ญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ 24 ส.ค. นี้

ญี่ปุ่นจะปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคมนี้ หลังจากสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศรับรองความปลอดภัยแล้ว

 

แฟ้มภาพ แหล่งกักเก็บน้ำปนเปื้อนที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ของบริษัทโตเกียว อิเลคทริค พาวเวอร์ (เทปโก) ในเมืองโอคุมะ จังหวัดฟุกุชิมะของญี่ปุ่น (Photo by Philip FONG / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 22 สิงหาคม 2566 กล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นเดินหน้าแผนการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเล โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป ในระดับค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศได้ตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยแล้ว

ทั้งนี้ เครื่องปฏิกรณ์หลายเครื่องที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ของบริษัทโตเกียว อิเลคทริค พาวเวอร์ ในเมืองโอคุมะ จังหวัดฟุกุชิมะของญี่ปุ่น เข้าสู่ภาวะล่มสลายหลังจากระบบหล่อเย็นถูกคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มในปี 2554

อุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นนั้นเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์เชอร์โนบิล และการเก็บกวาดอย่างปลอดภัยนั้นกินเวลานานกว่าทศวรรษ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ห้ามเข้าเนื่องจากปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี

ขณะที่การรื้อถอนโรงไฟฟ้าอาจจะใช้เวลาอีกหลายสิบปี แต่เทปโก (TEPCO) ผู้ดำเนินการโรงงาน ประสบปัญหาใหญ่จากปริมาณน้ำที่สะสมในพื้นที่มากกว่า 1.33 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้กระบวนการรื้อถอนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขความปลอดภัย โดยน้ำเหล่านั้นเป็นทั้งน้ำที่มาจากใต้ดิน, น้ำฝนที่ไหลซึมเข้ามาในพื้นที่ และน้ำที่ใช้หล่อเย็น

มีการประมวลผลผ่านโรงงานที่เทปโกระบุว่าสามารถกำจัดนิวไคลด์กัมมันตรังสีได้เกือบทั้งหมดแล้ว ยกเว้นไอโซโทปซึ่งมักตกค้างอยู่ในน้ำเสียที่โรงงานนิวเคลียร์ทั่วโลกปล่อยลงสู่ทะเล

รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่าการปล่อยน้ำบำบัดดังกล่าวออกจากพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ จะกระทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามที่นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ประกาศยืนยันความปลอดภัยในแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร

ถึงกระนั้น การกระทำดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียงในระดับภูมิภาค โดยจีนวิจารณ์แผนการดังกล่าวอย่างไม่พอใจ และเริ่มระงับการนำเข้าอาหารทะเลบางส่วนของญี่ปุ่นไปแล้ว เช่นเดียวกับฮ่องกงและมาเก๊าที่ห้ามนำเข้า "ผลิตภัณฑ์ทางน้ำ" จาก 10 ภูมิภาคของญี่ปุ่น รวมไปถึงการห้ามนำเข้าผักและผลิตภัณฑ์นมด้วย

รัฐบาลจีนระบุว่า "จะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล, ความปลอดภัยของอาหาร และสุขภาพของประชาชน เพราะมหาสมุทรเป็นทรัพย์สินส่วนรวมของมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่สถานที่สำหรับญี่ปุ่นที่จะทิ้งน้ำที่ปนเปื้อนนิวเคลียร์โดยพลการ"

ขณะที่ผู้คนในเกาหลีใต้เริ่มตื่นตระหนกในการกักตุนเกลือเพราะกลัวว่าจะมีการปนเปื้อนหลังจากการปล่อยน้ำบำบัดเหล่านั้นเกิดขึ้น และผู้ประท้วงหลายสิบคนรวมตัวกันหน้าสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซลเมื่อวันอังคาร พร้อมป้ายที่มีข้อความว่า "เราขอประณามรัฐบาลญี่ปุ่นที่ทำลายมหาสมุทร!"

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์กล่าวว่าระดับไอโซโทปจากน้ำที่บำบัดแล้วนั้น ต่ำกว่ามาก เมื่อเทียบกับขีดจำกัดในน้ำดื่มตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก

"ไอโซโทปถูกปล่อยออกมา (โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์) เป็นเวลาหลายทศวรรษ โดยไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพ" โทนี่ ฮูเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์จากมหาวิทยาลัยแอดิเลด กล่าวกับเอเอฟพี

หากสภาพอากาศเอื้ออำนวย น้ำบำบัดจะถูกปล่อยลงสู่มหาสมุทรนอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นในอัตราสูงสุด 500,000 ลิตรต่อวัน โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ คอยกำกับดูแลตั้งแต่การเริ่มปล่อยครั้งแรก พร้อมเผยแพร่ข้อมูลการติดตามแบบเรียลไทม์

หลังจากนั้น หน่วยงานประมงของญี่ปุ่นจะมีการเก็บตัวอย่างปลาเนื้อที่อาศัยอยู่ก้นบ่อ ณ จุดเก็บตัวอย่าง 2 แห่งที่กำหนดไว้ใกล้กับทางออกของท่อปล่อยน้ำบำบัด เพื่อตรวจสอบและติดตามผลอย่างใกล้ชิด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอุตุฯ จับตาพายุดีเปรสชันทวีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อน 'โคอินุ' คาดถึงเวียดนาม

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก เช้าวันนี้(30/9/66) : พายุดีเปรสชันได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน "โคอินุ (KOINU)" (ความหมาย "ลูกสุนัข" ตั้งชื่อโดยประเทศญี่ปุ่น )แล้ว