อินโดนีเซียเตือนมหาอำนาจอย่าสร้างความขัดแย้งใหม่ ขณะที่อเมริกา-จีน-รัสเซียเข้าร่วมประชุมอาเซียน

ประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าวเตือนผู้นำชาติมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐอเมริกา, จีน และรัสเซีย ไม่ให้แข่งขันกันรุนแรงเกินไป ทิ้งท้ายก่อนปิดประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกในกรุงจาการ์ตา

เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย (ซ้าย) ประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ (ที่ 2 จากซ้าย) นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ของสิงคโปร์ (ที่ 3 จากซ้าย) และรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ของสหรัฐฯ (ที่ 4 จากซ้าย) เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 18 ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 43 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 7 กันยายน (Photo by Yasuyoshi CHIBA / POOL / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน 2566 กล่าวว่า ผู้นำอินโดนีเซียใช้เวทีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก 18 ชาติ ในการกล่าวเตือนชาติมหาอำนาจที่มาร่วมการประชุมทั้งสหรัฐอเมริกา, จีน และรัสเซีย

"ผู้นำของทุกชาติมีความรับผิดชอบเท่าเทียมกันที่จะไม่สร้างความขัดแย้งใหม่, ไม่สร้างความตึงเครียดใหม่ และในขณะเดียวกันก็ต้องมีความรับผิดชอบในการลดความตึงเครียดอันร้อนแรงด้วย" ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กล่าวทิ้งท้าย ก่อนปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ

การมาถึงของรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ (กมลา แฮร์ริส), นายกรัฐมนตรีจีน (หลี่ เฉียง) และรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย (เซอร์เก ลาฟรอฟ) ในการประชุมครั้งนี้ หลายฝ่ายคาดหวังให้มหาอำนาจเหล่านี้เปิดการเจรจานอกรอบกันในความขัดแย้งของแต่ละฝ่าย ทั้งประเด็นการค้าและไต้หวัน (สหรัฐ-จีน) และประเด็นสงครามยูเครน (สหรัฐ-รัสเซีย)

แต่เหล่ามหาอำนาจไม่ได้ใช้ช่วงเวลานอกรอบการประชุมในการหารือกันแต่อย่างใด และไม่มีการกล่าวถึงสงครามยูเครน, นิวเคลียร์เกาหลีเหนือ หรือปัญหาไต้หวันและข้อพิพาทน่านน้ำทะเลจีนใต้จากฝั่งสหรัฐอเมริกาในแถลงการณ์ระหว่างการประชุม

มีกระแสข่าวว่าหัวข้อเหล่านั้นถูกคัดค้านจากทั้งจีนและรัสเซียก่อนการประชุม จึงทำให้สหรัฐไม่ได้กล่าวแถลงอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม คำแถลงของประธานการประชุมที่ออกโดยอินโดนีเซียระบุว่า แต่ละประเทศย้ำจุดยืนเกี่ยวกับสงครามยูเครนในการประชุม และยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการปกป้องและส่งเสริมสันติภาพ, ความมั่นคง และเสถียรภาพในทะเลจีนใต้

การประชุมสุดยอด 18 ชาติในวันพฤหัสบดีถือเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และรัสเซียนั่งโต๊ะเดียวกันในรอบเกือบสองเดือน หลังจากที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และยุโรปประณามลาฟรอฟในการประชุมระดับรัฐมนตรีเมื่อเดือนกรกฎาคมเกี่ยวกับการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

การประชุมสุดยอดอาเซียนในสัปดาห์นี้เต็มไปด้วยประเด็นวิกฤตของเมียนมา ซึ่งบรรดาผู้นำต่างเรียกร้องให้รัฐบาลเผด็จการทหารหยุดการโจมตีพลเรือน

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวก่อนพบผู้นำอาเซียนเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ความหวังในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยในเมียนมากำลังถูกบั่นทอน

"ความรุนแรงอันโหดร้าย, ความยากจนที่สาหัสยิ่งขึ้น และการปราบปรามอย่างเป็นระบบ กำลังทำลายความหวังในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยในเมียนมา" เลขาธิการสหประชาชาติกล่าว

ทั้งนี้ เมียนมาป็นสมาชิกอาเซียนเช่นกัน แต่ผู้นำเผด็จการทหารถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงของกลุ่ม.

เพิ่มเพื่อน