกาศวอสตอชนี คอสโมโดรม (Vostochny cosmodrome) ทางตะวันออกไกลของประเทศ และมีกำหนดจะไปถึงวงโคจรของดวงจันทร์ในอีก 5 วัน

จากนั้นจะใช้เวลาระหว่าง 3-7 วันในการเลือกจุดที่เหมาะสมก่อนที่จะลงจอดในบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งหน่วยงานอวกาศของรัสเซียคาดว่ายานสำรวจจะลงจอดบนดวงจันทร์ได้ประมาณวันที่ 21 สิงหาคม

ทั้งนี้ ยานอวกาศลูน่า-25ซึ่งจะอยู่บนดวงจันทร์เป็นเวลา 1 ปี จะได้รับมอบหมายให้เก็บและวิเคราะห์ตัวอย่างดิน รวมทั้งดำเนินการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ระยะยาว

การปล่อยยานอวกาศในครั้งนี้ ถือเป็นภารกิจแรกภายใต้โครงการดวงจันทร์ใหม่ของรัฐบาลมอสโกที่กระตือรือร้นในการเจริญรอยตามโครงการสำรวจดวงจันทร์ยุคบุกเบิกในสมัยโซเวียต อีกทั้งยังเกิดขึ้นในขณะที่รัสเซียต้องการกระชับความร่วมมือด้านอวกาศกับจีน ท่ามกลางสายสัมพันธ์ที่ร้าวฉานกับชาติตะวันตกจากกรณีสงครามในยูเครน โดยภารกิจล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2519 ในยุคของสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นผู้บุกเบิกในการพิชิตอวกาศ

ภารกิจนี้มีความสำคัญต่อภาคอวกาศของรัสเซียเป็นอย่างมาก หลังประสบปัญหาด้านเงินทุน, เผชิญเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริต และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และจีน ตลอดจนการริเริ่มโครงการของเอกชน เช่น สเปซเอ็กซ (Space X) ของอีลอน มัสก์.

เพิ่มเพื่อน