ฝนและลมที่พัดแรงจากอิทธิพลของพายุไซโคลน ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 21 รายทางตอนใต้ของบราซิล ทางการออกคำเตือนน้ำท่วมขยายวงกว้าง
ภาพทางอากาศของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนในเมืองมูกุมของรัฐรีโอกรันเดโดซุล ประเทศบราซิล เมื่อวันที่ 5 กันยายน ฝนตกหนักและลมที่เกิดจากพายุทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 21 รายทางตอนใต้ของประเทศ (Photo by Mateus BRUXEL / AGENCIA RBS / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 6 กันยายน 2566 กล่าวว่า ภัยพิบัติทางสภาพอากาศครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในบราซิล ถือเป็นภัยพิบัติที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในรัฐรีโอกรันเดโดซุล หลังโดนพายุไซโคลนพัดถล่ม
เอดูอาร์โด ไลเต ผู้ว่าการรัฐฯ กล่าวในการแถลงข่าวว่า "เราเสียใจอย่างยิ่งที่ได้รับข่าวว่ามีการพบศพอีก 15 ศพในเมืองมูกุม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 21 ราย"
ประชาชนเกือบ 6,000 คนถูกอพยพออกจากบ้านเรือนของตนเนื่องจากพายุทำให้เกิดลูกเห็บและฝนตกมากกว่า 300 มิลลิเมตรในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง จนเกิดน้ำท่วมสูงฉับพลันและดินถล่ม
ในเมืองมูกุม ประชากร 5,000 คนติดอยู่บนหลังคาบ้านรอความช่วยเหลือ เนื่องจากน้ำล้นทะลักจากแม่น้ำทาคัวรีเข้าท่วมพื้นที่มากกว่า 85% ของเมือง มีรายงานทั้งผู้สูญหายและเสียชีวิต
ประธานาธิบดีของบราซิลส่งข้อความแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยระบุว่ารัฐบาลกลาง "พร้อมช่วยเหลืออย่างเต็มที่"
ทั้งนี้ พายุไซโคลนได้โจมตีเทศบาลกว่า 67 แห่ง และส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า 52,000 คน
เจ้าหน้าที่ดับเพลิง, ตำรวจ, ทหาร และเจ้าหน้าที่ป้องกันพลเรือนหลายร้อยคนพร้อมเฮลิคอปเตอร์ ถูกระดมเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการกู้ภัยไปยังพื้นที่ที่ถูกตัดขาดเพราะกระแสน้ำ
หน่วยงานสภาพอากาศของบราซิลคาดว่าจะมีฝนตกมากขึ้นตั้งแต่วันพฤหัสบดี จึงออกคำเตือนว่าอาจเกิดน้ำท่วมเพิ่มเติมได้
นับเป็นเหตุการณ์สภาพอากาศเลวร้ายล่าสุดที่เกิดขึ้นในบราซิล ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อีกทั้งการขยายตัวของชุมชนที่ไม่ได้รับการตรวจสอบและการก่อสร้างที่อยู่อาศัยผิดรูปแบบบนเนินเขา ยังทำให้ภัยพิบัติดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นอีกด้วย
มีข้อมูลว่า ประชาชนราว 9.5 ล้านคนจากทั้งหมด 203 ล้านคนของบราซิล อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อน้ำท่วมหรือดินถล่ม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับตา 'พายุไซโคลน' อ่าวเบงกอล กระทบจังหวัดแนวขอบตะวันตกไทย
กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า จากภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดเวลา 08.30 น. : ติดตามหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณอ่าวเบงกอล มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น